คำว่าตามการสะสมหมายถึงอย่างไร

 
lokiya
วันที่  23 ก.ค. 2564
หมายเลข  34772
อ่าน  693

เป็นลักษณะอย่างไรหรือมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัย24หรือไม่ ขอได้โปรดขยายความด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 25 ก.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าไม่เคยสะสมสภาพธรรมนั้นๆ มา สภาพธรรมนั้นๆ ก็จะเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้เลย แสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชองใครทั้งสิ้น ครับ

ขอเชิญศึกษาจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ดังนี้ .-

ปัจจัยที่ ๕ คือ โดยอุปนิสสยปัจจัย ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลังแก่สภาพธรรมอื่นที่เกิดขึ้น แต่ว่าสำหรับอุปนิสสยปัจจัยนั้นเป็นสภาพที่เป็นปัจจัย โดยเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแก่สภาพธรรมที่ไม่ได้เกิดพร้อมกัน

นี่เป็นความต่างกัน

อุปนิสสยปัจจัย ถ้าโดยการทบทวน ก็คงจะไม่ลืมว่ามี ๓ คือ อารัมมณูปนิสสยปัจจัย ๑ อนันตรูปนิสสยปัจจัย ๑ และปกตูปนิสสยปัจจัย ๑

โดยนัยของอารัมมณูปนิสสยปัจจัย โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง โดยเป็นอารมณ์ของโลภมูลจิตขณะต่อๆ ไป ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ถ้ามีความชอบใจ หรือมีความพอใจในความเห็นผิดอย่างไหน มักจะคิดถึงความเห็นผิดนั้นอีก แล้วก็มีความโน้มเอียงที่ต้องการ ที่พอใจ ที่ติด ที่ยึดในความเห็นนั้นอีก

นี่ก็เป็นของธรรมดา เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ที่เกิดขึ้นขณะหนึ่ง เป็นที่พอใจในความเห็นผิดนั้น ถึงแม้ว่าจะดับไปแล้วก็จริง แต่ก็ยังเป็นอารมณ์ที่จะทำให้โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เกิดต่อไปข้างหน้าได้

สำหรับอนันตรูปนิสสยปัจจัย ก็โดยนัยเดียวกันกับอนันตรปัจจัย คือ การดับไปของโลภมูลจิตดวงก่อนเป็นปัจจัย โดยเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ทำให้โลภมูลจิตดวงต่อไปเกิดสืบต่อในชวนวิถี และสำหรับดวงสุดท้ายที่เป็นชวนวิถี ก็เป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนะเกิด หรือว่าภวังคจิตเกิด ตามวิถีจิต เท่านั้นเอง

สำหรับโดยนัยของปกตูปนิสสยปัจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังโดยปกติที่ได้กระทำ คือ สะสมไว้

เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ โลภมูลจิตขณะหนึ่งเกิดแล้ว ดับไป ไม่สูญหาย สะสมสืบต่อในจิตดวงต่อๆ ไป เคยกระทำไว้ เคยคิดอย่างนั้น เคยเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็เป็นการสะสมที่มีกำลังที่จะทำให้โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์อย่างนั้นเกิดอีก

ถ้าไม่กล่าวถึงโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือเกิดร่วมด้วยกับความเห็นผิด จะเห็นได้จากชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า แต่ละท่าน ที่มีความพอใจ หรือว่ามีอัธยาศัยต่างๆ กันไป ในสิ่งที่เห็นทางตา ในเสียงที่ได้ยินทางหู ในกลิ่นต่างๆ ในรสต่างๆ ในเสื้อผ้า ในวัตถุ ในเครื่องใช้ ในเรื่องราวต่างๆ ที่สนใจ ที่สนุกสนาน แม้แต่การเล่น ก็จะเห็นได้ว่า เพราะได้เคยพอใจอย่างนั้น เคยสะสมมาอย่างนั้น เคยทำอย่างนั้นมาแล้ว

เพราะฉะนั้นจึงเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง โดยปกติที่ได้เคยกระทำสะสมไว้แล้ว

ซึ่งสำหรับเรื่องในอดีตที่เป็นชาดกนี้ จะเห็นได้ว่าการที่พระผู้มีพรtภาคทรงแสดงชาดก ก็เพราะเหตุว่าได้เกิดการกระทำและเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้น ที่พระวิหารเชตวันบ้าง ที่กรุงสาวัตถีบ้าง ที่เมืองพาราณสีบ้าง เมื่อมีเหตุการณ์นั้นๆ หรือการกระทำของบุคคลนั้นๆ เกิดขึ้น

เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมแต่ละบุคคลนั้นจึงกระทำสิ่งนั้นๆ ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ไปเฝ้าแล้วก็กราบทูลพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงได้ทรงแสดงชาดก คือ เหตุการณ์ซึ่งได้เคยเกิดขึ้นอย่างนั้นๆ มาแล้วแก่บุคคลนั้นๆ ในอดีต

เพราะฉะนั้นแต่ละท่านก็ลองพิจารณาตนเอง จะคิด จะพูด จะทำ จะชอบ จะไม่ชอบ สิ่งหนึ่งสิ่งใดนี้ ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว แต่ว่าต้องเคยคิด เคยทำ เคยพูด เคยชอบ เคยไม่ชอบอย่างนั้นๆ มาแล้วอดีต จนกระทั่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดคิด พูด หรือทำในขณะนี้ เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิตประเภทใดก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า โดยปกตูปนิสสยปัจจัย

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 25 ก.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
petsin.90
วันที่ 25 ก.ค. 2564

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ อ.คำปั่น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ