พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. เรื่องพระจักขุปาลเถระ [๑]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ก.ค. 2564
หมายเลข  34777
อ่าน  1,758

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 8

๑. ยมกวรรควรรณนา

๑. เรื่องพระจักขุปาลเถระ [๑]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 40]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 8

๑. ยมกวรรควรรณนา

๑. เรื่องพระจักขุปาลเถระ [๑]

ข้อความเบื้องต้น

มีปุจฉาว่า "พระธรรมเทศนานี้ว่า

"ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจร้ายแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ทุกข์ย่อมไปตามเขา เพระเหตุนั้น ดุจล้ออันหมุนไปตามรอยเท้าโค ผู้นำแอกไปอยู่ฉะนั้น"

ดังนี้ พระศาสดาตรัสแล้ว ณ ที่ไหน? "

วิสัชนาว่า "พระองค์ตรัสแล้ว ณ กรุงสาวัตถี."

มีปุจฉา (เป็นลำดับไป) ว่า "พระองค์ทรงปรารภใคร?"

มีวิสัชนาว่า "พระองค์ทรงปรารภพระจักขุปาลเถระ"

กุฎุมพีทำพิธีขอบุตร

ดังได้สดับมา ในกรุงสาวัตถี มีกุฎุมพีผู้หนึ่งชื่อมหาสุวรรณ เป็นคนมั่งมี มีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก (แต่) ไม่มีบุตร. วันหนึ่งเขาไปสู่ท่าอาบน้ำ อาบเสร็จแล้วกลับมา เห็นต้นไม้ใหญ่ที่เป็นเจ้าไพรต้นหนึ่ง มีกิ่งสมบูรณ์ในระหว่างทาง คิดว่า "ต้นไม้นี้จักมีเทวดา ผู้มี

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 9

ศักดิ์ใหญ่สิงอยู่" ดังนี้แล้ว จึงให้ชำระส่วนภายใต้แห่งต้นไม้นั้นให้สะอาดแล้ว ให้วงรั้ว เกลี่ยทราย ยกธงชัยและธงปฏากขึ้น แต่งต้นไม้เจ้าไพรแล้ว ทำปรารถนา (คือบน) ว่า "ข้าพเจ้าได้บุตรหรือธิดาแล้ว จักทำสักการะใหญ่ถวายท่าน" ดังนี้แล้ว หลีกไป.

กุฎุมพีได้บุตรสองคน

ในกาลเป็นลำดับมา ภรรยาของท่านเศรษฐีก็ตั้งครรภ์. ท่านก็ให้พิธีครรภบริหาร (๑) แก่นาง. ครั้นล่วง ๑๐ เดือน นางคลอดบุตรคนหนึ่ง ท่านเศรษฐีขนานนามแห่งบุตรนั้นว่า "ปาละ" เพราะเหตุทารกนั้นตนอาศัยไม้ใหญ่ที่เป็นเจ้าไพรอันตนอภิบาลจึงได้แล้ว.

ในกาลเป็นส่วนอื่น ท่านเศรษฐีได้บุตรอีกคนหนึ่ง ขนานนาม ว่า "จุลปาละ" ขนานนามบุตรคนแรกว่า "มหาปาละ" ครั้น ๒ กุมารนั้นเจริญวัย (๒) มารดาบิดาก็คิดผูกพันด้วยเครื่องผูกพันคือการครองเคหสถาน.

ในกาลเป็นส่วนอื่น มารดาบิดาได้ทำกาลกิริยาล่วงไป. วงศ์ญาติก็เปิดสมบัติทั้งหมดมอบให้แก่ ๒ เศรษฐีบุตร (๓) .

พระศาสดาประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ๒๕ พรรษา

ในสมัยนั้น พระศาสดา ทรงประกาศพระบวรธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เสด็จไปโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ที่ท่าน


(๑) เป็นพิธีอย่างหนึ่งในศาสนาพราหมณ์ทำกัน ๒ คราว คือทำเมื่อภรรยาตั้งครรภ์ได้ ๕ เดือน ครั้งหนึ่งเรียก ปํจามฺฤตมฺ ทำเมื่อตั้งครรภ์ได้ ๗ เดือนครั้งหนึ่ง เรียกสปฺตามฺฤตมฺ.

(๒) มารดาบิดา ผูกบุตรทั้งสองนั้นผู้เจริญวัยแล้ว ด้วยเครื่องผูกคือเรือน.

(๓) พวกญาติก็แบ่งโภคะทั้งหมดจำเพาะแก่สองเศรษฐีบุตร.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 10

อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี บริจาคทรัพย์นับได้ ๕๔ โกฏิสร้างถวาย, ทรงสั่งสอนมหาชนให้ตั้งอยู่ในทางสวรรค์และในทางนิพพาน.

แท้จริง พระตถาคตเสด็จอยู่จำพรรษาๆ เดียวเท่านั้นในนิโครธมหาวิหารที่พระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนนี ๘ หมื่นตระกูล, ฝ่ายพระชนก ๘ หมื่นตระกูล เข้ากันเป็นแสนหกหมื่นตระกูลสร้างถวาย, เสด็จอยู่จำพรรษา ณ เชตวันมหาวิหาร ที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ๑๙ พรรษา, เสด็จจำพรรษา ณ บุพพาราม ที่นางวิสาขามหาอุบาสิกาบริจาคทรัพย์นับได้ ๒๗ โกฏิสร้างถวาย ๖ พรรษา, ทรงอาศัยที่ตระกูลทั้งสองเป็นผู้ใหญ่โดยคุณธรรม เสด็จอยู่จำพรรษาอาศัยกรุงสาวัตถี (เป็นโคจรคาม) ถึง ๒๕ พรรษา ด้วยประการฉะนี้.

ผู้บำรุงภิกษุสามเณร

ทั้งท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี ทั้งวิสาขามหาอุบาสิกา ย่อมไปสู่ที่อุปัฏฐากพระตถาคตเจ้า วันละ ๒ ครั้งเป็นประจำ. และเมื่อไปไม่เคยมีมือเปล่าไป ด้วยคิดเกรงว่า "ภิกษุหนุ่มและสามเณร จักแลดูมือตน" เมื่อไปก่อนเวลาฉันอาหาร ย่อมใช้ให้คนถือของขบเคี้ยวเป็นต้นไป; เมื่อไปภายหลังแต่เวลาฉันอาหาร ใช้ให้คนถือปัญจเภสัช (๒) และอัฐบาน (๓) ไป. และในเคหสถานแห่งท่านทั้งสองนั้น เขาแต่งอาสนะไว้เพื่อภิกษุ


(๑) กุล ตระกูล สกุล ครอบครัว (Family).

(๒) เภสัช ๕ คือ เนยใส ๑ เนยข้น ๑ น้ำมัน ๑ น้ำผึ้ง ๑ น้ำอ้อย ๑.

(๓) ปานะ ๘ คือ น้ำมะม่วง ๑ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า ๑ น้ำกล้วยมีเมล็ด ๑ น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด ๑ น้ำมะซาง ๑ น้ำลูกจันทร์หรือองุ่น ๑ น้ำเหง้าอุบล ๑ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 11

แห่งละ ๒ พันรูปเป็นนิตยกาล. พระภิกษุรูปใด ปรารถนาของสิ่งใดจะเป็นข้าวน้ำหรือเภสัช ของนั้นก็สำเร็จแก่พระภิกษุรูปนั้นสมปรารถนา.

เศรษฐีไม่เคยทูลถามปัญหา

ในท่านทั้งสองนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ไม่เคยทูลถามปัญหาต่อพระศาสดา จนวันเดียว. ได้ยินว่า ท่านคิดว่า "พระตถาคตเจ้า เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ละเอียดอ่อน เป็นกษัตริย์ผู้ละเอียดอ่อน เมื่อทรงแสดงธรรมแก่เรา ด้วยทรงพระดำริว่า "คฤหบดีมีอุปการะแก่เรามาก ่ ดังนี้ จะทรงลำบาก" แล้วไม่ทูลถามปัญหาด้วยความรักในพระศาสดาเป็นอย่างยิ่ง. ฝ่ายพระศาสดา พอท่านเศรษฐีนั่งแล้ว ทรงพระพุทธดำริว่า "เศรษฐีผู้นี้ รักษาเราในที่ไม่ควรรักษา, เหตุว่า เราได้ตัดศีรษะของเราอันประดับประดาแล้ว ควักดวงตาของเราออกแล้ว ชำแหละเนื้อหัวใจของเราแล้ว สละลูกเมียผู้เป็นที่รักเสมอด้วยชีวิตของเราแล้ว บำเพ็ญบารมีอยู่ ๔ อสงไขยกับแสนกัลป์ ก็บำเพ็ญแล้วเพื่อแสดงธรรมแก่ผู้อื่นเท่านั้น เศรษฐีนี่รักษาเราในที่ไม่ควรรักษา," (ครั้นทรงพุทธดำริ) ฉะนี้แล้ว ก็ตรัสพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่งเสมอ.

ชาวสาวัตถีไปฟังธรรม

ครั้งนั้น ในกรุงสาวัตถี มีคนอยู่ ๗ โกฏิ (๑) . ในคนหมู่นั้น คนได้ฟังธรรมกถาของพระศาสดาแล้ว เกิดเป็นอริยสาวกประมาณ ๕ โกฏิ


(๑) ในกรุงสาวัตถีไม่ปรากฏว่าใหญ่โตถึงกับจุคนได้ตั้ง ๗๐ ล้าน เพราะฉะนั้นน่าจะเป็นอเนกสังขยากระมัง?

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 12

ยังเป็นปุถุชนอยู่ประมาณ ๒ โกฏิ. ในคนเหล่านั้น กิจของพระอริยสาวกมีเพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือในกาลก่อนแต่เวลาฉันอาหาร ท่านถวายทาน, ในกาลภายหลังแต่ฉันอาหารแล้ว ท่านมีมือถือเครื่องสักการบูชามีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ใช้คนให้ถือไทยธรรมมีผ้าเภสัชและน้ำปานะเป็นต้น ไปเพื่อต้องการฟังธรรม.

มหาปาละตามไปฟังธรรม

ภายหลังวันหนึ่ง กุฎุมพีมหาปาละเห็นหมู่อริยสาวก มีมือถือเครื่องสักการบูชา มีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ไปสู่วิหาร (๑) จึงถามว่า "มหาชนหมู่นี้ไปไหนกัน?" ครั้นได้ยินว่า "ไปฟังธรรม" ก็คิดว่า "เราก็จักไปบ้าง" ครั้นไปถึง ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่งอยู่ข้างท้ายประชุมชน.

ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะทรงแสดงธรรม ทอดพระเนตรอุปนิสัยแห่งคุณ มีสรณะ ศีล และบรรพชาเป็นต้น (ก่อน) แล้วจึงทรงแสดงธรรมตามอำนาจอัธยาศัย.

อนุปุพพีกถา ๕

เหตุนั้น วันนั้น พระศาสดาทอดพระเนตรอุปนิสัยของกุฎุมพีมหาปาละแล้ว เมื่อทรงแสดงธรรม ได้ตรัสอนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศทานกถา (พรรณนาทาน) สีลกถา (พรรณนาศีล) สัคคกถา (พรรณนาสวรรค์) โทษ ความเลวทรามและความเศร้าหมองแห่งกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในเนกขัมมะ (คือความออกไปจากกามทั้งหลาย).


(๑) วิหาร สำนักสงฆ์ วัด.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 13

มหาปาละขอบวช

กุฎุมพีมหาปาละได้สดับธรรมนั้นแล้ว คิดว่า "บุตรและธิดาก็ดี โภคสมบัติก็ดี ย่อมไปตามผู้ไปสู่ปรโลกหาได้ไม่ แม้สรีระก็ไปกับตัวไม่ได้ ประโยชน์อะไรของเราด้วยการอยู่ครองเรือน เราจักบวช พอเทศนาจบ เขาก็เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลขอบวช. ขณะนั้น พระศาสดาตรัสถาม เขาว่า "ญาติไหนๆ ของท่านที่ควรจะต้องอำลาไม่มีบ้างหรือ?"

เขาทูลว่า "พระเจ้าข้า น้องชายของข้าพระพุทธเจ้ามีอยู่"

พระศาสดารับสั่งว่า "ถ้าอย่างนั้นท่านจงอำลาเขาเสีย [ก่อน] "

มหาปาละมอบสมบัติให้น้องชาย

เขาทูลรับว่า "ดีแล้ว" ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ไปถึงเรือนแล้ว ให้เรียกน้องชายมา มอบทรัพย์สมบัติให้ว่า "แน่ะพ่อ สวิญญาณกทรัพย์ก็ดี อวิญญาณกทรัพย์ก็ดี อันใดอันหนึ่ง บรรดามีในตระกูลนี้ ทรัพย์นั้นจงตกเป็นภาระของเจ้าทั้งหมด เจ้าจงดูแลทรัพย์นั้นเถิด"

น้องชายถามว่า "นาย ก็ท่านเล่า?"

พี่ชายตอบว่า "ข้าจักบวชในสำนักของพระศาสดา."

น. พี่พูดอะไร เมื่อมารดาของข้าพเจ้าตายแล้ว ข้าพเจ้าได้ท่านเป็นเหมือนมารดา เมื่อบิดาตายแล้ว ได้ท่านเป็นเหมือนบิดา. สมบัติเป็นอันมากมีอยู่ในเรือนของท่าน, ท่านอยู่ครองเรือนเท่านั้นอาจทำบุญได้, ขอท่านอย่าได้ทำอย่างนั้นเลย.

พ. พ่อ ข้าได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดา, เพราะ (เหตุที่)

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 14

พระศาสดาทรงแสดงธรรมมีคุณไพเราะ (ทั้ง) ในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ยกขึ้นสู่ไตรลักษณะ (๑) อันละเอียดสุขุม ธรรมนั้น อันใครๆ ไม่สามารถจะบำเพ็ญให้บริบูรณ์ในท่ามกลางเรือนได้; ข้าจักบวชละ พ่อ.

น. พี่ เออ ก็ท่านยังหนุ่มอยู่โดยแท้, เอาไว้บวชในเมื่อท่านแก่เถิด.

พ. พ่อ ก็แม้มือและเท้าของคนแก่ (แต่) ของตัว ก็ยังว่าไม่ฟังไม่เป็นไปในอำนาจ, ก็จักกล่าวไปทำไมถึงญาติทั้งหลาย, ข้านั้นจะไม่ทำ (ตาม) ถ้อยคำของเจ้า. ข้าจักบำเพ็ญสมณปฏิบัติให้บริบูรณ์.

มือและเท้าของผู้ใด ทรุดโทรมไปเพราะชราว่าไม่ฟัง ผู้นั้น มีเรี่ยวแรงอันชรากำจัดเสียแล้ว จักประพฤติธรรมอย่างไรได้.

ข้าจักบวชแน่ล่ะ พ่อ.

มหาปาละบรรพชาอุปสมบท

เมื่อน้องชายกำลังร้องไห้อยู่เทียว, เขาไปสู่สำนักพระศาสดาแล้ว ทูลขอบวช ได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว อยู่ในสำนักแห่งพระอาจารย์และอุปัชฌาย์ครบ ๕ พรรษาแล้ว (๒) ออกพรรษา ปวารณาแล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ทูลถามว่า "พระเจ้าข้า ในพระศาสนานี้ มีธุระกี่อย่าง?"


(๑) ไตรลักษณะ คือ อนิจจลักษณะ ๑. ทุกขลักษณะ ๑. อนัตตลักษณะ ๑.

(๒) ถ้าฟังตามนี้ พระมหาปาละบรรพชาอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา หาใช่เอหิภิกขุอุปสัมปทาไม่.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 15

ธุระ ๒ อย่างในพระศาสนา

พระศาสดาตรัสตอบว่า "ภิกษุ ธุระมี ๒ อย่าง คือ คันถธุระ (กับ) วิปัสสนาธุระ เท่านั้น"

พระมหาปาละทูลถามว่า "พระเจ้าข้า ก็คันถธุระเป็นอย่างไร? วิปัสสนาธุระเป็นอย่างไร?"

. ธุระนี้ คือ การเรียนนิกายหนึ่งก็ดี สองนิกายก็ดี จบพุทธวจนะ คือ พระไตรปิฏกก็ดี ตามสมควรแก่ปัญญาของตนแล้วทรงไว้ กล่าวบอก พุทธวจนะนั้น ชื่อว่าคันถธุระ. ส่วนการเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไว้ในอัตภาพ ยังวิปัสสนาให้เจริญ ด้วยอำนาจแห่งการติดต่อแล้ว ถือเอาพระอรหัตของภิกษุผู้มีความประพฤติแคล่วคล่อง ยินดียิ่งแล้วในเสนาสนะอันสงัด ชื่อว่าวิปัสสนาธุระ.

ม. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์บวชแล้วแต่เมื่อแก่ ไม่สามารถจะบำเพ็ญคันถธุระให้บริบูรณ์ได้, แต่จักบำเพ็ญวิปัสสนาธุระให้บริบูรณ์, ขอพระองค์ตรัสบอกพระกรรมฐานแก่ข้าพระองค์เถิด.

พระมหาปาละเดินทางไปบ้านปลายแดน

ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสบอกพระกรรมฐานตลอดถึงพระอรหัตแก่พระมหาปาละ. ท่านถวายบังคมพระศาสดาแล้ว แสวงหาภิกษุผู้จะไปกับตน ได้ภิกษุ ๖๐ รูปแล้ว ออกพร้อมกับเธอทั้งหลายไปตลอดทาง ๑๒๐ โยชน์ ถึงบ้านปลายแดนหมู่ใหญ่ตำบลหนึ่ง จึงพร้อมด้วยบริวาร เข้าไปบิณฑบาต ณ บ้านนั้น.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 16

ชาวบ้านเลื่อมใสอาราธนาให้อยู่จำพรรษา

หมู่มนุษย์ เห็นภิกษุทั้งหลาย ผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร มีจิตเลื่อมใสแต่งอาสนะแล้วนิมนต์ให้นั่ง อังคาสด้วยอาหารอันประณีตแล้ว ถามว่า "ท่านเจ้าข้า พระผู้เป็นเจ้าจะไปที่ไหน?" เมื่อเธอทั้งหลายกล่าว ตอบว่า "อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย เราจะไปสู่ที่ตามผาสุก" ดังนี้ แล้ว, มนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตรู้ว่า "ท่านผู้เจริญทั้งหลายแสวงหาเสนาสนะที่จำพรรษา" จึงกล่าวอาราธนาว่า "ท่านผู้เจริญ ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย พึงอยู่ ณ ที่นี่ตลอดไตรมาสนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะพึงตั้งอยู่ในสรณะแล้วถือศีล." แม้เธอทั้งหลายก็คิดเห็นว่า "เราได้อาศัยตระกูลเหล่านี้ จักทำการออกไปจากภพได้" ดังนี้ จึงรับนิมนต์. หมู่มนุษย์รับปฏิญญาของเธอทั้งหลายแล้ว ได้ (ช่วยกัน) ปัดกวาดวิหาร จัดที่อยู่ในกลางคืน และที่อยู่ในกลางวันแล้วมอบถวาย. เธอทั้งหลาย เข้าไปบิณฑบาตบ้านนั้นตำบลเดียวเป็นประจำ. ครั้งนั้น หมอผู้หนึ่งเข้าไปหาเธอทั้งหลาย ปวารณาว่า "ท่านผู้เจริญ ธรรมดาในที่อยู่ของคนมากย่อมมีความไม่ผาสุกบ้าง. เมื่อความไม่ผาสุกนั้นเกิดขึ้นแล้ว ท่านทั้งหลายพึงบอกแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักทำเภสัชถวาย."

พระมหาปาละถือเนสัชชิกธุดงค์

ในวันจำพรรษา (๑) พระเถระเรียกภิกษุเหล่านั้นมา (พร้อมกัน) แล้ว ถามว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจักให้ไตรมาสนี้น้อมล่วงไปด้วยอิริยาบถเท่าไร?"


(๑) วสฺสปนายิกทิวเส.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 17

ภิกษุทั้งหลายเรียนตอบว่า "จักให้น้อมล่วงไปด้วยอิริยาบถครบทั้ง ๔ ขอรับ"

ถ. ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ข้อนั้นสมควรละหรือ? เราทั้งหลายควรเป็นผู้ไม่ประมาทไม่ใช่หรือ? เพราะเราทั้งหลายเรียนพระกรรมฐานมาจากสำนักของพระพุทธเจ้า ผู้ยังทรงพระชนม์อยู่. แลธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันคนมักอวดไม่สามารถจะให้ทรงยินดีได้, ด้วยว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น อันคนมีอัธยาศัยงาม (จำพวกเดียว) พึงให้ทรงยินดีได้, และขึ้นชื่อว่าอบายทั้ง ๔ เป็นเหมือนเรือนของตัวเอง แห่งคนผู้ประมาทแล้ว, ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย.

ภ. ก็ท่านเล่า ขอรับ.

ถ. ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าจักให้ (ไตรมาสนี้) (น้อม) ล่วงไปด้วยอิริยาบถ ๓, จักไม่เหยียดหลัง.

ภ. สาธุ ขอจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ขอรับ.

จักษุของพระมหาปาละพิการ

เมื่อพระเถระไม่หยั่งลงสู่นิทรา, เมื่อเดือนต้นผ่านไปแล้ว, โรคในจักษุก็เกิดขึ้น. สายน้ำไหลออกจากตาทั้ง ๒ ข้าง เหมือนสายน้ำอันไหลออกจากหม้ออันทะลุ. ท่านบำเพ็ญสมณธรรมตลอดราตรีทั้งสิ้นแล้วในเวลาอรุณขึ้น เข้าห้องนั่งแล้ว. ในเวลาภิกขาจาร ภิกษุทั้งหลายไปสู่สำนักของพระเถระเรียนว่า "เวลานี้เป็นเวลาภิกขาจาร ขอรับ." พระเถระตอบว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายถือบาตร

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 18

และจีวรเถิด" ดังนี้แล้ว ให้เธอทั้งหลายถือบาตรและจีวรของตน ออกไปแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย เห็นตาทั้งสองของพระเถระนองอยู่ จึงเรียนถามว่า "นั่นเป็นอะไร ขอรับ."

ถ. ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ลมแทงตาของข้าพเจ้า.

ภ. ท่านขอรับ หมอปวารณาเราไว้ไม่ใช่หรือ? เราควรบอกแก่เขา.

ถ. ดีละ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย.

หมอปรุงยาให้หยอด

เธอทั้งหลายจึงได้บอกแก่หมอ. เขาหุงน้ำมันส่งไปถวายแล้ว. พระเถระเมื่อหยอดน้ำมันในจมูก นั่งหยอดเทียวแล้วเข้าไปภายในบ้าน.

หมอเห็นเรียนถามว่า "ท่านขอรับ ได้ยินว่า ลมแทงตาของพระผู้เป็นเจ้าหรือ?"

ถ. เออ อุบาสก.

ม. ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าหุงน้ำมันแล้วส่งไป (ถวาย) ท่านหยอดทางจมูกแล้วหรือ?

ถ. เออ อุบาสก.

ม. เดี๋ยวนี้ เป็นอย่างไร ขอรับ.

ถ. ยังแทงอยู่ทีเดียว อุบาสก.

พระมหาปาละนั่งหยอดยา

หมอคิดฉงนใจ "เราส่งน้ำมันเพื่อจะยังโรคให้ระงับได้ด้วยการ

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 19

หยอดเพียงครั้งเดียวเท่านั้นไปถวายแล้ว, เหตุไฉนหนอแล โรคจึงยังไม่สงบ?" จึงเรียนถามว่า "ท่านเจ้าข้า น้ำมันนั้นท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอด."

พระเถระได้นิ่งเสีย, ท่านแม้หมอซักถามอยู่ก็ไม่พูด.

หมอนึกว่า "เราจักไปวิหารดูที่อยู่เอง" ดังนี้แล้ว กล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น นิมนต์ไปเถิด ขอรับ" ผละพระเถระแล้ว ไปสู่วิหารดูที่อยู่ของพระเถระ เห็นแต่ที่จงกรมและที่นั่ง ไม่เห็นที่นอน จึงเรียนถามว่า "ท่านเจ้าข้า น้ำมันนั้น ท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอด" พระเถระได้นิ่งเสีย. หมออ้อนวอนซ้ำว่า "ท่านผู้เจริญ ขอท่านอย่าได้ทำอย่างนั้น. ธรรมดาสมณธรรม เมื่อร่างกายยังเป็นไปอยู่ ก็อาจทำได้, ขอท่านนอนหยอดเถิด."

พระมหาปาละปรึกษากรัชกาย

พระเถระตอบว่า "ไปเถิด ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าจักปรึกษาดูก่อนแล้ว จึงจักรู้. ก็ในที่นั้นไม่มีญาติสาโลหิตของพระเถระเลย ท่านจะพึงปรึกษากับใครเล่า. ถึงอย่างนั้นท่านปรึกษากับกรัชกายอยู่ (๑) ดำริว่า "แน่ะปาลิตะ ผู้มีอายุ ท่านจงว่ามาก่อน, ท่านจักเห็นแก่จักษุหรือจักเห็นแก่พระพุทธศาสนา. ก็ในสังสารวัฏฏ์อันมีที่สุด อันใครตามค้นไปก็รู้ไม่ได้ การคณนานับตัวท่านผู้บอดด้วยจักษุหามีไม่, และพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ล่วงไปหลายร้อยหลายพันพระองค์แล้ว ในพระพุทธเจ้าเหล่านั้น พระพุทธเจ้า แม้แต่พระองค์เดียวก็กำหนดไม่ได้, ท่านได้ผูกใจไว้เดี๋ยวนี้เองว่า "จักไม่


(๑) แปลว่ากายอันเกิดแต่ธุลีมีในสรีระ.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 20

นอน จนตลอด ๓ เดือนภายในฤดูฝนนี้; เหตุฉะนั้น จักษุของท่านฉิบหายเสียหรือแตกเสียก็ตามเถิด ท่านจงทรงแต่พระพุทธศาสนาไว้เถิด อย่าเห็นแก่จักษุเลย" เมื่อกล่าวสอนภูตกาย ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ว่า:-

"จักษุที่ท่านถือว่าของตัว เสื่อมไปเสียเถิด หูก็เสื่อมไปเสียเถิด, กายก็เป็นเหมือนกันอย่างนั้นเถิด, แม้สรรพสิ่งอันอาศัยกายนี้ ก็เสื่อมไปเสียเถิด, ปาลิตะ เหตุไฉน ท่านจึงประมาทอยู่. จักษุที่ท่านถือว่าของตัว ทรุดโทรมไปเสียเถิด, หูก็ทรุดโทรมไปเสียเถิด, กายก็เป็นเหมือนกันอย่างนั้นเถิด, แม้สรรพสิ่งอันอาศัยกายนี้ก็ทรุดโทรมไปเสียเถิด, ปาลิตะ เหตุไฉน ท่านจึงประมาทอยู่. จักษุที่ท่านถือว่าของตัวแตกไปเสียเถิด, หูก็แตกไปเสียเถิด, รูปก็เป็นเหมือนกันอย่างนั้นเถิด, แม้สรรพสิ่งอันอาศัยกายนี้ก็แตกไปเสียเถิด, ปาลิตะ เหตุไฉน ท่านจึงประมาทอยู่"

หมอเลิกรักษาพระมหาปาละ

ครั้นพระเถระให้โอวาทแก่ตนเองด้วย ๓ คาถาอย่างนี้แล้ว ได้นั่งทำนัตถุกรรม (๑) แล้วจึงเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต หมอเห็นแล้วเรียนถามว่า "ท่านเจ้าข้า ท่านทำนัตถุกรรมแล้วหรือ?"

ถ. เออ อุบาสก.


(๑) คือเป่าน้ำมัน.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 21

ม. เป็นอย่างไรบ้าง ขอรับ.

ถ. ยังแทงอยู่เทียว อุบาสก.

ม. ท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอด ขอรับ.

พระเถระได้นิ่งเสีย, ท่านแม้อันหมอถามซ้ำ ก็ไม่พูดอะไร.

ขณะนั้น หมอกล่าวกะท่านว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านไม่ทำความสบายตั้งแต่วันนี้ ขอท่านอย่าได้กล่าวว่า "หมอผู้โน้นหุงน้ำมันให้เรา" แม้ข้าพเจ้าก็จักไม่กล่าวว่า ่ข้าพเจ้าหุงน้ำมันถวายท่าน."

พระเถระเสียจักษุพร้อมกับการบรรลุพระอรหัต

พระเถระถูกหมอบอกเลิกแล้ว กลับไปสู่วิหาร ดำริว่า "ท่านแม้หมอเขาก็บอกเลิกแล้ว ท่านอย่าได้ละอิริยาบถเสียนะ สมณะ" แล้วกล่าวสอนตนด้วยคาถานี้ว่า

"ปาลิตะ ท่านถูกหมอเขาบอกเลิกจากการรักษา ทิ้งเสียแล้ว เที่ยงต่อมัจจุราช ไฉนจึงยังประมาทอยู่เล่า?"

ดังนี้แล้ว บำเพ็ญสมณธรรม.

ลำดับนั้น พอมัชฌิมยามล่วงแล้ว, ทั้งดวงตา ทั้งกิเลส ของท่าน แตก (พร้อมกัน) ไม่ก่อนไม่หลังกว่ากัน. ท่านเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก (๑) เข้าไปสู่ห้องนั่งแล้ว.

พวกภิกษุและชาวบ้านรับบำรุงพระเถระ

ในเวลาภิกขาจาร ภิกษุทั้งหลายไปเรียนว่า "ท่านผู้เจริญ เวลานี้


(๑) คือ เป็นพระอรหันต์ ฝ่ายวิปัสสนา.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 22

เป็นเวลาภิกขาจาร."

ถ. กาลหรือ? ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย.

ภ. ขอรับ.

ถ. ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายไปเถิด.

ภ. ก็ท่านเล่า? ขอรับ.

ถ. ตาของข้าพเจ้า เสื่อมเสียแล้ว ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย.

เธอทั้งหลายแลดูตาของท่านแล้ว มีตาเต็มด้วยน้ำตา ปลอบพระเถระว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าคิดไปเลย, กระผมทั้งหลายจักปฏิบัติท่าน" ดังนี้แล้ว ทำวัตรปฏิบัติที่ควรจะทำเสร็จแล้วเข้าไปสู่บ้าน. หมู่มนุษย์ไม่เห็นพระเถระ ถามว่า "ท่านเจ้าข้า พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลายไปข้างไหนเสีย" ทราบข่าวนั้นแล้ว ส่งข้าวต้มไปถวายก่อนแล้ว ถือเอาบิณฑบาตไปเอง ไหว้พระเถระแล้ว ร้องไห้กลิ้งเกลือกอยู่แทบเท้า (ของท่าน) ปลอบว่า "ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าทั้งหลายจักรับปฏิบัติท่านอย่าได้คิดไปเลย" แล้วลากลับ. ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ส่งข้าวต้มและข้าวสวยไปถวายที่วิหารเป็นนิตย์.

ฝ่ายพระเถระ ก็กล่าวสอนภิกษุ ๖๐ รูปนอกนี้เป็นนิรันดร์. เธอทั้งหลายตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน. ครั้นจวนวันปวารณา ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทุกรูป.

พวกภิกษุไปเฝ้าพระศาสดา

ก็แลเธอทั้งหลายออกพรรษาแล้ว อยากจะเฝ้าพระศาสดา จึงเรียนพระเถระว่า "กระผมทั้งหลายอยากจะเฝ้าพระศาสดา ขอรับ."

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 23

พระเถระได้ฟังคำของเธอทั้งหลายแล้ว คิดว่า "เราเป็นคนทุพพลภาพ และในระหว่างทาง ดงที่อมนุษย์สิงก็มีอยู่ เมื่อเราไปกับเธอทั้งหลาย จักพากันลำบากทั้งหมด จักไม่อาจเพื่ออันได้แม้ภิกษา เราจักส่งภิกษุเหล่านี้ไปเสียก่อ." ลำดับนั้น ท่านจึงกล่าวกะเธอทั้งหลายว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายไปก่อนเถิด"

ภ. ก็ท่านเล่า? ขอรับ.

ถ. ข้าพเจ้าเป็นคนทุพพลภาพ และในระหว่างทาง ดงที่อมนุษย์สิงก็มียู่ เมื่อข้าพเจ้าไปกับท่านทั้งหลาย จักพากันลำบากทั้งหมด ท่านทั้งหลายไปก่อนเถิด.

ภ. อย่าทำอย่างนี้เลย ขอรับ กระผมทั้งหลายจักไปพร้อมกันกับท่านทีเดียว.

ถ. "ท่านทั้งหลายอย่าชอบอย่างนั้นเลย, เมื่อเป็นอย่างนั้น ความไม่ผาสุกจักมีแก่ข้าพเจ้า, น้องชายของข้าพเจ้า เห็นท่านทั้งหลายแล้ว คงจักถาม. เมื่อเช่นนั้น ท่านทั้งหลายพึงบอกความที่จักษุของข้าพเจ้าเสื่อมเสียแล้วแก่เขา เขาคงจักส่งใครๆ มาสู่สำนักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักไปกับเขา, ท่านทั้งหลายจงไหว้พระทศพลและพระอสีติมหาเถระตามคำของข้าพเจ้า" ดังนี้แล้ว ก็ส่งภิกษุเหล่านั้นไป.

พวกภิกษุแจ้งข่าวแก่น้องชายพระเถระ

เธอทั้งหลายขมาพระเถระแล้ว เข้าไปสู่ภายในบ้าน. หมู่มนุษย์นิมนต์ให้นั่ง ถวายภิกษาแล้ว ถามว่า "ท่านเจ้าข้า ดูท่าทีพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจะไปกันละหรือ?"

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 24

เธอทั้งหลายตอบว่า "เออ อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย พวกข้าพเจ้าอยากจะเฝ้าพระศาสดา." พวกเขาอ้อนวอนเป็นหลายครั้งแล้ว ทราบความพอใจในการที่เธอทั้งหลายจะไปให้ได้ จึงตามไปส่งแล้วบ่นรำพันกลับมา.

ฝ่ายเธอทั้งหลายไปถึงพระเชตวันโดยลำดับ ถวายบังคมพระศาสดาและไหว้พระมหาเถระทั้งหลาย ตามคำของพระเถระแล้ว, ครั้นรุ่งขึ้น เข้าไปสู่ถนนที่น้องชายของพระเถระอยู่ เพื่อบิณฑบาต. กุฏุมพีจำเธอทั้งหลายได้ นิมนต์ให้นั่ง ทำปฏิสันถารแล้ว ถามว่า "พระเถระพี่ชายของข้าพเจ้าอยู่ไหน?"

ลำดับนั้น เธอทั้งหลาย แจ้งข่าวนั้นแก่เขาแล้ว.

เขาร้องไห้กลิ้งเกลือกอยู่แทบบาทมูลของเธอทั้งหลาย ถามว่า "ท่านเจ้าข้า บัดนี้ควรทำอะไรดี?"

ส่งสามเณรหลานชายไปรับพระเถระ

ภ. พระเถระต้องการให้ใครๆ ไปจากที่นี้, ในกาลเมื่อไปถึงแล้ว ท่านจักมากับเขา.

ก. ท่านเจ้าข้า เจ้าคนนี้ หลานของข้าพเจ้าชื่อ ปาลิตะ ขอท่านทั้งหลายส่งเจ้านี่ไปเถิด.

ภ. ส่งไปอย่างนี้ไม่ได้ (เพราะ) อันตรายในทางมีอยู่, ต้องให้บวชเสียก่อนแล้วส่งไป จึงจะควร.

ก. ขอท่านทั้งหลายทำอย่างนั้นแล้วส่งไปเถิด ขอรับ.

ครั้งนั้น เธอทั้งหลายให้เขาบวชแล้ว สั่งสอนให้ศึกษาข้อวัตร

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 25

ปฏิบัติมีรับจีวรเป็นต้นสักกึ่งเดือนแล้ว บอกทางให้แล้วส่งไป.

สามเณรถึงบ้านนั้นโดยลำดับ เห็นชายผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ประตูบ้านจึงถามว่า "วิหารป่าไรๆ อาศัยบ้านนี้มีบ้างหรือ?"

ช. มี เจ้าข้า.

ส. ใครอยู่ที่นั้น?

ช. พระเถระชื่อปาลิตะ (๑) เจ้าข้า.

ส. ขอท่านบอกทางแก่ข้าพเจ้าหน่อย.

ช. ท่านเป็นอะไรกัน? เจ้าข้า.

ส. รูปเป็นหลานของพระเถระ

สามเณรชวนพระมหาปาละกลับ

ขณะนั้น เขาพาเธอนำไปสู่วิหารแล้ว. เธอไหว้พระเถระแล้วทำวัตรปฏิบัติ บำรุงพระเถระด้วยดีสักกึ่งเดือนแล้ว เรียนว่า "ท่านผู้เจริญ กุฎุมพีผู้ลุงของกระผม ต้องการให้ท่านกลับไป ขอท่านมาไปด้วยกันเถิด."

พระเถระกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น เธอจงจับปลายไม้เท้าของเราเข้า. สามเณรจับปลายไม้เท้า เข้าไปภายในบ้านกับพระเถระ. หมู่มนุษย์นิมนต์ให้นั่งแล้ว เรียนถามว่า "ท่านผู้เจริญ ดูท่าทีท่านจะไปละกระมัง?"

พระเถระตอบว่า "เออ อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย เราจะไปถวายบังคมพระศาสดา" หมู่มนุษย์เหล่านั้น อ้อนวอนโดยประการต่างๆ เมื่อไม่ได้ (สมหวัง) ก็ไปส่งพระเถระได้กึ่งทางแล้ว พากันร้องไห้กลับมา.


(๑) น่าจะชื่อปาละ เพราะปาลิตะ เป็นชื่อของสามเณรหลานชาย.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 26

สามเณรถึงศีลวิบัติเพราะเสียงหญิง

สามเณรพาพระเถระด้วยปลายไม้เท้าไปอยู่ ถึงบ้านที่พระเถระเคยอาศัยเมืองชื่อสังกัฏฐะ อยู่แล้วในงระหว่างทาง. เธอได้ยินเสียงขับของหญิงคนหนึ่ง ผู้ออกจากบ้านนั้นแล้ว ขับพลางเที่ยวเก็บฟืนพลางอยู่ในป่า ถือนิมิตในเสียงแล้ว.

จริงอยู่ ไม่มีเสียงอื่น ชื่อว่าสามารถแผ่ไปทั่วสรีระของบุรุษทั้งหลายตั้งอยู่ เหมือนเสียงหญิง, เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นเสียงอื่นแม้สักอย่าง อันจะยึดจิตของบุรุษตั้งอยู่เหมือนเสียงหญิง นะภิกษุทั้งหลาย."

สามเณรถือนิมิตในเสียงนั้นแล้ว ปล่อยปลายไม้เท้าเสียแล้วกล่าวว่า "ท่านขอรับ ขอท่านรออยู่ก่อน, กิจของกระผมมี" ดังนี้แล้ว ไปสู่สำนักของหญิงนั้น. นางเห็นเธอแล้วได้หยุดนิ่ง. เธอถึงศีลวิบัติกับนางแล้ว. พระเถระคิดว่า "เราได้ยินเสียงขับอันหนึ่งแล้วเดี๋ยวนี้เอง, ก็แล เสียงนั้นคงเป็นเสียงหญิง ถึงสามเณรก็ชักช้าอยู่, เธอจักถึงศีลวิบัติเสียแน่แล้ว" ฝ่ายสามเณรนั้น ทำกิจของตนสำเร็จแล้วมาพูดว่า "เราทั้งหลายไปกันเถิด ขอรับ.

ขณะนั้น พระเถระถามเธอว่า "สามเณร เธอกลายเป็นคนชั่วเสียแล้วหรือ? เธอนิ่งเสีย แม้พระเถระถามซ้ำก็ไม่พูดอะไรๆ.

พระเถระไม่ยอมให้สามเณรคบ

ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะเธอว่า "ธุระด้วยการที่คนชั่วเช่นเธอจับปลายไม้เท้าของเรา ไม่ต้องมี" เธอถึงซึ่งความสังเวชแล้ว

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 27

เปลื้องผ้ากาสายะเสียแล้ว นุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์พูดว่า "ท่านผู้เจริญ เมื่อก่อนกระผมเป็นสามเณร แต่เดี๋ยวนี้กระผมกลับเป็นคฤหัสถ์แล้ว. อนึ่ง กระผมเมื่อบวชก็ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา บวชเพราะกลัวแต่อันตรายในหนทาง ขอท่านมาไปด้วยกันเถิด."

พระเถระพูดว่า "ผู้มีอายุ คฤหัสถ์ชั่วก็ดี สมณะชั่วก็ดี ก็ชั่วทั้งนั้น; เธอแม้ตั้งอยู่ในความเป็นสมณะแล้ว ไม่อาจเพื่อทำคุณเพียงแต่ศีลให้บริบูรณ์ เป็นคฤหัสถ์ จักทำความดีงามชื่ออะไรได้, ธุระด้วยการที่คนชั่วเช่นเธอจับปลายไม้เท้าของเรา ไม่ต้องมี."

นายปาลิตะตอบว่า "ท่านผู้เจริญ หนทางมีอมนุษย์ชุมและท่านก็เสียจักษุ จักอยู่ในที่นี้อย่างไรได้"

ลำดับนั้น พระเถระ กล่าวกะเขาว่า "ผู้มีอายุ เธออย่าได้คิดอย่างนั้นเลย, เราจะนอนตายอยู่ ณ ที่นี้ก็ดี จะนอนพลิกกลับไปกลับมา ณ ที่นี้ก็ดี ขึ้นชื่อว่าการไปกับเธอย่อมไม่มี" (ครั้นว่าอย่างนี้แล้ว) ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

"เอาเถิด, เราเป็นผู้มีจักษุอันเสียแล้ว มาสู่ทางไกลอันกันดาร นอนอยู่ (ก็ช่าง) จะไม่ไป, เพราะความเป็นสหายในชนพาลย่อมไม่มี. เอาเถิด เราเป็นผู้มีจักษุเสียแล้ว มาสู่ทางไกลอันกันดาร จักตายเสีย จักไม่ไป, เพราะความเป็นสหายในชนพาลย่อมไม่มี."

นายปาลิตะ ได้ยินคำนั้นแล้ว เกิดความสังเวช นึกว่า "เราทำกรรมหนัก เป็นไปโดยด่วน ไม่สมควรหนอ" ดังนี้ แล้วกอดแขน

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 28

คร่ำครวญ แล่นเข้าราวป่า ได้หลีกไป ด้วยประการนั้นแล.

อาสนะท้าวสักกะร้อน

ด้วยเดชแห่งศีลแม้ของพระเถระ (ในขณะนั้น) บัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ (๑) ของท้าวสักกเทวราช ยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์ มีสีดุจดอกชัยพฤกษ์ มีปกติยุบลงในเวลาประทับนั่งและฟูขึ้นในเวลาเสด็จลุกขึ้น แสดงอาการร้อนแล้ว.

ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า "ใครหนอแล ใคร่จะยังเราให้เคลื่อนจากสถาน" ดังนี้แล้ว ทรงเล็งลงมา ได้ทอดพระเนตรเห็นพระเถระด้วยทิพยจักษุ.

เหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่า

"ท้าวสหัสเนตร ผู้เป็นเจ้าแห่งเทวดา ส่องทิพยจักษุ (ทรงทราบว่า) พระปาลเถระองค์นี้ ติเตียน คนบาป ชำระเครื่องเลี้ยงชีพให้บริสุทธิ์แล้ว, ท้าวสหัสเนตร ผู้เป็นเจ้าแห่งเทวดา ส่องทิพยจักษุ (ทรงทราบว่า) พระปาลเถระ องค์นี้หนักในธรรม ยินดีในศาสนา นั่งอยู่แล้ว."

ขณะนั้น ท้าวเธอได้ทรงพระดำริว่า "ถ้าเราจักไม่ไปสู่สำนักของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ติเตียนคนบาป หนักในธรรม เห็นปานนั้น, ศีรษะของเราพึงแตก ๗ เสี่ยง; เราจักไปสู่สำนักของท่าน," (ครั้นทรงพระดำริฉะนี้แล้ว ก็เสด็จไป).


(๑) แผ่นศิลาที่ประทับ มีสีดุจผ้าขนสัตว์เหลือง.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 29

เหตุนั้น (พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่า)

"ท้าวสหัสเนตร ผู้เป็นเจ้าแห่งเทวดา ทรงสิริของเทวราช เสด็จมาโดยขณะนั้นแล้ว เข้าไปใกล้พระจักขุปาลเถระแล้ว."

ก็แลครั้นเสด็จเข้าไปใกล้แล้ว ได้ทรงทำเสียงฝีพระบาทในที่ใกล้พระเถระ.

ขณะนั้น พระเถระถามท้าวเธอว่า "นั่นใคร?"

เทวราชตรัสตอบว่า "ข้าพเจ้าคนเดินทาง เจ้าข้า."

ถ. ท่านจะไปไหน อุบาสก.

ท. เมืองสาวัตถี เจ้าข้า.

ถ. ไปเถิด ท่านผู้มีอายุ.

ท. ก็พระผู้เป็นเจ้าเล่า เจ้าข้า จักไปไหน?

ถ. ถึงเราก็จักไปในที่นั้นเหมือนกัน.

ท. ถ้าอย่างนั้น เราทั้งหลายไปด้วยกันเถิด เจ้าข้า.

ถ. เราเป็นคนทุพพลภาพ, ความเนิ่นช้าจักมีแก่ท่านผู้ไปอยู่กับเรา.

ท. กิจรีบของข้าพเจ้าไม่มี ถึงข้าพเจ้าไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าจักได้บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ สักประการหนึ่ง เราทั้งหลายไปด้วยกันเถอะเจ้าข้า.

พระเถระคิดว่า "นั่นจักเป็นสัตบุรุษ" จึงกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น จับปลายไม้เท้าเข้าเถิด อุบาสก"

ท้าวสักกเทวราช พาพระเถระไปถึงพระเชตวัน

ท้าวสักกเทวราช ทรงทำอย่างนั้นแล้ว ย่อพื้นปฐพีให้ถึงพระเชตวันในเพลาเย็น.

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 30

พระเถระได้ฟังเสียงเครื่องประโคมมีสังข์และบัณเฑาะว์เป็นต้นแล้ว ถามว่า "นั่น เสียงที่ไหน?"

ท. ในเมืองสาวัตถี เจ้าข้า.

ถ. ในเวลาไป เราไปโดยกาลช้านานแล้ว.

ท. ข้าพเจ้ารู้ทางตรง เจ้าข้า.

ในขณะนั้น พระเถระกำหนดได้ว่า "ผู้นี้มิใช่มนุษย์ จักเป็นเทวดา."

(เหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่า)

"ท้าวสหัสเนตร ผู้เป็นเจ้าแห่งเทวดา ทรงสิริของเทวราช ย่นทางนั้น พลันเสด็จมาถึงเมืองสาวัตถีแล้ว."

ท้าวเธอนำพระเถระไปสู่บรรณศาลา ที่กุฎุมพีผู้น้องชายทำเพื่อประโยชน์แก่พระเถระนั้นเทียว นิมนต์ให้นั่งเหนือแผ่นกระดานแล้วจำแลงเป็นสหายที่รักไปสู่สำนักของกุฎุมพีจุลปาละ ตรัสร้องเรียกว่า "แน่ะ ปาละผู้สหาย."

กุฎุมพีจุลปาละร้องถามว่า "อะไร? สหาย"

ท. ท่านรู้ความที่พระเถระมาแล้วหรือ?

จ. ข้าพเจ้ายังไม่รู้, ก็พระเถระมาแล้วหรือ?

เทวราช ตรัสว่า "เออ สหาย ข้าพเจ้าไปวิหาร เห็นพระเถระนั่งในบรรณศาลาที่ท่านทำ มาแล้วเดี๋ยวนี้เอง" ดังนี้แล้ว เสด็จหลีกไป.

ฝ่ายกุฎุมพีไปถึงวิหาร เห็นพระเถระแล้ว ร้องไห้กลิ้งเกลือกอยู่ที่

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 31

บาทมูล กล่าวว่า "ท่านผู้เจริญเจ้าข้า ข้าพเจ้าเห็นเหตุนี้แล้วจึงไม่ยอมให้ท่านบวช" ดังนี้เป็นต้นแล้ว ทำเด็กทาส ๒ คนให้เป็นไทให้บวชในสำนักของพระเถระแล้ว สั่งว่า "ท่านทั้งหลาย จงนำเอาของฉันมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้น มาจากภายในบ้านอุปัฏฐากพระเถระ" ดังนี้แล้ว มอบให้แล้ว. สามเณรทั้งหลาย ก็ทำวัตรปฏิบัติอุปัฏฐากพระเถระแล้ว.

ภายหลังวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในทิศ (ผู้อยู่ที่อื่น) มาสู่พระเชตวัน ด้วยหวังว่า "จักเฝ้าพระศาสดา" ถวายบังคมพระศาสดา เยี่ยมพระอสีติมหาเถระแล้ว เที่ยวจาริกอยู่ในวิหาร ถึงที่อยู่ของพระจักขุปาเถระแล้ว มีหน้าตรงต่อที่นั้นในเวลาเย็น ด้วยหวังว่า "จักดูแม้ที่นี้."

ในขณะนั้น มหาเมฆตั้งขึ้นแล้ว. พวกเธอคิดว่า "เดี๋ยวนี้เย็นแล้ว, และเมฆก็ตั้งขึ้นแล้ว, เราจักมาดูแต่เช้าเทียว" ดังนี้แล้วกลับไป. ฝนตกในปฐมยาม หยุดในมัชฌิมยาม. พระเถระเป็นผู้ (เคย) ปรารภความเพียร เดินจงกรมเป็นอาจิณ; เหตุฉะนั้น จึงลงสู่ที่จงกรมแล้วในปัจฉิมยาม. แลในกาลนั้น ตัวแมลงค่อมทอง (หรือแมลงเม่า) เป็นอันมาก ตั้งขึ้นแล้ว บนพื้นที่ฝนตกใหม่. ตัวเหล่านั้น เมื่อพระเถระจงกรมอยู่ ได้วิบัติ (ตาย) โดยมาก.

พวกอันเตวาสิก ยังไม่ทันกวาดที่จงกรมของพระเถระแต่เช้า. ฝ่ายพวกภิกษุนอกนี้ มาด้วยหวังว่า "จักดูที่อยู่ของพระเถระ" เห็นสัตว์ทั้งหลายในที่จงกรมแล้ว ถามว่า "ใครจงกรมในที่นี้" พวกอันเตวาสิกของพระเถระตอบว่า "อุปัชฌาย์ของพวกกระผมขอรับ" เธอทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 32

ติเตียนว่า "ท่านทั้งหลายดูกรรมของสมณะเถิด ในกาลมีจักษุท่านนอนหลับเสีย ไม่ทำอะไร, ในกาลมีจักษุวิกลเดี๋ยวนี้ไว้ตัวว่า "จงกรม" ทำสัตว์มีประมาณถึงเท่านี้ให้ตายแล้ว ท่านคิดว่า "จักทำประโยชน์" กลับทำการหาประโยชน์มิได้."

พวกเธอไปกราบทูลพระตถาคตแล้วในขณะนั้นว่า "พระเจ้าข้า พระจักขุปาลเถระ ไว้ตัวว่า "จงกรม" ทำสัตว์มีชีวิตเป็นอันมากให้ตายแล้ว."

พระศาสดาตรัสถามว่า "ท่านทั้งหลายเห็นเธอกำลังทำสัตว์มีชีวิต เป็นอันมากให้ตายแล้วหรือ?"

ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า "ไม่ได้เห็น พระเจ้าข้า."

ศ. ท่านทั้งหลายไม่เห็นเธอ (ทำดังนั้น) ฉันใดแล ถึงเธอก็ไม่เห็นสัตว์มีชีวิตเหล่านั้น ฉันนั้น. ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าเจตนาเป็นเหตุให้ตาย ของพระขีณาสพทั้งหลาย (คือบุคคลผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว) มิได้มี.

ภ. พระเจ้าข้า เมื่ออุปนิสัยแห่งพระอรหัตมีอยู่ เหตุไฉนท่านจึงกลายเป็นคนมีจักษุมืดแล้ว.

ศ. ด้วยอำนาจกรรมอันตนทำไว้แล้ว ภิกษุทั้งหลาย.

ภ. ก็ท่านได้ทำกรรมอะไรไว้แล้ว พระเจ้าข้า.

บุรพกรรมของพระจักขุปาลเถระ

พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง" ดังนี้แล้ว (ตรัสเล่าเรื่องว่า)

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพาราณสี ดำรงราชย์อยู่ในกรุงพาราณสี หมอผู้หนึ่งเที่ยวทำเวชกรรมอยู่ในบ้านและนิคม เห็นหญิงทุรพลด้วยจักษุ

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 33

คนหนึ่ง จึงถามว่า "ความไม่ผาสุกของท่านเป็นอย่างไร?

หญิงนั้นตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่แลเห็นด้วยดวงตา."

หมอกล่าวว่า "ข้าพเจ้าจักทำยาให้แก่ท่าน"

ญ. ทำเถิด นาย.

ม. ท่านจักให้อะไรแก่ข้าพเจ้า?

ญ. ถ้าท่านอาจจะทำดวงตาของข้าพเจ้าให้กลับเป็นปกติได้, ข้าพเจ้ากับบุตรและธิดา จักยอมเป็นทาสีของท่าน.

ม. รับว่า "ดีละ" ดังนี้แล้ว ประกอบยาให้แล้ว. ดวงตากลับเป็นปกติ ด้วยยาขนานเดียวเท่านั้น.

หญิงนั้นคิดแล้วว่า "เราได้ปฏิญญาแก่หมอนั้นไว้ว่า "จักพร้อมด้วยบุตรธิดา ยอมเป็นทาสีของเขา" ก็แต่เขาจักไม่เรียกเราด้วยวาจาอันอ่อนหวาน เราจักลวงเขา." นางอันหมอมาแล้ว ถามว่า "เป็น อย่างไร? นางผู้เจริญ" ตอบว่า "เมื่อก่อน ดวงตาของข้าพเจ้าปวดน้อย เดี๋ยวนี้ปวดมากเหลือเกิน." หมอคิดว่า "หญิงนี้ประสงค์ลวงเราแล้วไม่ให้อะไร ความต้องการของเราด้วยค่าจ้างที่หญิงนี้ให้แก่เรามิได้มี, เราจักทำเขาให้จักษุมืดเสียเดี๋ยวนี้" แล้วไปถึงเรือนบอกความนั้นแก่ภรรยา. นางได้นิ่งเสีย. หมอนั้นประกอบยาขนานหนึ่งแล้วไปสู่สำนักหญิงนั้น บอกให้หยอดว่า "นางผู้เจริญ ขอท่านจงหยอดยาขนานนี้." ดวงตาทั้งสองข้าง ได้ดับวูบแล้วเหมือนเปลวไฟ. หมอนั้นได้ (มาเกิด) เป็นจักขุปาลภิกษุแล้ว.

พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย กรรมที่บุตรของเราทำแล้วในกาลนั้น ติดตามเธอไปข้างหลังๆ. จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า บาปกรรมนี้

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 34

ย่อมตามผู้ทำไป เหมือนล้ออันหมุนตามรอยเท้าโคพลิพัท (คือโคที่เขาเทียมเกวียนบรรทุกสินค้า) ตัวเข็นธุระไปอยู่" ครั้นตรัสเรื่องนี้แล้ว พระองค์ผู้เป็นพระธรรมราชา ได้ตรัสพระคาถานี้สืบอนุสนธิ ดุจประทับพระราชสาสน์ ซึ่งมีดินประจำไว้แล้ว ด้วยพระราชลัญจกรว่า

๑. มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเน ภาสติ วา กโรติ วา ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ จกฺกํว วหโต ปทํ.

"ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ, ถ้าบุคคลมีใจร้าย พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี, ทุกข์ย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น ดุจล้อหมุนไปตามรอยเท้าโค ผู้นำแอกไปอยู่ฉะนั้น."

แก้อรรถ

จิตที่เป็นไปในภูมิ ๔ แม้ทั้งหมด ต่างโดยจิตมีกามาวจรกุศลจิต เป็นต้น ชื่อว่า "มโน" ในพระคาถานั้น. ถึงอย่างนั้น ในบทนี้ เมื่อนิยม กะ กำหนดลง ด้วยอำนาจจิตที่เกิดขึ้นแก่หมอนั้นในคราวนั้นย่อมได้จำเพาะจิต ที่เป็นไปกับด้วยโทมนัส ประกอบด้วยปฏิฆะ (อย่างเดียว).

บทว่า ปุพฺพงฺคมา คือ ชื่อว่า มาตามพร้อมด้วยจิตนั้น อันเป็นหัวหน้าไปก่อน.

บทว่า ธมฺมา คือ ชื่อว่า ธรรมเป็น ๔ อย่าง ด้วยอำนาจคุณธรรม เทศนาธรรม ปริยัติธรรม และนิสสัตตนิชชีวธรรม. ในธรรม ๔ ประการนั้น ธรรมศัพท์นี้ในคำว่า

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 35

"ธรรมและอธรรม ๒ ประการ ให้ผลเหมือนกัน หามิได้ อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมให้ถึงสุคติ."

ดังนี้ ชื่อว่าคุณธรรม (แปลว่าธรรมคือคุณ). ธรรมศัพท์นี้ ในคำว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมงามในเบื้องต้น แก่ท่านทั้งหลาย" ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าเทศนาธรรม (แปลว่าธรรมคือเทศนา). ธรรมศัพท์นี้ ในคำว่า "ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง กุลบุตรบางจำพวกในโลกนี้ ย่อม เรียนธรรม คือสุตตะ เคยยะ" ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ปริยัติธรรม (แปลว่าธรรมคือปริยัติ). ธรรมศัพท์นี้ ในคำว่า "ก็สมัยนั้นแล ธรรมทั้งหลายย่อมมี ขันธ์ทั้งหลายย่อมมี" ดังนี้ เป็นต้น ชื่อว่า นิสสัตตธรรม (แปลว่าธรรมคือสภาพที่มิใช่สัตว์) นัยแม้ในบทว่า "นิชชีวธรรม" (ซึ่งแปลว่าธรรมคือสภาพมิใช่ชีวิต) ก็ดุจเดียวกัน. ในธรรม ๔ ประการนั้น นิสสัตตธรรมหรือนิชชีวธรรม พระศาสดาทรงประสงค์แล้วในที่นี้. นิสสัตตธรรมหรือนิชชีวธรรมนั้น โดยความก็ อรูปขันธ์ ๓ ประการ คือ "เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์." เหตุว่าอรูปขันธ์ ๓ ประการนั่น ชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้าของอรูปขันธ์ ๓ ประการนั่น.

มีคำถามว่า "ก็ใจ มีวัตถุเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกัน เกิดในขณะเดียวกัน พร้อมกับธรรมเหล่านั้น ไม่ก่อนไม่หลังกว่ากัน ชื่อว่า เป็นหัวหน้าของธรรมเหล่านั้นอย่างไร?"

มีคำแก้ว่า " ใจ ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าของธรรมเหล่านั้น ด้วยอรรถว่า เป็นปัจจัยเครื่องยังธรรมให้เกิดขึ้น. เหมือนอย่างว่า เมื่อพวก

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 36

โจรเป็นอันมาก ทำโจรกรรมมีล้นบ้านเป็นต้นอยู่ด้วยกัน เมื่อมีใครถามว่า "ใครเป็นหัวหน้าของพวกมัน?" ผู้ใดเป็นปัจจัยของพวกมัน คือ อาศัยผู้ใดจึงทำกรรมนั้นได้ ผู้นั้นชื่อทัตตะก็ตาม ชื่อมัตตะก็ตาม เขาเรียกว่าหัวหน้าของมัน ฉันใด; คำอุปไมยซึ่งเป็นเครื่องให้อรรถถึงพร้อมนี้ บัณฑิตพึงรู้แจ้ง ฉันนั้น. ใจชื่อว่าเป็นหัวหน้าของธรรมทั้งหลายนั่น ด้วยอรรถว่า เป็นปัจจัยเครื่องยังธรรมให้เกิดขึ้นฉะนี้ เหตุนั้น ธรรมทั้งหลายนั่น จึงชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้า, เพราะเมื่อใจไม่เกิดขึ้น ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้. ฝ่ายใจถึงเจตสิกธรรมบางเหล่า แม้ไม่เกิดขึ้น ก็ย่อมเกิดขึ้นได้แท้. อนึ่ง ใจชื่อว่าเป็นใหญ่ของธรรม ทั้งหลายนั่น ด้วยอำนาจเป็นอธิบดี เหตุนั้น ธรรมทั้งหลายนั่นจึงชื่อว่า มีใจเป็นใหญ่. เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายมีโจรผู้เป็นหัวโจกเป็นต้น ผู้เป็นอธิบดี ได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ของชนทั้งหลายมีโจรเป็นต้น ฉันใด, ใจผู้เป็นอธิบดี ได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ของธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น, เหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่ามีใจเป็นใหญ่. อนึ่ง สิ่งทั้งหลายนั้นๆ เสร็จแล้วด้วยวัตถุมีไม้เป็นต้น ก็ชื่อว่าของสำเร็จแล้วด้วยไม้เป็นต้น ฉันใด. แม้ธรรมทั้งหลายนั่น ได้ชื่อว่าสำเร็จแล้วด้วยใจ เพราะเสร็จมาแต่ใจ ฉันนั้น.

บทว่า ปทุฏฺเน คือ อันโทษมีอภิชฌาเป็นต้นซึ่งจรมาประทุษร้ายแล้ว. จริงอยู่ ใจปกติชื่อว่าภวังคจิต, ภวังคจิตนั้นไม่ต้องโทษประทุษร้ายแล้ว. เหมือนอย่างว่า น้ำใสเศร้าหมองแล้ว เพราะสีทั้งหลาย มีสีเขียวเป็นต้นซึ่งจรมา (กลับ) เป็นน้ำต่างโดยประเภทมีน้ำเขียว เป็นต้น จะชื่อว่าน้ำใหม่ก็มิใช่ จะชื่อว่าน้ำใสตามเดิมนั่นแลก็มิใช่ ฉันใด,

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 37

ภวังคจิตแม้นั้น อันโทษมีอภิชฌาเป็นต้น ที่จรมาประทุษร้ายแล้ว จะชื่อว่าจิตใหม่ก็มิใช่ จะชื่อว่าภวังคจิตตามเดิมนั่นแลก็มิใช่ ฉันนั้น, เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่มันเศร้าหมองแล้ว เหตุอุปกิเลสทั้งหลายซึ่งจรมาแล" ดังนี้. ถ้าบุคคลมี ใจร้ายแล้วอย่างนี้.

บาทพระคาถาว่า ภาสติ วา กโรติ วา คือ เมื่อเขาพูด ย่อมพูด เฉพาะแต่วจีทุจริต ๔ อย่าง, เมื่อทำ ย่อมทำ เฉพาะแต่กายทุจริต ๓ อย่าง, เมื่อไม่พูด เมื่อไม่ทำ เพราะความที่ตัวเป็นผู้มีใจอันโทษมีอภิชฌาเป็นต้นประทุษร้ายแล้วนั้น ย่อมทำมโนทุจริต ๓ อย่างให้เต็ม. อกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่างของเขา ย่อมถึงความเต็มที่ ด้วยประการอย่างนี้.

บาทพระคาถาว่า ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ ความว่า ทุกข์ย่อมตามบุคคลนั้นไป เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น คือว่า ทุกข์ที่เป็นผลทั้งเป็นไปในกาย ทั้งเป็นไปในจิต โดยบรรยายนี้ว่า ทุกข์มีกายเป็นที่ตั้งบ้าง ทุกข์มีจิตนอกนี้เป็นที่ตั้งบ้าง ย่อมไปตามอัตภาพนั้น ผู้ไปอยู่ในอบาย ๔ ก็ดี ในหมู่มนุษย์ก็ดี เพราะอานุภาพแห่งทุจริต.

มีคำถามว่า "ทุกข์ย่อมติดตามบุคคลนั้นเหมือนอะไร?"

มีคำแก้ว่า หมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าของโคพลิพัทตัวเข็นไปอยู่, อธิบายว่า "เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าของโคพลิพัทอันเขาเทียมไว้ที่แอก นำแอกไปอยู่. เหมือนอย่างว่า มันลากไปวันหนึ่งก็ดี สองวันก็ดี สิบวันก็ดี กึ่งเดือนก็ดี ย่อมไม่อาจให้ล้อหมุนกลับ คือ ไม่อาจละล้อไปได้, โดยที่แท้เมื่อมันก้าวไปข้างหน้า แอกก็เบียดคอ (ของมัน) เมื่อมันถอยหลังล้อก็ขูดเนื้อที่ขา, ล้อเบียดเบียนด้วยเหตุ ๒ ประการนี้

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 38

หมุนตามรอยเท้าของมันไป ฉันใด, ทุกข์ทั้งที่เป็นไปทางกาย ทั้งที่เป็นไปทางจิต อันมีทุจริตเป็นมูล ย่อมติดตามบุคคลผู้มีใจร้ายแล้ว ทำทุจริต ๓ ประการให้เต็มที่ตั้งอยู่ ในที่เขาไปแล้วนั้นๆ มีนรกเป็นต้น ฉันนั้นแล.

ในกาลจบคาถา ภิกษุสามพันรูป ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์มีผลแม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล้ว.

เรื่องพระจักขุปาลเถระ จบ.