พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. เรื่องพระเทวทัต [๗]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ก.ค. 2564
หมายเลข  34783
อ่าน  770

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 108

๗. เรื่องพระเทวทัต [๗]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 40]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 108

๗. เรื่องพระเทวทัต [๗]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภการได้ผ้ากาสาวะอันบุคคลนำมาแต่แคว้นคันธาระของพระเทวทัต ในกรุงราชคฤห์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อนิกฺกสาโว" เป็นต้น.

พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ชาวกรุงราชคฤห์

ความพิสดารว่า สมัยหนึ่ง พระอัครสาวกทั้งสองพาบริวารของตน องค์ละ ๕๐๐ รูป ไปทูลลาพระศาสดาแล้ว ได้ไปจากพระเชตวันสู่กรุงราชคฤห์.

ชาวกรุงราชคฤห์ รวมเป็นพวกเดียวกัน ๒ คนบ้าง ๓ คนบ้าง หลายคนบ้าง ได้ถวายอาคันตุกทาน. (๑) อยู่มาวันหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร เมื่อจะทำอนุโมทนา แสดงธรรมอย่างนี้ว่า "อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ทายกคนหนึ่งถวายทานด้วยตนเอง (แต่) ไม่ชักชวนคนอื่น, ทายก นั้น ย่อมได้โภคสมบัติในที่แห่งตนเกิดแล้วๆ (แต่) ไม่ได้บริวารสมบัติ, คนหนึ่งชักชวนคนอื่น ส่วนตนเองไม่ถวาย, ผู้นั้น ย่อมได้ บริวารสมบัติในที่แห่งตนเกิดแล้วๆ (แต่) ไม่ได้โภคสมบัติ, คนหนึ่งแม้ตนเองก็ไม่ได้ถวาย แม้คนอื่นก็ไม่ชักชวน, ผู้นั้น ย่อมไม่ได้แม้วัตถุมาตรว่าข้าวปลายเกรียนพออิ่มท้อง ย่อมเป็นคนอนาถา หาปัจจัยมิได้ ในที่แห่งตนเกิดแล้วๆ คนหนึ่งทั้งตนเองก็ถวาย ทั้งชัก


(๑) ถวายแก่ภิกษุผู้มาใหม่ คือผู้เป็นแขก.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 109

ชวนคนอื่น ผู้นั้น ย่อมได้ทั้งโภคสมบัติ ทั้งบริวารสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้วๆ สิ้นร้อยอัตภาพบ้าง พันอัตภาพบ้าง แสนอัตภาพบ้าง."

นิมนต์ภิกษุพันรูปรับภัตตาหาร

บุรุษผู้บัณฑิตคนหนึ่ง ฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว คิดว่า "ท่าน ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาน่าอัศจรรย์นัก. พระผู้เป็นเจ้าสารีบุตรกล่าวเหตุแห่งความสุข, เราทำกรรมอันยังสมบัติทั้งสองเหล่านี้ให้สำเร็จ ย่อมสมควร" ดังนี้แล้ว จึงนิมนต์พระเถระว่า "ท่านขอรับ พรุ่งนี้ ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายรับภิกษาของผมเถิด."

พระเถระ ถามว่า "ท่านต้องการภิกษุเท่าไร? อุบาสก."

อุบาสก ย้อนถามว่า "ภิกษุที่เป็นบริวารของใต้เท้ามีเท่าไร? ขอรับ."

ถ. มีประมาณพันรูป อุบาสก.

อุ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอใต้เท้าพร้อมด้วยภิกษุทั้งหมดทีเดียว โปรดรับภิกษา (ของผม). พระเถระรับแล้ว.

อุบาสกชวนชาวบ้านถวายภัตตาหาร

อุบาสกเที่ยวไปในถนนพระนคร ชักชวนด้วยคำว่า "ข้าแต่แม่และพ่อทั้งหลาย ฉันนิมนต์ภิกษุไว้พันรูป, ท่านทั้งหลายจักอาจถวายภิกษามีจำนวนเท่าไร? ท่านทั้งหลายจักอาจถวายภิกษาแก่ภิกษุมีจำนวนเท่าไร?"

พวกมนุษย์กล่าวโดยพอเหมาะพอควร (แก่กำลัง) ของตนๆ ว่า "พวกฉันจักถวายแก่ภิกษุ ๑๐ รูป, พวกฉัน ๒๐ รูป, พวกฉัน ๑๐๐ รูป."

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 110

อุบาสกกล่าวว่า "ถ้ากระนั้น เราทั้งหลาย จักประชุมหุงต้มรวมกันในที่แห่งเดียว, ขอท่านทุกๆ คน จงรวบรวมวัตถุต่างๆ มี น้ำมัน งา ข้าวสาร เนยใส น้ำอ้อยเป็นต้น" ดังนี้แล้ว ให้รวมไว้ในที่แห่งหนึ่ง.

ทีนั้น กุฏุมพีผู้หนึ่งให้ผ้ากาสาวะอันนำมาจากแคว้นคันธาระซึ่งมีค่าแสนหนึ่ง แก่อุบาสกนั้นแล้ว สั่งว่า "ถ้าทาน (๑) วัฏฏ์ของท่านยังไม่เพียงพอไซร้. ท่านพึงจ่ายผ้าผืนนี้ให้ครบส่วนที่บกพร่อง, ถ้าทานวัฏฏ์ของท่านเพียงพอไซร้ ท่านพึงถวาย (ผ้าผืนนี้) แก่ภิกษุรูปที่ท่าน ปรารถนา." ในกาลนั้น ทานวัฏฏ์ทุกๆ อย่างของอุบาสกนั้นเพียงพอแล้ว. อะไรๆ ชื่อว่าบกพร่องมิได้มี, อุบาสกนั้นจึงถามมนุษย์ทั้งหลายว่า "ผ้ากาสาวะอันหาค่ามิได้ผืนนี้ อันกุฏุมพีผู้หนึ่งกล่าวอย่างนี้แล้วมอบให้ไว้. ทานวัฏฏ์ (ของพวกเรา) ก็มีเหลือเฟือแล้ว, เราทั้งหลายจะถวายผ้ากาสาวะผืนนี้แก่ท่านรูปไหนเล่า?"

ถวายผ้าราคาตั้งแสนแก่พระเทวทัต

บางพวกกล่าวว่า "ถวายแก่พระสารีบุตรเถระ." บางพวกกล่าวว่า "พระเถระมักมาในเวลาข้าวกล้าแก่ แล้วก็ไป, พระเทวทัตเป็นสหายในการมงคลและอวมงคลทั้งหลายของพวกเรา ดำรงอยู่เป็นนิตย์ เหมือนหม้อน้ำ, พวกเราจะถวายผ้าผืนนั้นแก่ท่าน," แม้เมื่อถ้อยคำเป็นไปหลายทาง (อย่างนั้น) , พวกที่กล่าว่า "ควรถวายแก่พระเทวทัต" ได้มีจำนวนมากกว่า. เมื่อเป็นอย่างนั้น พวกเขาจึงได้ถวายผ้ากาสาวะนั้นแก่พระเทวทัต.


(๑) ทานวัฏฏ์ ได้แก่ของทำบุญ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 111

พระเทวทัตนุ่งห่มผ้าไม่สมควรแก่ตน

พระเทวทัต ตัดผ้านั้นแล้ว เย็บ ย้อม นุ่งห่มเที่ยวไป. พวกมนุษย์เห็นท่านแล้ว จึงพูดกันว่า "ผ้าผืนนี้หาสมควรแก่พระเทวทัตไม่ ควรแก่พระสารีบุตรเถระ, พระเทวทัตนุ่งห่มผ้าอันไม่สมควรแก่ตนเที่ยวไป."

ขณะนั้น ภิกษุผู้อยู่ต่างทิศรูปหนึ่ง (ออก) จากกรุงราชคฤห์ ไปสู่กรุงสาวัตถี ถวายบังคมพระศาสดา เป็นผู้อันพระศาสดาทรงทำปฏิสันถาร ตรัสถามถึงการอยู่ผาสุกของพระอัครสาวกทั้งสองแล้ว จึงกราบทูลเรื่องนั้นทั้งหมดจำเดิมแต่ต้น.

พระศาสดา ตรัสว่า "ภิกษุ เทวทัตนั้นทรงผ้าที่ไม่สมควรแก่ตนในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้, แม้ในกาลก่อน เธอก็ทรงแล้วเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัสว่า)

ครั้งก่อนพระเทวทัตเป็นนายพรานช้าง

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ในพระนครพาราณสี, นายพรานช้าง ชาวพระนครพาราณสีผู้หนึ่ง ล้มช้างแล้วนำงา หนัง ไส้ใหญ่และเนื้อล่ำมาแล้วขายเลี้ยงชีวิต. ครั้งนั้นช้างหลายพันเชือกเดินหากินอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง พบพระปัจเจกพุทธะหลายองค์ จำเดิมแต่กาลนั้น เมื่อไป หมอบลงด้วยเข่าทั้งสองแล้วจบ (๑) ในกาลที่ไปและมา (ทุกครั้ง) แล้วจึงผ่านไป. วันหนึ่ง นายพรานช้างเห็นกิริยานั้นแล้ว คิดว่า "เราล้มช้างเหล่านี้ได้โดยยาก, ก็ในกาลไปและมา


(๑) กิริยาของช้างที่ทำความเคารพ ตรงกับคำว่า ไหว้..

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 112

ช้างเหล่านี้ย่อมจบพระปัจเจกพุทธะทั้งหลาย, มันเห็นอะไรหนอ? จึงจบ," กำหนดได้ว่า "เห็นผ้ากาสาวะ" ดังนี้แล้ว ดำริว่า "บัดนี้ แม้เราได้ผ้ากาสาวะย่อมควร," เมื่อพระปัจเจกพุทธะรูปหนึ่งลงไปสู่ชาต (๑) สระสรงน้ำอยู่ วางผ้ากาสาวะทั้งหลายไว้ที่ริมฝั่ง, จึงลักจีวรไป จับหอกนั่งคลุมโปง (๒) อยู่ริมหนทางที่ช้างเหล่านั้นไปมา.

หมู่ช้างเห็นเขาแล้วจึงจบ ด้วยสำคัญว่า "พระปัจเจกพุทธะ" แล้วก็ผ่านไป. นายพรานช้างนั้นเอาหอกพุ่งถูกช้างตัวไปข้างหลังช้างเหล่านั้นทั้งหมดให้ตายแล้ว ถือเอาส่วนต่างๆ มีงาเป็นต้น ฝังส่วนที่เหลือในแผ่นดินแล้วไป.

ในกาลต่อมา พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดช้าง ได้เป็นหัวหน้าช้าง เป็นนายโขลง. ถึงในกาลนั้น นายพรานช้างนั้น ก็คงทำอยู่อย่างนั้น. พระมหาบุรุษทราบความหมดสิ้นไปแห่งบริษัทของตน จึงถามว่า "ช้างเหล่านี้ไปไหน? จึงเบาบางไป," เมื่อเหล่าช้างนั้นตอบว่า "ไม่ทราบ นาย" คิดว่า "ช้างทั้งหลายจะไปไหนไม่บอกเรา (ก่อน) จักไม่ไป, อันตรายพึงมี" นึกสงสัยว่า "อันตรายพึงมีแต่สำนักแห่งบุรุษผู้นั่งคลุมผ้ากาสาวะในที่แห่งหนึ่ง," เพื่อจะจับบุรุษนั้น จึงส่งช้างทั้งหมดล่วงหน้าไปก่อน ส่วนตนมาล้าหลัง, นายพรานช้างนั้น เมื่อช้างที่เหลือจบแล้วเดินไป, เห็นพระมหาบุรุษกำลังเดินมาจึงม้วนจีวรพุ่งหอกไป.

พระมหาบุรุษคุมสติเดินมา ถอยกลับไปข้างหลังหู ลบหอกแล้ว. ทีนั้น จึงวิ่งแปร๋เข้าไป เพื่อจะจับนายพรานช้างนั้น ด้วยสำคัญว่า


(๑) ชาตสระ สระที่เป็นของไม่มีใครขุดทำ.

(๒) สสีสํ ปารุปิตฺวา.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 113

"เจ้าคนนี้ ให้ช้างของเราฉิบหายแล้ว." นายพรานช้างนอกนี้ แอบบังต้นไม้ต้นหนึ่ง. ทีนั้น พระมหาบุรุษ เอางวงรวบเขาพร้อมกับต้นไม้ หมายใจว่า "จักจับฟาดลงที่แผ่นดิน. " (ครั้น) เห็นผ้ากาสาวะที่เขานำออกแสดง จึงยับยั้งไว้ ด้วยคิดเห็นว่า " ถ้าเราจักประทุษร้ายในบุรุษนี้ไซร้. ชื่อว่าความละอายในพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธะและพระขีณาสพหลายพันองค์ จักเป็นอันเราทำลายแล้ว." ซักถามว่า "ญาติของเราประมาณเท่านี้ เจ้าให้ฉิบหายแล้วหรือ?"

นายพรานช้างรับสารภาพว่า "จ้ะ นาย."

พระมหาบุรุษกล่าวว่า "เพราะอะไร เจ้าจึงได้ทำกรรมอันหยาบช้าอย่างนี้? เจ้าห่มผ้าไม่สมควรแก่ตน สมควรแก่ท่านผู้ปราศจากราคะทั้งหลาย เมื่อทำกรรมอันลามกเห็นปานนี้ ชื่อว่าทำกรรมอันหนัก." ก็แล ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะข่มขี่ให้ยิ่งขึ้น จึงกล่าวคาถาว่า

"ผู้ใด มีกิเลสดุจน้ำฝาดยังไม่ออก ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้ากาสาวะ, ผู้นั้นย่อมไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ, ส่วนผู้ใด พึงเป็นผู้มีกิเลส ดุจน้ำฝาดอันคายแล้ว ตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยทมะและสัจจะ, ผู้นั้นแล ย่อมควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ.

ดังนี้แล้ว กล่าวว่า "เจ้าทำกรรมอันไม่สมควร" แล้วก็ปล่อยเขาไป.

ของดีย่อมควรแก่คนดีหาควรกับคนชั่วไม่

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา (แสดง) แล้วทรงย่อชาดกว่า "นายพรานช้างในกาลนั้น ได้เป็นเทวทัต (ในบัดนี้)

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 114

ช้างตัวประเสริฐผู้ข่มขี่นายพรานช้างนั้น คือเราเอง " ดังนี้ ตรัสว่า "ภิกษุ ไม่ใช่แต่ในกาลนี้เท่านั้น. แม้ในกาลก่อน เทวทัตก็ทรงผ้าไม่สมควรแก่ตนเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว ได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

๗. อนิกฺกสาโว กาสาวํ โย วตฺถํ ปริทเหสฺสติ

อเปโต ทมสจฺเจน น โส กาสาวมรหติ.

โย จ วนฺตกสาวสฺส สีเลสุ สุสมาหิโต

อุเปโต ทมสจฺเจน ส เว กาสาวมรหติ.

"ผู้ใด มีกิเลสดุจน้ำฝาดยังไม่ออก ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้ากาสาวะ, ผู้นั้นย่อมไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ, ส่วนผู้ใด พึงเป็นผู้มีกิเลสดุจน้ำฝาดอันคายแล้ว ตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยทมะและสัจจะ, ผู้นั้นแล ย่อมควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ."

เนื้อความนี้ บัณฑิตพึงแสดงแม้ด้วยฉัททันตชาดก (๑) ดังนี้แล.

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนิกฺกสาโว ความว่า ผู้ชื่อว่ามีกิเลสดุจน้ำฝาด เพราะกิเลสดุจน้ำฝาดทั้งหลาย มีกามราคะเป็นต้น.

บทว่า ปริทเหสฺสติ ความว่า จักใช้สอยด้วยสามารถแห่งการนุ่ง การห่ม และการลาด. พระบาลีว่า "ปริทหิสฺสติ" ก็มี.

บาทพระคาถาว่า อเปโต ทมสจฺเจน ความว่า ปราศจาก,


(๑) ขุ. ติรสติ. ๒๗/ ๔๙๐. อรรถกถา. ๗/๒๒๖.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 115

อธิบายว่า "พราก" จากการฝึกอินทรีย์ และวจีสัจจะอันเป็นฝ่ายปรมัตถสัจจะ.

บทว่า น โส เป็นต้น ความว่า บุคคลนั้น คือผู้เห็นปานนั้น ย่อมไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ.

บทว่า วนฺตกสาวสฺส ความว่า พึงเป็นผู้มีกิเลสดุจน้ำฝาดอันคายแล้ว คือมีกิเลสดุจน้ำฝาดอันทิ้งแล้ว ได้แก่ มีกิเลสดุจน้ำฝาดอันละแล้ว ด้วยมรรค ๔.

บทว่า สีเลสุ ได้แก่ ในปาริสุทธิศีล ๔.

บทว่า สุสมาหิโต ได้แก่ ผู้ตั้งมั่นดี คือดำรงอยู่ด้วยดี.

บทว่า อุเปโต ความว่า ประกอบด้วยการฝึกอินทรีย์และวจีสัจจะ มีประการดังกล่าวแล้ว.

บทว่า ส เว เป็นต้น ความว่า บุคคลนั้น คือเห็นปานนั้นย่อมควร [นุ่งห่ม] ผ้ากาสาวะนั้น.

ในกาลจบคาถา ภิกษุผู้อยู่ในต่างทิศนั้น ได้เป็นพระโสดาบัน. ชนแม้เหล่าอื่นมีจำนวนมาก บรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น. เทศนาได้สำเร็จประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.

เรื่องพระเทวทัต จบ.