พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๒. เรื่องพระเทวทัต [๑๒]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ก.ค. 2564
หมายเลข  34788
อ่าน  877

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 181

๑๒. เรื่องพระเทวทัต [๑๒]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 40]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 181

๑๒. เรื่องพระเทวทัต [๑๒]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อิธ ตปฺปติ เปจฺจ ตปฺปติ" เป็นต้น

เจ้าศากยะ ๖ พระองค์ทรงผนวช

เรื่องพระเทวทัต พระศาสดาตรัสชาดกทั้งหมด ที่ทรงปรารภ พระเทวทัตให้พิสดารแล้ว ตั้งแต่เวลาผนวชถึงถูกแผ่นดินสูบ. ก็ความย่อในเรื่องพระเทวทัตนี้ ดังต่อไปนี้ :-

เมื่อพระศาสดา ทรงอาศัยนิคมชื่ออนุปะยะแห่งมัลลกษัตริย์ ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวันนั่นแล, ในวันรับพระลักษณะแห่งพระตถาคตนั่นเทียว ตระกูลพระญาติแปดหมื่นมอบพระโอรสแปดหมื่นให้ ด้วยคำว่า "สิทธัตถกุมาร จงเป็นพระราชาก็ตาม เป็นพระพุทธเจ้าก็ตาม, จักมีกษัตริย์เป็นบริวารเที่ยวไป," เมื่อพระโอรสเหล่านั้นผนวชแล้วโดยมาก, เหล่าพระญาติเห็นศากยะ ๖ พระองค์นี้ คือ ภัททิยราชา อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ เทวทัต ยังมิได้ผนวชจึงสนทนากันว่า "พวกเรายังให้ลูกๆ ของตนบวชได้, ศากยะทั้ง ๖ นี้ ชะรอยจะไม่ใช่พระญาติกระมัง? เพราะฉะนั้น จึงมิได้ทรงผนวช."

ครั้งนั้น เจ้ามหานามศากยะ เข้าไปหาเจ้าอนุรุทธะ ตรัสว่า "พ่อ ผู้ออกบวชจากตระกูลของเรายังไม่มี, น้องจักบวช หรือว่า พี่จักบวช," ก็เจ้าอนุรุทธกุมารนั้น เป็นกษัตริย์ผู้สุขุมาล มีโภคะสมบูรณ์ แม้คำว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 182

"ไม่มี" พระองค์ก็ไม่เคยทรงสดับ. จริงอยู่ วันหนึ่งเมื่อกษัตริย์ ๖ พระองค์นั้น ทรงเล่นกีฬาลูกขลุบอยู่, เจ้าอนุรุทธะทรงปราชัยด้วยขนมแล้ว ส่ง (คน) ไปเพื่อต้องการขนม. คราวนั้น พระมารดาของท่านทรงจัดขนมส่งไป. กษัตริย์ทั้งหกเสวยแล้วทรงเล่นกันอีก. เจ้าอนุรุทธะนั้นแล เป็นฝ่ายแพ้ร่ำไป. ส่วนพระมารดา เมื่อพระองค์ส่งคนไปๆ ก็ส่งขนมไปถึง ๓ ครั้ง ในวาระที่ ๔ ส่งไปว่า "ขนมไม่มี." พระกุมารทรงสำคัญว่า "ขนมแม้นี้ จักเป็นขนมประหลาดชนิดหนึ่ง" เพราะไม่เคยทรงได้ยินคำว่า "ไม่มี" จึงส่งคนไปว่า " จงนำขนมไม่มีนั่นแลมาเถอะ."

ฝ่ายพระมารดาของท่าน เมื่อเขาทูลว่า " ข้าแต่พระแม่เจ้า ได้ยินว่า พระองค์จงประทานขนมไม่มี," จึงทรงพระดำริว่า "ลูกของเรา ไม่เคยได้ยินบทว่า "ไม่มี," แต่เราจักให้รู้ความนั่นด้วยอุบายนี้" จึงทรงปิดถาดทองคำเปล่าด้วยถาดทองคำอื่นแล้วส่งไป.

เหล่าเทวดาที่รักษาพระนครคิดว่า " เจ้าอนุรุทธศากยะได้ถวายภัตอันเป็นส่วนตัวแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ ในคราวที่ตนเป็นนายอันนภาระ ทรงทำความปรารถนาไว้ว่า " ขอข้าพเจ้าจงอย่าได้สดับคำว่า "ไม่มี," อย่ารู้สถานที่เกิดแห่งโภชนะ," ถ้าว่าเจ้าอนุรุทธะนี้ จักทรงเห็นถาดเปล่าไซร้, พวกเราก็จักไม่ได้เข้าไปสู่เทวสมาคม, ทั้งศีรษะของพวกเราก็จะพึงแตก ๗ เสี่ยง." ทีนั้น จึงได้ทำถาดนั้นให้เต็มด้วยขนมทิพย์ เมื่อถาดนั้นพอเขาวางลงที่สนามเล่นขลุบแล้วเปิดขึ้น, กลิ่นขนมก็ตั้งตลบไปทั่วทั้งพระนคร. ชิ้นขนม แต่พอกษัตริย์ทั้งหกหยิบเข้าไปในพระโอฐเท่านั้น ก็แผ่ซ่านไปทั่วประสาทรับรสทั้งเจ็ดพัน.

พระกุมารนั้นทรงพระดำริว่า "เราคงจะไม่เป็นที่รักของพระมารดา,

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 183

พระมารดาจึงไม่ทรงปรุงชื่อขนมไม่มีนี้ประทานเรา ตลอดเวลาถึงเพียงนี้, ตั้งแต่นี้ไป เราจักไม่กินขนมอื่น," ดังนี้แล้ว เสด็จไปสู่ตำหนัก ทูลถามพระมารดาว่า "เจ้าแม่ หม่อมฉันเป็นที่รักของเจ้าแม่หรือไม่เป็นที่รัก?"

ม. พ่อ พ่อย่อมเป็นที่รักยิ่งของแม่ เสมือนนัยน์ตาของคนมีตาข้างเดียว และเหมือนดวงใจ (ของแม่) ฉะนั้น.

อ. เมื่อเช่นนั้น เหตุไร เจ้าแม่จึงไม่ทรงปรุงขนมไม่มี ประทานแก่หม่อนฉันตลอดเวลาถึงเพียงนี้เล่า เจ้าแม่.

พระนางรับสั่งถามมหาดเล็กคนสนิทว่า "ขนมอะไรๆ มีอยู่ในถาดหรือ พ่อ. เขาทูลว่า " ข้าแต่พระแม่เจ้า ถาดเต็มเปี่ยมด้วยขนม, ชื่อว่าขนมเห็นปานนี้ กระหม่อมฉันก็ยังไม่เคยเห็นแล้ว." พระนางทรงพระดำริว่า "บุตรของเราจักเป็นผู้มีบุญ มีอภินิหารได้ทำไว้แล้ว, เทวดาทั้งหลายจักใส่ขนมให้เต็มถาดส่งไปแล้ว. ลำดับนั้นพระโอรสจึงทูลพระมารดาว่า "เจ้าแม่ ตั้งแต่นี้ไป หม่อมฉันจักไม่เสวยขนมอื่น, ขอเจ้าแม่พึงปรุงแต่ขนมไม่มีอย่างเดียว." ตั้งแต่นั้นมา แม้พระนาง เมื่อพระกุมารนั้นทูลว่า "หม่อมฉันต้องการเสวยขนม" ก็ทรงครอบถาดเปล่านั่นแลด้วยถาดอื่น ส่งไปประทานพระกุมารนั้น. เทวดาทั้งหลายส่งขนมทิพย์ถวายพระกุมารนั้นตลอดเวลาที่ท่านเป็นฆราวาส. (๑)

เจ้าทั้งสองสนทนากันถึงเรื่องบวชและการงาน

พระกุมารนั้นเมื่อไม่ทรงทราบแม้คำมีประมาณเท่านี้ จักทรงทราบถึงการบวชได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น พวกกุมารจึงทูลถามพระภาดาว่า การบวชนี้เป็นอย่างไร?" เมื่อเจ้ามหานามตรัสว่า "ผู้บวช ต้องโกนผม


(๑) อคารมชฺเฌ วสิ. ประทับอยู่ในท่ามกลางเรือน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 184

และหนวด ต้องนุ่งห่มผ้ากาสายะ ต้องนอนบนเครื่องลาดด้วยไม้ หรือบนเตียงที่ถักด้วยหวาย เที่ยวบิณฑบาตอยู่, นี้ชื่อว่าการบวช." จึงทูลว่า "เจ้าพี่ หม่อมฉันเป็นสุขุมาลชาติ, หม่อมฉันจักไม่สามารถบวชได้" เจ้ามหานามตรัสว่า "พ่อ ถ้าอย่างนั้น พ่อจงเรียนการงานอยู่เป็นฆราวาสเถิด, ก็ในเราทั้งสองจะไม่บวชเลยสักคนไม่ควร."

ขณะนั้น อนุรุทธกุมารทูลถามเจ้าพี่ว่า " ชื่อว่าการงานนี้อย่างไร?" กุลบุตรผู้ไม่รู้แม้สถานที่เกิดแห่งภัต จักรู้จักการงานได้อย่างไร?

เจ้าศากยะทั้ง ๓ สนทนากันถึงที่เกิดแห่งภัต

ก็วันหนึ่ง การสนทนาเกิดขึ้นแก่กษัตริย์ ๓ องค์ว่า " ชื่อว่าภัตเกิดขึ้นที่ไหน?" กิมพิลกุมาร รับสั่งว่า "เกิดขึ้นในฉาง." ครั้งนั้น ภัททิยกุมาร ตรัสค้านกิมพิลกุมารนั้นว่า " ท่านยังไม่ทราบที่เกิดแห่งภัต, ชื่อว่าภัต ย่อมเกิดขึ้นที่หม้อข้าว." อนุรุทธะตรัสแย้งว่า "ถึงท่านทั้งสองก็ยังไม่ทรงทราบ, ธรรมดาภัต ย่อมเกิดขึ้นในถาดทองคำ ประมาณศอกกำ."

ได้ยินว่า บรรดากษัตริย์ ๓ องค์นั้น วันหนึ่ง กิมพิลกุมาร ทรงเห็นเขาขนข้าวเปลือกลงจากฉาง ก็เข้าพระทัยว่า "ข้าวเปลือกเหล่านี้ เกิดขึ้นแล้วในฉางนั่นเอง."

ฝ่ายพระภัททิยกุมาร วันหนึ่ง ทรงเห็นเขาคดภัตออกจากหม้อข้าว ก็เข้าพระทัยว่า "ภัตเกิดขึ้นในหม้อข้าวนั่นเอง."

ส่วนอนุรุทธกุมาร ยังไม่เคยทรงเห็นคนซ้อมข้าว คนหุงข้าว หรือ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 185

คนคดข้าว, ทรงเห็นแต่ข้าวที่เขาคดแล้วตั้งไว้ เฉพาะพระพักตร์เท่านั้น. ท่านจึงทรงเข้าพระทัยว่า "ภัตเกิดในถาด ในเวลาที่ต้องการบริโภค." กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์นั้น ย่อมไม่ทรงทราบแม้ที่เกิดแห่งภัต ด้วยประการอย่างนี้. เพราะฉะนั้น อนุรุทธกุมารนี้จึงทูลถามว่า " ขึ้นชื่อว่าการงานนี้เป็นอย่างไร? ครั้นได้ทรงฟังกิจการที่ฆราวาสจะพึงทำประจำปีมีอาทิว่า "เบื้องต้นต้องให้ไถนา," จึงตรัสว่า "เมื่อไร ที่สุดแห่งการงานทั้งหลายจักปรากฏ, เมื่อไร หม่อมฉันจึงจักมีความขวนขวายน้อย ใช้สอยโภคะได้เล่า" เมื่อเจ้ามหานามตรัสบอกความไม่มีที่สุดแห่งการงานทั้งหลายแล้ว ทูลว่า "ถ้าอย่างนั้นขอเจ้าพี่นั่นแล ทรงครองฆราวาสเถิด หม่อมฉันหาต้องการด้วยฆราวาสนั้นไม่" ดังนี้แล้ว เข้าเฝ้าพระมารดา กราบทูลว่า " เจ้าแม่ ขอเจ้าแม่อนุญาตหม่อมฉันเถิด, หม่อมฉันจักบวช." เมื่อพระนางทรงห้ามถึง ๒ ครั้ง ตรัสว่า " ถ้าพระเจ้าภัททิยะ พระสหายของลูก จักผนวชไซร้, ลูกจงบวชพร้อมด้วยท้าวเธอ," จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยะนั้น ทูลว่า " สหาย การบวชของหม่อนฉัน เนื่องด้วยพระองค์ดังนี้แล้วได้ยังพระภัททิยะนั้นให้ทรงยินยอมด้วยประการต่างๆ. ในวันที่ ๗ ทรงรับปฏิญญา เพื่อประโยชน์จะผนวชกับด้วยพระองค์.

อุบาลีออกบวชพร้อมด้วยศากยะทั้งหก

แต่นั้น กษัตริย์ทั้งหกองค์นี้ คือ ภัททิยศากยราซ อนุรุทธะ อานนท์ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต เป็น ๗ ทั้งอุบาลีนายภูษามาลา ทรงเสวยมหาสมบัติตลอด ๗ วัน ประดุจเทวดาเสวยทิพยสมบัติ, แล้ว

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 186

เสด็จออกด้วยจตุรงคินีเสนา ประหนึ่งว่าเสด็จไปพระอุทยาน ถึงแดนกษัตริย์พระองค์อื่นแล้ว ทรงส่งกองทัพทั้งสิ้นให้กลับด้วยพระราชอาชญา เสด็จย่างเข้าสู่แดนกษัตริย์พระองค์อื่น. ใน ๗ คนนั้น กษัตริย์ ๖ พระองค์ทรงเปลื้องอาภรณ์ของตนๆ ทำเป็นห่อแล้ว รับสั่งว่า "แน่ะ นายอุบาลี เชิญเธอกลับไปเถอะ, ทรัพย์เท่านี้พอเลี้ยงชีวิตของเธอ" ดังนี้แล้ว ประทานแก่เขา. เขากลิ้งเกลือกรำพัน แทบพระบาทของกษัตริย์ ๖ พระองค์นั้น เมื่อไม่อาจล่วงอาชญาของกษัตริย์เหล่านั้น จึงลุกขึ้น ถือห่อของนั้นกลับไป. ในกาลแห่งชนเหล่านั้นเกิดเป็น ๒ พวก ป่าได้เป็นประหนึ่งว่าถึงซึ่งการร้องไห้, แผ่นดินได้เป็นประหนึ่งว่าถึงซึ่งอาการหวั่นไหว. ฝ่ายอุบาลีภูษามาลาไปได้หน่อยหนึ่งก็กลับ คิดอย่างนี้ว่า "พวกศากยะดุร้ายนัก จะพึงฆ่าเราเสียด้วยเข้าพระทัยว่า "พระกุมารทั้งหลายถูกเจ้าคนนี้ปลงพระชนม์เสียแล้ว ดังนี้ก็ได้, ก็ธรรมดาว่าศากยกุมารเหล่านี้ทรงสละสมบัติเห็นปานนี้ ทิ้งอาภรณ์อันหาค่ามิได้เหล่านี้เสีย ดังก้อนเขฬะแล้ว จักผนวช, ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงเราเล่า?" ครั้น คิด (ดังนี้) แล้ว จึงแก้ห่อของออก เอาอาภรณ์เหล่านั้นแขวนไว้บนต้นไม้แล้ว กล่าวว่า "ผู้มีความต้องการทั้งหลายจงถือเอาเถิด" ดังนี้แล้ว ไปสู่สำนัก ของศากยกุมารเหล่านั้น อันศากยกุมารเหล่านั้นตรัสถามว่า "เพราะเหตุอะไร? เธอจึงกลับมา" ก็กราบทูลความนั้นแล้ว.

ศากยะทั้งหกบรรลุคุณพิเศษ

ลำดับนั้น ศากยกุมารเหล่านั้น ทรงพาเขาไปสู่สำนักพระศาสดา

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 187

ถวายบังคมพระผู้มีภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นพวกศากยะ มีความถือตัวประจำ (สันดาน) , ผู้นี้เป็นคนบำเรอของพวกข้าพระองค์ ตลอดราตรีนาน, ขอพระองค์โปรดให้ผู้นี้บวชก่อน, ข้าพระองค์ทั้งหลาย จักทำสามีจิกรรมมีการอภิวาทเป็นต้นแก่เขา, ความถือตัวของข้าพระองค์ จักสร่างสิ้นไปด้วยอาการอย่างนี้," ดังนี้แล้ว ให้อุบาลีนั้นบวชก่อน, ภายหลังตัวจึงได้ทรงผนวช. บรรดาศากยภิกษุ ๖ รูปนั้นท่านพระภัททิยะได้เป็นพระอรหันต์เตวิชโช (๑) โดยระหว่างพรรษานั้นนั่นเอง. ท่านพระอนุรุทธะเป็นผู้มีจักษุเป็นทิพย์ ภายหลังทรงสดับมหาปุริสวิตักกสูตร (๒) ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว. ท่านพระอานนท์ ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. พระภคุเถระและพระกิมพิลเถระ ภายหลังเจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัต. พระเทวทัตได้บรรลุฤทธิ์อันเป็นของปุถุชน.

พระเทวทัตแสดงฤทธิ์แก่อชาตสัตรูราชกุมาร

ในกาลต่อมา เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงโกสัมพี, ลาภและสักการะเป็นอันมาก เกิดขึ้นแด่พระตถาคตพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก. มนุษย์ทั้งหลายในกรุงโกสัมพีนั้น มีมือถือผ้าและเภสัชเป็นต้น เข้าไปสู่วิหารแล้ว ถามกันว่า "พระศาสดาประทับอยู่ที่ไหน? พระสารีบุตรเถระอยู่ที่ไหน? พระมหาโมคคัลลานเถระอยู่ที่ไหน? พระมหากัสสปเถระอยู่ที่ไหน? พระภัททิยเถระอยู่ที่ไหน? พระอนุรุทธเถระอยู่ที่ไหน? พระอานนทเถระอยู่ที่ไหน? พระภคุเถระอยู่ที่ไหน? พระ-


(๑) วิชชา ๓ คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ๑ จุตูปปาตญาณ ๑ อาสวักขยญาณ ๑.

(๒) อัง. อัฏฐก. ๒๓/ ๓๒๓.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 188

กิมพิลเถระอยู่ที่ไหน?" ดังนี้แล้ว เที่ยวตรวจดูที่นั่งแห่งอสีติมหาสาวก. ชื่อว่าผู้ถามว่า " พระเทวทัตเถระนั่งหรือยืนที่ไหน?" ดังนี้ ย่อมไม่มี. พระเทวะทัตนั้นจึงคิดว่า " เราบวชพร้อมกับด้วยศากยะเหล่านี้เหมือนกัน. แม้ศากยะเหล่านี้ เป็นขัตติยบรรพชิต, แม้เราก็เป็นขัตติยบรรพชิต. พวกมนุษย์มีมือถือลาภและสักการะแสวงหาท่านเหล่านี้อยู่, ผู้เอ่ยถึงชื่อของเราบ้างมิได้มี, เราจะสมคบกับใครหนอแล (๑) พึงยังใครให้เลื่อมใสแล้ว ยังลาภและสักการะให้เกิดแก่เราได้." ทีนั้น ความตกลงใจนี้มีแก่เธอว่า " พระเจ้าพิมพิสารนี้ พร้อมกับบริวาร ๑ นหุต ทรงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ด้วยการเห็นครั้งแรกนั่นแล, เราไม่อาจจะสมคบกับพระราชานั้นได้. แม้กับพระเจ้าโกศล เราก็ไม่สามารถจะสมคบได้, ส่วนพระอชาตสัตรูกุมาร พระโอรสของพระราชานี้แล (๒) ยังไม่รู้คุณและโทษของ ใครๆ , เราจักสมคบกับกุมารนั่น." พระเทวทัตนั้นออกจากกรุงโกสัมพีไปสู่กรุงราชคฤห์ นฤมิตเพศเป็นกุมารน้อย พันอสรพิษ ๔ ตัวที่มือและเท้าทั้งสี่, ตัวหนึ่งที่คอ, ตัวหนึ่งทำเป็นเทริดบนศีรษะ, ตัวหนึ่งทำเฉวียงบ่า, ลงจากอากาศด้วยสังวาลงูนี้ นั่งบนพระเพลาของอชาตสัตรูกุมาร, เมื่อพระกุมารนั้นทรงกลัวแล้ว ตรัสว่า " ท่านเป็นใคร?" จึงถวายพระพรว่า " อาตมะ คือเทวทัต," เพื่อจะบรรเทาความกลัวของพระกุมาร จึงกลับอัตภาพนั้น เป็นภิกษุทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ยืนอยู่เบื้องหน้า ยังพระกุมารนั้นให้ทรงเลื่อมใส ยังลาภและสักการะให้เกิดแล้ว.


(๑) เอกโต หุตฺวา.

(๒) หมายถึงพระเจ้าพิมพิสารผู้ครองมคธรัฐ.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 189

พระเทวทัตพยายามฆ่าพระพุทธเจ้า

พระเทวทัตนั้น อันลาภและสักการะครอบงำแล้ว ยังความคิดอันลามกให้เกิดขึ้นว่า "เราจักบริหารภิกษุสงฆ์" ดังนี้แล้ว เสื่อมจากฤทธิ์พร้อมด้วยจิตตุปบาทแล้ว ถวายบังคมพระศาสดาซึ่งกำลังทรงแสดงธรรม แก่บริษัทพร้อมด้วยพระราชา ในพระเวฬุวันวิหาร ลุกจากอาสนะแล้วประคองอัญชลี กราบทูลว่า " พระเจ้าข้า เวลานี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชราแก่เฒ่าแล้ว, ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ประกอบเนืองๆ ซึ่งธรรมเครื่องอยู่สบายในทิฏฐธรรมเถิด, หม่อมฉัน จักบริหารภิกษุสงฆ์ ขอพระองค์โปรดมอบภิกษุสงฆ์ประทานแก่หม่อมฉันเถิด" ดังนี้แล้ว ถูกพระศาสดาทรงรุกรานด้วยเขฬาสิกวาทะ (๑) ทรงห้ามแล้ว, ไม่พอใจ ได้ผูกอาฆาตนี้ในพระตถาคตเป็นครั้งแรกแล้วหลีกไป.

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า รับสั่งให้ทำปกาสนียกรรมในกรุง (๒) ราชคฤห์แก่เธอแล้ว. เธอคิดว่า "เดี๋ยวนี้เราถูกพระสมณโคดมกำจัดเสียแล้ว, บัดนี้ เราจักทำความพินาศแก่พระสมณโคดมนั้น" ดังนี้แล้วจึงไปเฝ้าเจ้าอชาตสัตรูกุมาร ทูลว่า "พระกุมาร เมื่อก่อนแลมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืน, บัดนี้อายุน้อย, ก็ข้อที่พระองค์พึงทิวงคตเสียตั้งแต่ยังเป็นพระกุมาร นั่นเป็นฐานะมีอยู่แล, พระกุมาร ถ้ากระนั้นพระองค์จงสำเร็จโทษพระบิดาเป็นพระราชาเถิด, อาตมะสำเร็จโทษพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักเป็นพระพุทธเจ้า" ครั้นเมื่อพระกุมารนั้นดำรงอยู่ในราชสมบัติแล้ว ได้แต่งบุรุษทั้งหลายเพื่อจะฆ่าพระตถาคต, ครั้นเมื่อบุรุษเหล่านั้นบรรลุ


(๑) ด้วยวาทะว่า ผู้บริโภคปัจจัยดุจน้ำลาย.

(๒) กรรมอันสงฆ์ควรประกาศ.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 190

โสดาปัตติผลกลับไปแล้ว, จึงขึ้นเขาคิชฌกูฏเอง กลิ้งศิลาด้วยจงใจว่า "เราเองจักปลงพระสมณโคดมจากชีวิต" ได้ทำกรรมคือยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น, เมื่อไม่อาจฆ่าด้วยอุบายแม้นี้ จึงให้ปล่อยช้างนาฬาคิรีไปอีก. เมื่อช้างนั้นกำลังเดินมา, พระอานนทเถระยอมสละชีวิตของตนถวายพระศาสดา ได้ยืนขวางหน้าแล้ว.

พระศาสดาทรงทรมานช้างแล้ว เสด็จออกจากพระนครมาสู่พระวิหาร เสวยมหาทานที่พวกอุบาสกหลายพันนำมาแล้ว ทรงแสดงอนุปุพพีกถาโปรดชาวกรุงราชคฤห์นับได้ ๑๘ โกฏิ ซึ่งประชุมกันในวันนั้น ธรรมาภิสมัยเกิดมีแก่สัตว์ประมาณแปดหมื่นสี่พัน.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสดับกถาพรรณนาคุณของพระเถระว่า "โอ ท่านพระอานนท์มีคุณมาก; เมื่อพระยาช้างชื่อเห็นปานนั้นมาอยู่, ได้ยอมสละชีวิตของตนยืนขวางหน้าพระศาสดา" ดังนี้แล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น; ถึงในครั้งก่อน อานนท์นี้ ก็ยอมสละชีวิตเพื่อประโยชน์แห่งเราแล้วเหมือนกัน" อันภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนแล้ว จึงตรัสจุลหังสชาดก (๑) มหาหังสชาดก (๒) และกักกฎกชาดก. (๓)

กรรมชั่วของพระเทวทัตปรากฏแก่มหาชน

กรรมแม้ของพระเทวทัต เพราะยังพระอชาตสัตรูกุมารให้สำเร็จโทษพระราชา (พระราชบิดา) เสียก็ดี เพราะแต่งนายขมังธนูก็ดี เพราะกลิ้งศิลาก็ดี มิได้ปรากฏเหมือนเพราะปล่อยช้างนาฬาคิรีเลย. คราวนั้นแล มหาชนได้โจษจันกันขึ้นว่า "แม้พระราชาก็พระเทวทัตนั่นเอง


(๑) ชา. ๒๘/๖๘. อรรถกถา. ๘/๒๑๑.

(๒) ขุ. ชา. ๒๘/๗๗. อรรถกถา. ๘/๒๔๒.

(๓) ขุ. ชา. ๒๗/๑๔๕. อรรถกถา. ๔/๓๓๕ เรื่องกักการุชาดก.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 191

เป็นผู้ให้สำเร็จโทษเสีย. แม้นายขมังธนูก็พระเทวทัตนั่นเองแต่งขึ้น, แม้ศิลาก็พระเทวทัตเหมือนกันกลิ้งลง, และบัดนี้เธอก็ได้ปล่อยช้างนาฬาคิรี, พระราชาทรงเที่ยวคบคนลามกเห็นปานนี้." พระราชาทรงสดับถ้อยคำของมหาชนแล้ว จึงให้นำสำรับ ๕๐๐ คืนมา มิได้เสด็จไปยังที่อุปัฏฐากของพระเทวทัตนั้นอีก. ถึงชาวพระนครก็มิได้ถวายแม้วัตถุมาตรว่าภิกษาแก่เธอซึ่งเข้าไปยังสกุล.

พระเทวทัตทูลขอวัตถุ ๕ ประการ

พระเทวทัตนั้น เสื่อมจากลาภและสักการะแล้ว ประสงค์จะเลี้ยงชีวิตด้วยการหลอกลวง จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลขอวัตถุ (๑) ๕ ประการ อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงห้ามว่า " อย่าเลย เทวทัต ผู้ใดปรารถนา, ผู้นั้นก็จงเป็นผู้อยู่ป่าเถิด" ดังนี้แล้วทูลว่า "ผู้มีอายุ คำพูดของใครจะงาม ของพระตถาคตหรือของข้าพระองค์? ก็ข้าพระองค์กล่าวด้วยสามารถข้อปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์อย่างนี้ว่า "พระเจ้าข้า ดังข้าพระองค์ขอประทานโอกาส ขอภิกษุทั้งหลายจงเป็นผู้อยู่ป่า เที่ยวบิณฑบาต ทรงผ้าบังสุกุล อยู่โคนไม้ อย่าพึงฉันปลาและเนื้อจนตลอดชีวิต" แล้วกล่าวว่า "ผู้ใดใคร่จะพ้นจากทุกข์, ผู้นั้นจงมากับเรา" ดังนี้แล้ว หลีกไป. ภิกษุบางพวกบวชใหม่ มีความรู้น้อย ได้สดับถ้อยคำของพระเทวทัตนั้นแล้ว ชักชวนกันว่า "พระเทวทัตพูดถูก พวกเราจักเที่ยวไปกับพระเทวทัตนั้น" ดังนี้แล้ว ได้สมคบกับเธอ.


(๑) วิ. จุล. ๗/๑๙๑.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 192

พระเทวทัตทำลายสงฆ์

พระเทวทัตนั้น ยังชนผู้เลื่อมใสในของเศร้าหมองให้เข้าใจ ด้วยวัตถุ ๕ ประการนั้น พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูปให้เที่ยวขอ (ปัจจัย) ในสกุลทั้งหลายมาบริโภค พยายามเพื่อทำสายสงฆ์แล้ว. เธออันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามว่า "เทวทัต ได้ยินว่า เธอพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายจักร จริงหรือ?" ทูลว่า "จริง พระผู้มีพระภาค." แม้พระองค์ทรงโอวาทด้วยพระพุทธพจน์มีอาทิว่า "เทวทัต การทำลายสงฆ์มีโทษหนักแล" ก็มิได้เชื่อถือพระวาจาของพระศาสดาหลีกไปแล้ว, พบท่านพระอานนท์ซึ่งกำลังเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ จึงกล่าวว่า "อานนท์ ผู้มีอายุ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจักทำอุโบสถ จักทำสังฆกรรมเว้นจากพระผู้มีพระภาคเจ้า เว้นจากภิกษุสงฆ์"

พระเถระกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดาทรงทราบความนั้นแล้ว เกิดธรรมสังเวช ทรงปริวิตกว่า "เทวทัตทำกรรม เป็นเหตุให้ตนไหม้ในอเวจี อันเกี่ยวถึงความฉิบหายแก่สัตวโลกทั้งเทวโลก" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

"กรรมทั้งหลายที่ไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย กรรมใดแลเป็นประโยชน์ด้วย ดีด้วย กรรมนั้นแลทำได้ยากอย่างยิ่ง"

ทรงเปล่งพระอุทานนี้อีกว่า

"กรรมดีคนดีทำได้ง่าย กรรมดีคนชั่วทำได้ยาก กรรมชั่วคนชั่วทำได้ง่าย กรรมชั่วพระอริยเจ้า

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 193

ทั้งหลายทำได้ยาก" (๑)

ครั้งนั้นแล พระเทวทัตนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งพร้อมด้วยบริษัทของตน ในวันอุโบสถ กล่าวว่า " วัตถุ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมชอบใจแก่ผู้ใด, ผู้นั้นจงจับสลาก" เมื่อพวกภิกษุวัชชีบุตร ๕๐๐ รูป ผู้บวชใหม่ ยังไม่รู้จักธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำทั่วถึง จับสลากกันแล้ว, ได้ทำลายสงฆ์ พาภิกษุเหล่านั้นไปสู่คยาสีสประเทศ.

อัครสาวกทั้งสองชักจูงภิกษุกลับเข้าพวกได้

พระศาสดา ทรงสดับความที่พระเทวทัตนั้นไปแล้ว ณ ที่นั้น จึงทรงส่งพระอัครสาวกทั้งสองไป เพื่อประโยชน์แก่การนำภิกษุเหล่านั้นมา. พระอัครสาวกทั้งสองนั้นไป ณ ที่นั้นแล้ว พร่ำสอนอยู่ด้วยอนุสาสนีเนื่องในอาเทศนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีอันเนื่องในอิทธิปาฏิหาริย์ ยังภิกษุเหล่านั้นให้ดื่มอมตธรรมแล้ว ได้พามาทางอากาศ.

ฝ่ายพระโกกาลิกะแล กล่าวว่า "เทวทัตผู้มีอายุ ลุกขึ้นเถิด, พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ นำเอาภิกษุเหล่านั้นไปหมดแล้ว, ผมบอกท่านแล้วไม่ใช่หรือว่า "ผู้มีอายุ ท่านอย่าไว้ใจพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ, (เพราะ) พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก" ดังนี้แล้ว เอาเข่ากระแทกที่ทรวงอก (พระเทวทัต). โลหิตอื่นได้พลุ่งออกจากปากพระเทวทัตในที่นั่นเอง.

ฝ่ายพวกภิกษุเห็นท่านพระสารีบุตร มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมมาทาง


(๑) วิ. จุล. ๗/๖๙๕. ขุ. อุ. ๒๕/๑๖๗.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 194

อากาศแล้ว กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรในเวลาไป มีตนเป็นที่ ๒ เท่านั้นไปแล้ว, บัดนี้มีบริวารมากมา ย่อมงามแท้."

บุรพกรรมของพระเทวทัต

พระศาสดา ตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น. แม้ในกาลที่เธอเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน บุตรของเรา มาสู่สำนักของเรา ก็ย่อมงามเหมือนกัน " ดังนี้แล้ว ได้ตรัสชาดก (๑) นี้ว่า

"ความจำเริญ ย่อมมีแก่ผู้มีศีลทั้งหลาย ผู้ประพฤติปฏิสันถาร, ท่านจงดูเนื้อชื่อลักขณะ อันหมู่ญาติแวดล้อมมาอยู่, อนึ่ง ท่านจงดูเนื้อชื่อกาละนี้ ที่เสื่อมจากญาติทั้งหลายเทียว"

ดังนี้เป็นต้น, เมื่อพวกภิกษุกราบทูลอีกว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ทราบว่า พระเทวทัต ให้พระอัครสาวก ๒ องค์นั่งที่ข้างทั้งสองแล้ว กล่าวว่า " เราจะแสดงธรรมด้วยพุทธลีลา" ทำกิริยาตามอย่างพระองค์แล้ว" ตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น, แม้ครั้งก่อนเทวทัตนี้ ก็พยายามทำตามเยี่ยงอย่างของเรา แต่ไม่สามารถ" ดังนี้แล้ว ตรัสนทีจรกากชาดก (๒) ว่า

"เออก็ วีรกะ ท่านย่อมเห็นนก ชื่อสวิฏฐกะ ซึ่งขานเพราะ มีสร้อยคอเหมือนนกยูง ซึ่งเป็นผัวของฉันไหม? นกสวิฏฐกะ ทำเยี่ยงนกที่เที่ยวไป


(๑) ขุ. ชา. ๒๗/๔. อรรถกถา. ๑/๒๑๗. ลักขณชาดก.

(๒) ขุ. ชา. ๒๗/๗๕. อรรถกถา. ๓/๑๙๘. เรื่อง วีรชาดก.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 195

ได้ทั้งในน้ำและบนบก บริโภคปลาสดเป็นนิตย์นั้น ถูกสาหร่ายพันตายแล้ว"

ดังนี้เป็นต้น, แม้วันอื่นๆ อีก ทรงปรารภกถาเช่นนั้นเหมือนกัน ตรัสชาดกทั้งหลายเป็นต้นอย่างนี้ว่า

"นกกระไนนี้ เมื่อจะเจาะซึ่งหมู่ไม้ทั้งหลาย ได้เที่ยวไปแล้วหนอ ที่ต้นไม้มีอวัยวะเป็นไม้แห้งไม่มีแก่น, ภายหลังมาถึงไม้ตะเคียน ที่มีแก่นเกิดแล้ว ได้ทำลายขมองศีรษะแล้ว. (๑) "

และว่า

"ไขข้อของท่าน ไหลออกแล้ว, กระหม่อมของท่าน อันช้างเหยียบแล้ว, ซี่โครงทุกซี่ของท่าน อันช้างหักเสียแล้ว คราวนี้งามหน้าละซิเพื่อน (๒) ."

ทรงปรารภกถาว่า "พระเทวทัต เป็นผู้อกตัญญู," จึงตรัสชาดกทั้งหลาย มีอาทิอีกว่า

"ข้าพเจ้าได้ทำกิจให้ท่านจนสุดกำลังของข้าพเจ้า ที่มีอยู่เทียว, ข้าแต่พระยาเนื้อ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อท่าน, ข้าพเจ้าน่าได้อะไรๆ บ้างซิ, ข้อที่เจ้าอยู่ในระหว่างฟันของเรา ผู้มีโลหิตเป็นภักษา ทำกรรมหยาบช้าเป็นนิตย์ ยังเป็นอยู่ได้ ก็เป็นลาภ มากอยู่แล้ว (๓) ."

ทรงปรารภความตะเกียกตะกาย เพื่อจะฆ่า (พระองค์) ของพระ-


(๑) ขุ. ชา. ๒๗/๗๗. อรรถกถา. ๓/๒๑๕. กันทคลกชาดก.

(๒) ขุ. ชา. ๒๗/๔๖. อรรถกถา. ๒/๓๘๔. วิโรจนชาดก.

(๓) ขุ. ชา. ๒๗/๑๓๓. อรรถกถา. ๔/๒๕๘. ชวสกุณชาดก.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 196

เทวทัตนั้นอีก ตรัสชาดกทั้งหลายเป็นต้นว่า

"ดูก่อนไม้มะลื่น ข้อที่เจ้ากลิ้งมานี้ กวางรู้แล้ว, เราจักไปยังไม้มะลื่นต้นอื่น เพราะว่าผลของเจ้า เราไม่ชอบใจ (๑) "

เมื่อกถายังเป็นไปอยู่อีกว่า "พระเทวทัตเสื่อมแล้วจากผล ๒ ประการ คือ จากลาภและสักการะประการหนึ่ง จากสามัญผลประการหนึ่ง," พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น, แม้ครั้งก่อน เทวทัตก็เสื่อมแล้วเหมือนกัน " ดังนี้แล้ว ตรัสชาดกทั้งหลายเป็นต้นว่า

"ตาทั้งสองแตกแล้ว, ผ้าก็หายแล้ว, และเพื่อนบ้านก็บาดหมางกัน, ผัวและเมียสองคนนั้น มีการงานเสียหายแล้วทั้งสองทาง คือ ทั้งทางน้ำ ทั้งทางบก (๒) ."

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่กรุงราชคฤห์ ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสชาดกเป็นอันมาก ด้วยประการอย่างนั้นแล้ว เสด็จ (ออก) จากกรุงราชคฤห์ไปสู่เมืองสาวัตถี ประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร.

พระเทวทัตให้สาวกนำไปเฝ้าพระศาสดา

ฝ่ายพระเทวทัตแล เป็นไข้ถึง ๙ เดือน, ในกาลสุดท้าย ใคร่จะเฝ้าพระศาสดา จึงบอกพวกสาวกของตนว่า " เราใคร่จะเฝ้าพระศาสดา, ท่านทั้งหลายจงแสดงพระศาสดานั้นแก่เราเถิด," เมื่อสาวกเหล่านั้นตอบว่า " ท่านในเวลาที่ยังสามารถ ได้ประพฤติเป็นคนมีเวร


(๑) ขุ. ชา. ๒๗/๗. อรรถกถา. ๑/๒๖๑. กุรุงคมิคชาดก.

(๒) ขุ. ชา. ๒๗/๔๕. อรรถกถา. ๒/๒๗๔. อุภโตภัฏฐชาดก.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 197

กับพระศาสดา, ข้าพเจ้าทั้งหลายจักนำท่านไปในที่พระศาสดาประทับอยู่ไม่ได้." จึงกล่าวว่า " ท่านทั้งหลายอย่าให้ข้าพเจ้าฉิบหายเลย ข้าพเจ้าทำอาฆาตในพระศาสดา, แต่สำหรับพระศาสดาหามีความอาฆาตในข้าพเจ้าแม้ประมาณเท่าปลายผมไม่," จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น

ทรงมีพระทัยสม่ำเสมอในบุคคลทั่วไป คือในนายขมังธนู ในพระเทวทัต ในโจรองคุลิมาล ในช้างธนบาล และในพระราหุล.

เพราะฉะนั้น พระเทวทัตจึงอ้อนวอนแล้วๆ เล่าๆ ว่า "ขอท่านทั้งหลาย จงแสดงพระผู้มีพระภาคเจ้าแก่ข้าพเจ้า." ทีนั้น สาวกเหล่านั้นจึงพาพระเทวทัตนั้นออกไปด้วยเตียงน้อย ภิกษุทั้งหลายได้ข่าวการมาของพระเทวทัตนั้น จึงกราบทูลพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข่าวว่า พระเทวทัตมาเพื่อประโยชน์จะเฝ้าพระองค์. " พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตนั้นจักไม่ได้เห็นเราด้วยอัตภาพนั้น." นัยว่า พวกภิกษุย่อมไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าอีก จำเดิมแต่กาลที่ขอวัตถุ ๕ ประการ, ข้อนี้ย่อมเป็นธรรมดา, พวกภิกษุกราบทูลว่า " พระเทวทัตมาถึงที่โน้นและที่โน้นแล้ว พระเจ้าข้า."

ศ. เทวทัตจงทำสิ่งที่ตนปรารถนาเถอะ, (แต่อย่างไรเสีย) เธอก็จักไม่ได้เห็นเรา.

ภ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเทวทัตมาถึงที่ประมาณโยชน์หนึ่งแต่ที่นี้แล้ว, (และทูลต่อๆ ไปอีกว่า) มาถึงกึ่งโยชน์แล้ว, คาพยุตหนึ่งแล้ว, มาถึงที่ใกล้สระโบกขรณีแล้ว พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 198

ศ. แม้หากเทวทัตจะเข้ามาภายในพระเชตวัน, ก็จักไม่ได้เห็นเราเป็นแท้.

พระเทวทัตถูกธรณีสูบ

พวกสาวกพาพระเทวทัตมา วางเตียงลงริมฝั่งสระโบกขรณีใกล้พระเชตวันแล้ว ต่างก็ลงไปเพื่อจะอาบน้ำในสระโบกขรณี.

แม้พระเทวทัตแล ลุกจากเตียงแล้วนั่งวางเท้าทั้งสองบนพื้นดิน เท้าทั้งสองนั้นก็จมแผ่นดินลง. เธอจมลงแล้วโดยลำดับเพียงข้อเท้า, เพียงเข่า, เพียงเอว, เพียงนม, จนถึงคอ, ในเวลาที่กระดูกคางจดถึงพื้นดิน ได้กล่าวคาถานี้ว่า

"ข้าพระองค์ขอถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นบุคคลเลิศ เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เป็นสารถีฝึกนรชน มีพระจักษุรอบคอบ มีพระลักษณะ (แต่ละอย่าง) เกิดด้วยบุญตั้งร้อย (๑) ว่าเป็นที่พึ่ง ด้วยกระดูกเหล่านี้พร้อมด้วยลมหายใจ."

นัยว่า "พระตถาคตเจ้าทรงเห็นฐานะนี้ จึงโปรดให้พระเทวทัตบวช. ก็ถ้าพระเทวทัตนั้น จักไม่ได้บวชไซร้, เป็นคฤหัสถ์ จักได้ทำกรรมหนัก, จักไม่ได้อาจทำปัจจัยแห่งภพต่อไป, ก็แลครั้นบวชแล้ว จักทำกรรมหนักก็จริง, (ถึงดังนั้น) ก็จะสามารถทำปัจจัยแห่งภพต่อไปได้" เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงโปรดให้เธอบวชแล้ว.


(๑) สตปุญฺญลกฺขณนฺติ สเตน ปุญฺญกมฺเมน นิพฺพตฺตเอเกกลกฺขณนฺติ อตฺโถ.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 199

พระเทวทัตเกิดในอเวจีถูกตรึงด้วยหลาวเหล็ก

จริงอยู่ พระเทวทัตนั้น จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า อัฏฐิสสระ ในที่สุดแห่งแสนกัลป์แต่กัลป์นี้ พระเทวทัตนั้นจมดินไปแล้ว เกิดในอเวจี. และเธอเป็นผู้ไหวติงไม่ได้ ถูกไฟไหม้อยู่ เพราะเป็นผู้ผิดในพระพุทธเจ้าผู้ไม่หวั่นไหว. สรีระของเธอสูงประมาณ ๑๐๐ โยชน์ เกิดในก้นอเวจีซึ่งมีประมาณ ๓๐๐ โยชน์, ศีรษะสอดเข้าไปสู่แผ่นเหล็กในเบื้องบน จนถึงหมวกหู, เท้าทั้งสองจมแผ่นดินเหล็กลงไปข้างล่าง จนถึงข้อเท้า, หลาวเหล็กมีปริมาณเท่าลำตาลขนาดใหญ่ ออกจากฝาด้านหลัง แทงกลางหลังทะลุหน้าอก ปักฝาด้านหน้า, อีกหลาวหนึ่งออกจากฝาด้านขวา แทงสีข้างเบื้องขวา ทะลุออกสีข้างเบื้องซ้าย ปักฝาด้านซ้าย, อีกหลาวหนึ่ง ออกจากแผ่นข้างบน แทงกระหม่อมทะลุออก ส่วนเบื้องต่ำ ปักลงสู่แผ่นดินเหล็ก. พระเทวทัตนั้น เป็นผู้ไหวติงไม่ได้ อันไฟไหม้ในอเวจีนั้น ด้วยประการอย่างนี้.

เมื่อก่อนพระเทวทัตก็ประพฤติผิดในพระศาสดา

ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันว่า "พระเทวทัตถึงฐานะประมาณเท่านี้ ไม่ทันได้เฝ้าพระศาสดา จมลงสู่แผ่นดินแล้ว." พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตประพฤติผิดในเรา จมดินลงไปในบัดนี้เท่านั้นหามิได้, แม้ครั้งก่อน เธอก็จมลงแล้วเหมือนกัน," เพื่อจะทรงแสดง ความที่บุรุษหลงทาง อันพระองค์ปลอบโยนแล้ว ยกขึ้นหลังของตนแล้ว ให้ถึงที่อันเกษมแล้ว กลับมาตัดงาทั้งหลายอีกถึง ๓ ครั้ง อย่างนี้คือ ที่ปลาย ที่ท่ามกลาง ที่โคน ในวาระที่ ๓ เมื่อก้าวล่วงคลองจักษุแห่ง

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 200

มหาบุรุษแล้ว ก็จมแผ่นดิน ในกาลที่พระองค์เป็นพระยาช้าง จึงตรัสชาดก (๑) นี้เป็นต้นว่า

"หากจะให้แผ่นดินทั้งหมดแก่คนอกตัญญู ผู้เพ่งโทษเป็นนิตย์ ก็ไม่ยังเขาให้ยินดีได้เลย.

เมื่อกถาตั้งขึ้นแล้วเช่นนั้นนั่นแลแม้อีก จึงตรัสขันติวาทิชาดก (๒) เพื่อทรงแสดงความที่พระเทวทัตนั้น ครั้งเป็นพระเจ้ากลาพุประพฤติผิดในพระองค์ ผู้เป็นขันติวาทีดาบส แล้วจมลงสู่แผ่นดิน และจุลลธรรมปาลชาดก (๓) เพื่อทรงแสดง ความที่พระเทวทัตนั้น ครั้งเป็นพระเจ้ามหาปตาปะ ประพฤติผิดในพระองค์ผู้เป็นจุลลธรรมปาละแล้วจมลงสู่แผ่นดิน.

ก็ครั้นเมื่อพระเทวทัตจมดินไปแล้ว, มหาชนร่าเริงยินดี ให้ยกธงชัยธงปฏากและต้นกล้วย ตั้งหม้อน้ำอันเต็มแล้ว เล่นมหรสพใหญ่ ด้วยปรารภว่า "เป็นลาภของพวกเราหนอ." พวกภิกษุกราบทูลข้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระเทวทัตตายแล้ว มหาชนยินดีมิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น, แม้ครั้งก่อนก็ยินดีแล้วเหมือนกัน," เพื่อจะทรงแสดงความที่มหาชนเป็นผู้ยินดี ในเมื่อพระราชาพระนามว่าปิงคละ ในนครพาราณสีซึ่งดุร้ายหยาบช้า ไม่เป็นที่รักของชนทั่วไปสวรรคตแล้ว จึงตรัสปิงคลชาดก (๔) นี้เป็นต้นว่า

พระโพธิสัตว์กล่าวถามว่า

"ชนทั้งสิ้น อันพระเจ้าปิงคละเบียดเบียนแล้ว เมื่อท้าวเธอสวรรคตแล้ว ชนทั้งหลายย่อมเสวย


(๑) ขุ. ชา. ๒๗/๒๓. อรรถกถา. ๒/๑๒๘. สีลวนาคชาดก.

(๒) ขุ. ชา. ๒๗/ ๑๓๗. อรรถกถา. ๔/๒๗๕.

(๓) ขุ. ชา. ๒๗/๑๗๐. อรรถกถา. ๔/๔๕๐.

(๔) ขุ. ชา. ๒๗/๙๒. อรรถกถา. ๓/๓๑๙.

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 201

ปีติ พระเจ้าปิงคละมีพระเนตรไม่ดำ ได้เป็นที่รักของเจ้าหรือ? แน่ะ นายประตู เหตุไร? เจ้าจึงร้องไห้."

นายประตูกล่าวตอบว่า

"พระราชา มีพระเนตรไม่ดำ หาได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ไม่ ข้าพระองค์กลัวแต่การเสด็จกลับมาของพระราชานั้น ด้วยว่า พระราชาพระองค์นั้น เสด็จไปจากที่นี้แล้ว พึงเบียดเบียนมัจจุราช มัจจุราชนั้นถูกเบียดเบียนแล้ว พึงนำพระองค์กลับมาที่นี้อีก."

ผู้ทำบาปย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง

ภิกษุทั้งหลาย ทูลถามพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ พระเทวทัตเกิดแล้ว ณ ที่ไหน?" พระศาสดาตรัสว่า "ในอเวจีมหานรก ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเทวทัตประพฤติเดือดร้อนในโลกนี้แล้ว ไปเกิดในสถานที่เดือดร้อนนั่นแลอีกหรือ?"

พระศาสดา ตรัสว่า "อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชนทั้งหลาย จะเป็นบรรพชิตก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม, มีปกติอยู่ด้วยความประมาท ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสองทีเดียว" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

๑๒. อิธ ตปฺปติ เปจฺจ ตปฺปติ ปาปการี อุภยตฺถ ตปฺปติ ปาปํ เม กตนฺติ ตปฺปติ ภิยฺโย ตปฺปติ ทุคฺคตึ คโต

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 202

"ผู้มีปกติทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมเดือดร้อน เขาย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง, เขาย่อมเดือดร้อนว่า "กรรมชั่วเราทำแล้ว," ไปสู่ทุคติ ย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้น."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า อิธ ตปฺปติ ความว่า ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ด้วยเหตุเพียงโทมนัส ด้วยความเดือดร้อนเพราะกรรม.

บทว่า เปจฺจ ความว่า ส่วนในโลกหน้า ย่อมเดือดร้อนเพราะทุกข์ในอบายอันร้ายแรงยิ่ง ด้วยความเดือดร้อนเพราะวิบาก.

บทว่า ปาปการี ความว่า ผู้ทำบาป มีประการต่างๆ.

บทว่า อุภยตฺถ ความว่า ชื่อว่า ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง ด้วยความเดือดร้อน มีประการดังกล่าวแล้วนี้.

สองบทว่า ปาปํ เม ความว่า ก็ผู้มีปกติทำบาปนั้น เมื่อเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะกรรม ชื่อว่าย่อมเดือดร้อน ด้วยคิดว่า "กรรมชั่วเราทำแล้ว," ข้อนั้นเป็นความเดือดร้อนมีประมาณเล็กน้อย; แต่เมื่อเดือดร้อน ด้วยความเดือดร้อนเพราะวิบาก ชื่อว่า ไปสู่ทุคติย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้น คือย่อมเดือดร้อนเหลือเกิน ด้วยความเดือดร้อน อันหยาบช้าอย่างยิ่ง.

ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมาก ได้เป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบันเป็นต้นแล้ว. เทศนาเป็นประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.

เรื่องพระเทวทัต จบ.