พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๔. เรื่องภิกษุ ๒ สหาย [๑๔]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ก.ค. 2564
หมายเลข  34790
อ่าน  619

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 209

๑๔. เรื่องภิกษุ ๒ สหาย [๑๔]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 40]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 209

๑๔. เรื่องภิกษุ ๒ สหาย [๑๔]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ ๒ สหาย ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "พหุมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน" เป็นต้น.

สองสหายออกบวช

ความพิสดารว่า กุลบุตร ๒ คน ชาวเมืองสาวัตถี เป็นสหายกัน ไปยังวิหาร ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วละกามทั้งหลาย ถวาย (๑) ชีวิตในพระศาสนาของพระศาสดา บวชแล้ว อยู่ในสำนักพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ ตลอด ๕ ปีแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามถึงธุระในพระศาสนา ได้ฟังวิปัสสนาธุระและคันถธุระโดยพิสดารแล้ว (๒) , รูปหนึ่ง กราบทูลก่อนว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์บวชแล้วเมื่อภายแก่ ไม่สามารถจะบำเพ็ญคันถธุระได้, แต่จะบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ" ดังนี้แล้ว ทูลให้พระศาสดาตรัสบอกวิปัสสนาจนถึงพระอรหัต พากเพียรพยายามอยู่ บรรลุพระอรหัตพร้อมกับด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.

ฝ่ายภิกษุรูปนอกนี้ คิดว่า "เราจะบำเพ็ญคันถธุระ" ดังนี้แล้ว เรียนพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎกโดยลำดับ กล่าวธรรม สวดสรภัญญะ


(๑) อุรํ ทตฺวา.

(๒) เป็นประโยคกิริยาปธานนัย.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 210

ในสถานที่ตนไปแล้วๆ. เที่ยวบอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้เป็นอาจารย์ของคณะใหญ่ ๑๘ คณะ.

ภิกษุทั้งหลาย เรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดาแล้วไปสู่ที่อยู่ของพระเถระนอกนี้ (รูปบำเพ็ญวิปัสสนา) ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน บรรลุพระอรหัตแล้ว นมัสการพระเถระเรียนว่า "กระผมทั้งหลายใคร่จะเฝ้าพระศาสดา."

พระเถระกล่าวว่า "ไปเถิด ผู้มีอายุ, ท่านทั้งหลาย จงถวายบังคมพระศาสดา นมัสการพระมหาเถระทั้ง ๘๐ รูป ตามคำของเรา, จงบอกกะพระเถระผู้สหายของเราบ้างว่า " ท่านอาจารย์ของกระผมทั้งหลายนมัสการใต้เท้า" ดังนี้แล้วส่งไป. ภิกษุเหล่านั้นไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาและนมัสการพระอสีติมหาเถระแล้ว ไปสู่สำนักพระคันถิกเถระ เรียนว่า "ใต้เท้า ขอรับ ท่านอาจารย์ของพวกกระผม นมัสการถึง ใต้เท้า." ก็เมื่อพระเถระนอกนี้ถามว่า " อาจารย์ของพวกท่านนั่นเป็น ใคร?" ภิกษุเหล่านั้นเรียนว่า "เป็นภิกษุผู้สหายของใต้เท้า ขอรับ."

เมื่อพระเถระ (วิปัสสกภิกษุ) ส่งข่าวเยี่ยมอย่างนี้เรื่อยๆ อยู่, ภิกษุนั้น (คันถิกะ) อดทนอยู่ได้สิ้นกาลเล็กน้อย ภายหลังไม่สามารถจะอดทนอยู่ได้, เมื่อพวกอาคันตุกภิกษุเรียนว่า "ท่านอาจารย์ของพวกกระผมมนัสการใต้เท้า" ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า "อาจารย์ของพวกท่าน นั่นเป็นใคร," เมื่อภิกษุทั้งหลายเรียนว่า "เป็นภิกษุผู้สหายของใต้เท้าขอรับ" จึงกล่าวว่า " ก็อะไรเล่า? ที่พวกท่านเรียนในสำนักของภิกษุนั้น บรรดานิกาย มีทีฆนิกายเป็นต้น นิกายใดนิกายหนึ่งหรือ? หรือ บรรดาปิฎก ๓ ปิฎกใดปิฎกหนึ่งหรือ? ที่พวกท่านได้แล้ว" ดังนี้แล้ว

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 211

คิดว่าสหายของเรา ย่อมไม่รู้จักคาถาแม้ประกอบด้วย ๔ บท, ถือบังสุกุลเข้าป่า แต่ในคราวบวชแล้ว ยังได้อันเตวาสิกมากมายหนอ, ในกาลที่เธอมา เราควรถามปัญหาดู."

พระเถระทั้งสองพบกัน

ในกาลต่อมา พระเถระ (วิปัสสกะ) ได้มาเฝ้าพระศาสดา, เก็บบาตรจีวรไว้ในสำนักพระเถระผู้สหายแล้ว ไปถวายบังคมพระศาสดา และนมัสการพระอสีติมหาเถระแล้ว ก็กลับมาที่อยู่ของพระเถระผู้สหาย. ลำดับนั้น พระคันถิกเถระนั้น ให้ภิกษุทั้งหลายทำวัตรแก่ท่านแล้ว ถือเอาอาสนะมีขนาดเท่ากัน นั่งแล้วด้วยตั้งใจว่า "จักถามปัญหา."

พระศาสดาถามปัญหาพระเถระทั้งสอง

ขณะนั้น พระศาสดา ทรงทราบว่า "คันถิกภิกษุนี้ พึงเบียดเบียนบุตรของเราผู้มีรูปเห็นปานนี้แล้วเกิดในนรก," ด้วยทรงเอ็นดูในเธอ ทำประหนึ่งเสด็จเที่ยวจาริกไปในวิหาร เสด็จถึงสถานที่เธอทั้งสองนั่งแล้ว ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เธอจัดไว้. แท้จริง ภิกษุทั้งหลายเมื่อจะนั่งในที่นั้นๆ จัดอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าก่อนแล้วจึงนั่ง. เพราะเหตุนั้น พระศาสดา จึงประทับนั่งเหนืออาสนะที่พระคันถิกภิกษุนั้นจัดไว้โดยปกตินั่นแล. ก็แลครั้นประทับนั่งแล้ว จึงตรัสถามปัญหาในปฐมฌานกะคันถิกภิกษุ ครั้นเมื่อเธอทูลตอบไม่ได้, จึงตรัสถามปัญหาในรูปสมาบัติและอรูปสมาบัติทั้งแปด ตั้งแต่ทุติยฌานเป็นต้นไป พระคันถิกเถระก็มิอาจทูลตอบได้แม้ข้อเดียว. พระวิปัสสกเถระนอกนี้ ทูลตอบปัญหานั้นได้ทั้งหมด.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 212

ทีนั้น พระศาสดา ตรัสถามปัญหาในโสดาปัตติมรรคกับเธอ. พระคันถิกเถระก็มิสามารถทูลตอบได้. แต่นั้น จึงตรัสถามกะพระขีณาสพเถระ พระเถระก็ทูลตอบได้.

พระวิปัสสกเถระได้รับสาธุการ

พระศาสดา ทรงชมเชยว่า "ดีละๆ " แล้วตรัสถามปัญหาแม้ในมรรคที่เหลือทั้งหลายโดยลำดับ. พระคันถิกเถระก็มิได้อาจทูลตอบปัญหาได้สักข้อเดียว ส่วนพระขีณาสพ ทูลตอบปัญหาที่ตรัสถามแล้วๆ ได้. พระศาสดาได้ประทานสาธุการแก่พระขีณาสพนั้นในฐานะทั้งสี่. เทวดาทั้งหมด ตั้งต้นแต่ภุมเทวดา จนถึงพรหมโลกและนาคครุฑ ได้ฟังสาธุการนั้นแล้ว ก็ได้ให้สาธุการ.

พวกอันเตวาสิกและสัทธิวิหาริกของพระคันถิกเถระ ได้สดับสาธุการนั้นแล้ว จึงยกโทษพระศาสดาว่า " พระศาสดาทรงทำกรรมอะไรนี่? พระองค์ได้ประทานสาธุการแก่พระมหัลลกเถระ ผู้ไม่รู้อะไรๆ ในฐานะทั้งสี่, ส่วนท่านอาจารย์ของพวกเรา ผู้จำทรงพระปริยัติธรรมไว้ได้ทั้งหมด เป็นหัวหน้าภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป พระองค์มิได้ทรงทำแม้มาตรว่าความสรรเสริญ."

พูดมากแต่ไม่ปฏิบัติก็ไร้ประโยชน์

ลำดับนั้น พระศาสดา ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า " ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวอะไรกันนี่?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเนื้อความนั้นแล้ว, ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ของพวกเธอ เช่นกับผู้รักษาโคทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 213

เพื่อค่าจ้างในศาสนาของเรา, ส่วนบุตรของเรา เช่นกับเจ้าของผู้บริโภค ปัญจโครส (๑) ตามชอบใจ" ดังนี้แล้ว ได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

๑๔. พหุมฺปิ เจ (๑) สํหิตํ ภาสมาโน น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ น ภาควา สามญฺสฺส โหติ. อปฺปมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา ส ภาควา สามญฺสฺส โหติ.

"หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก (แต่) เป็นผู้ประมาทแล้ว ไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์นั้นไซร้, เขาย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล (๒) เหมือนคนเลี้ยงโค นับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มีส่วนแห่งปัญจโครสฉะนั้น, หากว่า นรชนกล่าว พระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูล แม้น้อย (แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ไซร้, เขาละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ชอบ


(๑) อันเกิดแต่โค ๕ อย่าง คือ นมสด, นมส้ม, เปรียง, เนยใส, เนยข้น.

(๒) ผลคือคุณ เครื่องเป็นสมณะ.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 214

มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกนี้หรือในโลกหน้า, เขาย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สหิตํ นี้ เป็นชื่อแห่งพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก, นรชนเข้าไปหาอาจารย์ทั้งหลาย เล่าเรียนพระพุทธพจน์นั้นแล้ว กล่าว คือบอก ได้แก่แสดงอยู่ ซึ่งพระพุทธพจน์แม้มาก แก่ชนเหล่าอื่น (แต่) หาเป็นผู้ทำกิจอันการกบุคคลฟังธรรมนั้นแล้ว จะพึงทำไม่ คือไม่ยังการทำไว้ในใจให้เป็นไป ด้วยอำนาจแห่งไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น ชั่วขณะแม้สักว่าไก่ปรบปีก, นรชนนั้น ย่อมเป็น ผู้มีส่วนแห่งผลสักว่าการทำวัตรปฏิวัตรจากสำนักของอันเตวาสิกทั้งหลายอย่างเดียว, แต่หาเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะไม่ เหมือนคนเลี้ยงโครักษาโคทั้งหลายเพื่อค่าจ้างประจำวัน รับไปแต่เช้าตรู่ เวลาเย็นนับมอบให้แก่เจ้าของทั้งหลายแล้ว รับเอาเพียงค่าจ้างรายวัน, แต่ไม่ได้เพื่อบริโภคปัญจโครสตามความชอบใจ ฉะนั้นแล.

เหมือนอย่างว่า เจ้าของโคพวกเดียว ย่อมบริโภคปัญจโครสแห่งโคทั้งหลาย ที่นายโคบาลมอบให้แล้ว ฉันใด, การกบุคคลทั้งหลาย ฟังธรรมอันนรชนนั้นกล่าวแล้ว ปฏิบัติตามที่นรชนนั้นพร่ำสอนแล้ว ก็ฉันนั้น, บางพวกบรรลุปฐมฌานเป็นต้น, บางพวกเจริญวิปัสสนาแล้ว บรรลุมรรคและผล, จัดว่าเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะ เหมือนพวกเจ้าของโค ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งโครสฉะนั้น. พระศาสดาตรัสคาถาที่ ๑ ด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ผู้มีสุตะมาก (แต่) มีปกติอยู่

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 215

ด้วยความประมาท ไม่ประพฤติแล้วในการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ด้วยอำนาจแห่งไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น, หาตรัสด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้ทุศีลไม่ ด้วยประการฉะนี้.

ส่วนคาถาที่ ๒ พระองค์ตรัสด้วยอำนาจแห่งการกบุคคลผู้แม้มีสุตะ น้อย (แต่) ทำกรรมในการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายอยู่.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมฺปิ เจ ความว่า น้อย คือแม้เพียง ๑ วรรค หรือ ๒ วรรค.

บาทพระคาถาว่า ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี เป็นต้น ความว่า นรชนรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ประพฤติธรรมอันสมควรแก่โลกุตรธรรม ๙ คือประเภทแห่งธรรม มีปาริสุทธิศีล ๔ ธุดงคคุณ และอสุภกรรมฐาน เป็นต้น ที่นับว่าข้อปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้น ย่อมเป็นผู้ชื่อว่ามีปกติประพฤติธรรมสมควร คือหวังการแทงตลอดอยู่ว่า " เราจักแทงตลอดในวันนี้ เราจักแทงตลอดในวันนี้ ทีเดียว" ชื่อว่าย่อมประพฤติ. นรชน นั้น ละราคะ โทสะ และโมหะด้วยข้อปฏิบัติชอบนี้แล้ว กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ โดยชอบ คือโดยเหตุ โดยนัย มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว ด้วยอำนาจแห่งตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติและนิสสรณวิมุตติ. หมดความถือมั่นอยู่ในโลกนี้หรือในโลกอื่น คือไม่เข้าไปยึดถือขันธ์อายตนะและธาตุทั้งหลาย อันนับเนื่องในโลกนี้และโลกอื่น หรืออันเป็นภายในและภายนอก ด้วยอุปาทาน (๑) ๔ ชื่อว่า เป็นมหาขีณาสพ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะคือผล อันมา


(๑) กามุปาทาน การถือมั่นกาม ๑ ทิฏฐุปาทาน การถือมั่นทิฏฐิ ๑ สีลัพพตุปาทาน การถือมั่นศีลพรต ๑ อัตตวาทุปาทาน การถือมั่นวาทะว่าตน ๑.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 216

แล้วด้วยอำนาจแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะ กล่าวคือมรรค และคุณเครื่องเป็นสมณะคือกองแห่งอเสขธรรม (๑) ๕.

พระศาสดาทรงรวบยอดแห่งเทศนาด้วยพระอรหัต เหมือนนายช่าง ถือเอายอดแห่งเรือน ด้วยยอดแก้วฉะนั้น ดังนี้แล.

ในกาลจบคาถา คนเป็นอันมาก ได้เป็นอริยบุคคลมีพระโสดาบัน เป็นต้น. เทศนามีประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุ ๒ สหาย จบ.

ยมกวรรควรรณนา จบ.

วรรคที่ ๑ จบ.


(๑) สีลขันธ์ คุณคือศีล ๑ สมาธิขันธ์ คุณคือสมาธิ ๑ ปัญญาขันธ์ คุณคือปัญญา ๑ วิมุตติขันธ์ คุณคือวิมุตติ ๑ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คุณคือวิมุตติญาณทัสสนะ ๑.