พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. เรื่องพระจูฬปันถกเถระ [๑๗]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ก.ค. 2564
หมายเลข  34793
อ่าน  718

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 323

๓. เรื่องพระจูฬปันถกเถระ [๑๗]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 40]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 323

๓. เรื่องพระจูฬปันถกเถระ [๑๗]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระเถระ ชื่อว่าจูฬปันถก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อุฏุาเนนปฺปมาเทน" เป็นต้น.

ธิดาเศรษฐีได้ทาสเป็นสามี

ดังได้สดับมา ธิดาแห่งสกุลของธนเศรษฐีในพระนครราชคฤห์ ในเวลาเขาเจริญวัย มารดาบิดารักษาไว้อย่างกวดขันที่ชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น (แต่นาง) เป็นสตรีโลเลในบุรุษ เพราะความเป็นผู้เมาแล้วด้วยความเมาในความเป็นสาว จึงทำสันถวะกับทาสของตนเอง กลัวว่า " คนอื่นๆ จะพึงรู้กรรมนี้ของเราบ้าง" จึงพูดอย่างนี้ว่า "เราทั้งสองไม่อาจอยู่ในที่นี้ได้, ถ้ามารดาบิดาของฉันทราบความเสียหาย นี้ไซร้ จักห้ำหั่นเราให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่; เราจะไปสู่ที่ต่างถิ่นแล้วอยู่." ทั้งสองคนนั้น ถือเอาทรัพย์อันเป็นสาระที่จะพึงนำไปได้ด้วยมือในเรือน ออกไปทางประตูด้านเหนือแล้ว ชักชวนกันว่า "เราทั้งสองจักต้องไปอยู่ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่ชนเหล่าอื่นไม่รู้จัก" ดังนี้แล้ว ทั้งสองคนได้เดินไปแล้ว.

มีบุตรด้วยกันสองคน

เมื่อเขาทั้งสองอยู่ในที่แห่งหนึ่ง นางตั้งครรภ์แล้ว เพราะอาศัย การอยู่ร่วมกัน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 324

นางอาศัยความที่ครรภ์แก่เต็มที่ จึงปรึกษากับสามีนั้นว่า "ครรภ์ของฉันถึงความแก่เต็มที่แล้ว, ธรรมดาการตลอดบุตรในที่ซึ่งเหินห่างจากญาติพวกพ้อง ย่อมเป็นเหตุนำความทุกข์มาให้แก่เราทั้งสอง, เราทั้งสองไปสู่เรือนแห่งสกุลเดิมเถิด," เขาพูดผัดเพี้ยนว่า "วันนี้ จะไป, พรุ่งนี้ จึงค่อยไปเถิด," ยังวันทั้งหลายให้ล่วงเลยไปเสีย เพราะกลัวว่า "ถ้าเราไปที่นั้น, ชีวิตของเราย่อมไม่มี." นางคิดว่า "เจ้านี่ เขลา ไม่อาจไปเพราะความที่ตนมีโทษมาก, ธรรมดามารดาบิดา มีความเกื้อกูลโดยส่วนเดียวเท่านั้น, เจ้านี่ จะไปหรือไม่ไปก็ตาม, เราจักไปละ." ครั้นเมื่อเขาออกจากเรือนไปแล้ว นางเก็บงำเครื่องเรือน บอกความที่ตนจะไปสู่เรือนแห่งสกุล แก่ชาวบ้านที่อยู่ถัดกันแล้ว เดินทางไป. ฝ่ายสามี (กลับ) มาเรือน ไม่เห็นภริยา ถามผู้คุ้นเคย ทราบว่า. "ไปเรือนแห่งสกุล" จึงรีบติดตามไปทันในระหว่างทาง. แม้ภริยาของเขานั้น ก็ได้คลอดบุตรในระหว่างทางนั้นเอง. เขาถามว่า "นี่อะไรกัน? น้อง"

ภริยา. พี่ ลูกชายคนที่หนึ่งคลอดแล้ว.

สามี. บัดนี้ เราจักทำอย่างไร?

ทั้งสองคนคิดเห็นร่วมกันว่า "เราทั้งสองไปสู่เรือนแห่งสกุล เพื่อประโยชน์แก่กรรมใด. กรรมนั้นสำเร็จแล้วในระหว่างทางเทียว, เราจักไปที่นั้นทำอะไร? กลับกันเถิด" ดังนี้แล้ว ก็พากันกลับ.

เขาทั้งสองได้ตั้งชื่อเด็กนั้นแล ว่า "ปันถก" เพราะเกิดในหนทาง. ต่อกาลไม่นานนัก นางตั้งครรภ์แม้อีก. พฤติการณ์ทั้งปวงพึงให้พิสดาร โดยนัยอันมีในก่อนนั่นแล.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 325

ตั้งชื่อเด็กทั้งสอง

เพราะเด็กแม้นั้นก็เกิดในหนทาง มารดาบิดาจึงตั้งชื่อบุตรผู้เกิดก่อนว่า "มหาปันถก." ตั้งชื่อบุตรผู้เกิดภายหลังว่า "จูฬปันถก."

แม้สองสามีภริยานั้น ก็พาเด็กทั้งสองไปสถานที่อยู่ของตนตามเดิม.

มหาปันถกแปลกใจในเรื่องญาติของตน

เมื่อสองสามีภริยาอยู่ในที่นั้น เด็กชายมหาปันถก ได้ยินเด็กชายอื่นๆ เรียก (ผู้นั้นผู้นี้) ว่า "อา ลุง" และว่า "ปู่ (ตา) ย่า (ยาย) " จึงถามมารดาว่า "แม่ เด็กอื่นๆ เรียก (ผู้นั้น) ว่า ปู่ (ตา), เรียก (ผู้นี้) ว่า " ย่า (ยาย) ," พวกญาติของเราไม่มี บ้างหรือ?"

มารดา. เออ พ่อ พวกญาติของเราในที่นี้ไม่มี, แต่ตาของพวกเจ้า ชื่อ ธนเศรษฐี มีอยู่ในพระนครราชคฤห์, พวกญาติของเราเป็นอันมากมีอยู่ในพระนครนั้น.

มหาปันถก. ทำไมพวกเราจึงไม่ไปในที่นั้นเล่า? แม่.

นางไม่บอกเหตุที่ตนมากะบุตร เมื่อบุตรทั้งสองพูดรบเร้าหนักเข้า จึงบอกแก่สามีว่า "เด็กเหล่านี้รบกวนฉันเหลือเกิน, มารดาบิดาเห็นพวกเราแล้ว จักกินเนื้อ (เทียว) หรือ? มาเถิด บัดนี้เราทั้งสองจักแสดงตระกูลแห่งตา ยาย แก่พวกเด็ก."

สามี. ฉัน ไม่อาจจะเข้าหน้าได้, แต่จักพาเจ้าพวกนั้นไปได้.

ภริยา. ดีละ ควรที่เด็กทั้งสองจะพบเห็นตระกูลของตาด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งแท้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 326

พาบุตรทั้งสองไปหาตา

ชนทั้งสองพาเด็กๆ ไปถึงพระนครราชคฤห์โดยลำดับ พักอยู่ในศาลาหลังหนึ่งริมประตูพระนคร. มารดาของเด็ก พาเด็กสองคนไปแล้ว สั่งให้บอกความที่ตนมาแก่มารดาบิดา.

มารดาบิดาทั้งสองนั้น ได้ยินข่าวนั้นแล้ว กล่าวว่า "บรรดาชนทั้งหลายผู้ยังท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร ชื่อว่า ผู้ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดากัน ย่อมไม่มี, คนเหล่านั้นมีความผิดต่อเราเป็นข้อใหญ่ พวกเขาไม่สามารถจะตั้งอยู่ในคลองจักษุของเราได้, ชนทั้งสองจงเอาทรัพย์ประมาณเท่านี้ ไปสู่สถานที่ผาสุกเลี้ยงชีพเถิด, แต่จงส่งเด็ก ทั้งสองมาในที่นี้."

สองสามีภรรยานั้น รับทรัพย์ที่ท่านทั้งสองนั้นส่งมาแล้ว มอบเด็กทั้งสองในมือของพวกคนใช้ที่มานั่นแล ส่งไปแล้ว, เด็กทั้งสองเจริญ (วัย) อยู่ในตระกูลของตา ยาย.

มหาปันถกออกบวช

ในเด็กสองคนนั้น จูฬปันถกยังเล็กนัก, ส่วนมหาปันถกไปฟังธรรมกถาของพระทศพลกับตา. เมื่อเขาไปสำนักของพระศาสดาเป็นนิตย์ จิตก็น้อมไปแล้วในบรรพชา. เขาพูดกะตาว่า "ถ้าคุณตาอนุญาตให้กระผมไซร้ กระผมพึงบวช."

ท่านเศรษฐีกล่าวว่า "พูดอะไร พ่อ การบวชของเจ้าเป็นความดีแก่ตากว่าการบวชของคนทั่วทั้งโลก; ถ้าเจ้าอาจไซร้. ก็บวชเถิด"

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 327

ดังนี้แล้ว นำเขาไปสู่สำนักพระศาสดา. เมื่อพระองค์ตรัส (ถาม) ว่า "คฤหบดี ท่านได้เด็กมาหรือ? กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า เด็กคนนี้เป็นหลานของข้าพระองค์ ประสงค์จะบวชในสำนักของพระองค์."

พระศาสดาตรัสสั่งภิกษุ ผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปใดรูปหนึ่งว่า "เธอจงให้เด็กคนนี้บวช." พระเถระบอกตจปัญจกกัมมัฏฐานแก่เธอแล้ว ให้บรรพชา.

มหาปันถกบรรลุพระอรหัต

เธอเรียนพระพุทธพจน์ได้มาก มีอายุครบ ได้อุปสมบทแล้ว ทำกรรม (๑) ในโยนิโสมนสิการ บรรลุพระอรหัตแล้ว.

มหาปันถกปรารภถึงน้องชาย

ท่านให้เวลาล่วงไปด้วยความสุขในฌานและความสุขอันเกิดแต่ผล คิดว่า "เราอาจให้ความสุขนี้แก่จูฬปันถกหรือหนอ?" ภายหลังได้ไปสู่สำนักของเศรษฐีผู้เป็นตาแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านมหาเศรษฐี ถ้าท่านอนุญาตไซร้, รูปพึงให้จูฬปันถกออกบวช."

เศรษฐีกล่าวว่า "นิมนต์ท่านให้เขาบวชเถิด ขอรับ."

ได้ยินว่า เศรษฐีเลื่อมใสดีแล้วในพระศาสนา แต่เมื่อถูกถามว่า "เด็กเหล่านี้เป็นบุตรของธิดาคนไหนของท่าน" จะบอกว่า "ของลูกสาวที่หนีไป" ก็ละอาย; เพราะฉะนั้น ท่านจึงอนุญาตการบวชแก่หลานทั้งสองนั้นโดยง่าย.


(๑) เจริญกัมมัฏฐาน.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 328

จูฬปันถกบวชแล้วกลายเป็นคนโง่

พระเถระให้จูฬปันถกบวชแล้ว ให้ตั้งอยู่ในศีลทั้งหลาย. แม้จูฬปันถกนั้นพอบวชแล้ว ได้เป็นคนโง่เขลา.

พระเถระเมื่อพร่ำสอนเธอ กล่าวคาถานี้ว่า

"ดอกบัวโกกนุท มีกลิ่นหอม บานแต่เช้า พึงมีกลิ่นไม่ไปปราศฉันใด, เธอจงเห็นพระอังคีรส ผู้ไพโรจน์อยู่ ดุจพระอาทิตย์ส่องแสงในกลางหาว ฉันนั้น."

คาถาเดียวเท่านั้น โดย ๔ เดือน เธอก็ไม่สามารถจะเรียนได้.

บุรพกรรมของพระจูฬปันถก

ถามว่า "เพราะอะไร?"

แก้ว่า "ได้ยินว่า เธอบวชในกาลพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีปัญญา ได้ทำการหัวเราะเยาะ ในเวลาที่ภิกษุเขลารูปใดรูปหนึ่งเรียนอุเทศ, ภิกษุนั้นละอายเพราะการหัวเราะนั้น เลยเลิกเรียนอุเทศ ไม่ทำการสาธยาย.

เพราะกรรมนั้น จูฬปันถกนี้ พอบวชแล้ว จึงเป็นคนโง่, บทที่เรียนแล้วๆ เมื่อเธอเรียนบทต่อๆ ไป ก็เลือนหายไป. เมื่อเธอพยายามเพื่อเรียนคาถานี้แล. สี่เดือนล่วงไปแล้ว.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 329

จูฬปันถกถูกพระพี่ชายประฌาน

ทีนั้น พระมหาปันถก ได้กล่าวกะเธอว่า "จูฬปันถก เธอเป็นคนอาภัพในศาสนานี้, โดย ๔ เดือน แม้คาถาเดียวก็ไม่อาจเรียนได้, ก็เธอจักยังกิจแห่งบรรพชิตให้ถึงที่สุดได้อย่างไร? จงออกไปจากที่นี้เสียเถิด." ดังนี้แล้ว ก็ขับออกจากวิหาร.

พระจูฬปันถกไม่ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ เพราะความเยื่อใยในพระพุทธศาสนา.

ก็ในกาลนั้น พระมหาปันถกเป็นภัตตุเทสก์. หมอชีวกโกมารภัจถือระเบียบดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้เป็นอันมากไปสู่อัมพวัน บูชาพระศาสดา สดับธรรม ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระทศพลแล้ว เข้าไปหาพระมหาปันถก ถามว่า "ภิกษุในสำนักของพระศาสดา มีจำนวนเท่าไร ขอรับ."

พระมหาปันถก. ภิกษุมีประมาณ ๕๐๐ รูป.

หมอชีวก. ท่านผู้เจริญ พรุ่งนี้ ขอใต้เท้าได้พาภิกษุ ๕๐๐ รูป มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข (ไป) รับภิกษาในเรือนของกระผม.

พระมหาปันถก. อุบาสก ภิกษุโง่ (รูปหนึ่ง) ชื่อจูฬปันถก มีธรรมไม่งอกงาม, รูปจะเว้นเธอเสีย แล้วรับนิมนต์เพื่อภิกษุทั้งหลายที่เหลือ.

พระจูฬปักถกหนีไปสึกแต่สึกไม่ได้

พระจูฬปันถกฟังคำนั้นแล้ว คิดว่า " พระเถระ เมื่อรับนิมนต์เพื่อภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านั้น ก็คัดเราไว้ภายนอกแล้วจึงรับ, จิต

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 330

ของพี่ชายเรา จักแยก (หมดเยื่อใย) ในเราแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย; บัดนี้ เราจะต้องการอะไรด้วยศาสนานี้, เราจักเป็นคฤหัสถ์ทำบุญต่างๆ มีทานเป็นต้นเลี้ยงชีพละ." วันรุ่งขึ้น เธอไปเพื่อจะสึกแต่เช้าตรู่. พระศาสดา ทรงตรวจดูโลก (คือหมู่สัตว์) เฉพาะในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นเหตุนี้แล้ว จึงเสด็จล่วงหน้าไปก่อน ได้ทรงหยุดจงกรมอยู่ที่ซุ้มประตูใกล้ทางที่พระจูพปันถกไป. พระจูฬปันถกเมื่อเดินไปพบพระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้าถวายบังคม.

พระศาสดาทรงรับรองให้อยู่ต่อไป

ขณะนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า "จูฬปันถก นี่เธอจะไปไหน? ในเวลานี้."

จูฬปันถกทูลว่า "พระพี่ชายขับไล่ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไปเพื่อจะสึก เพราะเหตุนั้น."

พระศาสดา ตรัสว่า "จูฬปันถก เธอชื่อว่าบรรพชาในสำนักของเรา, แม้ถูกพี่ชายขับไล่ ทำไม จึงไม่มาสู่สำนักของเรา? มาเถิด, เธอจะต้องการอะไรด้วยความเป็นคฤหัสถ์ เธอต้องอยู่ (ต่อไป) ในสำนักของเรา" ดังนี้แล้ว ทรงเอาฝ่าพระหัตถ์อันมีพื้นวิจิตรไปด้วยจักรลูบเธอที่ศีรษะแล้ว พาไปให้นั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ประทานท่อนผ้าที่สะอาด ซึ่งทรงบันดาลขึ้นด้วยฤทธิ์ ด้วยตรัสสั่งว่า "จูฬปันถก" เธอจงผินหน้าไปทางทิศตะวันออก ลูบท่อนผ้านี้ ด้วยบริกรรมว่า "รโชหรณํ. รโชหรณํ" (ผ้าเช็ดธุลีๆ) อยู่ที่นี้แหละ ครั้นเมื่อเขา กราบทูลเวลาแล้ว, มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จไปเรือนของหมอชีวก ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาตกแต่งไว้.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 331

พระจูฬปันถกเจริญภาวนาบรรลุพระอรหัต

ฝ่ายพระจูฬปันถกนั่งแลดูพระอาทิตย์ พลางลูบผ้าท่อนนั้น บริกรรมว่า "รโชหรณํ รโชหรณํ." เมื่อท่านลูบท่อนผ้านั้นอยู่, ท่อนผ้าได้เศร้าหมองแล้ว. ลำดับนั้น จึงคิดว่า "ท่อนผ้านี้สะอาดแท้ๆ แต่อาศัยอัตภาพนี้จึงละปกติเดิมเสีย กลายเป็นของเศร้าหมองอย่างนี้ไปได้, สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ? (ครั้นแล้ว) เริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมเจริญวิปัสสนา.

พระศาสดาทรงทราบว่า "จิตของพระจูฬปันถกขึ้นสู่วิปัสสนาแล้ว" จึงตรัสว่า "จูฬปันถก เธออย่าทำความหมายเฉพาะท่อนผ้านั้น ว่า "เศร้าหมองแล้ว ติดธุลี;" ก็ธุลีทั้งหลาย มีธุลีคือราคะเป็นต้น มีอยู่ในภายในของเธอ, เธอจงนำ (คือกำจัด) มันออกเสีย" ดังนี้แล้ว ทรงเปล่งพระรัศมี เป็นผู้มีพระรูปปรากฏดุจประทับนั่งตรงหน้า ได้ทรงภาษิตคาถาเหล่านี้ว่า

"ราคะ ชื่อว่าธุลี, แต่เรณู (ละออง) ท่านหาเรียกว่า (ธุลี) ไม่: คำว่า "ธุลี" นั่นเป็นชื่อของราคะ; ภิกษุเหล่านั้น ละธุลีนั่นได้ขาดแล้ว อยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี.

โทสะ ชื่อว่าธุลี, แต่เรณู (ละออง) ท่านหาเรียกว่า (ธุลี) ไม่: คำว่า "ธุลี" นั่นเป็นชื่อของโทสะ; ภิกษุเหล่านั้น ละธุลีนั่นได้ขาดแล้ว อยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 332

โมหะ ชื่อว่าธุลี, แต่เรณู (ละออง) ท่านหาเรียกว่า (ธุลี) ไม่; คำว่า "ธุลี" นั่นเป็นชื่อของโมหะ; ภิกษุเหล่านั้น ละธุลีนั่นได้ขาดแล้ว อยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี."

ในกาลจบคาถา พระจูฬปันถกบรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว. ปิฎก ๓ มาถึงแก่ท่านพร้อมกับปฏิสัมภิทาทีเดียว.

บุรพกรรมของพระจูฬปันถก

ได้ยินว่า ครั้งดึกดำบรรพ์ ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงทำประทักษิณพระนคร เมื่อพระเสโท (๑) ไหลออกจากพระนลาต (๒) ทรงเอาผ้าสะอาดเช็ดที่สุดพระนลาต. ผ้าได้เศร้าหมองแล้ว. ท้าวเธอกลับได้ อนิจจสัญญา (๓) ว่า "ผ้าสะอาดเห็นปานนี้อาศัยสรีระนี้ ละปกติแปรเป็นเศร้าหมองไปได้, สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ," เพราะเหตุนั้น ผ้าสำหรับเช็ดธุลีนั่นแล จึงเป็นปัจจัยของท่านแล้ว.

ฝ่ายหมอชีวกโกมารภัจ ได้น้อมน้ำทักษิโณทกเข้าไปถวายพระทศพล, พระศาสดาทรงปิดบาตรด้วยพระหัตถ์ ตรัสว่า "ชีวก ภิกษุในวิหาร ยังมีอยู่มิใช่หรือ?"

พระมหาปันถกกราบทูลว่า "ในวิหาร ภิกษุไม่มีมิใช่หรือ? พระเจ้าข้า." พระศาสดา ตรัสว่า "มี ชีวก." หมอชีวกส่งบุรุษไป ด้วยสั่งว่า "พนาย ถ้ากระนั้น เธอจงไป จงรู้ว่าภิกษุในวิหารมีหรือไม่มี."


(๑) เหงื่อ

(๒) หน้าฝาก

(๓) ความหมายว่าไม่เที่ยง

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 333

พระจูฬปันถกนิรมิตตนเป็นภิกษุพันรูป

ในขณะนั้น พระจูฬปันถกคิดว่า "พี่ชายของเราพูดว่า "ภิกษุในวิหารไม่มี," เราจักประกาศความที่ภิกษุในวิหารมีแก่ท่าน (พี่ชาย) ดังนี้แล้ว จึง (นิรมิต) ให้อัมพวันทั้งสิ้นเต็มด้วยภิกษุทั้งนั้น ภิกษุบางพวกเย็บจีวร, บางพวกย้อมจีวร, บางพวกทำการสาธยาย; นิรมิตภิกษุพันรูป ไม่เหมือนกันและกันอย่างนี้.

บุรุษนั้นเห็นภิกษุเป็นอันมากในวิหาร จึงกลับมาบอกแก่หมอชีวกว่า "คุณหมอขอรับ อัมพวันทั้งสิ้น เต็มด้วยภิกษุทั้งหลาย."

(พระธรรมสังคาหกาจารย์ กล่าวว่า)

"ฝ่ายพระเถระ ชื่อว่าจูฬปันถก นิรมิตตนพันครั้ง (เป็นภิกษุพันรูป) ในอัมพวันนั้นแล แล้วนั่งในอันพวันอันน่ารื่นรมย์ จนกว่าเขาจะบอกเวลา."

ลำดับนั้น พระศาสดา ตรัสกะบุรุษนั้นว่า "เธอจงไปวิหาร บอกว่า "พระศาสดารับสั่งหาพระชื่อจูฬปันถก."

เมื่อบุรุษนั้นไปบอกตามรับสั่งแล้ว ทั้งพันปากก็ขานว่า "ข้าพเจ้า ชื่อจูฬปันถก, ข้าพเจ้าชื่อจูฬปันถก."

บุรุษนั้นกลับไปกราบทูลอีกว่า "พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ภิกษุแม้ทุกรูปชื่อจูฬปันถกทั้งนั้น?"

พระศาสดาตรัสว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงไป. รูปใดเอ่ยก่อนว่า

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 334

"ข้าพเจ้าชื่อจูฬปันถก," จงจับมือรูปนั้นไว้, (๑) รูปที่เหลือจักหายไป."

เขาได้ทำตามรับสั่ง. ภิกษุประมาณพันรูป หายไปแล้วทันทีทีเดียว. พระเถระได้ไปกับบุรุษนั้น.

พระศาสดารับสั่งให้จูฬปันถกอนุโมทนา

ในเวลาเสร็จภัตกิจ พระศาสดาตรัสเรียกหมอชีวกมารับสั่งว่า "ชีวก เธอจงรับบาตรของจูฬปันถกเถิด, จูฬปันถกนี้จักทำอนุโมทนาแก่เธอ." หมอชีวกได้ทำอย่างนั้นแล้ว. พระเถระบันลือสีหนาท ดุจสีหะที่ขึ้นรุ่น (กำลังคะนอง) ได้ทำอนุโมทนา ยังพระไตรปิฎกให้กระฉ่อนแล้ว.

พระศาสดาเสด็จลุกจากอาสนะ มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมเสด็จไปสู่วิหาร, เมื่อภิกษุทั้งหลายแสดงวัตรแล้ว. เสด็จลุกจากอาสนะ ทรงยืนที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ประทานสุคโตวาท ตรัสบอกกัมมัฏฐานแก่ภิกษุสงฆ์ ทรงส่งภิกษุสงฆ์ไปแล้ว เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎีที่อบด้วยกลิ่นหอมฟุ้ง ทรงผทมสีหไสยาโดยพระ (๒) ปรัศว์เบื้องขวา.

พวกภิกษุปรารภพระคุณของพระศาสดา

ครั้นในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันข้างนี้และข้างโน้น ดุจแวดวงด้วยม่านรัตตกัมพล (๓) ปรารภถึงเรื่องพระคุณของพระศาสดาว่า "ท่านผู้มีอายุ พระมหาปันถกไม่ทราบอัธยาศัยของพระจูฬปันถก จึง


(๑) ตํ หตฺเถ คณฺห จับรูปนั้นไว้ที่มือ.

(๒) นอนตะแคงข้างขวา

(๓) ผู้ทอด้วยขนสัตว์มีสีแดง.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 335

ไม่สามารถจะให้เรียนคาถาบทเดียวโดย ๔ เดือนได้, ไล่ออกจากวิหารด้วยเข้าใจว่า "พระรูปนี้โง่" แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานพระอรหัตกับทั้งปฏิสัมภิทา ในระหว่างฉัน (อาหาร) มื้อเดียวเท่านั้น เพราะพระองค์เป็นพระธรรมราชาชั้นเยี่ยม (หาผู้ทัดเทียมมิได้) พระไตรปิฎกก็มาพร้อมกับปฏิสัมภิทานั่นเทียว น่าชม! ชื่อว่า กำลังของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีมาก."

พระศาสดาเสด็จไปที่ประชุมภิกษุสงฆ์

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเรื่องราว (๑) นี้ในโรงธรรมแล้ว ทรงดำริว่า "วันนี้ เราไป ควรอยู่" เสด็จลุกจากพุทธไสยา ทรงนุ่งผ้า ๒ ชั้นที่ย้อมดีแล้ว ทรงรัดประคดเอวดุจสายฟ้า ทรงห่มจีวรมหาบังสกุล ได้ขนาดสุคตประมาณ ปานผ้ารัตตกัมพล เสด็จออกจากพระคันธกุฎีอันมีกลิ่นหอมตลบ ไปยังโรงธรรม ด้วยความงามแห่งพระอากัปกิริยาที่ทรงย่างไปแล้ว ดุจพระยาคชสารตัวซับมันและดุจสีหะ (และ) ด้วยพระพุทธลีลาอันหาที่สุดมิได้ เสด็จขึ้นบวรพุทธอาสน์ที่บรรจงจัดไว้ในท่ามกลางแห่งโรงกลม ซึ่งประดับแล้ว ประทับนั่งที่กลางอาสนะ ทรงเปล่งพระพุทธรังสีมีพรรณะ ๖ ประการ เปรียบปานเทพดาผู้วิเศษ บันดาลท้องมหาสมุทรให้กระเพื่อมอยู่ (และ) ประดุจสุริโยทัยทอแสงอ่อนๆ เหนือยอดเขายุคันธรฉะนั้น. แลเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอเสด็จมาถึง ภิกษุสงฆ์ก็หยุดสนทนา (๒) นิ่งเงียบ.


(๑) กถาปวตฺติ แปลว่า ความเป็นไปแห่งถ้อยคำ.

(๒) กถํ ปจฺฉินฺทิตฺวา ตัดขาดซึ่งถ้อยคำ

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 336

ทรงรำพึงถึงอาการของภิกษุบริษัท

พระศาสดาทรงพิจารณาดูบริษัท ด้วยพระหฤทัยอันอ่อนโยน ทรงรำพึงว่า "บริษัทนี้ งามยิ่งนัก, การคะนองมือก็ดี คะนองเท้าก็ดี เสียงไอก็ดี เสียงจามก็ดี แม้ของภิกษุรูปหนึ่ง ย่อมไม่มี, ภิกษุเหล่านี้แม้ทั้งหมด มีความเคารพด้วยพุทธคารวะ อันเดชแห่งพระพุทธเจ้าคุกคามแล้ว. เมื่อเรานั่ง, (เฉยเสีย) ไม่พูดแม้ตลอดชั่วอายุ ก็รูปไหนๆ จักหายกเรื่องขึ้นพูดก่อนไม่, ชื่อว่าธรรมเนียมของการยกเรื่องขึ้น เราควรรู้, เราเองจักพูดขึ้นก่อน" ดังนี้แล้ว ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะดุจเสียงพรหม ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรเล่า? ก็แล เรื่องอะไรที่พวกเธอหยุดค้างไว้ในระหว่าง?" เมื่อพวกภิกษุนั้นกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้," จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย จูฬปันถกหาได้เป็นผู้โง่แต่ในบัดนี้เท่านั้นไม่, แม้ในกาลก่อน ก็เป็นผู้โง่แล้วเหมือนกัน; อนึ่ง เราเป็นที่พำนักอาศัยของเธอเฉพาะในบัดนี้อย่างเดียวหามิได้, ถึงในกาลก่อน ก็ได้เป็นที่พำนักอาศัยแล้วเหมือนกัน และในกาลก่อนเราได้ทำจูฬปันถกนี้ให้เป็นเจ้าของแห่งโลกิยทรัพย์แล้ว, บัดนี้ ได้ทำให้เป็นเจ้าของแห่งโลกุตรทรัพย์," อันภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่จะสดับเนื้อความนั้นโดยพิสดาร ทูลอัญเชิญแล้ว ทรงนำอดีตนิทานมา (เล่าว่า)

เรื่องมาณพเรียนศิลปะในกรุงตักกสิลา

ในอดีตกาล มาณพชาวพระนครพาราณสีคนหนึ่ง ไปยังกรุงตักกสิลาแล้ว เป็นธัมมันเตวาสิกของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เพื่อประสงค์

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 337

เรียนศิลปะ ได้เป็นผู้อุปการะอาจารย์อย่างยิ่ง ในระหว่างมาณพ ๕๐๐, ทำกิจทุกอย่าง มีนวดเท้าเป็นต้น, แต่เพราะเป็นคนโง่ จึงไม่สามารถจะเรียนอะไรๆ ได้, อาจารย์แม้พยายามด้วยคิดเห็นว่า "ศิษย์คนนี้ มีอุปการะแก่เรามาก, จักให้เขาศึกษาให้ได้" ก็ไม่สามารถให้ศึกษา อะไรๆ ได้.

เขาอยู่สิ้นกาลนาน แม้คาถาเดียวก็ไม่สามารถจะเรียน (ให้จำ) ได้ นึกระอา เลยลาอาจารย์ว่า "จักไปละ." อาจารย์คิดว่า "ศิษย์คนนี้ อุปการะเรา, เราก็หวังความเป็นบัณฑิตแก่เขาอยู่, แต่ไม่สามารถจะทำความเป็นบัณฑิตนั้นได้, จำเป็นที่เราจะต้องทำอุปการะตอบแก่ศิษย์คนนี้ให้ได้, จักผูกมนต์ให้เขาสักบทหนึ่ง," ท่านนำเขาไปสู่ป่า ผูกมนต์นี้ว่า "ฆเฏสิ ฆเฏสิ กึการณา ฆเฏสิ? อหํปิ ตํ ชานามิ ชานามิ." (ท่านเพียรไปเถิด เพียรไปเถิด, เพราะเหตุไร? ท่านจึงเพียร, แม้เรา ก็รู้เหตุนั้นอยู่ รู้อยู่) ดังนี้แล้ว ให้เขาเรียนทบทวนกลับไปกลับมาหลายร้อยครั้ง แล้วถามว่า "เธอจำได้หรือ (๑) ?" เมื่อเขาตอบว่า "ผมจำได้ ขอรับ" ชี้แจงว่า "ธรรมดาศิลปะที่คนโง่ทำความพยายามทำให้คล่องแล้ว ย่อมไม่เลือน" แล้วให้เสบียงทาง สั่งว่า "เธอ จงไป, อาศัยมนต์นี้เลี้ยงชีพเถิด, แต่เพื่อประโยชน์จะไม่ให้มนต์เลือนไป เธอพึงทำ การสาธยายมนต์นั้นเป็นนิตย์" ดังนี้แล้ว ก็ส่งเขาไป.

ครั้นในเวลาเขาถึงพระนครพาราณสี มารดาได้ทำสักการะสัมมานะใหญ่ ด้วยดีใจว่า "บุตรของเราศึกษาศิลปะกลับมาแล้ว."


(๑) ปญฺายติ เต แปลว่า มนต์นั้นย่อมปรากฏแก่เธอ?

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 338

พระเจ้าแผ่นดินตรวจความเป็นไปของราษฎร

ในกาลนั้น พระเจ้าพาราณสี ทรงพิจารณาว่า "โทษบางประการ ในเพราะกรรมทั้งหลาย มีกายกรรมเป็นต้นของเรา มีอยู่หรือหนอ?" ไม่ทรงเห็นกรรมอะไรๆ อันไม่เป็นที่พอพระทัยของพระองค์ ก็ทรงดำริว่า "ธรรมดาโทษของตน หาปรากฏแก่ตนไม่, ย่อมปรากฏแก่คนเหล่าอื่น; เราจักกำหนด (ความเป็นไป) ของพวกชาวเมือง" ดังนี้แล้ว จึงทรงปลอมเพศ เสด็จออกไปในเวลาเย็น ทรงดำริว่า "ธรรมดาการสนทนาปราศรัยของพวกมนุษย์ผู้นั่งบริโภคอาหารในเวลาเย็น ย่อมมีประการต่างๆ กัน; ถ้าเราครองราชย์โดยอธรรม, ชนทั้งหลายคงจะพูดกันว่า "พวกเรา ถูกพระเจ้าแผ่นดินผู้ไม่ตั้งอยู่โดยธรรม ผู้ชั่วช้า เบียดเบียนด้วยสินไหม (๑) และพลีเป็นต้น" ถ้าเราครองราชย์โดยธรรม, ชนทั้งหลายก็จักกล่าวคำเป็นต้นว่า 'ขอพระเจ้าอยู่หัวของเราทั้งหลาย จงทรงพระชนมายุยืนเถิด' แล้วก็สรรเสริญคุณของเรา" ดังนี้แล้ว จึงเสด็จเที่ยวไปตามลำดับฝาเรือนนั้นๆ.

ในขณะนั้น พวกโจรผู้หากินทางขุดอุโมงค์ กำลังขุดอุโมงค์ในระหว่างเรือน ๒ หลัง เพื่อต้องการเข้าเรือนทั้งสอง โดยอุโมงค์เดียวกัน. พระราชาทอดพระเนตรเห็นพวกมันแล้ว ได้ทรงแอบซุ่มอยู่ในเงาเรือน. ในเวลาที่พวกมันขุดอุโมงค์เข้าเรือนได้แล้วตรวจดูสิ่งของ มาณพตื่นขึ้นแล้ว ก็สาธยายมนต์นั้น กล่าวว่า "ฆเฏสิ ฆเฏสิ, กึการณา ฆเฏสิ? อหํปิ ตํ ชานามิ ชานามิ."


(๑) ทณฺฑ แปลว่า อาชญาก็ได้.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 339

โจรเหล่านั้น ได้ฟังคำนั้นแล้ว ก็ตกใจกลัวทิ้งแม้ผ้าที่คนนุ่งเสีย หนีไปโดยซึ่งๆ หน้าทีเดียว ด้วยบอกกันว่า "นัยว่าเจ้าคนนี้รู้จักพวกเรา, มันจักให้พวกเราฉิบหายเสียบัดนี้."

ทรงเห็นโจรหนีเพราะมนต์ของมาณพ

พระราชาทอดพระเนตรเห็นโจรเหล่านั้นกำลังหนีไป และได้ทรงสดับเสียงมาณพนอกนี้สาธยายมนต์อยู่ ทรงกำหนด (ความเป็นไป) ของพวกชาวเมืองได้แล้ว จึงเสด็จเข้าพระราชนิเวศน์; แลเมื่อราตรีสว่างแล้ว พอเช้าตรู่ ก็รับสั่งเรียกบุรุษคนหนึ่ง (มาเฝ้า) ตรัสว่า "พนาย เธอจงไป พวกโจรขุดอุโมงค์ในเรือนชื่อโน้น ในถนนโน้น, ในเรือนหลังนั้น มีมาณพเรียนศิลปะมาแต่เมืองตักกศิลา (คนหนึ่ง) เธอจงนำ เขามา."

เขาไปบอกว่า " พระเจ้าอยู่หัว รับสั่งหาท่าน" แล้วนำมาณพมา.

ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะเขาว่า " พ่อ เธอเป็นมาณพผู้เรียนศิลปะมาจากเมืองตักกสิลาหรือ?"

มาณพ. พระเจ้าข้า พระอาชญาไม่พ้นเกล้า.

พระราชา. ให้ศิลปะแกฉันบ้างเถิด.

มาณพ. ดีละ พระเจ้าข้า ขอพระองค์ประทับบนอาสนะที่เสมอกัน แล้วเรียนเถิด.

ลำดับนั้น พระราชาทรงทำอย่างนั้น ทรงเรียนมนต์นั้นกะเขาแล้ว ได้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่ง ด้วยพระดำรัสว่า "นี้ เป็นส่วนบูชาอาจารย์ของท่าน."

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 340

ในกาลนั้น เสนาบดี พูดกับภูษามาลาของพระเจ้าแผ่นดินว่า "แกจักแต่งพระมัสสุของในหลวงเมื่อไร?"

ภูษามาลา. พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้แหละ.

เสนาบดีนั้น ให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่เขาแล้ว พูดว่า "ข้ามีกิจอยู่ (อย่างหนึ่ง) " เมื่อเขาถามว่า "กิจอะไร นาย?" บอกว่า "แกต้องทำเป็นเหมือนจะทำการแต่งพระมัสสุของในหลวง สบัดมีดโกนให้คมกริบ, ตัดก้านพระศอเสีย จัก (ได้) เป็นเสนาบดี, ข้าจักเป็นพระเจ้าแผ่นดิน. เขารับว่า "ได้" ในวันแต่งมัสสุถวายในหลวง เอาน้ำหอมสระสรงพระมัสสุให้เปียก สบัดมีดโกน จับที่ชายพระนลาตคิดว่า "มีดโกนมีคมร่อยไปเสียหน่อย, เราควรตัดก้านพระศอโดยฉับเดียวเท่านั้น" ดังนี้แล้ว จึงยืนส่วนข้างหนึ่ง สบัดมีดโกนอีก.

ในขณะนั้น พระราชาทรงระลึกถึงมนต์ของพระองค์ได้ เมื่อจะทรงทำการสาธยาย ตรัสว่า "ฆเฏสิ ฆเฏสิ, กึการณา ฆเฏสิ? อหํปิ ตํ ชานามิ ชานามิ."

เหงื่อไหลโซมจากหน้าผากของนายภูษามาลาแล้ว. เขาเข้าใจว่า "ในหลวงทรงทราบเรา" กลัวแล้ว จึงโยนมีดโกนเสียที่แผ่นดินแล้ว หมอบกราบลงแทบพระบาท.

กุสโลบายของพระราชา

ธรรมดาพระราชาทั้งหลายย่อมเป็นผู้ฉลาด, เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสกะเขาอย่างนี้ว่า " เฮ้ย! อ้ายภูษามาลาใจร้าย มึงเข้าใจว่า "พระเจ้าแผ่นดินไม่รู้มึงหรือ?"

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 341

ภูษามาลา. ขอพระองค์ โปรดพระราชทานอภัยแก่ข้าพระองค์เถิดพระเจ้าข้า.

พระราชา. ช่างเถอะ, อย่ากลัวเลย, บอกมาเถิด.

ภูษามาลา. พระเจ้าข้า เสนาบดีให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ข้าพระองค์ บอกว่า "แกจงทำทีเป็นแต่งพระมัสสุของในหลวง ตัดก้านพระศอเสีย, เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว, ข้าจักเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งแกให้เป็นเสนาบดี."

พระราชา ทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงดำริว่า "เราได้ชีวิตเพราะอาศัยอาจารย์" ดังนี้แล้ว จึงดำรัสสั่งให้หาเสนาบดีมา (เฝ้า) ตรัสว่า " เสนาบดีผู้เจริญ ชื่อว่าอะไรที่เธอไม่ได้แล้วจากสำนักของฉัน. บัดนี้ฉันไม่อาจจะดูเธอได้, เธอจงออกไปจากแคว้นของฉัน" รับสั่งให้เนรเทศเขาออกจากแว่นแคว้นแล้ว ก็รับสั่งให้มาณพผู้อาจารย์มาเฝ้า ตรัสว่า "ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าได้ชีวิตเพราะอาศัยท่าน" ดังนี้แล้ว ทรงทำสักการะใหญ่ ได้พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่อาจารย์นั้นแล้ว. มาณพในครั้งนั้นได้เป็นจูฬปันถก, พระศาสดาเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์.

พระศาสดา ครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุ ทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน จูฬปันถกก็โง่อย่างนี้เหมือนกัน. แม้ในกาลนั้นเราก็ได้เป็นที่พึ่งพำนักของเธอ ยังเธอให้ตั้งอยู่ในโลกิยทรัพย์แล้ว, ในวันรุ่งขึ้น เมื่อกถา (สนทนากัน) ตั้งขึ้นว่า "น่าสรรเสริญ พระศาสดาทรงเป็นที่พึ่งพำนักของพระจูฬปันถกแล้ว" ตรัสเล่าเรื่องอดีตในจูฬเสฏฐิชาดก (๑) แล้ว ตรัสคาถาว่า


(๑) ขุ. ชา. ๒๗/๒. อรรถกถา. ๑/๑๗๕. จุลลกเสฏฐีชาดก.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 342

"ผู้มีปรีชาเห็นประจักษ์ ย่อมตั้งตนได้ด้วยทุนทรัพย์แม้น้อย เหมือนคนก่อไฟกองน้อยให้ลุก เป็นกองใหญ่ได้ฉะนั้น."

แล้วตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นที่พึ่งพำนักของจูฬปันถกนี้เฉพาะแต่ในบัดนี้หามิได้. ถึงในกาลก่อน ก็ได้เป็นที่พึ่งพำนักแล้วเหมือนกัน ; แต่ว่า ในกาลก่อน เราได้ทำจูฬปันถกนี้ให้เป็นเจ้าของโลกิยทรัพย์, บัดนี้ ทำให้เป็นเจ้าของโลกุตรทรัพย์" ดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า จูฬกันเตวาสิก แม้ในครั้งนั้น ได้เป็นจูฬปันถก (ในบัดนี้) , ส่วนจูฬกเศรษฐีผู้ฉลาดเฉียบแหลม เข้าใจพยากรณ์ นักษัตร (ในครั้งนั้น) คือเรา นั่นเอง."

พวกภิกษุชมพระจูฬปันถก

อีกวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันในธรรมสภาว่า "ผู้มีอายุ พระจูฬปันถก แม้ไม่สามารถจะเรียนคาถา ๔ บท โดย ๔ เดือนได้ ก็ไม่สละความเพียร ตั้งอยู่ในอรหัตแล้ว, บัดนี้ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ คือโลกุตรธรรมแล้ว."

พระศาสดาสอนให้ทำที่พึ่งด้วยธรรม ๔ ประการ

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้ (พระเจ้าข้า) ,"จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนา

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 343

ของเรา ปรารภความเพียรแล้ว ย่อมเป็นเจ้าของแห่งโลกุตรธรรมได้เทียว" ดังนี้แล้ว ตรัสคาถานี้ว่า

๓. อุฏฺาเนนปฺปมาเทน สญฺเมน ทเมน จ ทีปํ กยิราถ เมธาวี ยํ โอโฆ นาภิกีรติ.

"ผู้มีปัญญา พึงทำเกาะ (ที่พึ่ง) ที่ห้วงน้ำท่วมทับไม่ได้ ด้วยความหมั่น ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความระวัง และด้วยความฝึก"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ทีปํ กยิราถ ความว่า ผู้มีปัญญาประกอบพร้อมแล้วด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม พึงทำ คือพึงกระทำ ได้แก่อาจทำ เกาะ คืออรหัตตผล อันเป็นที่พึ่งพำนักของตนในสาครคือ สงสารอันลึกยิ่ง โดยความเป็นที่พึ่งอันได้ยากยิ่งนี้ ด้วยธรรมอันเป็นเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ คือ; ด้วยความหมั่น กล่าวคือ ความเพียร ๑ ด้วย ความไม่ประมาท กล่าวคือการไม่อยู่ปราศจากสติ ๑ ด้วยความระวัง กล่าว คือปาริสุทธิศีลสี่ ๑ ด้วยความฝึกอินทรีย์ ๑.

ถามว่า "พึงทำเกาะเช่นไร?"

แก้ว่า "พึงทำเกาะที่ห้วงน้ำท่วมทับไม่ได้." อธิบายว่า พึงทำเกาะที่ห้วงน้ำ คือ กิเลสทั้ง ๔ อย่าง ไม่สามารถจะท่วมทับคือกำจัดได้; แท้จริง พระอรหัต อันโอฆะไม่สามารถจะท่วมทับได้เลย.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 344

ในเวลาจบคาถา ชนเป็นอันมาก ได้เป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบันเป็นต้นแล้ว. เทศนามีประโยชน์แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องพระจูฬปันถกเถระ จบ.