พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง [๒๒]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ก.ค. 2564
หมายเลข  34798
อ่าน  643

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 379

๘. เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง [๒๒]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 40]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 379

๘. เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง [๒๒]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ" เป็นต้น.

ภิกษุนั่งพิจารณาไฟไหม้ป่าเป็นอารมณ์

ดังได้สดับมา ภิกษุรูปนั้นเรียนกัมมัฏฐาน ตราบเท่าถึงพระอรหัต ในสำนักพระศาสดาแล้ว เข้าป่าเพียรพยายามอยู่ ก็ไม่อาจบรรลุพระอรหัตได้. ท่านนึกว่า "เราจักไปทูลพระศาสดาให้ตรัสบอกกัมมัฏฐานให้วิเศษ (ขึ้นไป) " ดังนี้แล้ว ออกจากป่านั้น กำลังเดินมายังสำนักพระศาสดา เห็นไฟป่าตั้งขึ้น (ลุกลาม) มากมาย ในระหว่างหนทาง รีบขึ้นยอดเขาโล้นลูกหนึ่ง นั่งดูไฟซึ่งกำลังไหม้ป่า ยืดเอาเป็นอารมณ์ว่า "ไฟนี้ เผาเชื้อทั้งหลายมากและน้อยไป ฉันใด; แม้ไฟคืออริยมรรคญาณ ก็จักพึงเผาสังโยชน์ทั้งหลายมากและน้อยไป ฉันนั้น."

ปฏิปทาตัดสังโยชน์

พระศาสดา ประทับนั่งในพระคันธกุฎีนั่นแล ทรงทราบวาระจิตของเธอแล้ว ตรัสว่า "อย่างนั้นแล ภิกษุ สังโยชน์ทั้งหลายละเอียดและหยาบ ซึ่งเกิดอยู่ในภายในของสัตว์เหล่านี้ ดุจเชื้อมากบ้างน้อยบ้าง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 380

ฉะนั้น, ควรเผาสังโยชน์เหล่านั้นด้วยไฟคือญาณเสียแล้ว ทำให้เป็นของไม่ควรเกิดอีก" ดังนี้แล้ว ทรงเปล่งพระรัศมี ปรากฏประหนึ่งว่าประทับนั่ง ณ ที่จำเพาะหน้าของภิกษุนั้น ตรัสพระคาถานี้ว่า

๘. อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ ปมาเท ภยทสฺสิ วา สญฺโชนํ อณุํ ถูลํ ฑหํ อคฺคีว คจฺฉติ.

"ภิกษุยินดีแล้วในความไม่ประมาท หรือมีปกติเห็นภัยในความประมาท ย่อมเผาสังโยชน์ ทั้งละเอียดและหยาบไป ดุจไฟเผาเชื้อมากและน้อยไปฉะนั้น."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมาทรโต ความว่า ยินดีคืออภิรมย์แล้วในความไม่ประมาท ได้แก่ ยังกาลให้ล่วงไปด้วยความไม่ประมาท.

บาทพระคาถาว่า ปมาเท ภยทสฺสิ วา ความว่า ผู้เห็นภัยในความประมาท มีการเข้าถึงนรกเป็นต้น, อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าผู้เห็นความประมาทโดยความเป็นภัย เพราะความประมาทนั้นเป็นรากเหง้าแห่งความอุบัติเหล่านั้น.

บทว่า สญฺโชนํ ความว่า สังโยชน์ ๑๐ อย่าง (๑) เป็นเครื่องประกอบ เครื่องผูก (หมู่สัตว์) ไว้กับทุกข์ในวัฏฏะ สามารถยังสัตว์ให้จมลงในวัฏฏะได้.


(๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน ๑ วิจิกิจฉา ความลังเล ไม่แน่ใจ ๑ สีลัพพตปรามาส ความลูบคลำศีลและพรต ๑ กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม ๑ ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ๑ รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรม ๑ อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม ๑ มานะ ความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ๑ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ๑ อวิชชา ความหลงเป็นเหตุไม่รู้จริง ๑.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 381

บทว่า อณุํ ถูลํ คือมากและน้อย.

บาทพระคาถาว่า ฑหํ อคฺคีว คจฺฉติ ความว่า ภิกษุนั้นยินดีแล้วในความไม่ประมาท ย่อมเผาสังโยชน์นั่นด้วยไฟคือญาณ ซึ่งตนบรรลุแล้วด้วยความไม่ประมาท คือทำให้เป็นของไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป ดุจไฟเผาเชื้อมากและน้อยนั้นแลไปฉะนั้น.

ในกาลจบคาถา ภิกษุนั้น นั่งอย่างเดิมเทียว เผาสังโยชน์ทั้งหมดแล้ว บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย มาทางอากาศ (เหาะมา) ชมเชยสรรเสริญพระสรีระของพระตถาคต ซึ่งมีพรรณะดุจทองคำแล้ว ถวายบังคม หลีกไป ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จบ.