๓. เรื่องอุกกัณฐิตภิกษุ [๒๖]
[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 407
๓. เรื่องอุกกัณฐิตภิกษุ [๒๖]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 40]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 407
๓. เรื่องอุกกัณฐิตภิกษุ [๒๖]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้กระสัน (จะสึก) รูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สุทุทฺทสํ" เป็นต้น.
พระเถระแนะอุบายพ้นทุกข์แก่เศรษฐีบุตร
ดังได้สดับมา เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี บุตรเศรษฐีผู้หนึ่ง เข้าไปหาพระเถระผู้เป็นชีต้น (๑) ของตน เรียนว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมใคร่จะพ้นจากทุกข์, ขอท่านโปรดบอกอาการสำหรับพ้นจากทุกข์แก่กระผมสักอย่างหนึ่ง"
พระเถระ กล่าวว่า "ดีละ ผู้มีอายุ ถ้าเธอใคร่จะพ้นจากทุกข์ไซร้, เธอจงถวายสลากภัต (๒) ถวายปักขิกภัต (๓) ถวายวัสสาวาสิกภัต (๔) ถวายปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น, แบ่งทรัพย์สมบัติของตนให้เป็น ๓ ส่วน ประกอบการงานด้วยทรัพย์ส่วน ๑ เลี้ยงบุตรและภรรยาด้วยทรัพย์ส่วน ๑ ถวายทรัพย์ส่วน ๑ ไว้ในพระพุทธศาสนา." เขารับว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วทำกิจทุกอย่าง ตามลำดับแห่งกิจที่พระเถระบอก แล้วเรียนถามพระเถระอีกว่า "กระผมจะทำบุญอะไรอย่างอื่น ที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกเล่า? ขอรับ."
(๑) กุลุปกะ ผู้เข้าไปสู่ตระกูล
(๒) ภัตที่ทายกถวายตามสลาก.
(๓) ภัตที่ทายกถวายในวันปักษ์.
(๔) ภัตที่ทายกถวายแก่ภิกษุผู้จำพรรษา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 408
พระเถระ ตอบว่า "ผู้มีอายุ เธอจงรับไตรสรณะ (และ) ศีล ๕." เขารับไตรสรณะและศีล ๕ แม้เหล่านั้นแล้ว จึงเรียนถามถึงบุญกรรมที่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น. พระเถระก็แนะว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงรับศีล ๑๐." เขากล่าวว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วก็รับ (ศีล ๑๐). เพราะเหตุที่เขาทำบุญกรรมอย่างนั้นโดยลำดับ เขาจึงมีนามว่า อนุปุพพเศรษฐีบุตร. เขาเรียนถามอีกว่า "บุญอันกระผมพึงทำ แม้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ยังมีอยู่หรือ? ขอรับ" เมื่อพระเถระกล่าวว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงบวช," จึงออกบวชแล้ว. ภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรมรูปหนึ่ง ได้เป็นอาจารย์ของเธอ, ภิกษุผู้ทรงพระวินัยรูปหนึ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์, ในเวลาที่ภิกษุนั้นได้อุปสมมทแล้วมาสู่สำนักของตน (อาจารย์) อาจารย์ กล่าวปัญหาในพระอภิธรรมว่า "ชื่อว่า ในพระพุทธศาสนา ภิกษุทำกิจนี้จึงควร, ทำกิจนี้ไม่ควร."
ฝ่ายพระอุปัชฌาย์ ก็กล่าวปัญหาในพระวินัย ในเวลาที่ภิกษุนั้นมาสู่สำนักของตนว่า "ชื่อว่า ในพระพุทธศาสนา ภิกษุทำสิ่งนี้ควร, ทำสิ่งนี้ไม่ควร; สิ่งนี้เหมาะ สิ่งนี้ไม่เหมาะ."
อยากสึกจนซูบผอม
ท่านคิดว่า "โอ! กรรมนี้หนัก; เราใคร่จะพ้นจากทุกข์ จึงบวช, แต่ในพระพุทธศาสนานี้ สถานเป็นที่เหยียดมือของเรา ไม่ปรากฏ, เราดำรงอยู่ในเรือนก็อาจพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะได้ เราควรเป็นคฤหัสถ์ (ดีกว่า)." ตั้งแต่นั้น ท่านกระสัน (จะสึก) หมดยินดี (ในพรหมจรรย์) ไม่ทำการสาธยายในอาการ ๓๒, ไม่เรียนอุเทศ ผอม ซูบซีด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 409
มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ถูกความเกียจคร้านครอบงำ เกลื่อนกล่นแล้วด้วยหิดเปื่อย.
ลำดับนั้น พวกภิกษุหนุ่มและสามเณร ถามท่านว่า "ผู้มีอายุทำไม? ท่านจึงยืนแฉะอยู่ในที่ยืนแล้ว นั่งแฉะในที่นั่งแล้ว ถูกโรคผอมเหลืองครอบงำ ผอม ซูบซีด มีตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น ถูกความเกียจคร้านครอบงำ เกลื่อนกล่นแล้วด้วยหิดเปื่อย, ท่านทำกรรมอะไรเล่า?"
ภิกษุ. ผู้มีอายุ ผมเป็นผู้กระสัน.
ภิกษุหนุ่มและสามเณร. เพราะเหตุไร?
ภิกษุนั้น บอกพฤติการณ์นั้นแล้ว, ภิกษุหนุ่มและสามเณรเหล่านั้นบอกแก่พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของท่านแล้ว. พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ ได้พากันไปยังสำนักพระศาสดา.
รักษาจิตอย่างเดียวอาจพ้นทุกข์ได้
พระศาสดาตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมาทำไมกัน?"
อาจารย์และอุปัชฌาย์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปนี้กระสันในศาสนาของพระองค์.
พระศาสดา. ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ? ภิกษุ.
ภิกษุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เพราะเหตุไร?
ภิกษุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (เพราะ) ข้าพระองค์ใคร่จะพ้นจากทุกข์ จึงได้บวช, พระอาจารย์ของข้าพระองค์นั้น กล่าวอภิธรรมกถา,
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 410
พระอุปัชฌาย์กล่าววินัยกถา. ข้าพระองค์นั้นได้ทำความตกลงใจว่า 'ในพระพุทธศาสนานี้ สถานเป็นที่เหยียดมือของเราไม่มีเลย, เราเป็นคฤหัสถ์ก็อาจพ้นจากทุกข์ได้, เราจักเป็นคฤหัสถ์' ดังนี้ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ภิกษุ ถ้าเธอจักสามารถรักษาได้เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น, กิจคือการรักษาสิ่งทั้งหลายที่เหลือ ย่อมไม่มี.
ภิกษุ. อะไร? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เธอจักอาจรักษาเฉพาะจิตของเธอ ได้ไหม?
ภิกษุ. อาจรักษาได้ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา ประทานพระโอวาทนี้ว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงรักษาเฉพาะจิตของตนไว้, เธออาจพ้นจากทุกข์ได้" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้
๓. สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ ยตฺถ กามนิปาตินํ จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ.
"ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิต ที่เห็นได้แสนยาก ละเอียดยิ่งนัก มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่, (เพราะว่า) จิตที่คุ้มครองไว้ได้ เป็นเหตุนำสุขมาให้."
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุทุทฺทสํ ได้แก่ ยากที่จะเห็นได้ด้วยดี. บทว่า สุนิปุณํ ละเอียดที่สุด ได้แก่ ละเอียดอย่างยิ่ง.
บาทพระคาถาว่า ยตฺถ กามนิปาตินํ ความว่า มักไม่พิจารณา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 411
ดูฐานะทั้งหลายมีชาติเป็นต้น ตกไปในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในฐานะที่พึงได้หรือไม่พึงได้ สมควรหรือไม่สมควร.
บาทพระคาถาว่า จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี ความว่า คนอันธพาลมีปัญญาทราม ชื่อว่า สามารถรักษาจิตของตนไว้ได้ ย่อมไม่มี. เขาเป็นผู้เป็นไปในอำนาจจิต ย่อมถึงความพินาศฉิบหาย: ส่วนผู้มีปัญญาคือเป็นบัณฑิตเทียว ย่อมอาจรักษาจิตไว้ได้. เพราะเหตุนั้น แม้เธอจงคุ้มครองจิตไว้ให้ได้; เพราะว่า จิต ที่คุ้มครองไว้ได้ เป็นเหตุนำสุขมาให้ คือย่อมนำมาซึ่งสุขอันเกิดแต่มรรคผลและนิพพาน ดังนี้.
ในกาลจบเทศนา ภิกษุนั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ได้เป็นอริยบุคคล มีพระโสดาบันเป็นต้น. เทศนาได้สำเร็จประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.
เรื่องอุกกัณฐิตภิกษุ จบ.