พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. เรื่องพระภาคิไนยสังฆรักขิตเถระ [๒๗]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ก.ค. 2564
หมายเลข  34803
อ่าน  446

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 412

๔. เรื่องพระภาคิไนยสังฆรักขิตเถระ [๒๗]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 40]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 412

๔. เรื่องพระภาคิไนยสังฆรักขิตเถระ [๒๗]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุชื่อว่า สังฆรักขิต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ทูรงฺคมํ เอกจรํ" เป็นต้น

พระเถระไม่รับผ้าสาฎกที่พระหลานชายถวาย

ดังได้สดับมา กุลบุตรผู้หนึ่งในกรุงสาวัตถี ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วออกบวช ได้อุปสมบทแล้ว มีนามว่าสังฆรักขิตเถระ โดย ๒ - ๓ วันเท่านั้น ก็บรรลุพระอรหัตตผล. น้องชายของท่าน ได้บุตรแล้ว ก็ได้ตั้งชื่อของพระเถระ (แก่บุตรนั้น). เขามีนามว่าภาคิไนยสังฆรักขิต เจริญวัยแล้ว ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระเถระ เข้าไปจำพรรษาในวัดใกล้บ้านแห่งใดแห่งหนึ่ง ได้ผ้าวัสสาวาสิกสาฎก ๒ ผืน คือยาว ๗ ศอกผืนหนึ่ง ยาว ๘ ศอกผืนหนึ่ง กำหนด ไว้ว่า "ผ้าผืนยาว ๘ ศอกจักเป็นของพระอุปัชฌาย์ของเรา" คิดว่า "ผ้าผืนยาว ๗ ศอกจักเป็นของเรา" ออกพรรษาแล้ว ประสงค์ว่า "จักเยี่ยมพระอุปัชฌาย์" เดินมาพลางเที่ยวบิณฑบาตในระหว่างทาง ครั้นมา (ถึง) แล้ว เมื่อพระเถระยังไม่กลับมาสู่วิหารนั่นแล, เข้าไปสู่วิหารแล้วปัดกวาดที่สำหรับพักกลางวันของพระเถระ จัดตั้งน้ำล้างเท้าไว้ ปูอาสนะแล้วนั่งแลดูหนทางเป็นที่มา (แห่งพระเถระ) อยู่. ครั้นทราบความที่พระเถระมาถึงแล้ว กระทำการต้อนรับ รับบาตรจีวร อาราธนา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 413

พระเถระให้นั่ง ด้วยคำว่า "ขอท่านนั่งเถิด ขอรับ" ถือพัดก้านตาลพัดแล้ว ถวายน้ำดื่ม ล้างเท้าทั้งสองแล้ว นำผ้าสาฎกนั้นมาวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าเรียนว่า "ท่านขอรับ ขอท่านจงใช้สอยผ้าสาฎกผืนนี้" ดังนี้แล้ว ได้ยืนพัดอยู่.

ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะเธอว่า "สังฆรักขิต จีวรของฉันบริบูรณ์, เธอนั่นแล จงใช้สอย."

พระสังฆรักขิต. ท่านขอรับ ผ้าสาฏกนี้ กระผมกำหนดไว้เพื่อท่านทีเดียว จำเดิมแต่เวลาที่กระผมได้แล้ว, ขอท่านจงทำการใช้สอยเถิด.

พระเถระ. ช่างเถอะ สังฆรักขิต จีวรของฉันบริบูรณ์, เธอนั่นแล จงใช้สอยเถิด.

พระสังฆรักขิต. ท่านขอรับ ขอท่านอย่าทำอย่างนั้นเลย (เพราะ) เมื่อท่านใช้สอยผ้าสากฎนี้ ผลมากจักมีแก่กระผม.

พระหลานชายนึกถึงฆราวาสวิสัย

ลำดับนั้น เมื่อพระสังฆรักขิตนั้น แม้กล่าว (วิงวอน) อยู่ แล้วๆ เล่าๆ , พระเถระก็ไม่ปรารถนาผ้าสาฎกผืนนั้น. เธอยืนพัดอยู่พลางคิดอย่างนี้ว่า "ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ เราเป็นหลานของพระเถระ; ในเวลาบวชแล้ว เราก็เป็นสัทธิวิหาริก (ของท่าน) , แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระอุปัชฌาย์ ก็ไม่ประสงค์ทำการใช้สอยร่วมกับเรา, เมื่อพระอุปัชฌาย์นี้ ไม่ทำการร่วมใช้สอยกับเรา, เราจะต้องการอะไรด้วยความเป็นสมณะ, เราจักเป็นคฤหัสถ์ (ดีกว่า) "

ขณะนั้น เธอได้มีความคิดเห็นว่า "การครองเรือน ตั้งตัวได้ยาก,

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 414

เราจักขายผ้าสาฎกผืนยาว ๘ ศอกแล้ว ซื้อแม่แพะ (มา) ตัวหนึ่ง, ธรรมดาแม่แพะย่อมตกลูกเร็ว เรานั้นจะขายลูกแพะที่ตกแล้วๆ ทำให้เป็นต้นทุน, ครั้นรวมต้นทุนได้มากแล้ว จักนำหญิงคนหนึ่งมาเป็นภริยา, นางจักคลอดบุตรคนหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจักตั้งชื่อหลวงลุงของเราแก่บุตรนั้น แล้วให้นั่งในยานน้อยพาบุตรและภริยาของเรามาไหว้หลวงลุง, เมื่อเดินมา จักพูดกะภริยาของเราในระหว่างทางว่า 'หล่อนจงนำบุตรมาแก่เราก่อน, เราจักนำ (อุ้ม) เขาไป.' หล่อนจักพูดว่า 'เธอ จะต้องการอะไรด้วยบุตร, เธอจงมา จงขับยานน้อยนี้ไป,' แล้วรับเอาบุตรไป ตั้งใจว่า 'เราจักนำเขาไป,' เมื่อไม่อาจอุ้มไปได้ จักทิ้งไว้ที่รอยล้อ, เมื่อเป็นเช่นนั้น ล้อจักทับสรีระของเขาไป, ลำดับนั้น เราจะพูดกะหล่อนว่า 'หล่อนไม่ได้ให้บุตรของฉันแก่ฉันเอง. หล่อนไม่สามารถอุ้มบุตรนั้นไปได้, บุตรนั้นย่อมเป็นผู้อันเจ้าให้ฉิบหายเสียแล้ว, จักเอาด้ามปฏักตีหลัง (ภริยา)."

พระเถระถูกพระหลานชายตี

พระหลานชายนั้น คิดอยู่อย่างนั้น พลางยืนพัดอยู่เทียว เอาพัดก้านตาลตีศีรษะพระเถระแล้ว.

พระเถระใคร่ครวญอยู่ว่า "เพราะเหตุไรหนอแล? เราจึงถูกสังฆรักขิตตีศีรษะ," ทราบเรื่องที่พระหลานชายนั้นคิดแล้วๆ ทั้งหมด, จึงพูดว่า "สังฆรักขิต เธอไม่ได้อาจจะให้ประหารมาตุคาม, ในเรื่องนี้พระเถระผู้แก่มีโทษอะไรเล่า?"

เธอคิดว่า "ตายจริง เราฉิบหายแล้ว, นัยว่าพระอุปัชฌาย์รู้เรื่อง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 415

ที่เราคิดแล้วๆ , เราจะต้องการอะไรด้วยความเป็นสมณะ" ดังนี้แล้วจึงทิ้งพัดก้านตาล ปรารภเพื่อจะหนีไป.

พระศาสดาตรัสถามเหตุที่เกิดขึ้น

ลำดับนั้น ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย ไล่ตามจับภิกษุนั้นพามายังสำนักพระศาสดา. พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมาทำไมกัน?" พวกเธอ ได้ ภิกษุรูปหนึ่งหรือ?"

พวกภิกษุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พาภิกษุหนุ่มรูปนี้ ซึ่งกระสัน (จะสึก) แล้วหลบหนี มายังสำนักพระองค์.

พระศาสดา. ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ? ภิกษุ.

พระสังฆรักขิต. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. ภิกษุ เธอทำกรรมหนักอย่างนั้น เพื่ออะไร? เธอเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ผู้ปรารภความเพียร บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้เช่นเรามิใช่หรือ? ไม่ได้อาจให้เขาเรียกตนว่า 'พระโสดาบัน' 'พระสกทาคามี,' 'พระอนาคามี' หรือ 'พระอรหันต์;' ได้ทำกรรมหนักอย่างนั้นเพื่ออะไร?

พระสังฆรักขิต. ข้าพระองค์กระสัน (จะสึก) พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เพราะเหตุไร? เธอจึงกระสัน (จะสึก).

พระสังฆรักขิตนั้น กราบทูลเรื่องนั้นทั้งหมดแด่พระศาสดาจำเดิมแต่วันที่ตนได้ผ้าวัสสาวาสิกสาฎก จนถึงเอาพัดก้านตาลตีพระเถระแล้ว กราบทูลว่า "เพราะเหตุนี้ ข้าพระองค์จึง (คิด) หลบหนีไป พระเจ้าข้า."

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 416

สำรวมจิตเป็นเหตุให้พ้นเครื่องผูกของมาร

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า "มาเถิดภิกษุ เธออย่าคิดไปเลย, ธรรมดาจิตนี่มีหน้าที่รับอารมณ์ แม้มีอยู่ในที่ไกล, ควรที่ภิกษุจักพยายามเพื่อประโยชน์แก่การพ้นจากเครื่องผูกคือราคะ โทสะ โมหะ" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

๔. ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ เย จิตฺตํ สญฺเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา.

"ชนเหล่าใด จักสำรวมจิต อันไปในที่ไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีสรีระ มีถ้ำเป็นที่อาศัย ชนเหล่านั้น จะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทูรงฺคมํ เป็นต้น (พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้) ก็ชื่อว่าการไปและการมาของจิต โดยส่วนแห่งทิศมีทิศบูรพาเป็นต้น แม้ประมาณเท่าใยแมลงมุม ย่อมไม่มี, จิตนั้นย่อมรับอารมณ์แม้มีอยู่ในที่ไกล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ทูรงฺคมํ.

อนึ่ง จิต ๗ - ๘ ดวง ชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นเนื่องเป็นช่อโดยความรวมกันในขณะเดียว ย่อมไม่มี, ในกาลเป็นที่เกิดขึ้น จิตย่อมเกิดขึ้นทีละดวงๆ , เมื่อจิตดวงนั้นดับแล้ว, จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นทีละดวงอีก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เอกจรํ.

สรีรสัณฐานก็ดี ประเภทแห่งสีมีสีเขียวเป็นต้นเป็นประการก็ดีของจิต ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อสรีรํ.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 417

ถ้ำคือมหาภูต (๑) ๔ ชื่อว่า คูหา, ก็จิตนี้อาศัยหทัยรูปเป็นไปอยู่ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า คุหาสยํ.

สองบทว่า เย จิตฺตํ ความว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง คือเป็นบุรุษหรือสตรี เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต เมื่อไม่ให้กิเลสที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ละกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะความฟั่นเฟือนแห่งสติ ชื่อว่า จักสำรวมจิต คือจักทำจิตให้สงบ ได้แก่ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน.

บาทพระคาถาว่า โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา ความว่า ชนเหล่านั้นทั้งหมด ชื่อว่าจักพ้นจากวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ อันนับว่าเป็นเครื่องผูกแห่งมาร เพราะไม่มีเครื่องผูกคือกิเลส.

ในกาลจบเทศนา พระภาคิไนยสังฆรักขิตเถระ บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว. ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ได้เป็นอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้นแล้ว. เทศนาได้สำเร็จประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.

เรื่องพระภาคิไนยสังฆรักขิตเถระ จบ.


(๑) มหาภูต ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม.