พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. เรื่องภิกษุผู้ปรารภวิปิสสนา [๒๙]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ก.ค. 2564
หมายเลข  34805
อ่าน  453

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 428

๖. เรื่องภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนา [๒๙]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 40]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 428

๖. เรื่องภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนา [๒๙]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภพวกภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "กุมฺภูปมํ" เป็นต้น

ภิกษุ ๕๐๐ รูปอยู่ในไพรสณฑ์

ได้ยินว่า ภิกษุ ๕๐๐ รูป ในกรุงสาวัตถี เรียนกัมมัฏฐานตราบเท่าพระอรหัตในสำนักพระศาสดาแล้ว คิดว่า "เราจักทำสมณธรรม" ไปสิ้นทางประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ได้ถึงบ้านตำบลใหญ่ตำบลหนึ่ง. ลำดับนั้น พวกมนุษย์เห็นภิกษุเหล่านั้น จึงนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะที่จัดไว้ อังคาสด้วยภัตตาหารทั้งหลายมีข้าวยาคูเป็นต้นอันประณีตแล้ว เรียนถามว่า "พวกท่านจะไปทางไหน ขอรับ," เมื่อภิกษุเหล่านั้น กล่าวว่า "พวกเราจักไปสถานตามผาสุก" จึงวิงวอนว่า "นิมนต์พวกท่านอยู่ในที่นี้ตลอด ๓ เดือนนี้เถิด ขอรับ, แม้พวกกระผมก็จักตั้งอยู่ในสรณะ รักษาศีลในสำนักของพวกท่าน." ทราบการรับนิมนต์ของภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงเรียนว่า "ในที่ไม่ไกลมีไพรสณฑ์ใหญ่มาก, นิมนต์พวกท่านพักอยู่ที่ไพรสณฑ์นั้นเถิดขอรับ" ดังนี้แล้ว ส่งไป. ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้นแล้ว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 429

เทวดาทำอุบายหลอนภิกษุ

พวกเทวดาผู้สิงอยู่ในไพรสณฑ์นั้น คิดว่า "พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมีศีล ถึงไพรสณฑ์นี้โดยลำดับแล้ว; ก็เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายพำนักอยู่ในที่นี้, การที่พวกเราพาบุตรและภาดาขึ้นต้นไม้ไม่ควรเลย" จึงนั่งลงบนพื้นดิน คิดว่า "พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย อยู่ในที่นี้คืนเดียวในวันนี้ พรุ่งนี้จักไปเป็นแน่." ฝ่ายพวกภิกษุ เที่ยวไปบิณฑบาตในบ้าน ในวันรุ่งขึ้น แล้วก็กลับมายังไพรสณฑ์นั้นนั่นแล พวกเทวดาคิดว่า "ใครๆ จักนิมนต์ภิกษุสงฆ์ไว้ฉันพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้น จึงกลับมา, วันนี้จักไม่ไป, พรุ่งนี้ เห็นจักไปแน่" ดังนี้แล้ว ก็พากันพักอยู่ที่พื้นดินนั้นเอง ประมาณครึ่งเดือนโดยอุบายนี้. แต่นั้นมา พวกเทวดาคิดว่า "ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เห็นจักอยู่ในที่นี้นั่นแล ตลอด ๓ เดือนนี้, ก็เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ในที่นี้ทีเดียวแล พวกเราแม้จะขึ้นนั่งบนต้นไม้ ก็ไม่ควร ถึงสถานที่จะพาเอาพวกบุตรและภาดานั่งบนพื้นดินทั้ง ๓ เดือน ก็เป็นทุกข์ของพวกเรา; พวกเราทำอะไรๆ ให้ภิกษุเหล่านี้หนีไปได้จะเหมาะ; เทวดาเหล่านั้นเริ่มแสดงร่างผีหัวขาด และให้ได้ยินเสียงอมนุษย์ ในที่พักกลางคืนที่พักกลางวัน และในที่สุดของที่จงกรมนั้นๆ โรคทั้งหลายมีจามไอเป็นต้น เกิดแก่พวกภิกษุแล้ว. ภิกษุเหล่านั้นถามกันและกันว่า "ผู้มีอายุ โรคอะไรเสียดแทงคุณ? โรคอะไรเสียดแทงคุณ?" กล่าวว่า "โรคจาม เสียดแทงผม, โรคไอเสียดแทงผม" ดังนี้แล้ว กล่าวว่า "ผู้มีอายุ วันนี้ผมได้เห็นร่างผีหัวขาดในที่สุดที่จงกรม, ผมได้เห็นร่างผีในที่พักกลางคืน, ผมได้ยินเสียงอมนุษย์ในที่พักกลางวัน, ที่นี้เป็นที่ควรเว้น, ในที่นี้ ความไม่ผาสุกมีแก่พวกเรา พวกเราจักไปที่สำนักของพระศาสดา."

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 430

ภิกษุเหล่านั้น ออกไปสู่สำนักของพระศาสดาโดยลำดับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

พระศาสดาประทานอาวุธ

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจักไม่อาจเพื่ออยู่ในที่นั้นหรือ?"

ภิกษุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า อารมณ์อันน่ากลัวเห็นปานนี้ ปรากฏแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้พำนักอยู่ในที่นั้น, เพราะเหตุนั้น จึงมีความไม่ผาสุกเห็นปานนี้. ด้วยเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงคิดว่า "ที่นี้ เป็นที่ควรเว้น." ทิ้งที่นั้นมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว.

พระศาสดา. ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไปในที่นั้นนั่นแลสมควร.

ภิกษุ. ไม่อาจ พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่เอาอาวุธไป, บัดนี้พวก เธอจงเอาอาวุธไปเถิด.

ภิกษุ. ถือเอาอาวุธชนิดไหนไป? พระเจ้าข้า.

พระศาสดาตรัสว่า "เราจักให้อาวุธแก่พวกเธอ. พวกเธอจงถือเอาอาวุธที่เราให้ไป" ดังนี้แล้ว ตรัสเมตตสูตรทั้งสิ้นว่า

"ผู้รู้สันตบท (บทอันสงบ) พึงกระทำสิกขา ๓ หมวดใด, ผู้ฉลาดในประโยชน์ ควรกระทำสิกขา ๓ หมวดนั้น ผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเป็นผู้องอาจ เป็นผู้ตรง เป็นผู้ซื่อตรง เป็นผู้อ่อนโยน เป็นผู้ไม่ทะนงตัว."

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 431

เป็นอาทิ ดังนี้แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงสาธยายเมตตสูตรนี้ จำเดิมแต่ไพรสณฑ์ภายนอกวิหาร เข้าไปสู่ภายในวิหาร" ดังนี้ ทรงส่งไปแล้ว. ภิกษุเหล่านั้น ถวายบังคมพระศาสดา ออกไปถึงไพรสณฑ์นั้นโดยลำดับ พากันสาธยายเป็นหมู่ในภายนอกวิหาร เข้าไปสู่ไพรสณฑ์แล้ว

เทวดากลับได้เมตตาจิต

พวกเทวดาในไพรสณฑ์ทั้งสิ้น กลับได้เมตตาจิต ทำการต้อนรับภิกษุเหล่านั้น, ถามโดยเอื้อเฟื้อถึงการรับบาตรจีวร. ถามโดยเอื้อเฟื้อถึงการนวดฟั้นกาย, ทำการอารักขาให้อย่างเรียบร้อยในที่นั้นแก่พวกเธอ, (เทวดา) ได้เป็นผู้นั่งสงบ ดังพนมจักร. ขึ้นชื่อว่าเสียงแห่งอมนุษย์มิได้มีแล้วในที่ไหนๆ. จิตของภิกษุเหล่านั้น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง. พวกเธอนั่งในที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน ยังจิตให้หยั่งลงในวิปัสสนา เริ่มตั้งความสิ้นความเสื่อมในตนคิดว่า "ขึ้นชื่อว่าอัตภาพนี้เช่นกับภาชนะดิน เพราะอรรถว่าต้องแตก ไม่มั่นคง" ดังนี้ เจริญวิปัสสนาแล้ว.

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสคาถากำชับ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับนั่งในพระคันธกุฎีนั่นเอง ทรงทราบว่าภิกษุเหล่านั้น เริ่มวิปัสสนาแล้ว จึงทรงเรียกภิกษุเหล่านั้น ตรัสว่า "อย่างนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าอัตภาพนี้ ย่อมเป็นเช่นกับด้วยภาชนะดินโดยแท้ เพราะอรรถว่าต้องแตก ไม่มั่นคง" ดังนี้แล้ว ทรงฉายพระโอภาสไป แม้ประทับอยู่ในที่ ๑๐๐ โยชน์ ก็เป็นประหนึ่งประทับนั่งในที่เฉพาะหน้าของภิกษุเหล่านั้น ทรงฉายพระฉัพพรรณรังสี

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 432

มีพระรูปปรากฏอยู่ ตรัสพระคาถานี้ว่า

๖. กุมฺภูปมํ กายมิทํ วิทิตฺวา นครูปมํ จิตฺตมิทํ ถเกตฺวา (๑) โยเธถ มารํ ปญฺาวุเธน ชิตฺจ รกฺเข อนิเวสิโน (๒) สิยา.

" [บัณฑิต] รู้จักกายนี้ อันเปรียบด้วยหม้อ, กั้นจิต อันเปรียบด้วยนคร, พึงรบมารด้วยอาวุธคือปัญญา พึงรักษาความชนะที่ชนะแล้ว และพึงเป็นผู้ไม่ติดอยู่."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นครูปมํ ความว่า รู้จักกายนี้ คือ ที่นับว่าประชุมแห่งอาการมีผมเป็นอาทิ ซึ่งชื่อว่าเปรียบด้วยหม้อ คือ เช่นกับภาชนะดิน เพราะอรรถว่าไม่มีกำลังและทรามกำลัง เพราะอรรถว่าเป็นไปชั่วกาล ด้วยความเป็นกายไม่ยั่งยืน.

บาทพระคาถาว่า นครูปมํ จิตฺตมิทํ ถเกตฺวา เป็นต้น ความว่า ธรรมดานคร มีคูลึก แวดล้อมด้วยกำแพง ประกอบด้วยประตูและป้อม ย่อมชื่อว่ามั่นคงภายนอก, ถึงพร้อมด้วยถนน ๔ แพร่ง มีร้านตลาดในระหว่าง ชื่อว่าจัดแจงดีภายใน, พวกโจรภายนอกมาสู่นครนั้น ด้วยคิดว่า "เราจักปล้น ก็ไม่อาจเข้าไปได้ ย่อมเป็นดังว่ากระทบภูเขา กระท้อนกลับไป ฉันใด, กุลบุตรผู้บัณฑิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน กั้นวิปัสสนา จิตของตน ทำให้มั่นคง คือให้เป็นเช่นกับนคร ห้ามกิเลสที่มรรคนั้นๆ


(๑) เปตฺวา.

(๒) อรรถกถา ว่า อนิเวสโน.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 433

พึงฆ่า ด้วยอาวุธคือปัญญาอันสำเร็จแล้วด้วยวิปัสสนา และสำเร็จแล้วด้วยอริยมรรค ชื่อว่าพึงรบ คือพึงประหารกิเลสมารนั้น ดุจนักรบยืนอยู่ในนคร รบหมู่โจรด้วยอาวุธมีประการต่างๆ มีอาวุธมีคมข้างเดียวเป็นต้น ฉะนั้น."

สองบทว่า ชิตญฺจ รกฺเข ความว่า กุลบุตร เมื่อต้องเสพอาวาส เป็นที่สบาย ฤดูเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย และการฟังธรรมเป็นเหตุสบายเป็นต้น เข้าสมาบัติในระหว่างๆ ออกจากสมาบัตินั้นพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยจิตหมดจด ชื่อว่าพึงรักษาธรรมที่ชนะแล้ว คือวิปัสสนาอย่างอ่อนที่ตนให้เกิดขึ้นแล้ว.

สองบทว่า อนิเวสโน สิยา ได้แก่ พึงเป็นผู้ไม่มีอาลัย.

อธิบายว่า เหมือนอย่างว่า นักรบ ทำซุ้มเป็นที่พักพลในภูมิประเทศเป็นที่ประชิดแห่งสงคราม (๑) รบอยู่กับพวกอมิตร เป็นผู้หิวหรือกระหายแล้ว เมื่อเกราะหย่อนหรือเมื่ออาวุธพลัดตก ก็เข้าไปยังซุ้มเป็นที่พักพล พักผ่อน กิน ดื่ม ผูกสอด (เกราะ.) จับอาวุธแล้วออกรบอีก ย่ำยีเสนาของฝ่ายอื่น ชนะปรปักษ์ที่ยังมิได้ชนะ รักษาชัยชนะที่ชนะแล้ว. ก็ถ้าว่านักรบนั้น เมื่อพักผ่อนอย่างนั้นในซุ้มเป็นที่พักพล ยินดีซุ้มเป็นที่พักพลนั้น พึงพักอยู่ ก็พึงทำรัชสมบัติให้เป็นไปในเงื้อมมือของปรปักษ์ฉันใด, ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน หมั่นเข้าสมาบัติ ออกจากสมาบัตินั้น พิจารณาสังขารทั้งหลาย ด้วยจิตอันหมดจด ย่อมสามารถรักษาวิปัสสนาอย่างอ่อน ที่ได้เฉพาะแล้ว ย่อมชนะกิเลสมาร ด้วยความได้เฉพาะซึ่งมรรคอันยิ่ง, ก็ถ้าว่า ภิกษุนั้น ย่อมพอใจสมาบัติอย่างเดียว ไม่


(๑) สงฺคามสีเส ในสีสประเทศแห่งสงคราม คือในสมรภูมิหรือสนามรบ.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 434

หมั่นพิจารณาสังขารทั้งหลาย ด้วยจิตอันหมดจด ย่อมไม่สามารถทำการแทงตลอดมรรคและผลได้, เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อรักษาธรรมที่ควรรักษา พึงเป็นผู้ไม่ติดอยู่ คือพึงทำสมาบัติให้เป็นที่เข้าพักแล้วไม่ติดอยู่ ได้แก่ไม่พึงทำอาลัยในสมาบัตินั้น. พระศาสดาตรัสว่า "เธอทั้งหลาย จงทำอย่างนั้น." พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

ในเวลาจบเทศนา ภิกษุ ๕๐๐ รูปนั่งในที่นั่งเทียว บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย สรรเสริญชมเชยทั้งถวายบังคมพระสรีระอันมีวรรณะเพียงดังทองของพระตถาคต มาแล้ว ดังนี้แล

เรื่องภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนา จบ.