พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อัปปมาทวรรค ที่ ๒ ว่าด้วยความไม่ประมาทและความประมาท

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ก.ค. 2564
หมายเลข  34809
อ่าน  675

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 217

อัปปมาทวรรค ที่ ๒

ว่าด้วยความไม่ประมาทและความประมาท


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 40]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 217

คาถาธรรมบท

อัปปมาทวรรคที่ ๒ (๑)

ว่าด้วยความไม่ประมาทและความประมาท

[๑๒] ๑. ความไม่ประมาทเป็นเครื่องถึงอมตะ ความประมาทเป็นทางแห่งมัจจุ ผู้ไม่ประมาทแล้วชื่อว่าย่อมไม่ตาย ผู้ประมาทแล้ว ผู้นั้นย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว บัณฑิตรู้ความนั่นโดยแปลกกันแล้ว (ตั้งอยู่) ในความไม่ประมาท บันเทิงอยู่ในความไม่ประมาท ยินดีในธรรมเป็นที่โคจรของพระอริยะทั้งหลาย บัณฑิตผู้ไม่ประมาทเหล่านั้น มีความเพ่ง มีความเพียรเป็นไปติดต่อ บากบั่นมั่นเป็นนิตย์ เป็นนักปราชญ์ ย่อมถูกต้องพระนิพพาน อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม.

๒. ยศย่อมเจริญโดยยิ่งแก่คนผู้มีความขยัน มีสติ มีการงานสะอาด มีปกติใคร่ครวญแล้วจึงทำ สำรวมแล้ว เลี้ยงชีพโดยธรรม และไม่ประมาท.

๓. ผู้มีปัญญา พึงทำเกาะ (ที่พึ่ง) ที่ห้วงน้ำท่วมทับไม่ได้ ด้วยความหมั่น ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความระวัง และด้วยความฝึก.


(๑) วรรคนี้มี อรรถกถา ๙ เรื่อง มีคาถาประจำเรื่องตามลำดับเลขหลังเลขข้อในวงเล็บ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 218

๔. พวกชนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมประกอบเนืองๆ ซึ่งความประมาท ส่วนผู้มีปัญญาย่อมรักษาความไม่ประมาทได้เหมือนทรัพย์อันประเสริฐ ท่านทั้งหลาย อย่าตามประกอบความประมาท อย่าตามประกอบความเชยชิดด้วยความยินดีในกาม เพราะว่าผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งพินิจอยู่ ย่อมบรรลุสุขอันไพบูลย์.

๕. เมื่อใดบัณฑิตบรรเทาความประมาทด้วยความไม่ประมาท เมื่อนั้นบัณฑิตนั้น ขึ้นสู่ปัญญาเพียงดังปราสาท ไม่เศร้าโศก ย่อมพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้มีความเศร้าโศก ปราชญ์ย่อมพิจารณาเห็นคนพาลทั้งหลายได้ เหมือนคนผู้ยืนอยู่บนยอดเขา มองเห็นชนผู้ยืนอยู่บนพื้นดินได้ฉะนั้น.

๖. ผู้มีปัญญาดี เมื่อชนทั้งหลายประมาทแล้วไม่ประมาท เมื่อชนทั้งหลายหลับแล้ว ตื่นอยู่โดยมาก ย่อมละบุคคลผู้มีปัญญาทรามไปเสีย ดุจม้าตัวมีฝีเท้าเร็ว ละทิ้งม้าตัวหากำลังมิได้ไปฉะนั้น.

๗. ท้าวมฆวะถึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพยดาทั้งหลาย เพราะความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท ความประมาทอันท่านติเตียนทุกเมื่อ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 219

๘. ภิกษุยินดีแล้วในความไม่ประมาท หรือมีปกติเห็นภัยในความประมาท ย่อมเผาสังโยชน์ ทั้งละเอียดและหยาบไป ดุจไฟเผาเชื้อมากและน้อย ไปฉะนั้น.

๙. ภิกษุยินดีแล้วในความไม่ประมาท มีปกติเห็นภัยในความประมาท ไม่ควรเพื่ออันเสื่อม (จากมรรคและผล) ตั้งอยู่แล้วในที่ใกล้แห่งพระนิพพานทีเดียว.

จบอัปปมาทวรรคที่ ๒