พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ [๓๗]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34819
อ่าน  538

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 49

๕. เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ [๓๗]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 49

๕. เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ [๓๗]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภเศรษฐีชื่อโกสิยะผู้มีความตระหนี่ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยถาปิ ภมโร ปุปฺผํ" เป็นต้น เรื่องตั้งขึ้นแล้วในกรุงราชคฤห์.

สมบัติของเศรษฐีไม่อำนวยประโยชน์แก่ใครๆ

ดังได้สดับมา ในที่ไม่ไกลแห่งกรุงราชคฤห์ ได้มีนิคมชื่อ สักกระ เศรษฐีคนหนึ่งชื่อ โกสิยะ มีความตระหนี่ มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ประจำอยู่ในนิคมนั้น เขาไม่ให้แม้หยดน้ำมัน สักหยดเดียวด้วยปลายหญ้า แก่คนเหล่าอื่น ทั้งไม่บริโภคด้วยตนเอง สมบัติของเขานั้น ไม่อำนวยประโยชน์แก่ปิยชนทั้งหลายมีบุตรและภรรยาเป็นต้น ไม่อำนวยประโยชน์แก่สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย คงเป็นของไม่ได้ใช้สอย ตั้งอยู่เหมือนสระโบกขรณีที่ผีเสื้อน้ำหวงแหน ด้วยประการฉะนี้แล.

เศรษฐีอยากกินขนมเบื้องจมผอม

วันหนึ่ง เวลาจวนสว่าง พระศาสดาเสด็จออกจากสมาบัติอันประกอบด้วยความกรุณาใหญ่ ทรงตรวจดูหมู่สัตว์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ที่พอแนะนำในการตรัสรู้ได้ ในสกลโลกธาตุ ได้ทรงเห็นอุปนิสัยโสดาปัตติผลของเศรษฐีพร้อมทั้งภรรยา ซึ่งอยู่ในที่สุดแห่งที่ ๔๕ โยชน์ ก็ในวัน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 50

ก่อนแต่วันนั้น เศรษฐีนั้นไปสู่พระราชมนเทียร เพื่อบำรุงพระราชา ทำการบำรุงพระราชาแล้วกลับมา เห็นคนบ้านนอกคนหนึ่งถูกความหิวครอบงำ กำลังกินขนมกุมมาส (ขนมเบื้อง) ให้เกิดความกระหายในขนมนั้นขึ้น ไปสู่เรือนของตนแล้วคิดว่า ถ้าเราบอกว่าเราอยากกินขนมเบื้องไซร้ คนเป็นอันมากก็จักพากันอยากกินกับเรา เมื่อเป็นอย่างนั้น วัตถุเป็นอันมาก มีงา ข้าวสาร เนยใส น้ำอ้อยเป็นต้นของเรา ก็จักถึงความหมดไป เราจักไม่บอกแก่ใครๆ ดังนี้แล้ว อดกลั้นความอยาก เที่ยวไป เมื่อเวลาล่วงไปๆ เขาผอมเหลืองลงทุกที มีตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น แต่นั้น ไม่สามารถจะอดกลั้นความอยากไว้ได้ เข้าห้องแล้วนอนกอดเตียง เขาแม้ถึงความทุกข์อย่างนี้ ก็ยังไม่บอกอะไรๆ แก่ใครๆ เพราะกลัวเสียทรัพย์.

ภรรยาเศรษฐีทอดขนมเบื้อง

ลำดับนั้น ภรรยาเข้าไปหาเขา ลูบหลังถามว่า "ท่านไม่สบายหรือ นาย".

เศรษฐี. ความไม่สบายอะไรๆ ของฉันไม่มี.

ภรรยา. ก็พระราชากริ้วท่านหรือ.

เศรษฐี. ถึงพระราชาก็ไม่กริ้วฉัน.

ภรรยา. เมื่อเป็นเช่นนั้น ความไม่พอใจอะไรๆ ที่พวกลูกชาย ลูกหญิงหรือปริชนมีทาสกรรมกรเป็นต้นกระทำแก่ท่าน มีอยู่หรือ.

เศรษฐี. แม้กรรมเห็นปานนั้นก็ไม่มี.

ภรรยา. ก็ท่านมีความอยากในอะไรหรือ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 51

แม้เมื่อภรรยากล่าวอย่างนั้น เขาก็ไม่กล่าวอะไร คงนอนเงียบเสียงเพราะกลัวเสียทรัพย์ ลำดับนั้น ภรรยากล่าวกะเขาว่า "บอกเถิด นาย ท่านอยากอะไร" เขาเป็นเหมือนกลืนคำพูดไว้ ตอบว่า "ฉัน มีความอยาก".

ภรรยา. อยากอะไร นาย.

เศรษฐี. ฉันอยากกินขนมเบื้อง.

ภรรยา. เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมท่านไม่บอกแก่ดิฉัน ท่านเป็นคนจนหรือ บัดนี้ ดิฉันจักทอดขนมเบื้องให้พอแก่คนที่อยู่ในสักกรนิคมทั้งสิ้น.

เศรษฐี. ประโยชน์อะไรของเธอด้วยคนพวกนั้น พวกเขาทำงานของตน ก็จักกินของตน.

ภรรยา. ถ้ากระนั้น ดิฉันจักทอดขนมเบื้องให้พอแก่คนที่อยู่ในตรอกเดียวกัน.

เศรษฐี. ฉันรู้ความที่เธอเป็นคนรวยทรัพย์ละ.

ภรรยา. ดิฉันจะทอดให้พอแก่คนทั้งหมด ที่อยู่ในที่ใกล้เรือนนี้.

เศรษฐี. ฉันรู้ความที่เธอเป็นคนมีอัธยาศัยกว้างขวางละ.

ภรรยา. ถ้ากระนั้น ดิฉันจะทอดให้พอแก่ชนสักว่าลูกเมียท่าน เท่านั้นเอง.

เศรษฐี. ประโยชน์อะไรของเธอด้วยคนพวกนั้น.

ภรรยา. ก็ดิฉันจะทอดให้พอแก่ท่านและดิฉันหรือ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 52

เศรษฐี. เธอจักทำ ทำไม.

ภรรยา. ถ้ากระนั้น ดิฉันจะทอดให้พอแก่ท่านผู้เดียวเท่านั้น.

เศรษฐี. เมื่อเธอทอดขนมที่นี้ คนเป็นจำนวนมากก็ย่อมหวังที่จะกินด้วย เธอจงเว้นข้าวสารที่ดีทั้งสิ้น ถือเอาข้าวสารหักและเชิงกรานและกระเบื้อง และถือเอาน้ำนม เนยใส น้ำผึ้งและน้ำอ้อยหน่อยหนึ่ง แล้วขึ้นไปชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น แล้วทอดเถิด ฉันคนเดียวเท่านั้น จักนั่งกิน ณ ที่นั้น.

นางรับคำว่า "ดีละ" แล้วให้ทาสีถือสิ่งของที่ควรถือ เอาขึ้นไปสู่ปราสาท แล้วไล่ทาสีไป ให้เรียกเศรษฐีมา เศรษฐีนั้น ปิดประตูใส่ลิ่มและสลักทุกประตูตั้งแต่ประตูแรกมา แล้วขึ้นไปยังชั้นที่ ๗ ปิดประตู แล้วนั่ง ณ ชั้นแม้นั้น ฝ่ายภรรยาของเขาก็ติดไฟที่เชิงกราน ยกกระเบื้องขึ้นตั้ง แล้วเริ่มทอดขนม.

พระมหาโมคคัลลานะไปทรมานเศรษฐี

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระมหาโมคคัลลานเถระมาแต่เช้าตรู่ ตรัสว่า "โมคคัลลานะ ในสักกรนิคม (ซึ่งตั้งอยู่) ไม่ไกลกรุงราชคฤห์ เศรษฐีผู้มีความตระหนี่นั่นคิดว่า เราจักกินขนมเบื้อง จึงให้ภรรยาทอดขนมเบื้องบนปราสาท ๗ ชั้น เพราะกลัวคนเหล่าอื่นเห็น เธอจงไป ณ ที่นั้น แล้วทรมานเศรษฐี ทำให้สิ้นพยศ (๑) ให้ผัวเมียแม้ทั้งสองถือขนมและน้ำนม เนยใส น้ำผึ้งและน้ำอ้อย แล้วนำมายังพระเชตวันด้วยกำลังของตน วันนี้เรากับภิกษุ ๕๐๐ รูปจักนั่งในวิหารนั่นแหละ จักทำภัตกิจด้วยขนมเท่านั้น".


(๑) นิพฺพิเสวนํ แปลตามศัพท์ว่า มีความเสพผิดออกแล้ว.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 53

แม้พระเถระ ก็รับพระดำรัสของพระศาสดาว่า "ดีละ พระเจ้าข้า" แล้วไปยังนิคมนั้นด้วยกำลังฤทธิ์ทันทีทีเดียว เป็นผู้นุ่งห่มเรียบร้อย ได้ยืนอยู่ที่ช่องสีหบัญชร (๑) แห่งปราสาทนั้น เหมือนรูปแก้วมณีลอยเด่นอยู่กลางอากาศเทียว เพราะเห็นพระเถระนั้นแล ดวงหทัยของมหาเศรษฐีก็สั่นสะท้าน เขาคิดว่า เรามาที่นี่ เพราะกลัวบุคคลทั้งหลายผู้มีรูปอย่างนี้นั่นแล แต่สมณะนี้ยังมายืนอยู่ที่ช่องหน้าต่างได้ เมื่อไม่เห็นเครื่องมือที่ตนควรจะฉวยเอา เดือดดาลทำเสียงตฏะๆ ประดุจก้อนเกลือที่ถูกโรยลงในไฟ จึงกล่าวอย่างนั้นว่า "สมณะ ท่านยืนอยู่ในอากาศ จักได้อะไร แม้จงกรมแสดงรอยเท้าในอากาศซึ่งหารอยมิได้อยู่ ก็จักไม่ได้เหมือนกัน" พระเถระจงกรมกลับไปกลับมาในที่นั้นนั่นแล เศรษฐีกล่าวว่า "ท่านจงกรมอยู่จักได้อะไร แม้นั่งด้วยบัลลังก์ (๒) ในอากาศ ก็จักไม่ได้เช่นกัน." พระเถระจึงนั่งคู้บัลลังก์.

ลำดับนั้น เศรษฐีกล่าวกะท่านว่า "ท่านนั่งในอากาศ จักได้อะไร แม้มายืนที่ธรณีหน้าต่างก็จักไม่ได้" พระเถระได้ยืนอยู่ที่ธรณีหน้าต่างแล้ว ลำดับนั้น เขากล่าวกะท่านว่า "ท่านยืนที่ธรณีหน้าต่าง จักได้อะไร แม้บังหวนควันแล้ว ก็จักไม่ได้เหมือนกัน" แม้พระเถรก็บังหวนควัน ปราสาททั้งสิ้นได้มีควันเป็นกลุ่มเดียวกัน อาการนั้น ได้เป็นเหมือนเวลาเป็นที่แทงตาทั้งสองของเศรษฐีด้วยเข็ม เศรษฐีไม่กล่าวกะท่านว่า "แม้ท่านให้ไฟโพลงอยู่ก็จักไม่ได้" เพราะกลัวไฟไหม้เรือน แล้วคิดว่า สมณะนี้ จักเป็นผู้เกี่ยวข้องอย่างสนิท


(๑) ศัพท์ว่า สีหบัญชร หมายความว่า หน้าต่างมีลูกกรง แปลตามศัพท์ว่า หน้าต่างมีสัณฐานประดุจกรงเล็บแห่งสีหะ.

(๒) นั่งขัดสมาธิ.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 54

ไม่ได้แล้วจักไม่ไป เราจักให้ถวายขนมแก่ท่านชิ้นหนึ่ง" แล้วจึงกล่าวกะภรรยาว่า "นางผู้เจริญ เธอจงทอดขนมชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ให้แก่สมณะ แล้วจงส่งท่านไปเสียเถอะ" นางหยอดแป้งลงในถาดกระเบื้องนิดเดียว (แต่) ขนมกลายเป็นขนมชิ้นใหญ่ ได้พองขึ้นเต็มทั่วทั้งถาด ตั้งอยู่แล้ว เศรษฐีเห็นเหตุนั้น กล่าวว่า " (ชะรอย) หล่อนจักหยิบแป้งมากไป" ดังนี้แล้ว ตักแป้งหน่อยหนึ่งด้วยมุมทัพพี แล้วหยอดเองทีเดียว ขนมเกิดใหญ่กว่าขนมชิ้นก่อน เศรษฐีทอดขนมชิ้นใดๆ ด้วยอาการอย่างนั้น ขนมชิ้นนั้นๆ ก็ยิ่งใหญ่โตทีเดียว เขาเบื่อหน่าย จึงกล่าวกะภรรยาว่า "นางผู้เจริญ เธอจงให้ขนมแก่สมณะนี้ ชิ้นหนึ่งเถอะ" เมื่อนางหยิบขนมชิ้นหนึ่งจากกระเช้า ขนมทั้งหมดก็ติดเนื่องเป็นอันเดียวกัน นางจึงกล่าวกะเศรษฐีว่า "นาย ขนมทั้งหมดติดเนื่องเป็นอันเดียวกันเสียแล้ว ดิฉันไม่สามารถทำให้แยกกันได้" แม้เขากล่าวว่า "ฉันจักทำเอง" แล้วก็ไม่อาจทำได้ ถึงทั้งสองคนจับที่ริมแผ่นขนม แม้ดึงออกอยู่ ก็ไม่อาจให้แยกออกจากกันได้เลย ครั้นเมื่อเศรษฐีนั้นปล้ำอยู่กับขนม (เพื่อจะให้แยกกัน) เหงื่อก็ไหลออกจากสรีระแล้ว ความหิวกระหายก็หายไป ลำดับนั้น เขากล่าวกะภรรยาว่า "นางผู้เจริญ ฉันไม่มีความต้องการขนมแล้ว เธอจงให้แก่สมณะเถิด" นางฉวยกระเช้าแล้วเข้าไปหาพระเถระ พระเถระแสดงธรรมแก่คนแม้ทั้งสอง กล่าวคุณพระรัตนตรัย แสดงผลทานที่บุคคลให้แล้วเป็นอาทิ ให้เป็นดังพระจันทร์ในพื้นท้องฟ้าว่า "ทานที่บุคคลให้แล้ว ย่อมมีผล ยัญที่บุคคลบูชา ย่อมมีผล" เศรษฐีฟังธรรมนั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใส กล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านจงมานั่งฉันบน

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 55

บัลลังก์นี้เถิด".

พระเถระนำเศรษฐีและภรรยาไปเฝ้าพระศาสดา

พระเถระกล่าวว่า "มหาเศรษฐี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งในวิหารกับภิกษุ ๕๐๐ รูป ด้วยตั้งพระหฤทัยว่า จักเสวยขนม เมื่อท่านมีความชอบใจ เศรษฐี ท่านจงให้ภรรยาถือเอาขนมและวัตถุอื่น มีน้ำนมเป็นต้น พวกเราจักไปสู่สำนักของพระศาสดา".

เศรษฐี. ก็บัดนี้ พระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่ไหนเล่า ขอรับ.

พระเถระ. ประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร ในที่สุดแห่งที่ ๔๕ โยชน์จากที่นี้ เศรษฐี.

เศรษฐี. ท่านผู้เจริญ พวกเราจักไปสิ้นหนทางไกลมีประมาณเท่านี้ จะไม่ล่วงเลยเวลาอย่างไร.

พระเถระ. มหาเศรษฐี เมื่อท่านมีความชอบใจ เราจักนำท่านทั้งสองไปด้วยกำลังของตน หัวบันไดปราสาทของท่านจักมีในที่ของตน นี่เอง แต่เชิงบันไดจักมีที่ซุ้มประตูพระเชตวัน เราจักนำไปสู่พระเชตวัน โดยกาลชั่วเวลาลงจากปราสาทชั้นบนไปยังชั้นล่าง.

เขารับว่า "ดีละ ขอรับ" พระเถระทำหัวบันไดไว้ในที่นั้นนั่นเอง แล้วอธิษฐานว่า "ขอเชิงบันไดจงมีที่ซุ้มประตูพระเชตวัน" บันไดก็ได้เป็นแล้วอย่างนั้นนั่นแล พระเถระให้เศรษฐีและภรรยาถึงพระเชตวันเร็วกว่ากาลที่ลงไปจากปราสาทชั้นบนลงไปยังชั้นล่าง.

สามีภรรยาแม้ทั้งสองคนนั้น เข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้ว กราบทูลกาล พระศาสดาเสด็จเข้าไปสู่โรงฉันแล้ว ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 56

เขาปูลาดไว้แล้ว พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ มหาเศรษฐีได้ถวายทักษิโณทกแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ภรรยาใส่ขนมในบาตรของพระตถาคตเจ้าแล้ว แม้มหาเศรษฐีพร้อมด้วยภรรยาก็บริโภคขนมพอแก่ความต้องการ ความหมดสิ้นของขนมไม่ปรากฏเลย แม้เมื่อเขาถวายขนมแก่ภิกษุในวิหารทั้งสิ้นและให้แก่คนกินเดนทั้งหลายแล้ว ความหมดสิ้นไปแห่งขนมก็ไม่ปรากฏอยู่นั่นเอง เขาทั้งสองจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขนมหาถึงความหมดไปไม่".

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ถ้ากระนั้น ท่านทั้งสองจงทิ้งเสียที่ซุ้มประตูพระเชตวัน" เขาทั้งสองก็ทิ้งที่เงื้อมซึ่งไม่ไกลซุ้มประตูพระเชตวัน แม้ทุกวันนี้ ที่นั้น ก็ยังปรากฏชื่อว่า เงื้อมขนมเบื้อง มหาเศรษฐีพร้อมด้วยภรรยาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ยืนอยู่ ณ ที่ ควรข้างหนึ่งแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำอนุโมทนาแล้ว.

ในกาลจบอนุโมทนา สามีและภรรยาแม้ทั้งสองดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา ขึ้นบันไดที่ซุ้มประตูพระเชตวันแล้ว สถิตอยู่ที่ปราสาทของตนทีเดียว ตั้งแต่นั้นมา เศรษฐีได้เกลี่ยทรัพย์จำนวน ๘๐ โกฏิ ในพระพุทธศาสนานั่นแหละ.

พวกภิกษุสรรเสริญพระมหาโมคคัลลานะ

ในเวลาเย็นวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุประชุมกันในโรงธรรม นั่งกล่าวคุณกถาของพระเถระว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดูอานุภาพของพระมหาโมคคัลลานะ ท่านชื่อว่า ไม่กระทบกระทั่งศรัทธา

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 57

ไม่กระทบกระทั่งโภคะ ทรมานเศรษฐีผู้มีความตระหนี่โดยครู่เดียว กระทำให้หมดพยศแล้ว ให้เขาถือขนมนำมาสู่พระเชตวัน กระทำไว้ตรงพระพักตร์พระศาสดาแล้ว ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล น่าอัศจรรย์ พระเถระมีอานุภาพมาก".

พระศาสดา ทรงสดับถ้อยคำของพวกภิกษุ ด้วยพระโสตธาตุอันเป็นทิพย์ เสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมด้วยเรื่องอะไรกันหนอ" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้" จึงตรัสสรรเสริญพระเถระว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาอันภิกษุผู้ทรมาน ไม่กระทบกระทั่งศรัทธา ไม่กระทบกระทั่งโภคะ ไม่ให้สกุลชอกช้ำ ไม่เบียดเบียนสกุล เป็นดุจแมลงภู่เคล้าเอาละอองจากดอกไม้ เข้าไปหาสกุลแล้ว ควรให้รู้พุทธคุณ โมคคัลลานะ บุตรของเราก็เป็นเช่นนั้น" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า.

๕. ยถาปิ ภมโร ปุปฺผํ วณฺณวนฺตํ อเหยํ ปเลติ รสมาทาย เอวํ คาเม มุนี จเร.

"มุนีพึงเที่ยวไปในบ้าน เหมือนแมลงภู่ ไม่ยังดอก สี และกลิ่นให้ชอกช้ำ ถือเอาแต่รสแล้วบินไป ฉะนั้น".

แก้อรรถ

ชาติแห่งสัตว์ผู้กระทำน้ำหวานชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อว่า ภมร ในพระคาถานั้น. บทว่า ปุปฺผํ เป็นต้น ความว่า แมลงภู่เมื่อบินไปในสวนดอกไม้ ไม่ยังดอก สี และกลิ่นให้ชอกช้ำ คือว่าไม่ให้เสียหาย บินไป.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 58

บทว่า ปเลติ ความว่า ครั้นบินไปอย่างนั้นแล้ว ดื่มรสจนพอความต้องการ คาบเอารสแม้อื่นไปเพื่อประโยชน์แก่การกระทำน้ำหวาน แล้วบินไป. แมลงภู่นั้น ร่อนลงสู่ป่าชัฏแห่งหนึ่งแล้ว เก็บรสซึ่งเจือด้วยธุลีนั้นไว้ในโพรงไม้แห่งหนึ่งแล้ว กระทำรสน้ำหวานให้เป็นน้ำผึ้งโดยลำดับ ดอก หรือสี และกลิ่นของดอกไม้นั้น หาชอกช้ำไปเพราะการเที่ยวไปในสวนดอกไม้แห่งแมลงภู่นั้นเป็นปัจจัยไม่ ที่แท้สิ่งทั้งหมดคงเป็นปกติอยู่นั่นเอง.

บาทพระคาถาว่า เอวํ คาเม มุนี จเร ความว่า พระอนาคาริยมุนี ต่างโดยเสขะและอเสขะก็ฉันนั้น เที่ยวรับภิกษาในบ้านโดยลำดับสกุล.

แท้จริง การเสื่อมศรัทธาหรือการเสื่อมโภคะหามีแก่สกุลทั้งหลาย เพราะการเที่ยวไปในบ้านของมุนีนั้นเป็นปัจจัยไม่ ศรัทธาก็ดี โภคะก็ดี คงเป็นปกติอยู่นั่นเอง ก็แล พระเสขมุนีและอเสขมุนี ครั้นเที่ยวไปอย่างนั้นออกมาแล้ว พระเสขมุนีปูสังฆาฏิ นั่ง ณ ที่ที่สบายด้วยน้ำ ภายนอกบ้านก่อนแล้วพิจารณาอาหารบิณฑบาต ด้วยสามารถแห่งการเปรียบด้วยน้ำมันหยอดเพลา ผ้าปิดแผล และเนื้อแห่งบุตร แล้วฉันบิณฑบาต หลบเข้าไปสู่ไพรสณฑ์เห็นปานนั้น พิจารณากัมมัฏฐานเป็นไปภายใน กระทำมรรค ๔ และผล ๔ ให้อยู่ในเงื้อมมือให้ได้ ส่วนพระอเสขมุนี ประกอบการอยู่สบายในทิฏฐธรรมเนืองๆ บัณฑิตพึงทราบความที่มุนีนั้นควรเห็นสมกับแมลงภู่โดยการกระทำน้ำหวานเช่นนี้ แต่ในที่นี้ทรงประสงค์เอาพระขีณาสพ.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 59

พระศาสดา ครั้นตรัสพระธรรมเทศนานี้แล้ว เพื่อจะประกาศคุณของพระเถระแม้ให้ยิ่ง จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะทรมานเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในกาลก่อน เธอก็ทรมานเขาแล้ว ให้รู้ความเกี่ยวเนื่องกันแห่งกรรมและผลแห่งกรรมเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ ทรงนำอดีตนิทานมาสาธก ตรัสอิลลีสชาดก (๑) นี้ว่า.

"คนทั้งสองเป็นคนกระจอก คนทั้งสองเป็นคนค่อม คนทั้งสองเป็นคนมีตาเหล่ คนทั้งสองมีต่อมบนศีรษะ เราไม่รู้จักเศรษฐีชื่ออิลลีสะ ว่าคนไหน" ดังนี้แล.

เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ จบ.


(๑) ขุ. ชา. ๒๗/ข้อ ๗๘ อรรถกถา ๒/๑๖๓.