พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ [๔๑]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34823
อ่าน  523

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 116

๙. เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ [๔๑]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 116

๙. เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ [๔๑]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี เมื่อจะทรงแก้ปัญหาของพระอานนทเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น ปุปฺผคนฺโธ ปฏิวาตเมติ" เป็นต้น.

พระอานนท์เถระทูลถามปัญหา

ดังได้สดับมา พระเถระหลีกเร้นแล้วในเวลาเย็น คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกลิ่นสูงสุดไว้ ๓ อย่าง คือกลิ่นเกิดจากราก กลิ่นเกิดจากแก่น กลิ่นเกิดจากดอก กลิ่นของคันธชาตเหล่านั้นฟุ้งไปได้ตามลมเท่านั้น ไปทวนลมไม่ได้ กลิ่นของคันธชาตใด ฟุ้งไปได้แม้ทวนลม คันธชาตนั้น มีอยู่หรือหนอแล ครั้งนั้น ท่านได้มีความคิดนี้ว่า ประโยชน์อะไรของเราด้วยปัญหาที่จะวินิจฉัยด้วยตนเอง เราจักทูลถามพระศาสดานั่นแหละ (ดีกว่า) ท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วทูลถาม เพราะเหตุ (๑) นั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ จึงกล่าวไว้ว่า "ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปเฝ้าโดยทิสาภาคที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "พระเจ้าข้า กลิ่นของคันธชาตเหล่าใดฟุ้งไปตามลมอย่างเดียว ฟุ้งไปทวนลมไม่ได้ คันธชาตเหล่านี้มี ๓ อย่าง คันธชาต ๓ อย่างเป็นไฉน พระเจ้าข้า กลิ่นของคันธชาตเหล่าใด ฟุ้งไปตามลม


(๑) อัง. ติก. ๒๐/๒๙๐.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 117

อย่างเดียว ฟุ้งไปทวนลมไม่ได้ คันธชาต ๓ อย่างเหล่านี้แล คือกลิ่นเกิดจากราก กลิ่นเกิดจากแก่น กลิ่นเกิดจากดอก พระเจ้าข้า กลิ่นของคันธชาตใด ฟุ้งไปตามลมก็ได้ กลิ่นของคันธชาตใด ฟุ้งไปทวนลมก็ได้ กลิ่นของคันธชาตใด ฟุ้งไปตามลมและทวนลมก็ได้ คันธชาตนั้น บางอย่าง มีอยู่หรือหนอแล".

พระศาสดาทรงเฉยปัญหา

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงเฉลยปัญหาแก่ท่าน จึงตรัสว่า "อานนท์ กลิ่นของคันธชาตใด ฟุ้งไปตามลมก็ได้ กลิ่นของคันธชาตใด ฟุ้งไปทวนลมก็ได้ กลิ่นของคันธชาตใด ฟุ้งไปตามลมและทวนลมก็ได้ คันธชาตนั้น มีอยู่".

พระอานนท์. พระเจ้าข้า ก็กลิ่นของคันธชาตใด ฟุ้งไปตามลมก็ได้ กลิ่นของคันธชาตใด ฟุ้งไปทวนลมก็ได้ กลิ่นของคันธชาตใด ฟุ้งไปตามลมและทวนลมก็ได้ คันธชาตนั้นเป็นไฉน.

พระศาสดาตรัสว่า "อานนท์ หญิงก็ตาม ชายก็ตาม ในบ้านหรือในนิคมใดในโลกนี้ เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง เป็นผู้ถึงพระธรรมว่าเป็นที่พึ่ง เป็นผู้ถึงพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นผู้งดเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เป็นผู้งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ เป็นผู้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้งดเว้นจากการกล่าวเท็จ เป็นผู้งดเว้นจากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือการดื่มน้ำเมา ได้แก่ สุราและเมรัย เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจมีความตระหนี่เป็นมลทินไปปราศแล้ว มีเครื่องบริจาคอันสละแล้ว มีฝ่ามืออันล้างแล้ว ยินดีในการสละ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 118

ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ย่อมอยู่ครอบครองเรือน สมณะและพราหมณ์ในทิศทั้งหลายย่อมกล่าว (สรรเสริญ) เกียรติคุณของหญิงและชายนั้นว่า "หญิงหรือชายในนิคมชื่อโน้น เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง ฯลฯ ยินดีในการจำแนกทาน" แม้เทวดาทั้งหลายย่อมกล่าว (สรรเสริญ) เกียรติคุณของหญิงและชายนั้นว่า "หญิงหรือชายในบ้านหรือนิคมชื่อโน้น เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง ฯลฯ ยินดีในการจำแนกทาน" อานนท์ นี้แลเป็นคันธชาต มีกลิ่นฟุ้งไปตามลมก็ได้ มีกลิ่นฟุ้งไปทวนลมก็ได้ มีกลิ่นฟุ้งไปตามลมและทวนลมก็ได้" ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านั้นว่า.

๙. น ปุปฺผคนฺโธ ปฏิวาตเมติ น จนฺทนํ ตครมลฺลิกา วา สตญฺจ คนฺโธ ปฏิวาตเมติ สพฺพา ทิสา สปฺปุริโส ปวายติ.

จนฺทนํ ตครํ วาปิ อุปฺปลํ อถ วสฺสิกี เอเตสํ คนฺธชาตานํ สีลคนฺโธ อนุตฺตโร.

"กลิ่นดอกไม้ฟุ้งไปทวนลมไม่ได้ กลิ่นจันทน์หรือกลิ่นกฤษณาและกลัมพักก็ฟุ้งไปไม่ได้ แต่กลิ่นของสัตบุรุษฟุ้งไปทวนลมได้ (เพราะ) สัตบุรุษย่อมฟุ้งขจรไปตลอดทุกทิศ กลิ่นจันทน์ก็ดี แม้กลิ่นกฤษณาก็ดี กลิ่นอุบลก็ดี กลิ่นดอกมะลิก็ดี กลิ่นศีลเป็นเยี่ยม กว่าคันธชาตทั้งหลายนั่น".

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 119

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ปุปฺผคนฺโธ ความว่า ต้นปาริฉัตร ในภพชื่อดาวดึงส์ โดยด้านยาวและด้านกว้าง มีประมาณ (ด้านละ) ๑๐๐ โยชน์ รัศมีดอกไม้ของต้นปาริฉัตรนั้นแผ่ออกไปตลอด ๕๐ โยชน์ กลิ่นฟุ้งไปได้ ๑๐๐ โยชน์ แม้กลิ่นนั้น ก็ฟุ้งไปได้ตามลมเท่านั้น แต่หาสามารถฟุ้งไปทวนลมได้แม้ (เพียง) ครึ่งองคุลีไม่ กลิ่นดอกไม้แม้เห็นปานนี้ ฟุ้งไปทวนลมไม่ได้.

บทว่า จนฺทนํ ได้แก่ กลิ่นจันทน์.

ด้วยบทว่า ตครมลฺลิกา (๑) วา นี้ ทรงพระประสงค์กลิ่นของคันธชาต แม้เหล่านั้นเหมือนกัน แท้จริง กลิ่นของจันทน์แดงก็ดี ของกฤษณาและกลัมพักก็ดี ซึ่งเป็นยอดแห่งกลิ่นที่เกิดจากแก่นทั้งหลาย ย่อมฟุ้งไปได้ ตามลมเท่านั้น ฟุ้งไปทวนลมไม่ได้.

สองบทว่า สตญฺจ คนฺโธ ความว่า ส่วนกลิ่นศีลของสัตบุรุษ คือของพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ย่อมฟุ้งไปทวนลมได้.

ถามว่า. เพราะเหตุไร.

แก้ว่า. เพราะสัตบุรุษย่อมฟุ้งขจรไปตลอดทุกทิศ อธิบายว่า เพราะสัตบุรุษย่อมฟุ้งปกคลุมไปตลอดทุกทิศด้วยกลิ่นศีล ฉะนั้น สัตบุรุษ อันบัณฑิตควรกล่าวได้ว่า "กลิ่นของท่านฟุ้งไปทวนลมได้" เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า "ปฏิวาตเมติ" บทว่า วสฺสิกี ได้แก่ ดอกมะลิ.

บทว่า เอเตสํ เป็นต้น ความว่า กลิ่นศีลของสัตบุรุษผู้มีศีลนั่นแล เป็นกลิ่นยอดเยี่ยมกว่ากลิ่นแห่งคันธชาต มีจันทน์ (แดง) เป็นต้นเหล่านี้ คือหากลิ่นที่เหมือนไม่มี ได้แก่ ไม่มีส่วนเปรียบเทียบได้.


(๑) กลิ่นกฤษณาและดอกมะลิ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 120

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ จบ.