พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. เรื่องปรินิพพานของพระโคธิกเถระ [๔๓]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34825
อ่าน  522

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 130

๑๑. เรื่องปรินิพพานของพระโคธิกเถระ [๔๓]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 130

๑๑. เรื่องปรินิพพานของพระโคธิกเถระ [๔๓]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภการปรินิพพานของพระโคธิกเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "เตสํ สมฺปนฺนสีลานํ" เป็นต้น.

พระเถระคิดฆ่าตนเพราะเสื่อมจากฌาน

ความพิสดารว่า ท่านผู้มีอายุนั้น อยู่ใกล้ถ้ำกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ถูกต้องเจโตวิมุตติ อันเกิดขึ้นในสมัย (เกิดเป็นครั้งคราว) เสื่อมจากเจโตวิมุตตินั้น ด้วยอำนาจแห่งโรคชนิดหนึ่งอันเรื้อรัง ท่านยังฌานที่ ๒ บ้าง ที่ ๓ บ้าง ให้เกิดขึ้นถึง ๖ ครั้ง แล้วก็เสื่อม ในวาระที่ ๗ ให้เกิดขึ้นแล้ว คิดว่า เราเสื่อมจากฌานถึง ๖ ครั้งแล้ว ก็คติของผู้มีฌานเสื่อมแล้วแล ไม่แน่นอน คราวนี้แล เราจักนำศัสตรามา ดังนี้แล้ว จึงถือมีดสำหรับปลงผม นอนบนเตียงน้อย เพื่อจะตัดก้านคอแล้ว.

มารทูลให้พระศาสดาทรงทราบ

มารรู้จิตของท่านแล้วคิดว่า ภิกษุนี้ ใคร่จะนำศัสตรามา ก็แล ภิกษุทั้งหลายเมื่อนำศัสตรามา ย่อมเป็นผู้หมดความอาลัยในชีวิต ภิกษุเหล่านั้นเริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว ย่อมบรรลุพระอรหัตได้ ถ้าเราจักห้ามภิกษุนั้น เธอจักไม่ทำตามคำของเรา เราจักทูลให้พระศาสดาห้าม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 131

ดังนี้แล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ด้วยเพศที่คนอื่นไม่รู้จัก กราบทูลอย่างนั้นว่า (๑).

"ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีบุญมาก รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ ด้วยยศ ล่วงเสียได้ซึ่งเวรและภัยทั้งปวง ผู้มีจักษุ ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระบาททั้งสอง ข้าแต่พระมหาวีระ สาวกของพระองค์ อันความตายครอบงำ ย่อมจำนงคิดถึงความตาย ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง ขอพระองค์จงทรงห้ามพระสาวกนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ปรากฏในหมู่ชน สาวกของพระองค์ยินดีแล้วในศาสนา (แต่) มีธรรม มีในใจยังมิได้บรรลุ ยังเป็นผู้จะต้องศึกษา จะพึงทำกาละเสียอย่างไรเล่า".

มารแสวงหาวิญญาณของพระโคธิกะ

ในขณะนั้น พระเถระนำศัสตรามาแล้ว พระศาสดาทรงทราบว่า ผู้นี้ เป็นมาร จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

"ปราชญ์ทั้งหลายย่อมทำอย่างนั้นแล ย่อมไม่จำนงชีวิต โคธิกะ ถอนตัณหาขึ้นพร้อมทั้งราก ปรินิพพานแล้ว".

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปสู่ที่พระเถระนำศัสตรามานอนอยู่แล้ว พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก ขณะนั้น มารผู้ลามกคิดว่า ปฏิสนธิวิญญาณของพระโคธิกะนี้ ตั้งอยู่แล้วในที่ไหนหนอแล.


(๑) สํ. ส. ๑๕/๑๗๗.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 132

ดังนี้แล้ว เป็นดุจกลุ่มควันและก้อนเมฆ แสวงหาวิญญาณของพระเถระในทิศทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความที่มารนั้นเป็นควันและก้อนเมฆนั้น แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย มารผู้ลามกนั่นแล แสวงหาวิญญาณของกุลบุตรชื่อโคธิกะอยู่ ด้วยคิดว่า วิญญาณของกุลบุตรชื่อโคธิกะตั้งอยู่แล้ว ณ ที่ไหน ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อโคธิกะมีวิญญาณไม่ตั้งอยู่เลย ปรินิพพานแล้ว" แม้มาร เมื่อไม่อาจเห็นที่ตั้งวิญญาณของพระโคธิกะนั้นได้ จึงแปลงเพศเป็นกุมาร ถือพิณมีสีเหลืองดุจผลมะตูม เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามว่า.

"ข้าพระองค์เที่ยวแสวงหาอยู่ ในทิศเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ทิศใหญ่ ทิศน้อย ก็มิได้ประสบ พระโคธิกะนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน" ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะมารนั้นว่า.

"ภิกษุชื่อโคธิกะ เป็นปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยปัญญาเครื่องทรงจำ มีฌาน ยินดีแล้วในฌาน ในกาลทุกเมื่อ ประกอบความเพียรทั้งกลางวัน กลางคืน ไม่ไยดีชีวิต ชนะเสนาแห่งมัจจุได้แล้ว ไม่มาสู่ภพอีก ถอนตัณหาพร้อมทั้งราก ปรินิพพานแล้ว".

เมื่อพระศาสดาตรัสอย่างนั้นแล้ว พิณได้พลัดตกจากรักแร้ของมารนั้น ผู้อันความโศกครอบงำ ลำดับนั้น ยักษ์นั้นเสียใจ ได้หายไปในที่นั้น นั่นเอง ด้วยประการฉะนี้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 133

แม้พระศาสดา ตรัสว่า "มารผู้ลามก เจ้าต้องการอะไรด้วยสถานที่กุลบุตรชื่อโคธิกะเกิดแล้ว เพราะคนอย่างเจ้า ตั้งร้อย ตั้งพัน ก็ไม่อาจจะเห็นที่ที่โคธิกะนั้นเกิด" ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า.

๑๑. เตสํ สมฺปนฺนสีลานํ อุปฺปมาทวิหารินํ สมฺมทญฺา วิมุตฺตานํ มาโร มคฺคํ น วินฺทติ.

"มาร ย่อมไม่ประสบทางของท่านผู้มีศีลถึงพร้อมแล้ว มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ เหล่านั้น".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตสํ คือแห่งท่านที่ปรินิพพาน เหมือนอย่างกุลบุตรชื่อโคธิกะ มีวิญญาณไม่ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้วฉะนั้น.

บทว่า สมฺปนฺนสีลานํ คือผู้มีศีลบริบูรณ์แล้ว.

บทว่า อปฺปมาทวิหารินํ คือผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือความไม่อยู่ปราศจากสติ.

บาทพระคาถาว่า สมฺมทญฺา วิมุตฺตานํ ความว่า ผู้พ้นวิเศษแล้ว ด้วยวิมุตติ ๕ เหล่านั้น คือ "ตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ นิสสรณวิมุตติ" เพราะรู้โดยเหตุ คือโดยนัย โดยการณ์.

บาทพระคาถาว่า มาโร มคฺคํ น วินฺทติ ความว่า มารแม้แสวงหาอยู่โดยเต็มกำลัง ย่อมไม่ประสบ คือย่อมไม่ได้เฉพาะ ได้แก่ ย่อมไม่เห็นทางแห่งพระมหาขีณาสพทั้งหลาย ผู้เห็นปานนี้ ไปแล้ว.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 134

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว เทศนามีประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.

เรื่องปรินิพพานของพระโคธิกเถระ จบ.