๑๒. เรื่องครหทินน์ [๔๔]
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 135
๑๒. เรื่องครหทินน์ [๔๔]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 135
๑๒. เรื่องครหทินน์ [๔๔]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภสาวกของนิครนถ์ชื่อ ครหทินน์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยถา สงฺการธานสฺมิํ" เป็นต้น.
เป็นสหายกันแต่เลื่อมใสวัตถุไม่ตรงกัน
ความพิสดารว่า ในกรุงสาวัตถี ได้มีชนผู้เป็นสหายกันสองคน คือสิริคุตต์ ๑ ครหทินน์ ๑ ในสองคนนั้น สิริคุตต์เป็นอุบาสก ครหทินน์เป็นสาวกของนิครนถ์ พวกนิครนถ์ ย่อมกล่าวกะครหทินน์นั้นเนืองๆ อย่างนี้ว่า "การที่ท่านพูดกะสิริคุตต์ ผู้สหายของท่านว่า ท่านเข้าไปหาพระสมณโคดมทำไม ท่านจักได้อะไร ในสำนักของพระสมณโคดมนั้น ดังนี้แล้ว กล่าวสอนโดยอาการที่สิริคุตต์เข้ามาหาพวกเราแล้ว จักให้ไทยธรรมแก่พวกเรา จะไม่ควรหรือ" ครหทินน์ฟังคำของนิครนถ์เหล่านั้นแล้ว ก็หมั่นไปพูดกะสิริคุตต์ ในที่ที่เขายืนและนั่งแล้วเป็นต้น อย่างนี้ว่า "สหาย ประโยชน์อะไรของท่านด้วย พระสมณโคดมเล่า ท่านเข้าไปหาพระสมณโคดมนั้นจักได้อะไร การที่ท่านเข้าไปหาพระผู้เป็นเจ้าของเราแล้ว ถวายทานแก่พระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้น จะไม่ควรหรือ" สิริคุตต์แม้ฟังคำของครหทินน์นั้น ก็นิ่งเฉย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 136
เสียหลายวัน รำคาญแล้ว วันหนึ่งจึงพูดว่า "เพื่อน ท่านหมั่นมาพูดกะเราในที่ที่ยืนแล้วเป็นต้น อย่างนี้ว่า ท่านไปหาพระสมณโคคมแล้ว จักได้อะไร ท่านจงเข้าไปหาพระผู้เป็นเจ้าของเรา ถวายทานแก่พระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้น ท่านจงบอกแก่เราก่อน พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายของท่าน ย่อมรู้อะไร".
ครหทินน์. โอ นาย ท่านอย่าพูดอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายของเราจะไม่รู้ไม่มี พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ย่อมรู้เหตุที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันทั้งหมด กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทั้งหมด ย่อมรู้เหตุที่ควรและไม่ควรทั้งหมดว่า เหตุนี้ จักมี เหตุนี้ จักไม่มี.
สิริคุตต์. ท่านพูดว่า พระผู้เป็นเจ้าของท่าน ย่อมรู้ ดังนี้ มิใช่หรือ.
ครหทินน์. ข้าพเจ้าพูดอย่างนั้น.
สิริคุตต์. ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านไม่บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลประมาณเท่านี้ นับว่าทำกรรมหนักแล้ว วันนี้ ข้าพเจ้าทราบอานุภาพแห่งญาณของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายแล้ว จงไปเถิดสหาย จงนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ตามคำของข้าพเจ้า.
ครหทินน์นั้นไปสำนักของพวกนิครนถ์ ไหว้นิครนถ์เหล่านั้นแล้ว กล่าวว่า " สิริคุตต์สหายของข้าพเจ้า นิมนต์เพื่อฉันวันพรุ่งนี้".
นิครนถ์. สิริคุตต์พูดกะท่านเองหรือ.
ครหทินน์. อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า.
นิครนถ์เหล่านั้นร่าเริงยินดีแล้ว กล่าวแล้วว่า "กิจของพวกเรา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 137
สำเร็จแล้ว จำเดิมแต่กาลที่สิริคุตต์เลื่อมใสในพวกเราแล้ว สมบัติชื่ออะไร จักไม่มีแก่พวกเรา" ที่อยู่ แม้ของสิริคุตต์ก็ใหญ่.
สิริคุตต์เตรียมรับรองนิครนถ์
สิริคุตต์นั้น ให้คนขุดหลุมยาว ๒ ข้าง ในระหว่างเรือน ๒ หลัง นั้นแล้ว ก็ให้เอาคูถเหลวใส่จนเต็ม ให้ตอกหลักไว้ในที่สุด ๒ ข้าง ภายนอกหลุม ให้ผูกเชือกไว้ที่หลักเหล่านั้น ให้ตั้งเท้าหน้าของอาสนะทั้งหลายไว้บนเบื้องบนหลุม ให้ตั้งเท้าหลังไว้ที่เชือก สำคัญอยู่ว่า ในเวลาที่นั่งแล้วอย่างนั้นแล พวกนิครนถ์จักมีหัวปักตกลง ให้คนลาดเครื่องลาดไว้เบื้องบนอาสนะทั้งหลาย โดยอาการที่หลุมจะไม่ปรากฏ ให้คนล้างตุ่มใหญ่ๆ แล้ว ให้ผูกปากด้วยใบกล้วยและผ้าเก่า ทำตุ่มเปล่าเหล่านั้นแล ให้เปื้อนด้วยเมล็ดข้าวต้ม ข้าวสวย เนยใส น้ำอ้อยและขนม ในภายนอกแล้ว ให้ตั้งไว้ข้างหลังเรือน.
ครหทินน์รีบไปเรือนของสิริคุตต์นั้นแต่เช้าตรู่แล้ว ถามว่า "ท่านจัดแจงสักการะเพื่อพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายแล้วหรือ".
สิริคุตต์. เออ สหาย ข้าพเจ้าจัดแจงแล้ว.
ครหทินน์. ก็สักการะนั่นอยู่ไหน.
สิริคุตต์. ข้าวต้มในตุ่มทั้งหลายนั่นประมาณเท่านี้ ข้าวสวยในตุ่มประมาณเท่านี้ เนยใส น้ำอ้อย ขนมเป็นต้น ในตุ่มประมาณเท่านี้ อาสนะปูไว้แล้ว.
ครหทินน์นั้นกล่าวว่า "ดีละ" แล้วก็ไป ในเวลาที่ครหทินน์นั้นไปแล้ว พวกนิครนถ์ประมาณ ๕๐๐ ก็มา สิริคุตต์ออกจากเรือน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 138
ไหว้พวกนิครนถ์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว ยืนประคองอัญชลีอยู่เบื้องหน้าของนิครนถ์เหล่านั้น คิดว่า นัยว่า ท่านทั้งหลาย ย่อมรู้เหตุทุกอย่าง ต่างโดยเป็นเหตุที่เป็นอดีตเป็นต้น อุปัฏฐากของพวกท่านบอกแก่ข้าพเจ้าแล้วอย่างนั้น ถ้าพวกท่าน ย่อมรู้เหตุทั้งหมด พวกท่าน อย่าเข้าไปสู่เรือนของข้าพเจ้า เพราะเมื่อพวกท่านเข้าไปสู่เรือนของข้าพเจ้าแล้ว ข้าวต้มไม่มีเลย ข้าวสวยเป็นต้นก็ไม่มี ถ้าพวกท่านไม่รู้ ก็จงเข้าไป เราให้พวกท่านตกลงในหลุมคูถแล้ว จักให้ตี ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงให้สัญญาแก่พวกบุรุษว่า "พวกท่านรู้ภาวะ คือการนั่งของนิครนถ์เหล่านั้นแล้ว ยืนอยู่ข้างหลัง พึงนำเครื่องลาดในเบื้องบนแห่งอาสนะทั้งหลายออกเสีย อาสนะเหล่านั้นอย่าเปื้อนแล้ว ด้วยของไม่สะอาดเลย" ครั้งนั้น สิริคุตต์พูดกะพวกนิครนถ์ว่า "นิมนต์มาข้างนี้เถิด ขอรับ" พวกนิครนถ์เข้าไปแล้ว ก็ปรารภเพื่อจะนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ ครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายกล่าวกะนิครนถ์เหล่านั้นว่า "จงรอก่อน ขอรับ จงอย่านั่งก่อน".
นิครนถ์. เพราะอะไร.
มนุษย์. การที่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย เข้าไปสู่เรือนของพวกข้าพเจ้า รู้ธรรมเนียมแล้วจึงนั่ง ย่อมสมควร.
นิครนถ์. ทำอย่างไร จึงสมควรเล่า ท่าน.
มนุษย์. การที่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหมด ยืนอยู่ใกล้อาสนะที่ถึงแก่ตนๆ แล้ว นั่งลงพร้อมกันทีเทียว จึงควร.
ได้ยินว่า สิริคุตต์นั้นให้ทำพิธีนี้ ก็ด้วยคิดว่า เมื่อนิครนถ์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 139
คนหนึ่งตกลงในหลุมแล้ว นิครนถ์ที่เหลืออย่านั่งแล้ว นิครนถ์เหล่านั้นกล่าวว่า "ดี" แล้วคิดว่า การที่พวกเราทำตามถ้อยคำที่คนพวกนี้บอกแล้ว สมควร.
พวกนิครนถ์ตกหลุมคูถ
ครั้งนั้น นิครนถ์ทั้งหมด ได้ยืนอยู่ใกล้อาสนะที่ถึงแล้วแก่ตนๆ โดยลำดับ ลำดับนั้น พวกมนุษย์กล่าวกะนิครนถ์เหล่านั้นว่า "พวกท่านจงรีบนั่งพร้อมกันทีเดียว ขอรับ" รู้ภาวะ คือการนั่งของนิครนถ์เหล่านั้นแล้ว จึงนำเครื่องลาดเบื้องบนอาสนะทั้งหลายออก พวกนิครนถ์นั่งพร้อมกันทีเดียว เท้าอาสนะที่ตั้งไว้บนเชือกพลัดตกแล้ว พวกนิครนถ์หัวขมำตกลงในหลุม. สิริคุตต์ เมื่อพวกนิครนถ์นั้นตกลงแล้ว จึงปิดประตู ให้เอาท่อนไม้ตีพวกนิครนถ์ที่ตะกายขึ้นแล้วๆ ด้วยพูดว่า "พวกท่าน ไม่รู้เหตุที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เพราะเหตุไร" แล้วบอกว่า "การทำเท่านี้ จักสมควรแก่พวกนิครนถ์เหล่านั้น" ดังนี้แล้ว จึงให้เปิดประตู พวกนิครนถ์เหล่านั้นออกแล้ว ปรารภเพื่อจะหนีไป ก็ในทางไปแห่งพวกนิครนถ์นั้น สิริคุตต์ให้คนทำพื้นที่ อันทำบริกรรมด้วยปูนขาวไว้ให้ลื่น สิริคุตต์ให้คนโบกซ้ำพวกนิครนถ์นั้น ผู้ยืนอยู่ไม่ได้ในที่นั้น ล้มลงแล้วๆ จึงส่งไปด้วยคำว่า "การทำเท่านี้ พอแก่ท่านทั้งหลาย" นิครนถ์เหล่านั้นคร่ำครวญอยู่ว่า "พวกเรา อันท่านให้ฉิบหาย พวกเรา อันท่านให้ฉิบหาย" ได้ไปสู่ประตูเรือนของอุปัฏฐากแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 140
ครหทินน์ฟ้องสิริคุตต์แด่พระราชา
ครหทินน์ เห็นประการอันแปลกนั้นของนิครนถ์เหล่านั้นแล้วโกรธ คิดว่า เรา อันสิริคุตต์ให้ฉิบหายแล้ว มันให้โบกพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายของเรา ผู้เป็นบุญเขต ผู้ได้นามว่า สามารถเพื่อจะให้เทวโลกทั้ง ๖ แก่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้เหยียดมือออกไหว้อยู่ตามความพอใจ ให้ถึงความฉิบหายแล้ว จึงไปยังราชตระกูลกราบทูลให้พระราชาทรงทำสินไหมแก่สิริคุตต์นั้น ๑ พันกหาปณะ ครั้งนั้น พระราชาทรงส่งพระราชสาสน์ไปแก่สิริคุตต์นั้น สิริคุตต์นั้นไปถวายบังคมพระราชาแล้ว กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า พระองค์ทรงสอบสวนแล้วจักปรับสินไหมได้ ยังมิได้ทรงสอบสวน อย่าปรับ".
พระราชา. เราสอบสวนดูแล้ว จึงจักปรับ.
สิริคุตต์. ดีละ พระเจ้าข้า ถ้ากระนั้น จงปรับเถิด.
พระราชา. ถ้ากระนั้น จงพูด.
สิริคุตต์ กราบทูลความเป็นไปนั้นทั้งหมด ตั้งต้นแต่เรื่องนี้ว่า "พระเจ้าข้า สหายของข้าพระองค์เป็นสาวกของนิครนถ์ เข้าไปหาข้าพระองค์แล้ว กล่าวอย่างนี้เนืองๆ ในที่ยืนที่นั่งเป็นต้นว่า สหาย ประโยชน์อะไรของท่านด้วยพระสมณโคดมเล่า ท่านเข้าไปหาพระสมณโคดมนั้น จักได้อะไร" ดังนี้แล้ว กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ถ้าการปรับสินไหมในเพราะเหตุนี้ ควรแล้ว ขอจงปรับเถิด" พระราชาทอดพระเนตรครหทินน์ ตรัสว่า "นัยว่า เจ้าพูดอย่างนั้น จริงหรือ.
ครหทินน์. จริง พระเจ้าข้า.
พระราชา. เจ้าคบพวกนิครนถ์ ผู้ไม่รู้แม้เหตุเพียงเท่านี้ เที่ยวไปอยู่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 141
ด้วยคิดว่า เป็นครู บอกแก่สาวกของพระตถาคตว่า ย่อมรู้ ทุกอย่าง เพราะเหตุไร สินไหมอันเจ้ายกขึ้นปรับ จงมีแก่เจ้าเองเถิด.
ครหทินน์นั้นแล อันพระราชาทรงปรับสินไหมแล้ว ด้วยอาการอย่างนั้น พวกนิครนถ์ ผู้เข้าถึงสกุลของครหทินน์นั้นนั่นแล อันสิริคุตต์โบยไล่ออกแล้ว.
ครหทินน์เตรียมแก้แค้นสิริคุตต์
ครหทินน์นั้น โกรธสิริคุตต์นั้นแล้ว จำเดิมแต่นั้น ไม่พูดกับด้วยสิริคุตต์ เป็นเวลาประมาณกึ่งเดือน คิดว่า การเที่ยวไปโดยอาการอย่างนั้น ไม่ควรแก่เรา การที่เราทำความฉิบหาย แม้แก่พวกภิกษุผู้เข้าถึงสกุลของสิริคุตต์นั้น ย่อมควร" ดังนี้แล้ว จึงเข้าไปหาสิริคุตต์ กล่าวว่า "สหาย สิริคุตต์".
สิริคุตต์. อะไร สหาย.
ครหทินน์. ธรรมดาญาติและสหายทั้งหลาย ย่อมมีการทะเลาะกันบ้าง วิวาทกันบ้าง ท่านไม่พูดอะไรๆ เพราะเหตุอะไร ท่านจึงทำอย่างนั้น.
สิริคุตต์. สหาย ข้าพเจ้าไม่พูด ก็เพราะท่านไม่พูดกับข้าพเจ้า กรรมใดอันข้าพเจ้าทำแล้ว กรรมนั้นจงเป็นอันทำแล้วเถิด เราทั้งสอง จักไม่ทำลายไมตรีกัน.
จำเดิมแต่กาลนั้น สหายทั้งสองย่อมยืน ย่อมนั่ง ในที่แห่งเดียวกัน ต่อมาในกาลวันหนึ่ง สิริคุตต์กล่าวกะครหทินน์ว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 142
"ประโยชน์อะไรของท่านด้วยพวกนิครนถ์เล่า ท่านเข้าไปหานิครนถ์เหล่านั้น จักได้อะไร การเข้าไปหาพระศาสดาของเราก็ดี การถวายทานแก่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายก็ดี จะไม่ควรแก่ท่านหรือ" แม้ครหทินน์นั้นย่อมหวังเหตุนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น คำพูดของสิริคุตต์นั้น จึงได้เป็นเหมือนเกาที่แผลฝีด้วยเล็บ แม้ครหทินน์นั้น ถามสิริคุตต์ว่า "พระศาสดาของท่าน ย่อมรู้อะไร".
สิริคุตต์. ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าพูดอย่างนั้น ขึ้นชื่อว่า สิ่งอันพระศาสดาของเราไม่รู้ไม่มี พระศาสดาของเรานั้น ย่อมรู้เหตุทั้งหมด ต่างโดยเหตุที่เป็นอดีตเป็นต้น ย่อมกำหนดจิตของสัตว์ทั้งหลายโดยอาการ ๑๖ อย่างได้.
ครหทินน์. ข้าพเจ้าไม่ทราบอย่างนั้น เพราะเหตุอะไร ท่านจึงไม่บอกแก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลประมาณเท่านี้ ถ้ากระนั้นท่านจงไป จงทูลนิมนต์พระศาสดา เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ ข้าพเจ้าจักให้เสวย ท่านจงกราบทูล เพื่อทรงรับภิกษาของข้าพเจ้า พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป.
สิริคุตต์เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว กราบทูลอย่างนี้ว่า "พระเจ้าข้า ครหทินน์สหายของข้าพระองค์ สั่งให้ทูลนิมนต์พระองค์ ทราบว่า ขอพระองค์ทรงรับภิกษาของครหทินน์นั้นพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูปในวันพรุ่งนี้ ก็ในวันก่อนแล กรรมชื่อนี้ อันข้าพระองค์ทำแล้ว แก่พวกนิครนถ์ ผู้เข้าถึงสกุลของครหทินน์นั้น ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบ แม้การทำตอบ แก่กรรมอันข้าพระองค์ทำแล้ว ข้าพระองค์ไม่ทราบ แม้ความที่ครหทินน์นั้น ใคร่จะถวายภิกษาแก่พระองค์ด้วยจิตอันบริสุทธิ์ พระองค์ทรงพิจารณาแล้ว หากสมควร จงทรงรับ หากไม่สมควร อย่าทรงรับ"
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 143
พระศาสดาทรงพิจารณาว่า ครหทินน์นั้น ใคร่จะถวายแก่เราหรือหนอแล ได้ทรงเห็นว่า ครหทินน์นั้น ให้คนขุดหลุมใหญ่ในระหว่างเรือน ๒ หลังแล้ว ให้คนนำไม้ตะเคียนมาประมาณ ๘๐ เล่มเกวียนจุดไฟแล้ว ต้องการจะให้เราตกลงในหลุมถ่านเพลิงแล้วข่มขี่ ทรงพิจารณาอีกว่า เพราะเราไปในที่นั้นเป็นปัจจัย ประโยชน์จะมีหรือไม่มีหนอแล ลำดับนั้น ได้ทรงเห็นเหตุนี้ว่า เราจักเหยียดเท้า บนหลุมถ่านเพลิง เสื่อลำแพนที่วางปิดหลุมถ่านเพลิงนั้น จักหายไป ดอกบัวใหญ่ประมาณเท่าล้อ จักผุดขึ้นทำลายหลุมถ่านเพลิง เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจักเหยียบกลีบบัว ไปนั่งบนอาสนะ ภิกษุทั้ง ๕๐๐ จักไปนั่งอย่างนั้นเหมือนกัน มหาชนจักประชุมกัน เราจักทำอนุโมทนาด้วยคาถา ๒ คาถา ในสมาคมนั้น ในเวลาจบอนุโมทนา ความตรัสรู้ธรรม จักมีแก่สัตว์ ๘ หมื่น ๔ พัน สิริคุตต์และครหทินน์ จักเป็นโสดาบัน จักหว่านกองทรัพย์ของตนๆ ในศาสนา การที่เราอาศัยกุลบุตรนี้ไป ย่อมสมควร ดังนี้แล้ว จึงทรงรับภิกษา สิริคุตต์ทราบการรับของพระศาสดาแล้ว จึงบอกแก่ครหทินน์ แล้วบอกว่า "ท่านจงทำสักการะ แก่พระโลกเชษฐ์".
ครหทินน์เตรียมรับพระศาสดา
ครหทินน์ คิดว่า บัดนี้ เราจักรู้กิจที่ควรทำแก่พระสมณโคดมนั้น จึงให้ขุดหลุมใหญ่ไว้ในระหว่างเรือน ๒ หลัง ให้นำไม้ตะเคียน มาประมาณ ๘๐ เล่มเกวียน ให้จุดไฟสุมตลอดคืนยังรุ่งแล้ว ให้ทำกองถ่านเพลิงไม้ตะเคียนไว้ วางไม้เรียบบนปากหลุม ให้ปิดด้วยเสื่อลำแพน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 144
ให้ทาด้วยโคมัย ลาดท่อนไม้ผุไว้โดยข้างหนึ่งแล้ว ให้ทำทางเป็นที่ไป สำคัญอยู่ว่า ในเวลาที่พวกสมณะเหยียบแล้วๆ อย่างนั้น เมื่อท่อนไม้ทั้งหลายหักแล้ว พวกสมณะจักกลิ้งตกไปในหลุมถ่านเพลิง ให้ตั้งตุ่มไว้ในภาคแห่งหลังเรือน โดยวิธีที่สิริคุตต์ตั้งแล้วเหมือนกัน ให้ปูแม้อาสนะทั้งหลายไว้อย่างนั้นเหมือนกัน สิริคุตต์ไปเรือนของครหทินน์นั้น แต่เช้าตรู่แล้ว กล่าวว่า "สหาย ท่านทำสักการะแล้วหรือ.
ครหินน์. เออ สหาย.
สิริคุตต์. ก็สักการะนั่น อยู่ที่ไหน.
ครหทินน์ ตอบว่า "จงมา จะดูกัน" แล้วแสดงของทั้งหมด โดยวิธีที่สิริคุตต์แสดงแล้วเหมือนกัน สิริคุตต์กล่าวว่า "ดีละสหาย" มหาชนประชุมแล้ว ก็เมื่อพระศาสดา อันคนผู้มิจฉาทิฏฐินิมนต์แล้ว การประชุมใหญ่ย่อมมี ฝ่ายพวกมิจฉาทิฏฐิย่อมประชุมกัน ด้วยคิดว่า พวกเราจักเห็นประการอันแปลกของพระสมณโคดม ฝ่ายพวกสัมมาทิฏฐิ ย่อมประชุมกัน ด้วยคิดว่า วันนี้ พระศาสดา จักทรงแสดงธรรมเทศนาอย่างใหญ่ พวกเราจักกำหนดพุทธวิสัย พุทธลีลา ในวันรุ่งขึ้น พระศาสดาได้เสด็จไปประตูเรือนของครหทินน์ กับภิกษุ ๕๐๐ รูป ครหทินน์นั้น ออกจากเรือนแล้ว ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ยืนประคองอัญชลีอยู่เบื้องพระพักตร์ คิดว่า พระเจ้าข้า อุปัฏฐากของพระองค์ บอกแก่ข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ได้ยินว่า พระองค์ ย่อมทรงทราบเหตุทุกอย่าง ต่างโดยเหตุที่เป็นอดีตเป็นต้น ย่อมทรงกำหนดจิตของสัตว์ทั้งหลายโดยอาการ ๑๖ อย่างได้ ถ้าพระองค์ทรงทราบอยู่ ขอพระองค์อย่าเสด็จเข้าไปสู่เรือนของข้าพระองค์ เพราะเมื่อ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 145
พระองค์เสด็จเข้าไปแล้ว ข้าวยาคูไม่มีเลย ภัตเป็นต้นก็ไม่มี ก็แล ข้าพระองค์จักยังท่านทั้งหมดให้ตกลงในหลุมถ่านเพลิงแล้วข่มขี่ ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงรับบาตรของพระศาสดา กราบทูลว่า "ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงเสด็จมาทางนี้" แล้วกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ผู้มาสู่เรือนของข้าพระองค์ รู้ธรรมเนียมแล้วมา จึงสมควร".
พระศาสดา. เราทำอย่างไร จึงควรเล่า ท่าน.
ครหทินน์. ในเวลาที่ภิกษุรูปหนึ่งๆ เข้าไปข้างหน้า นั่งแล้ว ภิกษุอื่นมาในภายหลัง จึงควร.
ได้ยินว่า ครหทินน์นั้น ได้มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า ภิกษุที่เหลือ เห็นภิกษุผู้ไปข้างหน้าตกลงในหลุมถ่านเพลิงแล้ว จักไม่มา เราจักให้ภิกษุตกลงทีละรูปๆ เท่านั้นแล้วข่มขี่ พระศาสดาตรัสว่า "ดีละ" แล้วเสด็จเข้าไปแต่พระองค์เดียว ครหทินน์ ถึงหลุมถ่านเพลิงแล้ว ถอยออกไปยืนอยู่ กราบทูลว่า "ขอพระองค์เสด็จไปข้างหน้าเถิด พระเจ้าข้า".
ครหทินน์เลื่อมใสพระพุทธเจ้า
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงเหยียดพระบาทลงเหนือหลุมถ่านเพลิง เสื่อลำแพนหายไปแล้ว ดอกบัวประมาณเท่าล้อผุดขึ้นทำลายหลุมถ่านเพลิง พระศาสดาทรงเหยียบกลีบบัว เสด็จไปประทับนั่งลงบนพุทธอาสน์ ที่เขาปูลาดไว้ แม้ภิกษุทั้งหลาย ก็ไปนั่งบนอาสนะ อย่างนั้นเหมือนกัน ความเร่าร้อนตั้งขึ้นแต่กายของครหทินน์แล้ว เขาไปโดยเร็ว เข้าไปหาสิริคุตต์ บอกว่า "นาย ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า".
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 146
สิริคุตต์. นี่ อะไรกัน.
ครหทินน์. ข้าวยาคูหรือภัตเป็นต้น เพื่อภิกษุ ๕๐๐ รูป ไม่มีในเรือน ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรหนอแล.
สิริคุตต์. ก็ท่านทำอะไรไว้.
ครหทินน์. ข้าพเจ้าให้คนทำหลุมใหญ่ไว้ในระหว่างเรือน ๒ หลัง เต็มด้วยถ่านเพลิง ด้วยหวังว่า จักให้พวกภิกษุตกไปในหลุมถ่านเพลิงนั้นแล้วข่มขี่ ทีนั้น ดอกบัวใหญ่ผุดขึ้นทำลายหลุมถ่านเพลิงนั้น ภิกษุทั้งหมดเหยียบกลีบบัว เดินไปนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ บัดนี้ ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร.
สิริคุตต์. ท่านแสดงแก่ข้าพเจ้าเดี๋ยวนี้เองว่า ตุ่มข้าวยาคูเท่านี้ ตุ่มภัตเป็นต้นเท่านี้ มิใช่หรือ.
ครหทินน์. นั้นเท็จ นาย ตุ่มเปล่าทั้งนั้น.
สิริคุตต์. ช่างเถิด ท่านจงไป จงตรวจดูข้าวยาคูเป็นต้นในตุ่มเหล่านั้น.
ในขณะนั้นนั่นเอง ข้าวยาคูในตุ่มทั้งหลายใด อันครหทินน์นั้น บอกแล้ว ตุ่มเหล่านั้น เต็มด้วยข้าวยาคูแล้ว ภัตเป็นต้น ในตุ่มเหล่าใด อันครหทินน์บอกแล้ว ตุ่มเหล่านั้น ได้เต็มแล้วด้วยภัตเป็นต้นเทียว เพราะได้เห็นสมบัตินั้น สรีระของครหทินน์ เต็มด้วยปีติและปราโมทย์แล้ว จิตเลื่อมใสแล้ว เขาอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข โดยความเคารพ ใคร่จะให้ทรงทำอนุโมทนา จึงรับบาตรของพระศาสดา ผู้ทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 147
สัตว์ไม่รู้คุณพระศาสนาเพราะไร้ปัญญา
พระศาสดา เมื่อจะทรงทำอนุโมทนา ตรัสว่า "สัตว์เหล่านี้ไม่รู้คุณแห่งสาวกของเรา และแห่งพระพุทธศาสนา เพราะความไม่มีปัญญาจักษุชื่อว่า ผู้มืด ผู้มีปัญญาชื่อว่า มีจักษุ" ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า.
๑๒. ยถา สงฺการธานสฺมิํ อุชฺฌิตสฺมิํ มหาปเถ ปทุมํ ตตฺถ ชาเยถ สุจิคนฺธํ มโนรมํ เอวํ สงฺการภูเตสุ อนฺธภูเต ปุถุชฺชเน อติโรจติ ปญฺาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก.
"ดอกบัวมีกลิ่นดี พึงเกิดในกองหยากเยื่อ อันบุคคลทิ้งแล้วใกล้ทางใหญ่ ดอกบัวนั้น (๑) พึงเป็นที่ชอบใจ ฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อปุถุชนเป็นดังกองหยากเยื่อเกิดแล้ว ย่อมไพโรจน์ล่วงซึ่งปุถุชนผู้มืดทั้งหลาย ด้วยปัญญา ฉันนั้น".
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สงฺการธานสฺมิํ คือในที่ทิ้งหยากเยื่อ อธิบายว่า ในกองหยากเยื่อ.
สองบทว่า อุชฺฌิตสฺมิํ มหาปเถ คืออันบุคคลทิ้งแล้วใกล้ทางใหญ่. บทว่า สุจิคนฺธํ คือมีกลิ่นหอม. บทว่า มโนรมํ มีวิเคราะห์ว่า ใจย่อมยินดีในดอกบัวนี้ เหตุนั้น ดอกบัวนั้นชื่อว่า เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ. บทว่า สงฺการภูเตสุ คือเป็นดัง
(๑) ที่แปลอย่างนี้ แปลตามนัยอรรถกถา. แต่บางท่านแปล ตตฺถ เป็นวิเสสนะ ของ สงฺการธานสฺมิํ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 148
หยากเยื่อ. บทว่า ปุถุชฺชเน ความว่า ซึ่งโลกิยมหาชนทั้งหลาย ผู้มีชื่ออันได้แล้วอย่างนั้น เพราะยังกิเลสหนาให้เกิด.
พระผู้มีพระภาคตรัสคำนี้ไว้ว่า ดอกบัวมีกลิ่นดี พึงเกิดในกองหยากเยื่อ อันบุคคลทิ้งแล้วใกล้ทางใหญ่ แม้ไม่สะอาด น่าเกลียด ปฏิกูล ดอกบัวนั้นพึงเป็นที่ชอบใจ คือพึงเป็นของน่าใคร่ พึงใจ ได้แก่ พึงเป็นของควรประดิษฐานไว้เหนือกระหม่อมแห่งอิสรชนทั้งหลาย มีพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาเป็นต้น ชื่อฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือภิกษุผู้ขีณาสพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อปุถุชน แม้เป็นดังกองหยากเยื่อเกิดแล้ว แม้เกิดในระหว่างแห่งมหาชน ผู้ไม่มีปัญญา ไม่มีจักษุ ย่อมไพโรจน์ล่วงด้วยกำลังแห่งปัญญาของตน เห็นโทษในกามทั้งหลายและอานิสงส์ในการออกบวช ออกบวชแล้ว ย่อมไพโรจน์ล่วง แม้ด้วยคุณสักว่าการบรรพชา แม้ยก (ตน) ขึ้นสู่ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ยิ่งกว่าคุณสักว่าการบรรพชานั้น ก็ย่อมไพโรจน์ คืองามล่วง ซึ่งปุถุชนผู้มืดทั้งหลาย.
ครหทินน์กับสิริคุตต์บรรลุโสดาปัตติผล
ในเวลาจบเทศนา ความตรัสรู้ธรรม ได้มีแล้วแก่สัตว์ ๘ หมื่น ๔ พัน ครหทินน์และสิริคุตต์บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว สองคนนั้น หว่านทรัพย์ของตนทั้งหมดลงในพระพุทธศาสนาแล้ว พระศาสดาได้เสด็จลุกจากอาสนะ ไปสู่วิหาร.
ภิกษุทั้งหลาย ยังกถาให้ตั้งขึ้นในโรงธรรมเวลาเย็นว่า "น่าเลื่อมใส ธรรมดาคุณของพระพุทธเจ้า น่าอัศจรรย์ ดอกบัวผุดขึ้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 149
ทำลายกองถ่านตะเคียน ชื่อเห็นปานนั้นแล้ว" พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยกถา อะไรหนอ" เมื่อภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า "ด้วยกถาชื่อนี้" แล้ว จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ดอกบัวผุดขึ้นแต่กองถ่านเพลิงเพื่อเราผู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์ ในกาลก่อนดอกบัวเหล่านั้นก็ผุดขึ้นแล้วเพื่อเรา แม้ผู้เป็นโพธิสัตว์ เป็นไปอยู่ในประเทศญาณ " อันภิกษุเหล่านั้นทูลอ้อนวอนว่า "ในกาลไร พระเจ้าข้า ขอพระองค์จงตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย" ดังนี้แล้ว จึงทรงนำอดีตนิทานมา ตรัสขทิรังคารชาดก (๑) นี้ ให้พิสดารว่า.
"เรามีเท้าขึ้นเบื้องบน มีศีรษะลงเบื้องต่ำ จะตกสู่เหวโดยแท้ เราจักไม่ทำกรรมอันมิใช่ของพระอริยะ เชิญท่านรับก้อนข้าวเถิด" ดังนี้แล.
เรื่องครหทินน์ จบ.
ปุปผวรรควรรณนา จบ.
วรรคที่ ๔ จบ.
(๑) ขุ. ชา. ๒๗/๑๓ อรรถกถา. ๑/๓๓๘.