พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. เรื่องบุรุษคนใดคนหนึ่ง [๔๕]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34828
อ่าน  654

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 153

๕. พาลวรรควรรณนา

๑. เรื่องบุรุษคนใดคนหนึ่ง [๔๕]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 153

๕. พาลวรรควรรณนา

๑. เรื่องบุรุษคนใดคนหนึ่ง [๔๕]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเจ้าปเสนทิโกศลและบุรุษคนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ทีฆา ชาครโต รตฺติ" เป็นต้น.

พระราชาประทักษิณพระนคร

ได้ยินว่า ในวันมหรสพวันหนึ่ง พระราชาพระนามว่า ปเสนทิโกศล ทรงช้างเผือกล้วนเชือกหนึ่งชื่อ ปุณฑรีกะ ซึ่งประดับประดาแล้ว ทรงทำประทักษิณพระนครด้วยอานุภาพแห่งพระราชาอันใหญ่ เมื่ออาญาเป็นเหตุให้บุคคลลุกไป เป็นไปอยู่ (๑) มหาชนถูกราชบุรุษโบย ด้วยวัตถุมีก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น หนีไป ก็ยังเอี้ยวคอกลับแลดูอยู่ นั้นแล ได้ยินว่า ข้อนี้ เป็นผลแห่งทานที่พระราชาทั้งหลายทรงถวายดีแล้ว.

อำนาจความรัก

ภรรยาของทุคคตบุรุษแม้คนใดคนหนึ่ง ยืนอยู่ที่พื้นชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น เปิดบานหน้าต่างบานหนึ่ง พอแลดูพระราชาแล้วก็หลบไป การหลบไปของหญิงนั้น ปรากฏแก่พระราชา ราวกับว่า


(๑) หมายความว่า ตำรวจกำลังทำการขับไล่ไม่ให้ยืนเกะกะทางเสด็จ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 154

พระจันทร์เพ็ญเข้าไปสู่กลีบเมฆ ท้าวเธอทรงมีพระหฤทัยปฏิพัทธ์ในหญิงนั้น เป็นประหนึ่งว่า ถึงอาการพลัดตกจากคอช้าง ทรงรีบกระทำประทักษิณพระนครแล้ว เสด็จเข้าสู่ภายในพระราชวัง ตรัสกะอำมาตย์คนสนิทนายหนึ่งว่า "ปราสาทที่เราแลดูในที่โน้น เธอเห็นไหม".

อำมาตย์. เห็น พระเจ้าข้า.

พระราชา. เธอได้เห็นหญิงคนหนึ่งในปราสาทนั้นไหม.

อำมาตย์. ได้เห็น พระเจ้าข้า.

พระราชา. เธอจงไป จงรู้ความที่หญิงนั้น มีสามีหรือไม่มีสามี.

อำมาตย์นั้นไปแล้ว ทราบความที่หญิงนั้นมีสามี จึงมากราบทูลแก่พระราชาว่า "หญิงนั้นมีสามี" ทีนั้น เมื่อพระราชาตรัสว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงเรียกสามีของหญิงนั้นมา" อำมาตย์นั้นไปพูดว่า "มานี่แน่ะ นาย พระราชารับสั่งหาท่าน" บุรุษนั้นคิดว่า อันภัยพึงบังเกิดขึ้นแก่เรา เพราะอาศัยภรรยา เมื่อไม่อาจจะขัดขืนพระราชอาญา จึงได้ไปถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่แล้ว ขณะนั้นพระราชาตรัสกะบุรุษนั้นว่า "เธอจงบำรุงเรา".

บุรุษ. ข้าแต่สมมติเทพ อย่าเลย ข้าพระองค์ ทำการงานของตน ถวายส่วยแด่พระองค์อยู่ การเลี้ยงชีพนั้นแล จงมีแก่ข้าพระองค์เถิด.

พระราชาตรัสว่า "เราไม่มีความต้องการด้วยส่วยของเธอ จำเดิมแต่วันนี้ไป เธอจงบำรุงเรา" แล้วให้พระราชทานโล่และอาวุธแก่บุรุษนั้น.

ได้ยินว่าพระราชา ได้ทรงดำริอย่างนี้ว่า "เราจักยกโทษบางอย่างของเขาขึ้นแล้วฆ่าเสีย ริบเอาภรรยา" ทีนั้น เขากลัวแต่มรณภัย

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 155

เป็นผู้ไม่ประมาท บำรุงพระราชานั้นแล้ว พระราชาไม่ทรงเห็นช่อง (โทษ) แห่งบุรุษนั้น เมื่อความเร่าร้อนเพราะกามเจริญอยู่ ทรงดำริว่า เราจะยกโทษของบุรุษนั้นขึ้นสักอย่างหนึ่ง แล้วลงราชอาญา จึงรับสั่งให้เรียกบุรุษนั้นมาแล้ว ตรัสอย่างนั้นว่า "ผู้เจริญ เธอจงไปจากที่นี้ ที่ชื่อโน้นแห่งแม่น้ำในที่สุดประมาณ ๕ โยชน์ นำเอาดอกโกมุท ดอกอุบลและดินสีอรุณมา (ให้ทัน) ในเวลาเราอาบน้ำในเวลาเย็น ถ้าเธอไม่พึงมาในขณะนั้น เราจักลงอาญาแก่เธอ".

ความลำบากในราชสำนัก

ได้ยินว่า เสวก (ผู้เข้าเฝ้า) ลำบากกว่าทาสแม้ทั้งสี่ จริงอยู่ ทาสทั้งหลาย มีทาสที่เขาไถ่มาด้วยทรัพย์เป็นต้น ยังได้เพื่อจะพูดว่า "ผมปวดศีรษะ ผมปวดหลัง" แล้วพักผ่อน.

คำที่ทาสทั้งหลายกล่าวแล้วได้พักผ่อนนั่น ย่อมไม่มีแก่เสวก เสวกควรทำการงานตามรับสั่งเท่านั้น เพราะเหตุนั้น บุรุษนั้นคิดอยู่ว่า เราต้องไปเป็นแน่แท้ ชื่อว่าดินสีอรุณกับดอกโกมุทและดอกอุบล ย่อมเกิดในภพแห่งนาค เราจักได้ที่ไหน กลัวแต่มรณภัย ไปเรือนแล้ว กล่าวว่า "หล่อน ภัตสำหรับฉันสำเร็จแล้วหรือ" ภรรยากล่าวว่า "ยังตั้งอยู่บนเตา นาย" เขาไม่อาจจะรออยู่ จนกว่าภรรยาจะปลงภัตลงได้ จึงให้ภรรยาเอากระบวยตักน้ำข้าวเท (ปนกับ) ข้าวที่แฉะนั้นเอง ลงในกระเช้าพร้อมด้วยกับตามแต่จะได้ ถือเอาแล้ว เดินดุ่มไปแล้วสิ้นทางโยชน์หนึ่ง.

เมื่อเขากำลังเดินไปนั่นแหละ ภัตได้สุกแล้ว เขาแบ่งภัตไว้หน่อยหนึ่ง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 156

กระทำไม่ให้เป็นเดนบริโภคอยู่ พบคนเดินทางคนหนึ่งจึงกล่าวว่า "ภัตหน่อยหนึ่งเท่านั้น ฉันแบ่งออกกระทำไม่ให้เป็นเดนมีอยู่ เธอจงรับไปบริโภคเถิด นาย" เขารับไปบริโภคแล้ว แม้บุรุษนอกนี้ (คือบุรุษนั้นผู้ให้ภัต) ก็โปรยภัตลงในน้ำกำมือหนึ่ง บ้วนปากแล้ว ประกาศขึ้น ๓ ครั้งด้วยเสียงอันดังว่า "ขอพวกนาค ครุฑและเทวดาผู้สิงอยู่ในประเทศแห่งแม่น้ำนี้ จงฟังคำของข้าพเจ้า พระราชาทรงปรารถนาจะลงอาญาแก่ข้าพเจ้า ทรงบังคับข้าพเจ้าว่า "เธอจงนำเอาดินสีอรุณกับดอกโกมุทและดอกอุบลมา" ก็ภัตที่ข้าพเจ้าให้แก่มนุษย์เดินทางแล้ว ทานที่ข้าพเจ้าให้แล้วนั้น มีอานิสงส์ตั้งพัน ภัตที่ข้าพเจ้าให้แก่ปลาทั้งหลายในน้ำ ทานที่ข้าพเจ้าให้นั้น มีอานิสงส์ตั้งร้อย ข้าพเจ้าให้ผลบุญประมาณเท่านี้ ให้เป็นส่วนบุญแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงนำดินสีอรุณกับดอกโกมุทและดอกอุบลมาให้แก่ข้าพเจ้าเถิด".

พระยานาคผู้อาศัยอยู่ในประเทศนั้น ได้ยินเสียงนั้น จึงไปสู่สำนักบุรุษนั้น ด้วยเพศแห่งคนแก่ กล่าวว่า "ท่านพูดอะไร" บุรุษนั้น จึงกล่าวซ้ำอย่างนั้นนั่นแหละ เมื่อพระยานาคกล่าวว่า "ท่านจงให้ส่วนบุญนั้นแก่เรา" จึงกล่าวว่า "เราให้ นาย " เมื่อพระยานาคกล่าวแม้อีกว่า "ท่าน จงให้" ก็กล่าว (ยืนคำ) ว่า "เราให้ นาย" พระยานาคนั้น ให้นำส่วนบุญมาอย่างนั้นสิ้น ๒ - ๓ คราวแล้ว จึงได้ให้ดินสีอรุณกับดอกโกมุทและดอกอุบล (แก่บุรุษนั้น).

ฝ่ายพระราชา ทรงดำริว่า ธรรมดามนุษย์ทั้งหลาย มีมนต์มาก ถ้าบุรุษนั้น พึงได้ (ของนั้น) ด้วยอุบายบางอย่างไซร้ กิจของเราก็ไม่ พึงสำเร็จ ท้าวเธอรับสั่งให้ปิดประตู (เมือง) เสียแต่วันทีเดียว แล้ว

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 157

ให้นำลูกดาลไปยังสำนักของพระองค์.

บุรุษแม้นอกนี้ (บุรุษนั้น) มาทันในเวลาพระราชาทรงสรงสนานเหมือนกัน เมื่อไม่ได้ประตู จึงเรียกคนยามประตู กล่าวว่า "ท่านจงเปิดประตู" คนยามประตูกล่าวว่า "เราไม่อาจจะเปิดได้ พระราชารับสั่งให้นำลูกดาลไปสู่พระราชมนเทียรแต่กาลยังวันทีเดียว" บุรุษนั้น แม้บอกว่า "เราเป็นราชทูต ท่านจงเปิดประตู" เมื่อไม่ได้ประตู จึงคิดว่า บัดนี้ เราจะไม่มีชีวิต เราจักทำอย่างไรหนอแล แล้วโยนก้อนดินไปที่ธรณีประตูข้างบน แขวนโอกไม้ไว้บนธรณีประตูนั้น ตะโกนร้องขึ้น ๓ ครั้งว่า "ชาวพระนครผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย จงรู้ความที่กิจอันข้าพเจ้ากระทำตามรับสั่งของพระราชาแล้วเถิด พระราชาทรงใคร่จะยังเราให้พินาศ ด้วยเหตุไม่สมควร" แล้วคิดอยู่ว่า เราจักไปที่ไหน หนอแล ได้ทำความตกลงใจว่า ธรรมดาภิกษุทั้งหลาย มีใจอ่อนโยน เราจักไปสู่วิหารแล้วนอน ธรรมดาสัตว์เหล่านี้ ในเวลาได้รับสุข ไม่ทราบแม้ความที่ภิกษุทั้งหลายมีอยู่ พอถูกทุกข์ครอบงำ จึงปรารถนาจะไปวิหาร เพราะเหตุนั้น แม้บุรุษนั้นก็คิดว่า ที่พึ่งอย่างอื่นของเราไม่มี จึงไปยังวิหาร นอนอยู่ในที่สำราญแห่งหนึ่ง แม้เมื่อพระราชาไม่ได้การหลับอยู่ตลอดราตรี ทรงรำพึงถึงหญิงอยู่ ความรุ่มร้อนเพราะกามเกิดขึ้นแล้ว ท้าวเธอทรงคิดว่า ในขณะที่ราตรีสว่างแล้วนั่นแหละ เราจักให้ฆ่าบุรุษนั้นเสีย แล้วให้นำเอาหญิงนั้นมา.

เรื่องของเปรตผู้กล่าวอักษร ทุ. สะ. นะ. โส.

ในขณะนั้นนั่นแล บุรุษ ๔ คนที่เกิดในนรกชื่อ โลหกุมภี ซึ่งลึกได้ ๖๐ โยชน์ ถูกไฟนรกไหม้กลิ้งไปมาอยู่ ดุจข้าวสารในหม้อที่

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 158

กำลังเดือดพล่าน (จมลงไป) ถึงพื้นภายใต้ ๓ หมื่นปีแล้ว (ลอยขึ้นมา) ถึงที่ขอบปากโดย ๓ หมื่นปีอีก สัตว์นรกเหล่านั้น ยกศีรษะขึ้นแลดูกันและกันแล้ว ปรารถนาเพื่อจะกล่าวคาถาตนละคาถา (แต่) ไม่อาจจะกล่าวได้ จึงกล่าวอักษรตนละอักษร แล้วหมุนกลับไปสู่โลหกุมภี อย่างเดิม.

พระราชา เมื่อไม่ทรงได้การหลับ ได้ยินเสียงนั้นในระหว่างแห่งมัชฌิมยาม ทรงหวาดหวั่น มีพระทัยสะดุ้ง ทรงดำริว่า อันตรายแห่งชีวิต จักมีแก่เราหรือหนอ หรือจักมีแก่พระอัครมเหสี หรือราชสมบัติของเราจักพินาศ ไม่อาจหลับพระเนตรทั้งสองได้ตลอดคืนยังรุ่ง พอเวลาอรุณขึ้น ท้าวเธอรับสั่งให้หาปุโรหิตมาแล้ว ตรัสว่า "อาจารย์ เสียงที่น่ากลัวอย่างใหญ่ เราได้ยินในระหว่างแห่งมัชฌิมยาม เราไม่ทราบว่า อันตรายจักมีแก่ราชสมบัติ หรือแก่พระมเหสี แก่เรา หรือแก่ใคร เพราะเหตุนั้น เราจึงให้เชิญท่านมา".

พราหมณ์โง่ให้พระราชาบูชายัญ

ปุโรหิต. ข้าแต่มหาราช เสียงที่พระองค์ทรงสดับอย่างไร.

ราชา. อาจารย์ เราได้ยินเสียงเหล่านี้ว่า ทุ. สะ. นะ. โส. ท่านจงใคร่ครวญผลสำเร็จแห่งเสียงเหล่านี้ดู.

เหตุอะไรๆ ย่อมไม่ปรากฏแก่พราหมณ์ ราวกะเข้าไปสู่ที่มืดใหญ่ ปุโรหิตนั้นกลัวว่า ก็เมื่อเราทูลว่า ข้าพระองค์ไม่ทราบ ดังนี้ ลาภสักการะของเราจักเสื่อม จึงทูลว่า "ข้าแต่มหาราช เหตุนี้หนัก".

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 159

ราชา. เหตุอะไร อาจารย์.

ปุโรหิต. อันตรายแห่งชีวิต จะปรากฏแก่พระองค์.

พระราชาทรงหวาดหวั่นตั้ง ๒ เท่า ตรัสว่า "อาจารย์ เหตุเครื่องบำบัดอะไรๆ มีอยู่หรือ.

ปุโรหิต. มีอยู่มหาราช พระองค์อย่าทรงหวาดหวั่นเลย ข้าพระองค์รู้พระเวท ๓ (๑).

ราชา. เราได้อะไรเล่า จึงจะควร.

ปุโรหิต. ขอเดชะ พระองค์ทรงบูชายัญ มีสัตว์อย่างละ ๑๐๐ ทุกอย่างแล้ว จักได้ชีวิต.

ราชา. ได้อะไร จึงควร.

ปุโรหิตนั้น เมื่อจะให้จับปาณชาติชนิดหนึ่งๆ ให้ได้ชนิดละ ๑๐๐ อย่างนี้ คือช้าง ๑๐๐ ม้า ๑๐๐ โคอุสภะ ๑๐๐ แม่โคนม ๑๐๐ แพะ ๑๐๐ แกะ ๑๐๐ ไก่ ๑๐๐ สุกร ๑๐๐ เด็กชาย ๑๐๐ เด็กหญิง ๑๐๐ จึงคิดว่า ถ้าเราจักให้จับเอาแต่จำพวกเนื้อเท่านั้น ชนทั้งหลายก็จะพูดว่า ปุโรหิต ให้จับเอาแต่สัตว์ที่เป็นของกินได้สำหรับคนเท่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงให้จับทั้งจำพวก ช้าง ม้า และมนุษย์ (ด้วย). พระราชา ทรงดำริว่า "ความเป็นอยู่ของเรานั่นแหละเป็นลาภของเรา" จึงตรัสว่า "ท่านจงจับสัตว์ทุกชนิดเร็ว" พวกมนุษย์ผู้ได้รับสั่ง ก็จับเอามากเกินประมาณ.


(๑) เวท ๓ คืออิรุพเพท เป็นคัมภีร์มีคาถากล่าวถึงชื่อเทวดาและอ้อนวอนขอให้ช่วยกำจัดภัยต่างๆ ๑ ยชุพเพท เป็นคัมภีร์กล่าวถึงพิธีการบูชายัญ เช่น เซ่นสรวงต่างๆ ๑ สามเพท เป็นคัมภีร์กล่าวถึงอุบายชนะศึก ๑.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 160

บาลีโกสลสังยุต

จริงอยู่ พระธรรมสังคาหกาจารย์ กล่าวแม้คำนี้ไว้ในโกสลสังยุต (๑) .

ก็โดยสมัยนั้นแล ยัญใหญ่เป็นอาการปรากฏเฉพาะแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว โคอุสภะ ๕๐๐ ลูกโคผู้ ๕๐๐ ลูกโคตัวเมีย ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ ถูกนำเข้าไปหาหลักแล้ว เพื่อประโยชน์แก่ยัญ สัตว์เหล่านั้นแม้ใด คือทาสก็ดี ทาสีก็ดี คนใช้ก็ดี กรรมกรก็ดี ย่อมมีเพื่อยัญนั้น สัตว์แม้เหล่านั้น ถูกเขาคุกคามด้วยอาญา ถูกภัยคุกคามแล้ว มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้ กระทำบริกรรม (คร่ำครวญ) อยู่.

พระนางมัลลิกาทรงเปลื้องทุกข์ของสัตว์

มหาชนคร่ำครวญอยู่เพื่อประโยชน์แก่หมู่ญาติของตนๆ ได้ร้องเสียงดังแล้ว เสียงนั้นได้เป็นราวกะว่า เสียงถล่มแห่งมหาปฐพี ครั้งนั้น พระนางมัลลิกาเทวี ทรงสดับเสียงนั้นแล้ว เสด็จไปสู่ราชสำนักทูลถามว่า "ข้าแต่มหาราช เพราะเหตุไรหนอแล พระอินทรีย์ของพระองค์ไม่เป็นปกติ พระองค์ย่อมทรงปรากฏดุจมีพระรูปอิดโรย".

ราชา. ประโยชน์อะไรของเธอเล่า มัลลิกา เธอไม่รู้อสรพิษเลื้อยอยู่ในที่ใกล้หูของเราหรือ.

มัลลิกา. นั้นเหตุอะไร พระเจ้าข้า.

ราชา. ในส่วนราตรี เราได้ยินเสียงชื่อเห็นปานนี้ เราจึงถามปุโรหิต ได้สดับว่า อันตรายแห่งชีวิตย่อมปรากฏแก่พระองค์ พระองค์ทรงบูชายัญ มีสัตว์ชนิดละ ๑๐๐ ทุกชนิดแล้ว จักได้ชีวิต


(๑) สํ. ส. ๑๕/๑๐๙.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 161

เราจึงคิดว่า ความเป็นอยู่ของเรานั่นแหละ เป็นลาภของเรา จึงสั่งให้จับสัตว์เหล่านั้นไว้แล้ว.

พระนางมัลลิกาเทวี ทูลว่า "ข้าแต่มหาราช พระองค์เป็นคนอันธพาล ทรงมีภักษามาก พระองค์ย่อมเสวยโภชนะอันหุงด้วยข้าวตั้งทะนาน มีสูปะและพยัญชนะหลากๆ หลายอย่าง พระองค์ทรงราชย์ในแคว้นทั้งสองก็จริง แต่พระปัญญาของพระองค์ยังเขลา".

ราชา. เพราะเหตุไร? เธอจึงพูดอย่างนั้น.

มัลลิกา. การได้ชีวิตของคนอื่น เพราะการตายของคนอื่น พระองค์เคยเห็น ณ ที่ไหน เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงเชื่อถ้อยคำของพราหมณ์ผู้อันธพาลแล้ว โยนทุกข์ไปในเบื้องบนของมหาชนเล่า พระศาสดา ผู้เป็นอัครบุคคลของโลกทั้งเทวโลก มีพระญาณไม่ขัดข้องในกาลทั้งหลายมีอดีตกาลเป็นต้น ประทับอยู่ในวิหารใกล้เคียง พระองค์ทูลถามพระศาสดานั้นแล้ว จงทรงกระทำตามพระโอวาทของพระองค์เถิด.

ครั้งนั้นแล พระราชาเสด็จไปวิหารกับพระนางมัลลิกา ด้วยยานเบา ถูกมรณภัยคุกคามแล้ว ไม่อาจทูลอะไรๆ ได้ ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทักทายพระราชานั้นก่อนว่า "เชิญเถิด มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาจากไหนแต่ยังวันนักเล่า" พระราชาแม้นั้น ก็ทรงนั่งนิ่งเงียบเสีย ลำดับนั้น พระนางมัลลิกา กราบทูลแด่พระผู้มีพระผู้มีภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ทราบว่า พระราชาทรงสดับเสียง (ประหลาด) ในระหว่างแห่งมัชฌิมยาม เมื่อเช่นนั้น ท้าวเธอจึงทรงบอกเหตุนั้นแก่ปุโรหิต ปุโรหิตกราบทูลว่า อันตรายแห่งชีวิตจักมีแก่พระองค์ เมื่อพระองค์จับสัตว์อย่างละ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 162

๑๐๐ ทุกชนิด บูชายัญด้วยโลหิตในคอของสัตว์เหล่านั้น เพื่อประโยชน์แก่อันขจัดอันตรายนั้น พระองค์จักได้ชีวิต พระราชาให้จับสัตว์ไว้เป็นอันมาก เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงนำพระราชามา ณ ที่นี้".

พระศาสดา. ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ มหาบพิตร.

ราชา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เสียง พระองค์ทรงสดับแล้ว อย่างไร.

พระราชานั้น ทูลโดยทำนองที่พระองค์สดับแล้ว แสงสว่างเป็นอันเดียวได้ปรากฏแด่พระตถาคต เพราะทรงสดับเนื้อความนั้น ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพระราชานั้นว่า "พระองค์อย่าทรงหวาดหวั่นเลย มหาบพิตร อันตรายไม่มีแก่พระองค์ สัตว์ทั้งหลายผู้มีกรรมลามก เมื่อกระทำทุกข์ของตนๆ ให้แจ้ง จึงกล่าวอย่างนี้" พระราชาทูลว่า "ก็กรรมอะไร อันสัตว์เหล่านั้นกระทำไว้ พระเจ้าข้า".

พระศาสดาทรงแสดงโทษปรทาริกกรรม (การประพฤติผิดในภรรยาของชายอื่น)

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงกรรมของสัตว์นรกเหล่านั้น จึงตรัสว่า "ถ้ากระนั้น พระองค์จงทรงสดับ มหาบพิตร" แล้วทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัส) ว่า.

ในอดีตกาล เมื่อมนุษย์มีอายุ ๒ หมื่นปี พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสป อุบัติขึ้นในโลก เสด็จเที่ยวจาริกไปกับด้วยพระขีณาสพ ๒ หมื่น ได้เสด็จถึงกรุงพาราณสี ชาวกรุงพาราณสี ๒ คนบ้าง ๓ คนบ้าง มากกว่าบ้าง รวมเป็นพวกเดียวกัน ยังอาคันตุกทานให้เป็นไปแล้ว ในกาลนั้น ในกรุงพาราณสีได้มีเศรษฐีบุตร ๔ คน มีสมบัติ ๔๐ โกฏิ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 163

เป็นสหายกัน เศรษฐีบุตรเหล่านั้นปรึกษากันว่า ในเรือนของพวกเรามีทรัพย์มาก พวกเราจะกระทำอะไรด้วยทรัพย์นั้น.

เมื่อพระพุทธเจ้าเห็นปานนั้น เสด็จเที่ยวจาริกไปอยู่ บรรดาเศรษฐีบุตรเหล่านั้น มิได้กล่าวว่า พวกเราจักถวายทาน จักกระทำบูชา จักรักษาศีล คนหนึ่งกล่าวอย่างนี้ก่อนว่า "พวกเราดื่มสุราที่เข้ม เคี้ยวกินเนื้อที่มีรสอร่อย จักเที่ยวไป ชีวิตนี้ของพวกเราจักมีผล".

อีกคนหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่า "พวกเราจักบริโภคภัตแห่งข้าวสาร แห่งข้าวสาลีมีกลิ่นหอมที่เก็บค้างไว้ ๓ ปี ด้วยรสเลิศต่างๆ เที่ยวไป".

อีกคนหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่า "พวกเราจักให้เขาทอดของควรเคี้ยวแปลกๆ มีประการต่างๆ เคี้ยวกินเที่ยวไป".

อีกคนหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่า "แน่ะเพื่อน พวกเราจักไม่กระทำกิจอะไรๆ แม้อย่างอื่น หญิงทั้งหลาย เมื่อเรากล่าวว่า จักให้ทรัพย์ ชื่อว่าไม่ปรารถนา ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น พวกเรารวบรวมทรัพย์ไว้แล้ว จักประเล้าประโลม (หญิง) ทำปรทาริกกรรม".

เศรษฐีบุตรทั้งหมด รับคำว่า "ดีล่ะๆ " ได้ตั้งอยู่ในถ้อยคำของคนที่ ๔ นั้น จำเดิมแต่นั้นมา เศรษฐีบุตรเหล่านั้น ส่งทรัพย์ไป เพื่อ (บำเรอ) หญิงที่มีรูปงาม กระทำปรทาริกกรรมตลอด ๒ หมื่นปี กระทำกาละแล้ว บังเกิดในอเวจีมหานรก.

เศรษฐีบุตรเหล่านั้น ไหม้แล้วในนรกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง กระทำกาละในนรกนั้น ด้วยเศษผลกรรม ก็เกิดในโลหกุมภีนรก (อันลึก) ๖๐ โยชน์ (จมลง) ถึงพื้นภายใต้ ๓ หมื่นปี (ลอยขึ้นมา) ถึงปาก

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 164

หม้อโดย ๓ หมื่นปีอีก เป็นผู้ใคร่จะกล่าวคาถาตนละคาถา (แต่) ไม่อาจจะกล่าวได้ กล่าวตนละอักษรแล้ว ก็หมุนกลับลงไปสู่ก้นหม้ออย่างเดิมอีก พระองค์จงบอก มหาบพิตร พระองค์ได้สดับเสียงข้ออย่างไร ทีแรก".

พระราชา. เสียงว่า ทุ. พระเจ้าข้า.

พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงคาถาที่สัตว์นรกนั้น กล่าวไม่เต็ม ทำให้เต็ม จึงตรัสอย่างนี้ว่า.

"เราทั้งหลายเหล่าใด (๑) เมื่อโภคะทั้งหลายมีอยู่ ไม่ได้ถวายทาน ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน พวกเราเหล่านั้น จัดว่ามีชีวิตอยู่ชั่วช้าแล้ว".

ลำดับนั้น พระศาสดา ครั้นทรงประกาศเนื้อความแห่งคาถานี้แก่พระราชาแล้ว จึงตรัสถามว่า "มหาบพิตร เสียงที่ ๒ เสียงที่ ๓ เสียงที่ ๔ พระองค์ได้สดับอย่างไร" เมื่อพระราชาทูลว่า "ชื่ออย่างนี้ พระเจ้าข้า" เมื่อจะทรงยังอรรถที่เหลือให้บริบูรณ์ จึงตรัส (คาถา) ว่า.

"เมื่อเราทั้งหลาย ถูกไฟไหม้อยู่ในนรกครบ ๖ หมื่นปี โดยประการทั้งปวง เมื่อไร ที่สุดจักปรากฏ ผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ที่สุดย่อมไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดจะไม่ปรากฏ เพราะว่ากรรมชั่วอันเราและท่านได้กระทำไว้แล้วในกาลนั้น เรานั้นไปจากที่นี่แล้ว ได้กำเนิดเป็นมนุษย์ จักเป็นผู้รู้ถ้อยคำที่ยาจกกล่าว


(๑) ปาฐะว่า เยสนฺโนฯ เยสํโน เป็น ฉฏฺฐีปจฺจตฺตตฺถฯ บางปาฐะว่า เย สนฺเต ก็มีฯ.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 165

ถึงพร้อมด้วยศีล ทำกุศลให้มากแน่ (๑) ".

พระศาสดา ครั้นตรัสคาถาเหล่านี้โดยลำดับ ประกาศเนื้อความแล้ว จึงตรัสว่า "มหาบพิตร ชนทั้ง ๔ นั้น ปรารถนาจะกล่าวคาถาตนละคาถา เมื่อไม่อาจจะกล่าวได้ กล่าวตนละอักษรเท่านั้น และลงไปสู่โลหกุมภีนั้นนั่นแลอีก ด้วยประการฉะนี้แล".

ได้ยินว่า จำเดิมแต่กาลแห่งเสียงนั้น อันพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสดับแล้ว ชนเหล่านั้นพลัดลงไป ณ ภายใต้อย่างเดิม แม้จนวันนี้ก็ยังไม่ล่วงหนึ่งพันปี ความสังเวชใหญ่ ได้เกิดขึ้นแก่พระราชา เพราะทรงสดับเทศนานั้น ท้าวเธอทรงดำริว่า ชื่อว่าปรทาริกกรรมนี้หนักหนอ ได้ยินว่า ชนทั้ง ๔ ไหม้แล้วในอเวจีนรก ตลอดพุทธันดรหนึ่ง จุติจากอเวจีนรกนั้นแล้ว เกิดในโลหกุมภี อันลึก ๖๐ โยชน์ ไหม้แล้วในโลหกุมภีนั้น (๒) ถึง ๖ หมื่นปี แม้อย่างนี้ กาลเป็นที่พ้นจากทุกข์ของชนเหล่านั้น ยังไม่ปรากฏ แม้เราทำความเยื่อใยในภรรยาของชายอื่น ไม่ได้หลับตลอดคืนยังรุ่ง บัดนี้ จำเดิมแต่นี้ไปเราจักไม่ผูกความพอใจในภรรยาของชายอื่นละ จึงกราบทูลพระตถาคตว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบความที่แห่งราตรีนานในวันนี้".

ฝ่ายบุรุษนั้น นั่งอยู่ในที่นั้นนั่นแล ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว คิดว่า ปัจจัยมีกำลัง เราได้แล้ว จึงกราบทูลพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาทรงทราบความที่แห่งราตรีนาน ในวันนี้ก่อน ส่วนข้าพระองค์เองได้ทราบความที่แห่งโยชน์ไกลในวันวาน".


(๑) ขุ. เปต. ๒๖/๒๕๗.

(๒) คำว่า อฏฺฯ สี. ม. ยุ. เป็น ตตฺถฯ.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 166

พระศาสดา ทรงเทียบเคียงถ้อยคำของคนแม้ทั้งสองแล้ว ตรัสว่า "ราตรีของคนบางคน ย่อมเป็นเวลานาน โยชน์ของคนบางคน เป็นของไกล ส่วนสงสารของคนพาล ย่อมเป็นสภาพยาว" เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๑. ทีฆา ชาครโต รตฺติ ทีฆํ สนฺตสฺส โยชนํ ทีโฆ พาลานํ สํสาโร สทฺธมฺมํ อวิชานตํ.

"ราตรีของคนผู้ตื่นอยู่ นาน โยชน์ของคนล้าแล้ว ไกล สงสารของคนพาลทั้งหลาย ผู้ไม่รู้อยู่ซึ่งสัทธรรม ย่อมยาว".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทีฆา เป็นต้น ความว่า ชื่อว่าราตรีนี้มีเพียง ๓ ยามเท่านั้น แต่สำหรับผู้ตื่นอยู่ อยู่ข้างนาน คือว่าย่อมปรากฏเป็นราวกะว่า ๒ เท่า ๓ เท่า บุคคลผู้เกียจคร้านมาก ทำตนให้เป็นเหยื่อของหมู่เรือด นอนกลิ้งเกลือกอยู่ตลอดจนพระอาทิตย์ขึ้นก็ดี ผู้เสพกาม บริโภคโภชนะที่ดีแล้ว นอนอยู่บนที่นอนอันเป็นสิริก็ดี ย่อมไม่รู้ความที่ราตรีนั้นนาน ส่วนพระโยคาวจร ผู้เริ่มตั้งความเพียรตลอดคืนยังรุ่งก็ดี พระธรรมกถึกแสดงพระธรรมกถาตลอดคืนยังรุ่งก็ดี บุคคลผู้นั่งฟังธรรมอยู่ในที่ใกล้อาสนะตลอดคืนยังรุ่งก็ดี ผู้ที่ถูกโรคทั้งหลาย มีโรคในศีรษะเป็นต้นถูกต้องแล้ว หรือผู้ถึงทุกข์ มีการตัดมือและเท้าเป็นต้น ถูกเวทนาครอบงำก็ดี คนเดินทางไกล เดินทางตลอดคืนก็ดี ย่อมรู้ความที่ราตรีนั้นนาน.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 167

บทว่า โยชน์ เป็นต้น ความว่า แม้โยชน์ก็มีเพียง ๔ คาวุต เท่านั้น แต่สำหรับผู้ล้าแล้ว คือผู้บอบช้ำแล้ว อยู่ข้างไกล คือว่าย่อมปรากฏเป็นราวกะว่า ๒ เท่า ๓ เท่า จริงอยู่ คนเดินทางตลอดทั้งวัน ล้าแล้ว พบคนเดินสวนทางมา ถามว่า "บ้านข้างหน้าไกลเท่าไร" เมื่อเขาบอกว่า "โยชน์หนึ่ง" ไปได้หน่อยหนึ่ง ก็ถามคนแม้อื่นอีก แม้เมื่อคนอื่นนั้นบอกว่า "โยชน์หนึ่ง" ไปได้หน่อยหนึ่งอีก ก็ถามแม้คนอื่นอีก แม้เขาก็กล่าวว่า "โยชน์หนึ่ง" คนเหล่านั้น ถูกคนผู้เดินทางนั้น ถามแล้วๆ ก็บอกว่า "โยชน์หนึ่ง" เขาคิดว่า โยชน์นี้ ไกล จริงหนอ ย่อมสำคัญโยชน์หนึ่งเป็นราวกับว่า ๒ - ๓ โยชน์.

บทว่า พาลานํ เป็นต้น ความว่า ส่วนสงสารของชนพาลทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า คือผู้ไม่อาจเพื่อกระทำที่สุดแห่งสังสารวัฏฏ์ ผู้ไม่รู้แจ้งสัทธรรม อันต่างด้วยธรรม มีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เป็นต้น ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้แล้วกระทำที่สุดแห่งสงสารได้ ย่อมชื่อว่ายาว แท้จริง สงสารนั้น ชื่อว่ายาว ตามธรรมดาของตนเอง สมจริงดังพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า (๑) "ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีที่สุดอันใครๆ ไปตามไม่รู้แล้ว เบื้องต้น เบื้องปลาย (แห่งสงสารนั้น) ย่อมไม่ปรากฏ" แต่สำหรับชนพาลทั้งหลาย ผู้ไม่สามารถจะทำที่สุดได้ ย่อมยาวแท้ทีเดียว.

ในกาลจบเทศนา บุรุษนั้น บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล.


(๑) สํ. นิทาน. ๑๖/๒๑๒.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 168

พระราชาถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กำลังเสด็จไป รับสั่งให้ปล่อยสัตว์เหล่านั้นจากเครื่องจองจำแล้ว บรรดามนุษย์และสัตว์เหล่านั้น หญิงและชายทั้งหลาย พ้นจากเครื่องผูก สนานศีรษะแล้วไปสู่เรือนของตนๆ กล่าวสรรเสริญพระคุณแห่งพระนางมัลลิกาว่า เราทั้งหลาย ได้ชีวิตเพราะอาศัยพระเทวีองค์ใด ขอพระนางมัลลิกาพระเทวีองค์นั้น ผู้เป็นพระแม่เจ้าของเราทั้งหลาย จงทรงพระชนม์อยู่ตลอดกาลนานเทอญ.

ในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "น่าสรรเสริญ พระนางมัลลิกานี้ฉลาดหนอ ทรงอาศัยพระปัญญาของพระองค์ ได้ให้ชีวิตทานแก่ชนมีประมาณเท่านี้แล้ว".

พระนางมัลลิกาเคยช่วยทุกข์คนในชาติก่อน

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลาย นั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยถ้อยคำชื่อนี้" พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พระนางมัลลิกาทรงอาศัยพระปัญญาของตน ให้ชีวิตทานแก่มหาชนในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ ถึงในกาลก่อน พระนางก็ได้ให้แล้วเหมือนกัน" เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัส) ว่า.

ในอดีตกาล โอรสของพระเจ้าพาราณสีเข้าไปสู่ต้นไทรต้นหนึ่งแล้ว ทรงอ้อนวอนเทวดาผู้เกิด ณ ต้นไทรนั้นว่า "ข้าแต่เทวราชผู้เป็นเจ้า ในชมพูทวีปนี้ มีพระราชา ๑๐๑ พระอัครมเหสี ๑๐๑ ถ้าข้าพเจ้าจักได้ราชสมบัติโดยกาลล่วงไปแห่งบิดาไซร้ ข้าพเจ้าจักทำพลีด้วยเลือด ในลำคอของพระราชาและพระอัครมเหสีเหล่านั้น" พระกุมารนั้น เมื่อพระบิดาสวรรคตแล้ว ได้รับราชสมบัติ (สมพระประสงค์) ทรงคิดว่า

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 169

เราได้รับราชสมบัติด้วยอานุภาพของเทวดา เราจักทำพลีแก่เทวดานั้น จึงเสด็จออกไปด้วยเสนาหมู่ใหญ่ ยังพระราชาพระองค์หนึ่ง ให้เป็นไปในอำนาจของตนแล้ว ทำพระราชาพระองค์อื่นและอื่นอีก กับด้วยพระราชาพระองค์นั้น ให้อยู่ในอำนาจของตน ทำพระราชาทั้งหมดให้อยู่ในอำนาจของตน ด้วยประการฉะนี้แล้ว ทรงพาไปพร้อมกับพระอัครมเหสีทั้งหลาย ทรงละพระเทวีพระนามว่า ธัมมทินนา ผู้ทรงพระครรภ์แก่ซึ่งเป็นพระอัครมเหสีของพระราชาพระนามว่า อุคคเสน ซึ่งเป็นพระราชาองค์เล็กกว่าพระราชาทั้งปวงไว้ เสด็จไป ทรงดำริว่า เราจักให้ชนเหล่านี้ ดื่มน้ำเจือยาพิษให้ตาย จึงให้ชนทั้งหลายชำระโคนไม้ให้สะอาดแล้ว.

เทวดาคิดว่า พระราชาองค์นี้ เมื่อจับพระราชาประมาณเท่านี้ ทรงอาศัยเราจึงจับ ท้าวเธอทรงใคร่จะทำพลีกรรมแก่เราด้วยโลหิตในลำพระศอของพระราชาเหล่านั้น ก็ถ้าพระราชานี้ จักทรงสำเร็จโทษพระราชาเหล่านั้นไซร้ พระราชวงศ์ในชมพูทวีปจักขาดสูญ แม้โคนไม้ของเรา ก็จักไม่สะอาด เราจักอาจห้ามพระราชานั้นได้ไหมหนอแล เทวดานั้นใคร่ครวญอยู่ก็รู้ว่า เราจักไม่อาจ จึงเข้าไปหาเทวดาองค์อื่น บอกเนื้อความนั้นแล้ว กล่าวว่า "ท่านจักอาจหรือ" เทวดานั้น แม้อันเทวดา (ที่ถูกถาม) นั้นห้ามแล้ว จึงเข้าไปหาเทวดาในจักรวาลทั้งสิ้น อย่างนี้คือ เข้าไปหาเทวดาองค์อื่นและองค์อื่น แม้ถูกเทวดาเหล่านั้นห้ามแล้ว จึงไปสำนักของท้าวมหาราชทั้งสี่ ในเวลาที่แม้ท้าวมหาราชทั้งสี่นั้นห้ามแล้วด้วยคำว่า "พวกเราไม่อาจ แต่ว่าพระราชาของเราทั้งหลาย เป็นผู้วิเศษกว่าพวกเราด้วยบุญและปัญญา ท่านจง

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 170

ทูลถามพระราชานั้นเถิด" ดังนี้แล้ว จึงเข้าไปเฝ้าท้าวสักกะ กราบทูลเนื้อความนั้นแล้ว ทูลว่า "ขอเดชะ เมื่อพระองค์ถึงความเป็นผู้ขวนขวายน้อยเสียแล้ว ขัตติยวงศ์จักขาดสูญ ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พำนักแห่งขัตติยวงศ์นั้นเถิด".

ท้าวสักกะตรัสว่า "แม้เราก็ไม่อาจเพื่อจะห้ามพระราชานั้น แต่จักบอกอุบายแก่ท่าน" แล้วทรงบอกอุบายว่า "ไปเถิดท่าน เมื่อพระราชาทรงเห็นอยู่นั้นแหละ ท่านจงนุ่งผ้าแดง แสดงอาการดุจออกไปจากต้นไม้ของตน เมื่อเช่นนั้น พระราชาทรงดำริว่า เทวดาของเราไปอยู่ เราจักให้เทวดานั้นกลับมา แล้วจักอ้อนวอนท่านด้วยประการต่างๆ เมื่อเช่นนั้น ท่านพึงกล่าวกะพระราชานั้นว่า ท่านบนต่อเราไว้ว่า จักนำพระราชา ๑๐๑ กับพระอัครมเหสีทั้งหลายมาทำพลีด้วยโลหิตในลำพระศอของพระราชาเหล่านั้น (แต่) ทรงทิ้งพระเทวีของพระอุคคเสนไว้ แล้วเสด็จมา เราจักไม่รับพลีของคนผู้มักพูดเท็จ เช่นกับพระองค์ นัยว่า เมื่อท่านกล่าวอย่างนั้น พระราชาจักให้นำพระเทวีนั้นมา พระเทวีนั้นจักแสดงธรรมแก่พระราชา ให้ชีวิตทานแก่ชนมีประมาณเท่านี้" ท้าวสักกะ ตรัสบอกอุบายนี้แก่เทวดาด้วยเหตุนี้ เทวดาได้กระทำตามนั้นแล้ว แม้พระราชาก็รับสั่งให้นำพระเทวีนั้นมาแล้ว.

เทวดาบูชาพระนางมัลลิกา

พระเทวีนั้นมาถวายบังคมพระราชา (ผู้สวามี) ของตนเท่านั้น แม้ประทับนั่ง ณ ที่สุดแห่งพระราชาเหล่านั้น พระราชากริ้วต่อพระเทวีนั้นว่า "เมื่อเราดำรงอยู่ในตำแหน่งผู้ใหญ่กว่าพระราชาทั้งปวง นางยังไหว้สามีของตน ซึ่งเป็นผู้น้อยกว่าพระราชาทั้งปวงได้" ลำดับนั้น

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 171

พระเทวีทูลพระราชานั้นว่า "เรื่องอะไรของหม่อมฉันต้องเกี่ยวข้องในพระองค์เล่า? ก็พระราชาพระองค์นี้ เป็นสามีผู้ให้ความเป็นใหญ่แก่หม่อมฉัน หม่อมฉันไม่ไหว้พระราชาพระองค์นี้แล้ว จักไหว้พระองค์ เพราะเหตุไร" เมื่อชนนั้นเห็นอยู่นั้นเทียว รุกขเทวดากล่าวว่า "อย่างนั้น พระเทวีผู้เจริญ อย่างนั้น พระเทวีผู้เจริญ" แล้วบูชาพระเทวีนั้น ด้วยดอกไม้กำมือหนึ่ง.

พระราชาตรัสอีกว่า "ถ้าเธอไม่ไหว้เราไซร้ เพราะเหตุไร จึงไม่ไหว้เทวดาของเราผู้มีอานุภาพมากอย่างนี้ ผู้ให้สิริแห่งความเป็นพระราชาเล่า" พระเทวีทูลว่า "ข้าแต่มหาราช พระราชาทั้งหลาย อันพระองค์ทรงตั้งอยู่ในบุญของพระองค์ จึงจับได้ ไม่ใช่เทวดาจับถวาย" เทวดากล่าวกะพระเทวีอีกว่า "อย่างนั้น พระเทวีผู้เจริญ อย่างนั้น พระเทวีผู้เจริญ" แล้วบูชาเหมือนอย่างนั้น.

พระเทวีนั้นทูลพระราชาอีกว่า "พระองค์ตรัสว่า พระราชาทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ เทวดาจับให้แก่เรา บัดนี้ ต้นไม้ถูกไฟไหม้ ณ ข้างซ้ายในเบื้องบนแห่งเทวดาของพระองค์ เพราะเหตุไร เทวดานั้น จึงไม่อาจเพื่อจะยังไฟนั้นให้ดับได้ ถ้าเทวดามีอานุภาพมากอย่างนั้น" เทวดากล่าวกะพระเทวีแม้อีกว่า "อย่างนั้น พระเทวีผู้เจริญ อย่างนั้น พระเทวีผู้เจริญ" แล้วบูชาเหมือนอย่างนั้น.

พระเทวียืนตรัสอยู่ ทั้งทรงพระกันแสง ทั้งทรงพระสรวล ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะพระเทวีนั้นว่า "เธอเป็นบ้าหรือ".

พระเทวี. ขอเดชะ เพราะเหตุไร พระองค์จึงตรัสอย่างนั้น หญิงทั้งหลายผู้เช่นกับหม่อมฉัน ไม่ใช่เป็นบ้า.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 172

พระราชา. เมื่อเช่นนั้น เพราะเหตุไร เธอจึงร้องไห้และหัวเราะ.

พระเทวีทูลว่า "ขอพระองค์จงสดับเถิด มหาราช ก็ในอดีตกาล หม่อมฉันเป็นกุลธิดา เมื่ออยู่ในตระกูลสามี เห็นแขกผู้เป็นสหายของสามีมาแล้ว ใคร่เพื่อหุงข้าวเพื่อแขกนั้น จึงให้กหาปณะแก่นางทาสี ด้วยสั่งว่า เจ้าจงซื้อเนื้อมา เมื่อนางทาสีนั้นไม่ได้เนื้อมาแล้ว กล่าวว่า เนื้อไม่มี จึงตัดศีรษะแม่แพะที่นอนอยู่เบื้องหลังเรือน จัดแจงภัตเสร็จ หม่อมฉันนั้น ตัดศีรษะแม่แพะตัวเดียว ไหม้ในนรก ด้วยเศษผลแห่งกรรม จึงได้ถูกตัดศีรษะด้วยการนับขนแม่แพะนั้น พระองค์สำเร็จโทษชนมีประมาณเท่านี้ เมื่อไรจักพ้นจากทุกข์ หม่อมฉันระลึกถึง ทุกข์อันใหญ่ของพระองค์ดังนี้ อย่างนั้นจึงร้องไห้" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

"หม่อมฉันตัดคอแม่แพะตัวเดียว ไหม้อยู่แล้ว (ในนรก) ด้วยการนับขน (แพะ) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ พระองค์ตัดคอของมนุษย์เป็นอันมาก จักกระทำอย่างไร".

พระราชา. เมื่อเช่นนั้น เธอหัวเราะเพราะเหตุไร.

พระเทวี. ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันยินดีว่า เราพ้นจากทุกข์นั้นแล้ว จึงหัวเราะ.

เทวดากล่าวกะพระเทวีนั้นอีกว่า "อย่างนั้น พระเทวีผู้เจริญ อย่างนั้น พระเทวีผู้เจริญ" แล้วบูชาด้วยดอกไม้กำมือหนึ่ง.

พระราชา ทรงดำริว่า น่าสลด กรรมของเราหนัก ได้ยินว่า พระเทวีนี้ฆ่าแม่แพะตัวเดียว ไหม้ในนรกแล้ว ด้วยเศษแห่งผลกรรม

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 173

ถูกตัดศีรษะด้วยการนับขนแห่งแม่แพะนั้น เราฆ่าชนมีประมาณเท่านี้ จักถึงความสวัสดีเมื่อไร ดังนี้แล้ว จึงทรงปล่อยพระราชาทั้งหมด ถวายบังคมพระราชาผู้แก่กว่าตน ทรงประคองอัญชลีแก่พระราชาที่หนุ่มกว่า ยังพระราชาทั้งหมดให้ทรงอดโทษแล้ว ทรงส่งไปสู่ที่ของตนๆ อย่างเดิม.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า " อย่างนั้นภิกษุทั้งหลาย พระนางมัลลิกาอาศัยปัญญาของตน ประทานชีวิตทานแก่มหาชนในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ ถึงในกาลก่อน พระนางก็ได้ประทานแล้วเหมือนกัน" แล้วทรงประชุมเรื่องอดีตว่า "พระเจ้าพาราณสีในกาลนั้น ได้เป็นพระเจ้าปเสนทิโกศล พระนางธัมมทินนาเทวี เป็นพระนางมัลลิกา รุกขเทวดา คือเราเอง" ครั้นทรงประชุมเรื่องอดีต อย่างนั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรมอีก จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าปาณาติบาตเป็นโทษ ไม่สมควรที่บุคคลจะพึงกระทำ เพราะว่าบุคคลผู้ฆ่าสัตว์เป็นปกติ ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน" จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

"ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพนี้เป็นทุกข์ สัตว์ไม่พึงฆ่าสัตว์ เพราะว่า ผู้ฆ่าสัตว์เป็นปกติ ย่อมเศร้าโศก".

เรื่องบุรุษคนใดคนหนึ่ง จบ.