พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. เรื่องพระอุทายีเถระ [๔๙]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34832
อ่าน  466

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 190

๕. เรื่องพระอุทายีเถระ [๔๙]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 190

๕. เรื่องพระอุทายีเถระ [๔๙]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระอุทายีเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยาวชีวมฺปิ เจ พาโล" เป็นต้น.

คนไม่รู้มักถือตัว

ได้ยินว่า พระอุทายีเถระนั้น เมื่อพระเถระผู้ใหญ่หลีกไปแล้ว ไปสู่โรงธรรมแล้ว นั่งบนธรรมาสน์ ต่อมาวันหนึ่ง พวกภิกษุอาคันตุกะเห็นพระอุทายีเถระนั้นแล้วเข้าใจว่า ภิกษุนี้จักเป็นพระมหาเถระผู้พหูสูต จึงถามปัญหาปฏิสังยุตด้วยขันธ์เป็นต้นแล้ว ติเตียนท่านผู้ไม่รู้อยู่ซึ่งพระพุทธวจนะอะไรๆ ว่า "นี่พระเถระอะไร อยู่ในพระวิหารเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ยังไม่รู้ธรรมแม้สักว่าขันธ์ ธาตุและอายตนะ" ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลความเป็นไปนั้นแด่พระตถาคต ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่พวกภิกษุอาคันตุกะนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๕. ยาวชีวมฺปิ เจ พาโล ปณฺฑิตํ ปยิรุปาสติ น โส ธมฺมํ วิชานาติ ทพฺพี สูปรสํ ยถา.

"ถ้าคนพาล เข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตอยู่ แม้จนตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้ธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกงฉะนั้น".

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 191

พึงทราบเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า.

ชื่อว่าคนพาลนี่ เข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้บัณฑิต แม้จนตลอดชีวิต ย่อมไม่รู้ปริยัติธรรมอย่างนี้ว่า นี่เป็นพระพุทธพจน์ พระพุทธพจน์มีประมาณเท่านี้ หรือซึ่งปฏิปัตติธรรมและปฏิเวธธรรมอย่างนี้ว่า ธรรมนี้เป็นเครื่องอยู่ ธรรมนี้เป็นมรรยาทนี้เป็นโคจรกรรม นี้เป็นไปกับด้วยโทษ กรรมนี้หาโทษมิได้ กรรมนี้ควรเสพ กรรมนี้ไม่ควรเสพ สิ่งนี้พึงแทงตลอด สิ่งนี้ควรกระทำให้แจ้ง.

ถามว่า "เหมือนอะไร".

แก้ว่า "เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกงฉะนั้น".

อธิบายว่า เหมือนอย่างว่า ทัพพี แม้คนแกงต่างชนิด มีประการต่างๆ อยู่จนกร่อนไป ย่อมไม่รู้รสแกงว่า นี้รสเค็ม นี้รสจืด นี้รสขม นี้รสขื่น นี้รสเผ็ด นี้รสเปรี้ยว นี้รสฝาด ฉันใด คนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตลอดชีวิต ย่อมไม่รู้ธรรมมีประการดังกล่าวแล้ว ฉันนั้น เหมือนกัน.

ในกาลจบเทศนา จิตของพวกภิกษุอาคันตุกะ หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ดังนี้แล.

เรื่องพระอุทายีเถระ จบ.