พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. เรื่องสุปปพุทธกุฏฐิ [๕๑]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34834
อ่าน  1,567

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 194

๗. เรื่องสุปปพุทธกุฏฐิ [๕๑]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 194

๗. เรื่องสุปปพุทธกุฏฐิ [๕๑]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภบุรุษโรคเรื้อนชื่อว่า สุปปพุทธะ ตรัสธรรมเทศนานี้ว่า "จรนฺติ พาลา ทุมฺเมธา" เป็นต้น.

สุปปพุทธะกราบทูลคุณวิเศษแด่พระศาสดา

เรื่องสุปปพุทธะนี้มาแล้วในอุทาน (๑) นั่นแล ก็ในกาลนั้น สุปปพุทธกุฏฐินั่งที่ท้ายบริษัท ฟังธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วบรรลุโสดาปัตติผล ปรารถนาจะกราบทูลคุณที่ตนได้แล้วแด่พระศาสดา (แต่) ไม่อาจเพื่อจะหยั่งลงในท่ามกลางบริษัท ได้ไปยังวิหารในเวลามหาชนถวายบังคมพระศาสดากลับไปแล้ว.

คนมีอริยทรัพย์ ๗ เป็นผู้ไม่ขัดสน

ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงทราบว่า สุปปพุทธกุฏฐินี้ ใคร่เพื่อกระทำคุณที่ตนได้ในศาสนาของพระศาสดาให้ปรากฏ ทรงดำริว่า เราจักทดลองนายสุปปพุทธกุฏฐินั้น เสด็จไปยืนในอากาศแล้วได้ตรัสคำนี้ว่า "สุปปพุทธะ เธอเป็นมนุษย์ขัดสน เป็นมนุษย์ยากไร้ เราจักให้ทรัพย์หาที่สิ้นสุดมิได้แก่เธอ เธอจงกล่าวว่า พระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์


(๑) ขุ. อุ. ๒๕/๑๔๖.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 195

อย่าเลยด้วยพระพุทธแก่เรา อย่าเลยด้วยพระธรรมแก่เรา อย่าเลยด้วยพระสงฆ์แก่เรา" ลำดับนั้น สุปปพุทธกุฏฐินั้น กล่าวกะท้าวสักกะนั้นว่า "ท่านเป็นใคร".

สักกะ. เราเป็นท้าวสักกะ.

สุปปพุทธะ. ท่านผู้อันธพาล ผู้ไม่มียางอาย ท่านเป็นผู้ไม่สมควรจะพูดกับเรา ท่านพูดกะเราว่า เป็นคนเข็ญใจ เป็นคนขัดสน เป็นคนกำพร้า เราไม่ใช่คนเข็ญใจ ไม่ใช่คนขัดสนเลย เราเป็นผู้ถึงความสุข มีทรัพย์มาก.

"ทรัพย์เหล่านี้คือ ทรัพย์คือศรัทธา ๑ ทรัพย์คือศีล ๑ ทรัพย์คือหิริ ๑ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ๑ ทรัพย์คือสุตะ ๑ ทรัพย์คือจาคะ ๑ ปัญญาแลเป็นทรัพย์ที่ ๗ ย่อมมีแก่ผู้ใด จะเป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของบุคคลนั้นไม่ว่างเปล่า (๑) ".

เพราะเหตุนั้น อริยทรัพย์มีอย่าง ๗ นี้ มีอยู่แก่ชนเหล่าใดแล ชนเหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวว่า เป็นคนจน.

ท้าวสักกะ ทรงสดับถ้อยคำของสุปปพุทธะนั้นแล้ว ทรงละเขาไว้ในระหว่างทาง เสด็จไปสู่สำนักของพระศาสดา กราบทูลการโต้ตอบถ้อยคำนั้นทั้งหมดแด่พระศาสดาแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท้าวสักกะนั้นว่า "ท้าวสักกะ ทั้งร้อยทั้งพันแห่งคนทั้งหลายผู้เช่นกับพระองค์


(๑) องฺ. สตฺตก. ๒๓/๔.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 196

ไม่อาจเพื่อจะให้สุปปพุทธกุฏฐิ กล่าวว่า พระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม หรือพระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ ได้เลย".

ฝ่ายสุปปพุทธะแล ไปสู่สำนักของพระศาสดา มีความบันเทิงอันพระศาสดาทรงกระทำแล้ว กราบทูลคุณอันตนได้แล้วแด่พระศาสดา ลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว ขณะนั้น แม่โคลูกอ่อนปลงสุปปพุทธะนั้น ผู้หลีกไปแล้วไม่นานจากชีวิตแล้ว.

บุรพกรรมของสุปปพุทธะและแม่โค

ได้ยินว่า โคแม่ลูกอ่อนนั้น เป็นยักษิณีตนหนึ่ง เป็นแม่โคปลงชนทั้ง ๔ นี้ คือกุลบุตรชื่อปุกกุสาติ ๑ พาหิยทารุจีริยะ ๑ นายโจรฆาตกะชื่อตัมพทาฐิกะ ๑ สุปปพุทธกุฎฐิ ๑ จากชีวิตคนละร้อยอัตภาพ ได้ยินว่า ในอดีตกาล ชนเหล่านั้นเป็นบุตรเศรษฐีทั้ง ๔ คน นำหญิงแพศยาผู้เป็นนครโสเภณีคนหนึ่งไปสู่สวนอุทยาน เสวยสมบัติตลอดวันแล้ว ในเวลาเย็นปรึกษากันอย่างนี้ว่า "ในที่นี้ไม่มีคนอื่น เราทั้งหลาย จักถือเอากหาปณะพันหนึ่ง และเครื่องประดับทั้งหมดที่พวกเราให้แก่หญิงนี้แล้ว ฆ่าหญิงนี้เสียไปกันเกิด" หญิงนั้นฟังถ้อยคำของเศรษฐีบุตรเหล่านั้นแล้ว คิดว่า ชนพวกนี้ ไม่มียางอาย อภิรมย์กับเราแล้ว บัดนี้ปรารถนาจะฆ่าเรา เราจักรู้กิจที่ควรกระทำแก่ชนเหล่านั้น เมื่อถูกชนเหล่านั้นฆ่าอยู่ ได้กระทำความปรารถนาว่า "ขอเราพึงเป็นยักษิณี ผู้สามารถเพื่อฆ่าชนเหล่านั้น เหมือนอย่างที่พวกนี้ฆ่าเรา ฉะนั้นเหมือนกัน".

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 197

คนโง่ทำกรรมลามก

ภิกษุหลายรูปกราบทูลการกระทำกาละของสุปปพุทธะนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามว่า "คติของสุปปพุทธะนั้น เป็นอย่างไร เพราะเหตุไรเล่า เขาจึงถึงความเป็นคนมีโรคเรื้อน".

พระศาสดาทรงพยากรณ์ความที่สุปปพุทธะนั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว เกิดในดาวดึงสภพ และการเห็นพระตครสิขีปัจเจกพุทธเจ้า ถ่ม (น้ำลาย) แล้วหลีกไปทางซ้าย (๑) ไหม้แเล้วในนรกตลอดกาลนาน ด้วยวิบากที่เหลือถึงความเป็นคนมีโรคเรื้อนในบัดนี้แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้ เที่ยวกระทำกรรมมีผลเผ็ดร้อนแก่ตนเองแล" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๗. จรนฺติ พาลา ทุมฺเมธา อมิตฺเตเนว อตฺตนา กโรนฺตา ปาปกํ กมฺมํ ยํ โหติ กฏุกปฺผลํ.

"ชนพาลทั้งหลาย มีปัญญาทราม มีตนเป็นดังข้าศึก เที่ยวทำกรรมลามกซึ่งมีผลเผ็ดร้อนอยู่".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จรนฺติ ความว่า เที่ยวกระทำอกุศลถ่ายเดียว ด้วยอิริยาบถ ๔ อยู่.

ชนทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า ชื่อว่า พาล ในบทว่า พาลา นี้.


(๑) อปพฺยามํ กตฺวา ถือเอาความว่า หลีกซ้าย. ธรรมดาบัณฑิต เห็นพุทธบุคคลแล้วย่อมหลีกทางขวา. ดูใน อรรถกถาอุทาน หน้า ๓๖๘.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 198

บทว่า ทุมฺเมธา คือมีปัญญาเขลา.

บทว่า อมิตฺเตเนว ความว่า เป็นราวกะว่าคนมีเวรผู้มิใช่มิตร.

บทว่า กฏุกปฺผลํ ความว่า มีผลเข้มแข็ง คือมีทุกข์เป็นผล.

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องสุปปพุทธกุฏฐิ จบ.