พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. เรื่องนายสุมนมาลาการ [๕๓]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34836
อ่าน  836

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 204

๙. เรื่องนายสุมนมาลาการ [๕๓]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 204

๙. เรื่องนายสุมนมาลาการ [๕๓]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภนายมาลาการชื่อ สุมนะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ" เป็นต้น.

พระศาสดาเสด็จบิณฑบาต

ดังได้สดับมา นายมาลาการนั้น บำรุงพระเจ้าพิมพิสารด้วยดอกมะลิ ๘ ทะนานแต่เช้าตรู่ทุกวัน ย่อมได้กหาปณะวันละ ๘ กหาปณะ ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อนายมาลาการนั้นถือดอกไม้ พอเข้าไปสู่พระนคร พระผู้มีพระภาคเจ้า อันภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงเปล่งพระรัศมีมีพรรณะ ๖ เสด็จเข้าไปสู่พระนครเพื่อบิณฑบาต ด้วยพระพุทธานุภาพอันใหญ่ ด้วยพระพุทธลีลาอันใหญ่ แท้จริง ในกาลบางคราว พระผู้มีพระภาคทรงปิดพระรัศมีมีพรรณะ ๖ ด้วยจีวรแล้วเสด็จไป เหมือนภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปใดรูปหนึ่ง เหมือนเสด็จไปต้อนรับพระอังคุลิมาล สิ้นทางตั้ง ๓๐ โยชน์ ในกาลบางคราว ทรงเปล่งพระรัศมีมีพรรณะ ๖ เหมือนทรงเปล่งในเวลาเสด็จเข้าไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์เป็นต้น แม้ในวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระรัศมีมีพรรณะ ๖ จากพระสรีระ เสด็จเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ด้วยพระพุทธานุภาพอันใหญ่ ด้วยพระพุทธลีลาอันใหญ่.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 205

นายมาลาการบูชาพระศาสดาด้วยดอกไม้

ครั้งนั้น นายมาลาการเห็นอัตภาพพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่นกับด้วยรัตนะอันมีค่าและทองอันมีค่า (๑) แลดูพระสรีระซึ่งประดับแล้วด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ มีส่วนความงามด้วยพระสิริคืออนุพยัญชนะ ๘๐ มีจิตเลื่อมใสแล้ว คิดว่า เราจักทำการบูชาอันยิ่งแด่พระศาสดาอย่างไรหนอแล เมื่อไม่เห็นสิ่งอื่น จึงคิดว่า เราจักบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกไม้เหล่านี้ คิดอีกว่า ดอกไม้เหล่านี้เป็นดอกไม้สำหรับบำรุงพระราชาประจำ พระราชาเมื่อไม่ทรงได้ดอกไม้เหล่านี้ พึงให้จองจำเราบ้าง พึงให้ฆ่าเราบ้าง พึงขับไล่เสียจากแว่นแคว้นบ้าง เราจะทำอย่างไรหนอแล ครั้งนั้น ความคิดอย่างนี้ได้มีแก่นายมาลาการนั้นว่า พระราชาจะทรงฆ่าเราเสียก็ตาม ขับไล่เสียจากแว่นแคว้นก็ตาม ก็พระราชานั้น แม้เมื่อพระราชทานแก่เรา พึงพระราชทานทรัพย์สักว่าเลี้ยงชีพ ให้อัตภาพนี้ ส่วนการบูชาพระศาสดา อาจเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เราในโกฏิกัปป์เป็นอเนกทีเดียว สละชีวิตของตนแด่พระตถาคตแล้ว นายมาลาการนั้นคิดว่า จิตเลื่อมใสของเราไม่กลับกลายเพียงใด เราจักทำการบูชาเพียงนั้นทีเดียว เป็นผู้ร่าเริงบันเทิงแล้ว มีจิตเบิกบานและแช่มชื่น บูชาพระศาสดาแล้ว.

ความอัศจรรย์ของดอกไม้ที่เป็นพุทธบูชา

นายมาลาการนั้นบูชาอย่างไร ทีแรก นายมาลาการซัดดอกไม้ ๒ กำ ขึ้นไปในเบื้องบนแห่งพระตถาคตก่อน


(๑) เช่นกับด้วยพวงแก้วและพวงทองก็ว่า โบราณว่า เช่นกับด้วยพนมแก้วและพนมทองก็มี.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 206

ดอกไม้ ๒ กำนั้น ได้ตั้งเป็นเพดานในเบื้องบนพระเศียร เขาซัดดอกไม้ ๒ กำอื่นอีก ดอกไม้ ๒ กำนั้น ได้ย้อยลงมาตั้งอยู่ทางด้านพระหัตถ์ขวา โดยอาการอันมาลาบังไว้ เขาซัดดอกไม้ ๒ กำอื่นอีก ดอกไม้ ๒ กำนั้น ได้ห้อยย้อยลงมาตั้งอยู่ทางด้านพระปฤษฎางค์ อย่างนั้นเหมือนกัน เขาซัดดอกไม้ ๒ กำอื่นอีก ดอกไม้ ๒ กำนั้น ห้อยย้อยลงมาตั้งอยู่ทางด้านพระหัตถ์ซ้าย อย่างนั้นเหมือนกัน ดอกไม้ ๘ ทะนาน เป็น ๘ กำ แวดล้อมพระตถาคตในฐานะทั้ง ๔ ด้วยประการฉะนี้ ได้มีทางพอเป็นประตู เดินไปข้างหน้าเท่านั้น ขั้วดอกไม้ทั้งหลายได้หันหน้าเข้าข้างใน หันกลีบออกข้างนอก พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นราวกะว่า แวดล้อมแล้วด้วยแผ่นเงิน เสด็จไปแล้ว ดอกไม้ทั้งหลาย แม้ไม่มีจิต อาศัยบุคคลผู้มีจิต ไม่แยกกัน ไม่ตกลง ย่อมไปกับพระศาสดานั่นเทียว ย่อมหยุดในที่ประทับยืน รัศมีเป็นราวกะว่าสายฟ้าแลบตั้งแสนสายออกจากพระสรีระของพระศาสดา พระรัศมีที่ออก (จากพระกายนั้น) ออกทั้งข้างหน้า ทั้งข้างหลัง ทั้งข้างขวา ทั้งข้างซ้าย ทั้งเบื้องบนพระเศียร พระรัศมี แม้แต่สายหนึ่ง ไม่หายไปทางที่ตรงเบื้องพระพักตร์ แม้ทั้งหมดกระทำประทักษิณพระศาสดา ๓ รอบแล้ว รวมเป็นพระรัศมี มีประมาณเท่าลำตาลหนุ่ม พุ่งตรงไปข้างหน้าทางเดียว.

นายมาลาการบอกแก่ภรรยา

นครทั้งสิ้นเลื่องลือแล้ว บรรดาชน ๑๘ โกฏิ คือในภายในนคร ๙ โกฏิ ภายนอกนคร ๙ โกฏิ ชายหรือหญิงแม้คนหนึ่ง ชื่อว่าจะไม่ถือเอาภิกษาออกไปย่อมไม่มี มหาชนบันลือสีหนาท ทำการยกท่อนผ้า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 207

ขึ้นตั้งพันอยู่ข้างหน้าของพระศาสดาเทียว แม้พระศาสดา เพื่อจะทรงทำคุณของนายมาลาการให้ปรากฏ ได้เสด็จเที่ยวไปในพระนครประมาณ ๓ คาวุต โดยหนทางเป็นที่เที่ยวไปด้วยกลองนั้นเอง สรีระทั้งสิ้นของนายมาลาการเต็มเปี่ยมด้วยปีติมีวรรณะ ๕ นายมาลาการนั้นเที่ยวไปกับพระตถาคตหน่อยหนึ่งเท่านั้น เข้าไปในภายในแห่งพุทธรัศมี เป็นราวกะว่าจมลงในรสแห่งมโนสิลา ชมเชยถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ได้ถือเอากระเช้าเปล่านั่นแลไปสู่เรือน.

ครั้งนั้น ภรรยาถามเขาว่า "ดอกไม้อยู่ที่ไหน".

มาลาการ. เราบูชาพระศาสดาแล้ว.

ภรรยา. บัดนี้ ท่านจักทำอะไรแด่พระราชาเล่า.

มาลาการ. พระราชาจะทรงฆ่าเราก็ตาม ขับไล่จากแว่นแคว้นก็ตาม เราสละชีวิตบูชาพระศาสดาแล้ว ดอกไม้ทั้งหมดมี ๘ กำ บูชาชื่อเห็นปานนี้เกิดแล้ว มหาชนทำการโห่ร้องตั้งพัน เที่ยวไปกับพระศาสดา นั่นเสียงโห่ร้องของมหาชนในที่นั้น.

ภรรยาไม่เลื่อมใสฟ้องพระราซา

ลำดับนั้น ภรรยาของเขาเป็นหญิงอันธพาล ไม่ยังความเลื่อมใสในพระปาฏิหาริย์เห็นปานนั้นให้เกิด ด่าเขาแล้ว กล่าวว่า "ธรรมดา พระราชาทั้งหลาย เป็นผู้ดุร้าย กริ้วคราวเดียวก็กระทำความพินาศแม้มาก ด้วยการตัดมือและเท้าเป็นต้น ความพินาศพึงมีแม้แก่เรา เพราะกรรมที่เธอกระทำ" พาพวกบุตรไปสู่ราชตระกูล ผู้อันพระราชาตรัสเรียกมาถามว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 208

"อะไรกันนี่" จึงกราบทูลว่า "สามีของหม่อมฉัน เอาดอกไม้สำหรับบำรุงพระองค์บูชาพระศาสดาแล้ว มีมือเปล่ามาสู่เรือน ถูกหม่อมฉันถามว่า ดอกไม้อยู่ไหน ก็กล่าวคำชื่อนี้ หม่อมฉันด่าเขาแล้วกล่าวว่า ธรรมดาพระราชาทั้งหลายเป็นผู้ดุร้าย กริ้วคราวเดียวก็กระทำความพินาศแม้มาก ด้วยการตัดมือและเท้าเป็นต้น ความพินาศพึงมีแม้แก่เรา เพราะกรรมที่เธอกระทำ ดังนี้แล้วก็ทิ้งเขามาในที่นี้ กรรมที่เขากระทำ จะเป็นกรรมดีก็ตาม จะเป็นกรรมชั่วก็ตาม กรรมนั้นจงเป็นของเขาผู้เดียว ขอเดชะ พระองค์จงทรงทราบความที่เขาอันหม่อมฉันทิ้งแล้ว".

พระราชาทรงทำเป็นกริ้ว

พระราชาทรงบรรลุโสดาปัตติผล ถึงพร้อมด้วยศรัทธา เป็นอริยสาวก ด้วยการเห็นทีแรกนั้นแล ทรงดำริว่า โอ หญิงนี้เป็นอันธพาล ไม่ยังความเลื่อมใสในคุณเห็นปานนี้ให้เกิดขึ้น ท้าวเธอทำเป็นดังกริ้ว ตรัสว่า "เจ้าพูดอะไร แม่ นายมาลาการนั้นกระทำการบูชา ด้วยดอกไม้สำหรับบำรุงเราหรือ" หญิงนั้นทูลว่า "ขอเดชะ พระเจ้าข้า" พระราชาตรัสว่า "ความดีอันเจ้าทิ้งเขา กระทำแล้ว เราจักรู้กิจที่ควรกระทำแก่นายมาลาการผู้กระทำการบูชาด้วยดอกไม้ทั้งหลายของเรา" ทรงส่งหญิงนั้นไปแล้ว รีบเสด็จไปในสำนักพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว เสด็จเที่ยวไปกับด้วยพระศาสดานั่นเทียว พระศาสดาทรงทราบความเลื่อมใสแห่งพระหฤทัยของพระราชานั้น เสด็จเที่ยวไปสู่พระนครตามถนนเป็นที่เที่ยวไปด้วยกลองแล้ว

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 209

ได้เสด็จไปสู่พระทวารแห่งพระราชมนเฑียรของพระราชา พระราชาทรงรับบาตร ได้ทรงมีพระประสงค์จะเชิญเสด็จพระศาสดาเข้าไปสู่พระราชมนเฑียร ส่วนพระศาสดา ได้ทรงแสดงพระอาการที่จะประทับนั่งในพระลานหลวง นั่นเอง พระราชาทรงทราบพระอาการนั้นแล้ว รับสั่งให้กระทำปะรำในขณะนั้นนั่นเอง ด้วยพระดำรัสว่า "ท่านทั้งหลายจงกระทำปะรำโดยเร็ว" พระศาสดาประทับนั่งกับหมู่ภิกษุแล้ว.

ถามว่า. ก็เพราะเหตุไร พระศาสดาจึงไม่เสด็จเข้าสู่พระราชมนเทียร.

แก้ว่า. (เพราะ) ได้ยินว่า ความปริวิตกอย่างนี้ได้มีแก่พระองค์ว่า "ถ้าว่าเราพึงเข้าไปนั่งในภายในไซร้ มหาชนไม่พึงได้เพื่อจะเห็นเรา คุณของนายมาลาการจะไม่พึงปรากฏ แต่ว่ามหาชนจักได้เพื่อเห็นเราผู้นั่งอยู่ ณ พระลานหลวง คุณของนายมาลาการจักปรากฏ.

พระราชาทรงพระราชทานสิ่งของอย่างละ ๘ อย่าง

จริงอยู่ พระพุทธเจ้าของเราเท่านั้น ย่อมอาจเพื่อกระทำคุณของบุคคลผู้มีคุณทั้งหลายให้ปรากฏ ชนที่เหลือเมื่อจะกล่าวคุณของบุคคลผู้มีคุณทั้งหลาย ย่อมประพฤติตระหนี่ (คือออมเสีย) แผ่นดอกไม้ ๔ แผ่น ได้ตั้งอยู่ในทิศทั้ง ๔ แล้ว มหาชนแวดล้อมพระศาสดาแล้ว พระราชาทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยอาหารอันประณีต ในเวลาเสร็จภัตกิจ พระศาสดาทรงกระทำอนุโมทนาแล้ว อันแผ่นดอกไม้ ๔ แผ่น แวดล้อมโดยนัยก่อนนั่นแล อันมหาชนผู้บันลือสีหนาทแวดล้อม ได้เสด็จไปสู่วิหารแล้ว พระราชาตามส่งพระศาสดา กลับแล้ว

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 210

รับสั่งให้หานายมาลาการมาแล้ว ตรัสถามว่า "เจ้าว่าอย่างไร จึงบูชาพระศาสดาด้วยดอกไม้ อันตนพึงนำมาเพื่อเรา" นายมาลาการกราบทูลว่า "ขอเดชะ ข้าพระองค์คิดว่า พระราชาจะฆ่าเราก็ตาม จะขับไล่เราเสียจากแว่นแคว้นก็ตาม ดังนี้แล้ว จึงสละชีวิตบูชาพระศาสดา" พระราชาตรัสว่า "เจ้าชื่อว่าเป็นมหาบุรุษ" แล้วพระราชทานของที่ควรให้ ชื่อหมวด ๘ แห่งวัตถุทั้งปวงนี้ คือช้าง ๘ ม้า ๘ ทาส ๘ ทาสี ๘ เครื่องประดับใหญ่ ๘ กหาปณะ ๘ พัน นารี ๘ นาง ที่นำมาจากราชตระกูล ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง และบ้านส่วย ๘ ตำบล.

พระศาสดาตรัสสรรเสริญนายมาลาการ

พระอานนท์เถระ คิดว่า วันนี้ ตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงสีหนาทตั้งพัน และการยกท่อนผ้าขึ้นตั้งพันย่อมเป็นไป วิบากของนายมาลาการ เป็นอย่างไรหนอแล พระเถระนั้นทูลถามพระศาสดาแล้ว ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพระเถระนั้นว่า "อานนท์ เธออย่าได้กำหนดว่า กรรมมีประมาณเล็กน้อย อันนายมาลาการนี้กระทำแล้ว" ก็นายมาลาการนี้ได้สละชีวิตกระทำการบูชาเราแล้ว เขายังจิตให้เลื่อมใสในเราด้วยอาการอย่างนั้น จักไม่ไปสู่ทุคติ ตลอดแสนกัลป์" ดังนี้แล้ว ตรัสว่า.

"นายมาลาการ จักดำรงอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จักไม่ไปสู่ทุคติตลอดแสนกัลป์ นี่เป็นผลแห่งกรรมนั้น ภายหลังเขาจักเป็นพระปัจเจกพุทธะนามว่า สุมนะ".

ก็ในเวลาพระศาสดาเสด็จถึงวิหาร เข้าไปสู่พระคันธกุฎี ดอกไม้เหล่านั้นตกลงที่ซุ้มพระทวารแล้ว.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 211

ไม่ควรทำกรรมที่เดือดร้อนภายหลัง

ในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "แหม กรรมของนายมาลาการ น่าอัศจรรย์ เธอสละชีวิตเพื่อพระพุทธเจ้าผู้ยังดำรงพระชนม์อยู่ กระทำการบูชาด้วยดอกไม้แล้ว ได้ของพระราชทานชื่อว่าหมวด ๘ ล้วน ในขณะนั้นนั่นเอง" พระศาสดาเสด็จออกจากพระคันธกุฎีแล้ว ไปสู่โรงธรรมด้วยการเสด็จไป ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์แล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยกถาชื่อนี้" จึงตรัสว่า "อย่างนั้นภิกษุทั้งหลาย ความเดือดร้อนในภายหลังย่อมไม่มี โสมนัสเท่านั้นย่อมเกิดขึ้น ในขณะที่ระลึกแล้วๆ เพราะบุคคลกระทำกรรมใด กรรมเห็นปานนั้น อันบุคคลควรกระทำแท้" เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๙. ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ ยสฺส ปตีโต สุมโน วิปากํ ปฏิเสวติ.

"บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง เป็นผู้เอิบอิ่ม มีใจดี ย่อมเสวยผลของกรรมใด กรรมนั้นแล อันบุคคลทำแล้ว เป็นกรรมดี".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ยํ กตฺวา ความว่า บุคคลกระทำกรรมใด

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 212

คือกรรมที่สามารถเพื่ออันยังสมบัติแห่งเทวดาและสมบัติแห่งมนุษย์ และนิพพานสมบัติให้เกิด คือมีสุขเป็นกำไร ย่อมไม่ตามเดือดร้อน โดยที่แท้ บุคคลนั้นชื่อว่า เป็นผู้เอิบอิ่มแล้วด้วยกำลังแห่งปีติ และชื่อว่า มีใจดีด้วยกำลังแห่งโสมนัส ในขณะที่ระลึกถึงๆ เป็นผู้เกิดปีติและโสมนัสในกาลต่อไป ย่อมเสวยผลในทิฏฐธรรมนั่นเอง กรรมนั้นอันบุคคลกระทำแล้ว เป็นกรรมดี คือเป็นกรรมงาม ได้แก่ สละสลวย.

ในเวลาจบเทศนา การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์ ๘ หมื่น ๔ พันแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องนายสุมนมาลาการ จบ.