พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. เรื่องภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะ [๖๑]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34845
อ่าน  715

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 293

๒. เรื่องภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะ [๖๑]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 293

๒. เรื่องภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะ [๖๑]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โอวเทยฺยานุสาเสยฺย" เป็นต้น ก็เทศนาตั้งขึ้นแล้วที่กิฏาคีรี.

ภิกษุลามกต้องถูกปัพพาชนียกรรม ( * )

ดังได้สดับมา ภิกษุ ๒ รูปนั้น แม้เป็นสัทธิวิหาริกของพระอัครสาวกก็จริง ถึงอย่างนั้น เธอก็กลายเป็นอลัชชี เป็นภิกษุชั่ว ภิกษุ ๒ รูปนั้น เมื่ออยู่ที่กิฏาคีรีกับภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งเป็นบริวารของตน (ล้วน) เป็นผู้ชั่วช้า ทำอนาจารหลายอย่างหลายประการเป็นต้น ปลูกต้นไม้กระถางเองบ้าง ใช้ให้เขาปลูกบ้าง ทำกรรมแห่งภิกษุผู้ประทุษร้ายตระกูล เลี้ยงชีพด้วยปัจจัยอันเกิดแต่กรรมนั้น ได้ทำอาวาสนั้นมิให้เป็นที่อยู่แห่งพวกภิกษุมีศีลเป็นที่รัก พระศาสดาทรงสดับข่าวนั้นแล้ว ตรัสเรียกพระอัครสาวกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารมา เพื่อทรงประสงค์ทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกนั้นแล้ว ตรัสว่า "สารีบุตรและโมคคัลลานะ เธอพากันไปเถิด ในภิกษุเหล่านั้น เหล่าใดไม่เชื่อฟังคำของเธอ จงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น ส่วนเหล่าใดเชื่อฟังคำ จงว่ากล่าวพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้น ธรรมดาผู้ว่ากล่าวสอน ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ที่ไม่ใช่บัณฑิตเท่านั้น แต่เป็นที่รักที่ชอบใจของบัณฑิตทั้งหลาย"


( * ) ที่มา 84000.org. ปัพพาชนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันพึงจะไล่เสีย การขับออกจากหมู่ การไล่ออกจากวัด กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลและประพฤติเลวทรามเป็นข่าวเซ็งแซ่ หรือแก่ภิกษุผู้เล่นคะนอง ๑ อนาจาร ๑ ลบล้างพระบัญญัติ ๑ มิจฉาชีพ ๑.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 294

ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า.

๒. โอเทยฺยานุสาเสยฺย อสพฺภา จ นิวารเย สตํ หิ โส ปิโย โหติ อสตํ โหติ อปฺปิโย.

"ผู้ใดพึงว่ากล่าว พึงสอน และพึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษ ผู้นั้นแล ย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่เป็นที่รักของพวกอสัตบุรุษ".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอวเทยฺย ความว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้วจึงกล่าว ชื่อว่าย่อมโอวาท เมื่อยังไม่เกิดเรื่อง ชี้โทษอันยังไม่มาถึงด้วยสามารถเป็นต้นว่า "แม้โทษจะพึงมีแก่ท่าน" ดังนี้ ชื่อว่าย่อมอนุศาสน์ กล่าวต่อหน้า ชื่อว่าย่อมโอวาท ส่งทูตหรือศาสน์ไปในที่ลับหลัง ชื่อว่าย่อมอนุศาสน์ แม้กล่าวคราวเดียว ชื่อว่าย่อมโอวาท กล่าวบ่อยๆ ชื่อว่าย่อมอนุศาสน์ อีกอย่างหนึ่งกำลังโอวาทนั่นแล ชื่อว่าอนุศาสน์ พึงกล่าวสั่งสอนอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า อสพฺภา ความว่า พึงห้ามจากอกุศลธรรม พึงให้ตั้งอยู่ นกุศลธรรม.

บทว่า สตํ ความว่า บุคคลเห็นปานนี้นั้น ย่อมเป็นที่รักแห่งสัตบุรุษทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น แต่ผู้ว่ากล่าว ผู้สั่งสอนนั้น ย่อมไม่เป็นที่รักแห่งพวกที่ไม่เห็นธรรม มีปรโลกอันข้ามล่วงแล้ว ผู้เห็นแก่อามิส บวชเพื่อประโยชน์แก่การเลี้ยงชีพเหล่านั้น ชื่อว่าอสัตบุรุษ ผู้ทิ่มแทงด้วยหอกคือปากอย่างนั้นว่า "ท่านไม่ใช่อุปัชฌาย์อาจารย์ของพวกเรา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 295

ว่ากล่าวพวกเราทำไม".

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว.

ฝ่ายพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ไปที่กิฏาคีรีนั้น ว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นแล้ว ในภิกษุเหล่านั้น บางพวกก็รับโอวาท ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ บางพวกก็สึกไป บางพวกต้องปัพพาชนียกรรม ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะ จบ.