๖. เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ [๖๕]
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 341
๖. เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ [๖๕]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 341
๖. เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ [๖๕]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระลกุณฏกภัททิยเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "เสโล ยถา" เป็นต้น.
พระเถระถูกล้อเลียนเพราะร่างเล็ก
ได้ยินว่า สหธรรมิกมีสามเณรเป็นต้น ซึ่งเป็นปุถุชน เห็นพระเถระแล้ว จับที่ศีรษะบ้าง ที่หูบ้าง ที่จมูกบ้าง พลางกล่าวว่า "อาจ๊ะ อาจ๋า อาไม่กระสัน ยังยินดีแน่นแฟ้น ในพระศาสนาหรือ" พระเถระไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายในสหธรรมิกเหล่านั้นเลย ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านจงดูเถิด สหธรรมมิกมีสามเณรเป็นต้น เห็นพระลกุณฏกภัททิยเถระแล้ว ย่อมรังแกอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายในสหธรรมิกเหล่านั้นเลย".
พระขีณาสพเป็นดังศิลา
พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไรกัน" เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า "เรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า" จึงตรัสว่า "อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาพระขีณาสพ ย่อมไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายเลย เพราะท่านเหล่านั้นไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือน เช่นกับศิลาแท่งทึบ" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ตรัสพระคาถานี้ว่า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 342
๖. เสโล ยถา เอกฆโน วาเตน น สมีรติ เอวํ นินฺทาปสํสาสุ น สมฺมิญฺชนฺติ ปณฺฑิตา.
"ภูเขาศิลาล้วน เป็นแท่งเดียว ย่อมไม่สะเทือนด้วยลมฉันใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่เอนเอียงในเพราะนินทาและสรรเสริญฉันนั้น.
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า นินฺทาปสํสาสุ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโลกธรรมไว้ ๒ ก็จริง ถึงอย่างนั้น พึงทราบเนื้อความด้วยสามารถแห่งโลกธรรมแม้ทั้ง ๘ อธิบายว่า เหมือนอย่างว่าภูเขาศิลาล้วน เป็นแท่งเดียว คือไม่มีโพรง ย่อมไม่สะเทือน คือไม่เอนเอียง ไม่หวั่นไหวด้วยลม ต่างด้วยลมพัดมาแต่ทิศตะวันออกเป็นต้นฉันใด เมื่อโลกธรรมแม้ทั้ง ๘ ครอบงำอยู่ บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เอนเอียง คือไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือน ด้วยอำนาจความยินร้ายหรือยินดีฉันนั้น.
ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ จบ.