พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. เรื่องพระเถระผู้ตั้งอยู่ในธรรม [๖๘]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34852
อ่าน  457

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 354

๙. เรื่องพระเถระผู้ตั้งอยู่ในธรรม [๖๘]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 354

๙. เรื่องพระเถระผู้ตั้งอยู่ในธรรม [๖๘]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระธรรมิกเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น อตฺตเหตุ" เป็นต้น.

อุบาสกหนีไปบวชได้บรรลุพระอรหัต

ได้ยินว่า อุบาสกคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี อยู่ครองเรือนโดยชอบธรรม อุบาสกนั้นเป็นผู้ใคร่จะบวช วันหนึ่งเมื่อนั่งสนทนาถึงถ้อยคำปรารภความสุขกับภรรยา จึงพูดว่า "นางผู้เจริญ ฉันปรารถนาจะบวช" ภรรยาอ้อนวอนว่า "นาย ถ้ากระนั้น ขอท่านจงคอยจนกว่าดิฉันจะคลอดบุตรซึ่งอยู่ในท้องก่อนเถิด" เขาคอยแล้ว ในเวลา ที่เด็กเดินได้ จึงอำลานางอีก เมื่อนางวิงวอนว่า "นาย ขอท่านจงคอยจนกว่าเด็กนี้เจริญวัยเถิด" จึงมาคิดว่า ประโยชน์อะไรของเราด้ว หญิงนี้ ที่เราลาแล้วหรือไม่ลา เราจักทำการสลัดออกจากทุกข์แก่ตนละ ดังนี้แล้ว ออกไปบวชแล้ว ท่านเรียนกัมมัฏฐาน พากเพียรพยายามอยู่ ยังกิจแห่งบรรพชิตของตนให้สำเร็จแล้วจึง (กลับ) ไปเมืองสาวัตถีอีก เพื่อประโยชน์แก่การเยี่ยมบุตรและภรรยาเหล่านั้น แล้วได้แสดงธรรมกถาแก่บุตร.

บุตรและภรรยาออกบวชได้บรรลุพระอรหัต

แม้บุตรนั้นออกบวชแล้ว ก็แลครั้นบวชแล้วไม่นานนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัต ฝ่ายภรรยาเก่าของภิกษุ (ผู้เป็นบิดา) นั้นคิดว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 355

เราอยู่ครองเรือนเพื่อประโยชน์แก่ชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นแม้ทั้งสองก็บวชแล้ว บัดนี้ ประโยชน์อะไรของเราด้วยการครองเรือนเล่า เรา จักบวชละ แล้วจึงออกไปบวชในสำนักนางภิกษุณี ก็แลครั้นบวชแล้วไม่นานเลย ก็ได้บรรลุพระอรหัต.

พวกภิกษุสรรเสริญพระธรรมิกะ

ภายหลังวันหนึ่ง พวกภิกษุสนทนากันขึ้นในธรรมสภาว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมิกอุบาสกออกบวช บรรลุพระอรหัตแล้ว ทั้งได้เป็นที่พึ่งแก่บุตรและภรรยา ก็เพราะความที่ตนตั้งอยู่ในธรรม".

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอ นั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ" เมื่อพวกภิกษุกราบทูลว่า "ด้วยกถาชื่อนี้พระเจ้าข้า" แล้ว จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาว่าบัณฑิตไม่พึงปรารถนาความสำเร็จเพราะเหตุแห่งตน (และ) ไม่พึงปรารถนาความสำเร็จเพราะเหตุแห่งคนอื่น แต่พึงเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีธรรมเป็นที่พึ่งโดยแท้" เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๙. น อตฺตเหตุ น ปรสฺส เหตุ น ปุตฺตมิจฺเฉ น ธนํ น รฏฺฐํ น อิจฺเฉยฺย อธมฺเมน สมิทฺธิมตฺตโน ส สีลวา ปญฺญวา ธมฺมิโก สิยา.

"บัณฑิตย่อมไม่ทำบาป เพราะเหตุแห่งตน ย่อมไม่ทำบาป เพราะเหตุแห่งบุคคลอื่น บัณฑิต

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 356

ไม่พึงปรารถนาบุตร ไม่พึงปรารถนาทรัพย์ ไม่พึงปรารถนาแว่นแคว้น (และ) ไม่พึงปรารถนาความสำเร็จเพื่อตน โดยไม่เป็นธรรม บัณฑิตนั้นพึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญา ตั้งอยู่ในธรรม".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น อตฺตเหตุ ความว่า ธรรมดาบัณฑิตย่อมไม่ทำบาป เพราะเหตุแห่งตนหรือเพราะเหตุแห่งบุคคลอื่น.

บทว่า น ปุตฺตมิจฺเฉ ความว่า บัณฑิตไม่พึงปรารถนาบุตร หรือทรัพย์ หรือแว่นแคว้น ด้วยกรรมอันลามก บัณฑิตเมื่อปรารถนาแม้สิ่งเหล่านั้น ย่อมไม่กระทำกรรมลามกเลย.

บทว่า สมิทฺธิมตฺตโน ความว่า บัณฑิตไม่พึงปรารถนาแม้ความสำเร็จเพื่อตน โดยไม่เป็นธรรม อธิบายว่า บัณฑิตย่อมไม่ทำบาป แม้เพราะเหตุแห่งความสำเร็จ.

บทว่า ส สีลวา ความว่า บุคคลผู้เห็นปานนี้นั่นแล พึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญา และตั้งอยู่ในธรรม อธิบายว่า ไม่พึงเป็นอย่างอื่น.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระเถระผู้ตั้งอยู่ในธรรม จบ.