พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. เรื่องพระมหากัสสปเถระ [๗๒]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34857
อ่าน  455

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 369

๒. เรื่องพระมหากัสสปเถระ [๗๒]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 369

๒. เรื่องพระมหากัสสปเถระ [๗๒]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อุยฺยุญฺชนฺติ" เป็นต้น.

ธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าผู้จะเสด็จจาริก

ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง พระศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ รับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "โดยกาลล่วงไปกึ่งเดือน เราจักหลีกไปสู่ที่จาริก".

ได้ยินว่า การรับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "บัดนี้เราจักหลีกไปสู่ที่จาริกโดยกาลล่วงไปกึ่งเดือน" ดังนี้ ด้วยทรงประสงค์ว่า ภิกษุทั้งหลายจักทำกิจต่างๆ มีการระบมบาตรและย้อมจีวรเป็นต้นของตนแล้ว จักไปตามสบาย ด้วยอาการอย่างนี้ นี้เป็นธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้มีพระประสงค์จะเสด็จจาริกไปกับพวกภิกษุ ก็เมื่อภิกษุทั้งหลาย กำลังทำกิจต่างๆ มีการระบมบาตรเป็นต้นของตนอยู่ แม้พระมหากัสสปเถระ ก็ซักจีวรทั้งหลายแล้ว.

พวกภิกษุว่าพระเถระละญาติและอุปัฏฐากไปไม่ได้

พวกภิกษุยกโทษว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงซักจีวร ในพระนครนี้ ทั้งภายในและภายนอก มีมนุษย์อาศัยอยู่ ๑๘ โกฏิ บรรดามนุษย์เหล่านั้น พวกใดไม่เป็นญาติของพระเถระ พวกนั้นเป็น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 370

อุปัฏฐาก พวกใดไม่เป็นอุปัฏฐาก พวกนั้นเป็นญาติ ชนเหล่านั้น ย่อมทำความนับถือ (และ) สักการะแก่พระเถระด้วยปัจจัย ๔ พระเถระนั้น จักละอุปการะมีประมาณเท่านั้น ไป ณ ที่ไหนได้ แม้หากพึงไปได้ ก็จักไม่ไปเลยจากซอกชื่อ มาปมาทะ.

ดังได้สดับมา พระศาสดาเสด็จถึงซอกใดแล้ว ย่อมตรัสบอกภิกษุทั้งหลาย ผู้ควรที่พระองค์พึงให้กลับอีกว่า "เธอทั้งหลายจงกลับเสียแต่ ที่นี้ อย่าประมาท" ซอกนั้นชาวโลกเรียกว่า "ซอกมาปมาทะ" คำนั่น ภิกษุทั้งหลายกล่าวหมายเอาซอกมาปมาทะนั้น.

รับสั่งให้พระมหากัสสปกลับ

แม้พระศาสดาเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกพลางดำริว่า ในนครนี้ ทั้งภายใน ทั้งภายนอก มีมนุษย์อยู่ ๑๘ โกฏิ อันภิกษุจะต้องไปในที่ทำการมงคลและอวมงคลของมนุษย์ทั้งหลายมีอยู่ เราไม่อาจทำวิหารให้เปล่าได้ เราจักให้ใครหนอแลกลับ".

ลำดับนั้น พระองค์ได้ทรงมีพระปริวิตกอย่างนี้ว่า ก็พวกมนุษย์เหล่านั้น เป็นทั้งญาติเป็นทั้งอุปัฏฐากของกัสสป เราควรให้กัสสปกลับ พระองค์ตรัสกะพระเถระว่า "กัสสป เราไม่อาจทำวิหารให้เปล่าได้ ความต้องการด้วยภิกษุในที่ทำมงคลและอวมงคลทั้งหลาย ของพวกมนุษย์มีอยู่ เธอกับบริษัทของตน จงกลับเถิด" พระเถระทูลว่า "ดีละ พระเจ้าข้า" แล้วพาบริษัทกลับ ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านเห็นไหมละ พวกเราพูดประเดี๋ยวนี้เองมิใช่หรือ คำที่พวกเราพูดว่า เพราะเหตุไร พระมหากัสสปจึงซักจีวร ท่านจัก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 371

ไม่ไปกับพระศาสดา ดังนี้ นั่นแล เกิดเป็นจริงแล้ว".

ทรงชี้แจงเหตุที่พระมหากัสสปกลับ

พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายแล้วเสด็จกลับประทับยืน ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวชื่ออะไรกันนั่น" ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "พวกข้าพระองค์ กล่าวปรารภพระมหากัสสปเถระ พระเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดตามแนวความที่ตนกล่าวแล้วนั่นแล.

พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าว (หา) กัสสปว่า ข้องแล้วในตระกูลและในปัจจัยทั้งหลาย (แต่ความจริง) เธอกลับแล้ว ด้วยทำในใจว่า เรา (พระมหากัสสปะ) จักทำตามคำของเรา (ตถาคต) " ก็กัสสปนั่น แม้ในกาลก่อน เมื่อจะทำความปรารถนานั่นแล ก็ได้ทำความปรารถนาว่า "เราพึงเป็นผู้ไม่ข้องในปัจจัย ๔ มีอุปมาดังพระจันทร์ สามารถเข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลายได้" กัสสปนั่น ไม่มีความข้องในตระกูลหรือในปัจจัยทั้งหลาย เราเมื่อจะกล่าวข้อปฏิบัติอันเปรียบด้วยพระจันทร์ และข้อปฏิบัติแห่งวงศ์ของพระอริยะ ก็กล่าวอ้างกัสสปให้เป็นต้น".

พระศาสดาตรัสบุรพจริตของพระเถระ

ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระศาสดาว่า "ก็พระเถระตั้งความปรารถนาไว้เมื่อไร พระเจ้าข้า".

พระศาสดา. พวกเธอประสงค์จะฟังหรือ ภิกษุทั้งหลาย.

พวกภิกษุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 372

พระศาสดาตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย ในที่สุดแห่งแสนกัลป์แต่กัลป์นี้ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก" ดังนี้แล้ว ตรัสความประพฤติในกาลก่อนของพระเถระทั้งหมด ตั้งต้นแต่ท่านตั้งความปรารถนาไว้ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ บุรพจริตนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ให้พิสดารแล้วในพระบาลีอันแสดงประวัติของพระเถระนั่นแล.

ตรัสเปรียบพระเถระด้วยพระยาหงส์

ก็พระศาสดาครั้นตรัสบุรพจริตของพระเถระนี้ให้พิสดารแล้ว จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เพราะอย่างนี้แล เราจึงกล่าวข้อปฏิบัติอันเปรียบด้วยพระจันทร์ และข้อปฏิบัติแห่งวงศ์ของพระอริยะ อ้างเอากัสสปบุตรของเราให้เป็นต้น ชื่อว่าความข้องในปัจจัยก็ดี ตระกูลก็ดี วิหารก็ดี บริเวณก็ดี ย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา บุตรของเราไม่ข้องในอะไรๆ เลย เหมือนพระยาหงส์ ร่อนลงในเปือกตม เที่ยวไปในเปือกตมนั้นแล้ว ก็บินไปฉะนั้น" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๒. อุยฺยุญฺชนฺติ สตีมนฺโต น นิเกเต รมนฺติ เต หํสาว ปลฺลลํ หิตฺวา โอกโมกํ ชหนฺติ เต.

"ท่านผู้มีสติย่อมออก ท่านย่อมไม่ยินดีในที่อยู่ ท่านละความห่วงใยเสีย เหมือนฝูงหงส์ละเปือกตมไปฉะนั้น".

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 373

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า อุยฺยุญฺชนฺติ สตีมนฺโต ความว่า ท่านผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติ คือว่าท่านผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ย่อมขวนขวาย ร่ำอยู่ในคุณอันตนแทงตลอดแล้ว มีฌานและวิปัสสนาเป็นต้น ด้วยนึกถึง ด้วยเข้าสมาบัติ ด้วยออกจากสมาบัติ ด้วยตั้งใจอยู่ในสมาบัติ และด้วยพิจารณาถึง.

บาทพระคาถาว่า น นิเกเต รมนฺติ เต คือชื่อว่าความยินดีในที่ห่วงของท่าน ย่อมไม่มี.

บทว่า หํสาว นี้ เป็นแง่แห่งเทศนา ก็นี้ความอธิบายในคำนี้ว่า ฝูงนกถือเอาเหยื่อของตน ในเปือกตมอันบริบูรณ์ด้วยเหยื่อแล้ว ในเวลาไป ไม่ทำความห่วงสักหน่อยในที่นั้นว่า "น้ำของเรา ดอกปทุมของเรา ดอกอุบลของเรา ดอกบุณฑริกของเรา หญ้าของเรา" หาความเสียดายมิได้เทียว ละประเทศนั้น บินเล่นไปในอากาศ ฉันใด พระขีณาสพทั้งหลายนั่น ก็ฉันนั้นแล แม้อยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ไม่ข้องแล้วในสกุลเป็นต้นเทียวอยู่ แม้ในคราวไป ละที่นั้นไปอยู่ หาความห่วงหา ความเสียดายว่า "วิหารของเรา บริเวณของเรา อุปัฏฐากของเรา" มิได้เทียว ไปอยู่.

บทว่า โอกโมกํ คือ อาลัย ความว่า ละความห่วงทั้งปวงเสีย.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระมหากัสสปเถระ จบ.