พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. เรื่องพระมหากัจจายนเถระ [๗๕]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34860
อ่าน  481

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 381

๕. เรื่องพระมหากัจจายนเถระ [๗๕]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 381

๕. เรื่องพระมหากัจจายนเถระ [๗๕]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในบุพพาราม ทรงปรารภพระมหากัจจายนเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยสฺสินฺทฺริยานิ" เป็นต้น.

พระเถระยกย่องการฟังธรรม

ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง พระศาสดาอันพระสาวกหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว ประทับนั่ง ณ ภายใต้ปราสาทของมิคารมารดา ในวันมหาปวารณา ในสมัยนั้น พระมหากัจจายนเถระอยู่ในอวันตีชนบท ก็ท่านนั้นมาแล้วแม้แต่ที่ไกล ย่อมยกย่องการฟังธรรมนั่นเทียว เพราะฉะนั้น พระเถระผู้ใหญ่ทั้งหลายเมื่อจะนั่ง จึงนั่งเว้นอาสนะไว้เพื่อพระมหากัจจายนเถระ.

ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาจากเทวโลกทั้งสองพร้อมด้วยเทพบริษัท ทรงบูชาพระศาสดาด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้อันเป็นทิพย์เป็นต้นแล้ว ประทับยืนอยู่ มิได้เห็นพระมหากัจจายนเถระ จึงทรงรำพึงว่า เพราะเหตุอะไรหนอแล พระผู้เป็นเจ้าของเราจึงไม่ปรากฏ ก็ถ้าพระผู้เป็นเจ้าพึงมา การมาของท่านนั้น เป็นการดีแล.

พระเถระมาแล้วในขณะนั้นนั่นเอง แสดงตนซึ่งนั่งแล้วบนอาสนะของตน นั่นแล ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระเถระแล้ว ทรงจับข้อเท้าทั้งสองอย่างมั่นแล้ว ตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้าของเรามาแล้วหนอ เราหวังการมาของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ทีเดียว" ดังนี้แล้ว ก็ทรงนวดเท้าทั้งสองของพระเถระ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 382

ด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง บูชาด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ไหว้แล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

เทพดารักใคร่ภิกษุผู้สำรวมอินทรีย์

ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า "ท้าวสักกะทรงเห็นแก่หน้า จึงทำสักการะ ไม่ทรงทำสักการะเห็นปานนี้แก่พระสาวกผู้ใหญ่ที่เหลือ เห็นพระมหากัจจายนเถระแล้ว จับข้อเท้าทั้งสองโดยเร็ว ตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้าของเรามา ดีหนอ เราหวังการมาของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ทีเดียว ดังนี้แล้ว ทรงนวดเท้าทั้งสองด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง บูชาแล้ว ไหว้แล้ว ประทับยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง" พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายนั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีทวารอันตนคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เช่นกับด้วยมหากัจจายนะผู้บุตรของเรา ย่อมเป็นที่รักของเหล่าเทพเจ้านั่นเทียว" เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๕. ยสฺสินฺทฺริยานิ สมถงฺคตานิ อสฺสา ยถา สารถินา สุทนฺตา ปหีนมานสฺส อนาสวสฺส เทวาปิ ตสฺส ปิหยนฺติ ตาทิโน.

"อินทรีย์ทั้งหลายของภิกษุใด ถึงความสงบแล้ว เหมือนม้าอันนายสารถีฝึกดีแล้วฉะนั้น แม้เหล่าเทพเจ้า ย่อมกระหยิ่มต่อภิกษุนั้น ผู้มีมานะอันละแล้ว ผู้หาอาสวะมิได้ ผู้คงที่".

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 383

แก้อรรถ

เนื้อความแห่งพระคาถานั้น ดังนี้.

อินทรีย์ ๖ ของภิกษุใดถึงความสงบ คือความเป็นอินทรีย์อันตนทรมานแล้ว ได้แก่ ความเป็นอินทรีย์หมดพยศร้าย เหมือนม้าอันนายสารถีผู้ฉลาดฝึกดีแล้วฉะนั้น ต่อภิกษุนั้น ผู้ชื่อว่า มีมานะอันละแล้ว เพราะละมานะมีอย่าง ๙ ดำรงอยู่ ผู้ชื่อว่า หาอาสวะมิได้ เพราะไม่มีอาสวะ ๔.

บทว่า ตาทิโน ความว่า ทั้งเหล่าเทพเจ้า ทั้งเหล่ามนุษย์ย่อมกระหยิ่ม คือย่อมปรารถนาการเห็นและการมาของภิกษุผู้เห็นปานนั้น ผู้ดำรงอยู่โดยภาวะแห่งผู้คงที่.

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระมหากัจจายนเถระ จบ.