๖. เรื่องพระสารีบุตรเถระ [๗๖]
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 384
๖. เรื่องพระสารีบุตรเถระ [๗๖]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 384
๖. เรื่องพระสารีบุตรเถระ [๗๖]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปวีสโม" เป็นต้น.
พระสารีบุตรถูกภิกษุรูปหนึ่งฟ้อง
ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรออกพรรษาแล้ว ใคร่จะหลีกไปสู่ที่จาริก จึงทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว ออกไปกับด้วยบริวารของตน ภิกษุทั้งหลายมากแม้อื่นตามส่งพระเถระแล้ว ก็พระเถระปราศรัยกะภิกษุทั้งหลายผู้ปรากฏอยู่ ด้วยสามารถชื่อและโคตร ตามชื่อและโคตรแล้ว จึงบอกให้กลับ ภิกษุผู้ไม่ปรากฏด้วยสามารถชื่อและโคตรรูปใดรูปหนึ่ง คิดว่า โอหนอ พระเถระ น่าจะยกย่องปราศรัยกะเราบ้าง ด้วยสามารถชื่อและโคตร แล้วพึงให้กลับ พระเถระไม่ทันกำหนดถึงท่าน ในระหว่างแห่งภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก แม้ภิกษุนั้นผูกอาฆาตในพระเถระว่า พระเถระไม่ยกย่องเรา เหมือนภิกษุทั้งหลายอื่น มุมสังฆาฏิแม้ของพระเถระถูกสรีระของภิกษุนั้นแล้ว แม้ด้วยเหตุนั้น ภิกษุนั้นก็ผูกอาฆาตแล้วเหมือนกัน ภิกษุนั้นรู้ว่า บัดนี้ พระเถระจักล่วงอุปจารวิหาร จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ท่านพระสารีบุตรประหารข้าพระองค์เหมือนทำลายหมวกหู ไม่ยังข้าพระองค์ให้อดโทษแล้ว หลีกไปสู่ที่จาริก ด้วยสำคัญว่า เป็นอัครสาวกของพระองค์" พระศาสดารับสั่งให้เรียกพระเถระมาแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 385
พระเถระเปรียบตนด้วยอุปมา ๙ อย่าง
ในขณะนั้น พระมหาโมคคัลลานเถระและพระอานนทเถระคิดแล้วว่า พระศาสดาไม่ทรงทราบความที่แห่งภิกษุนี้ อันพี่ชายของพวกเรา ไม่ประหารแล้วก็หาไม่ แต่พระองค์จักทรงประสงค์ให้ท่านบันลือสีหนาท เราจักให้บริษัทประชุมกัน พระเถระทั้งสองนั้นมีลูกดาลอยู่ในมือ เปิดประตูบริเวณแล้ว กล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงออก ท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงออก บัดนี้ท่านพระสารีบุตรจักบันลือสีหนาท ณ เบื้องพระพักตร์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า" ให้ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประชุมกันแล้ว.
ฝ่ายพระเถระมาถวายบังคมพระศาสดา นั่งแล้ว ลำดับนั้นพระศาสดาตรัสถามเนื้อความนั้นกะพระเถระนั้นแล้ว พระเถระไม่กราบทูลทันทีว่า "ภิกษุนี้อันข้าพระองค์ไม่ประหารแล้ว" เมื่อจะกล่าวคุณกถาของตน จึงกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า สติเป็นไปในกาย อันภิกษุใดไม่พึงเข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบกระทั้งสพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่งในศาสนานี้ ไม่ขอโทษแล้ว พึงหลีกไปสู่ที่จาริกแน่" ดังนี้แล้ว ประกาศความที่แห่งตนมีจิตเสมอด้วยแผ่นดิน เสมอด้วยน้ำ ไฟ ลม ผ้าเช็ดธุลี เด็กจัณฑาล โคอุสภะมีเขาขาด ความอึดอัดด้วยกายของตนเหมือนซากงูเป็นต้น และการบริหารกายของตน ดุจภาชนะมันข้นโดยนัยเป็นต้นว่า "พระเจ้าข้า บุคคลย่อมทิ้งของอันสะอาดบ้าง ย่อมทิ้งของอันไม่สะอาดบ้าง ลงในแผ่นดินแม้ฉันใด" ก็แลเมื่อพระเถระกล่าวคุณของตน ด้วยอุปมา ๙ อย่างนี้อยู่ แผ่นดินใหญ่ไหวจนที่สุดน้ำ ในวาระทั้ง ๙ แล้ว ก็ในเวลานำอุปมาด้วยผ้าเช็ดธุลี เด็กจัณฑาลและภาชนะมันข้นมา ภิกษุผู้ปุถุชนไม่อาจเพื่ออดกลั้นน้ำตาไว้ได้ ธรรมสังเวชเกิดแก่ภิกษุผู้ขีณาสพทั้งหลายแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 386
เมื่อพระเถระกล่าวคุณของตนอยู่นั่นแล ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในสรีระทั้งสิ้นของภิกษุผู้กล่าวตู่แล้ว ทันใดนั้นแล ภิกษุนั้นหมอบลงใกล้พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า ประกาศโทษในเพราะความกล่าวตู่ ด้วยคำอันไม่จริงแสดงโทษล่วงเกินแล้ว.
จิตของพระสารีบุตรเหมือนแผ่นดิน
พระศาสดาตรัสเรียกพระเถระมาแล้ว ตรัสว่า "สารีบุตร เธอจงอดโทษต่อโมฆบุรุษนี้เสีย ตลอดเวลาที่ศีรษะของเขา จักไม่แตกโดย ๗ เสี่ยง" พระเถระนั่งกระโหย่งประคองอัญชลีกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ยอมอดโทษต่อผู้มีอายุนั้น และขอผู้มีอายุนั้นจงอดโทษต่อข้าพระองค์ ถ้าว่าโทษของข้าพระองค์มีอยู่" ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดูความที่พระเถระมีคุณไม่ต่ำทราม พระเถระไม่กระทำความโกรธหรือความประทุษร้าย แม้มีประมาณน้อย ในเบื้องบนของภิกษุผู้กล่าวตู่ด้วยมุสาวาทชื่อเห็นปานนี้ ตัวเองเทียวนั่งกระโหย่งประคองอัญชลีให้ภิกษุนั้นอดโทษ".
พระศาสดาทรงสดับกถานั้นแล้วตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไรกัน" เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "กถาชื่อนี้พระเจ้าข้า" ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ใครๆ ไม่อาจให้ความโกรธหรือความประทุษร้ายเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เช่นกับสารีบุตรได้ ภิกษุทั้งหลาย จิตของสารีบุตร เช่นกับด้วยแผ่นดินใหญ่ เช่นกับเสาเขื่อนและเช่นกับห้วงน้ำใส" เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 387
๖. ปวีสโม โน วิรุชฺฌติ อินฺทขีลูปโม ตาทิ สุพฺพโต รหโทว อเปตกทฺทโม สํสารา น ภวนฺติ ตาทิโน.
"ภิกษุใด เสมอด้วยแผ่นดิน เปรียบด้วยเสาเขื่อน คงที่ มีวัตรดี มีกิเลสดังเปือกตมไปปราศแล้ว เหมือนห้วงน้ำปราศจากเปือกตม ย่อมไม่ (ยินดี) ยินร้าย สงสารทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้คงที่".
แก้อรรถ
เนื้อความแห่งพระคาถานั้น ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ชนทั้งหลายย่อมทิ้งของสะอาดมีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นบ้าง ย่อมทิ้งของไม่สะอาดมีมูตรและกรีสเป็นต้นบ้าง ลงในแผ่นดิน อนึ่งเด็กเป็นต้น ย่อมถ่ายปัสสาวะบ้าง ย่อมถ่ายอุจจาระบ้าง รดเสาเขื่อน อันเขาฝั่งไว้ใกล้ประตูเมือง แต่ชนทั้งหลายพวกอื่น ย่อมสักการะเสาเขื่อนนั้น ด้วยวัตถุมีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ในเพราะการทำนั้น ความยินดีหรือความยินร้าย ย่อมไม่เกิดแก่แผ่นดินหรือเสาเขื่อนนั่นแลฉันใด ภิกษุผู้ขีณาสพนี้ใดชื่อว่า ผู้คงที่ เพราะความเป็นผู้ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้งหลาย ๘ ชื่อว่า ผู้มีวัตรดี เพราะความที่แห่งวัตรทั้งหลายงาม ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อชนทั้งหลายทำสักการะและอสักการะอยู่ ย่อมไม่ยินดีย่อมไม่ยินร้ายทีเดียวว่า ชนเหล่านั้นย่อมสักการะเราด้วยปัจจัย ๔ แต่ชนเหล่านี้ย่อมไม่สักการะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 388
โดยที่แท้ ภิกษุผู้ขีณาสพนั้นย่อมเป็นผู้เสมอด้วยแผ่นดินและเป็นผู้เปรียบด้วยเสาเขื่อนนั่นเอง ก็ห้วงน้ำที่มีเปือกตมไปปราศแล้ว เป็นห้วงน้ำใส ฉันใด ภิกษุผู้ขีณาสพนั้นชื่อว่า มีเปือกตมไปปราศแล้ว ด้วยเปือกตมทั้งหลายมีเปือกตมคือราคะเป็นต้น เพราะความเป็นผู้มีกิเลสไปปราศแล้ว ย่อมเป็นผู้ผ่องใสเทียว ฉันนั้น.
บทว่า ตาทิโน ความว่า ก็ชื่อว่าสงสารทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งการท่องเที่ยวไปในสุคติและทุคติทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น คือผู้เห็นปานนั้น.
ในเวลาจบเทศนา ภิกษุ ๙ พันรูปบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ดังนี้แล.
เรื่องพระสารีบุตรเถระ จบ.