พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. เรื่องพระติสสเถระชาวกรุงโกสัมพี [๗๗]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34862
อ่าน  505

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 389

๗. เรื่องพระติสสเถระชาวกรุงโกสัมพี [๗๗]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 389

๗. เรื่องพระติสสเถระชาวกรุงโกสัมพี [๗๗]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภสามเณรของพระติสสเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สนฺตํ ตสฺส มนํ โหติ" เป็นต้น.

ศิษย์บรรลุพระอรหัตก่อนอาจารย์

ดังได้สดับมา กุลบุตรชาวกรุงโกสัมพีผู้หนึ่งบวชในพระศาสนา ได้อุปสมบทแล้วปรากฏว่า พระโกสัมพีวาสีติสสเถระ เมื่อพระเถระนั้นจำพรรษาอยู่ในกรุงโกสัมพี อุปัฏฐากนำไตรจีวร เนยใสและน้ำอ้อย มาวางไว้ใกล้เท้า ครั้งนั้นพระเถระกล่าวกะอุปัฏฐากนั้นว่า "นี้อะไร อุบาสก".

อุปัฏฐาก. กระผมนิมนต์ท่านให้อยู่จำพรรษามิใช่หรือ ขอรับ ก็พวกภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ในวิหารของพวกกระผม ย่อมได้ลาภนั้น นิมนต์รับเถิด ขอรับ.

พระเถระ. ช่างเถิด อุบาสก ความต้องการด้วยวัตถุนี้ของเรา ไม่มี.

อุปัฏฐาก. เพราะเหตุอะไร ขอรับ.

พระเถระ. แม้สามเณรผู้เป็นกัปปิยการกในสำนักของเรา ก็ไม่มี ผู้มีอายุ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 390

อุปัฏฐาก. ท่านผู้เจริญ ถ้ากัปปิยการกไม่มี บุตรของกระผม จักเป็นสามเณรในสำนักของพระผู้เป็นเจ้า.

พระเถระรับแล้ว อุบาสกนำบุตรของตนผู้มีอายุ ๗ ขวบ ไปสู่สำนักของพระเถระแล้ว ได้ถวายว่า "ขอท่านจงให้เด็กนี้บวชเถิด" ครั้งนั้น พระเถระชุบผมของเด็กนั้นให้ชุ่มแล้ว ให้ตจปัญจกกัมมัฏฐาน ให้บวชแล้ว ในเวลาปลงผมเสร็จนั่นเอง กุมารนั้นก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา พระเถระครั้นให้กุมารนั้นบวชแล้ว อยู่ในที่นั้นสิ้นกึ่งเดือน แล้วคิดว่า จักเฝ้าพระศาสดา จึงให้สามเณรถือห่อภัณฑะ เดินไปสู่วิหารแห่งหนึ่งในระหว่างทาง สามเณรถือเสนาสนะจัดแจงเพื่อพระอุปัชฌาย์แล้ว เมื่อสามเณรนั้นจัดแจงเสนาสนะอยู่เทียว ก็หมดเวลาแล้ว เพราะเหตุนั้น สามเณรจึงไม่อาจจัดแจงเสนาสนะเพื่อตนได้.

ครั้งนั้น พระเถระถามสามเณรนั้น ผู้มาในเวลาบำรุง นั่งอยู่แล้วว่า "สามเณร เจ้าจัดแจงที่อยู่ของตนแล้วหรือ".

สามเณร. กระผมไม่ได้โอกาสเพื่อจัดแจง ขอรับ.

ตาสามเณรแตกเพราะอาจารย์

พระเถระกล่าวว่า "ถ้ากระนั้น จงอยู่ในที่อยู่ของฉันเถิด การอยู่ในที่อาคันตุกะลำบาก" พาสามเณรนั้นแลเข้าไปสู่เสนาสนะแล้ว ก็พระเถระเป็นปุถุชน พอนอนเท่านั้น ก็หยั่งลงสู่ความหลับ สามเณรคิดว่า วันนี้เป็นวันที่ ๓ ของเรา ผู้อยู่ในเสนาสนะเดียวกันกับพระอุปัชฌาย์ ถ้าเราจักนอนหลับ พระเถระพึงต้องสหไสยาบัติ เราจะนั่งอย่างเดียว ยังกาลให้น้อมล่วงไป สามเณรนั่งคู้บัลลังก์ใกล้เตียงของ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 391

พระอุปัชฌาย์เทียว ยังราตรีให้น้อมล่วงไปแล้ว พระเถระลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง คิดว่า ควรให้สามเณรออก จึงจับพัดที่วางอยู่ข้างเตียง เอาปลายใบพัดตีเสื่อลำแพนของสามเณรแล้ว ยกพัดขึ้นเบื้องบนกล่าวว่า "สามเณรจงออกไปข้างนอก" ใบพัดกระทบตา ตาแตกแล้วทันใดนั้นนั่นเอง สามเณรนั้นกล่าวว่า "อะไร ขอรับ" เมื่อพระเถระกล่าวว่า "เจ้าจงลุกขึ้น ออกไปข้างนอก" ก็ไม่กล่าวว่า "ตาของผมแตกแล้ว ขอรับ" ปิด (ตา) ด้วยมือข้างหนึ่งออกไปแล้ว ก็แลในเวลาทำวัตร สามเณรไม่นั่งนิ่งด้วยคิดว่า ตาของเราแตกแล้ว กุมตาด้วยมือข้างหนึ่ง ถือกำไม้กวาดด้วยมือข้างหนึ่ง กวาดเวจกุฎีและที่ล้างหน้าและตั้งน้ำล้างหน้าไว้ แล้วกวาดบริเวณ สามเณรนั้นเมื่อถวายไม้ชำระฟันแก่พระอุปัชฌาย์ ได้ถวายด้วยมือเดียว.

อาจารย์ขอโทษศิษย์

ครั้งนั้น พระอุปัชฌาย์กล่าวกะสามเณรนั้นว่า "สามเณรนี้ไม่ได้สำเหนียกหนอ จึงได้เพื่อถวายไม้ชำระฟันแก่อาจารย์และอุปัชฌาย์ด้วยมือเดียว".

สามเณร. ผมทราบ ขอรับ ว่า นั่นไม่เป็นวัตร แต่มือข้างหนึ่งของผมไม่ว่าง.

พระเถระ. อะไร สามเณร.

สามเณรนั้นบอกความเป็นไปนั้นแล้วจำเดิมแต่ต้น พระเถระพอฟังแล้ว มีใจสลด กล่าวว่า "โอ กรรมหนักอันเราทำแล้ว" กล่าวว่า "จงอดโทษแก่ฉัน สัตบุรุษ ฉันไม่รู้ข้อนั้น ขอจงเป็นที่พึ่ง" ดังนี้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 392

แล้วประคองอัญชลี นั่งกระโหย่งใกล้เท้าของเด็กอายุ ๗ ขวบ ลำดับนั้นสามเณรบอกกะพระเถระนั้นว่า "กระผมมิได้พูดเพื่อต้องการเหตุนั้น ขอรับ กระผมเมื่อตามรักษาจิตของท่าน จึงได้พูดแล้วอย่างนี้ ในข้อนี้ โทษของท่านไม่มี โทษของผมก็ไม่มี นั่นเป็นโทษของวัฏฏะเท่านั้น ขอท่านอย่าคิดแล้ว อันผมรักษาความเดือดร้อนของท่านอยู่นั่นเทียว จึงไม่บอกแล้ว" พระเถระแม้อันสามเณรให้เบาใจอยู่ ไม่เบาใจแล้ว มีความสลดใจเกิดขึ้นแล้ว ถือภัณฑะของสามเณรไปสู่สำนักของพระศาสดาแล้ว แม้พระศาสดาประทับนั่งทอดพระเนตรการมาของพระเถระนั้น เหมือนกัน พระเถระนั้นไปถวายบังคมพระศาสดา ทำความบันเทิงกับพระศาสดาแล้ว อันพระศาสดาตรัสถามว่า "พออดพอทนหรือ ภิกษุ ความไม่ผาสุกที่รุนแรงอะไรๆ ไม่มีหรือ" จึงกราบทูลว่า "พออด พอทน พระเจ้าข้า ความไม่ผาสุกที่รุนแรงอะไรๆ ของข้าพระองค์ไม่มี ก็อีกอย่างหนึ่งแล คนอื่นผู้มีคุณอย่างล้นเหลือเหมือนสามเณรเด็กนี้ อันข้าพระองค์ไม่เคยเห็น" พระศาสดาตรัสถามว่า "กรรมอะไร อันสามเณรนี้ทำแล้ว ภิกษุ" พระเถระนั้นกราบทูลความเป็นไปนั้นทั้งหมด ตั้งแต่ต้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า สามเณรนี้ อันข้าพระองค์ให้อดโทษอยู่อย่างนั้น กล่าวกะข้าพระองค์อย่างนั้นว่า ในข้อนี้ โทษของท่านไม่มีเลย โทษของผมก็ไม่มี นั่นเป็นโทษของวัฏฏะเท่านั้น ขอท่านอย่าคิดแล้ว สามเณรยังข้าพระองค์ให้เบาใจแล้วนั่นเทียวด้วย ประการฉะนี้ ไม่ทำความโกรธ ไม่ทำความประทุษร้ายในข้าพระองค์เลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผู้สมบูรณ์ด้วยคุณเห็นปานนี้ อันข้าพระองค์ไม่เคยเห็น".

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 393

พระขีณาสพไม่โกรธไม่ประทุษร้ายใคร

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า "ภิกษุ ธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลาย ไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายต่อใครๆ เป็นผู้มีอินทรีย์สงบแล้ว เป็นผู้มีใจสงบแล้วเทียว" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ตรัสพระคาถานี้ว่า.

๗. สนฺตํ ตสฺส มนํ โหติ สนฺตา วาจา จ กมฺม จ สมฺมทญฺา วิมุตฺตสฺส อุปสนฺตสฺส ตาทิโน.

"ใจของท่านผู้พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ ผู้สงบระงับ คงที่ เป็นใจสงบแล้ว วาจาก็สงบแล้ว การงานก็สงบ".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตํ ความว่า ใจของสมณะผู้ขีณาสพนั้นชื่อว่า สงบแล้วแท้ คือระงับ ได้แก่ ดับ เพราะความไม่มีแห่งมโนทุจริตทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้น อนึ่งวาจาชื่อว่า สงบแล้ว เพราะความไม่มีแห่งวจีทุจริตทั้งหลายมีมุสาวาทเป็นต้น และกายกรรมชื่อว่า สงบแล้วนั่นเทียว เพราะความไม่มีแห่งกายทุจริตมีปาณาติบาตเป็นต้น.

บาทพระคาถาว่า สมฺมทญฺา วิมุตฺตสฺส ความว่า ผู้พ้นวิเศษแล้ว ด้วยวิมุตติ ๕ เพราะรู้โดยนัยโดยเหตุ.

บทว่า อุปสนฺตสฺส ความว่า ชื่อว่าผู้สงบระงับแล้ว เพราะความระงับแห่งกิเลสมีราคะเป็นต้น ณ ภายใน.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 394

บทว่า ตาทิโน คือผู้สมบูรณ์ด้วยคุณเห็นปานนั้น.

ในเวลาจบเทศนา พระติสสเถระชาวกรุงโกสัมพีบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ธรรมเทศนาได้เป็นประโยชน์แม้แก่มหาชนที่เหลือ ดังนี้แล.

เรื่องพระติสสเถระชาวกรุงโกสัมพี จบ.