พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. เรื่องพระสารีบุตรเถระ [๗๘]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34863
อ่าน  473

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 395

๘. เรื่องพระสารีบุตรเถระ [๗๘]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 395

๘. เรื่องพระสารีบุตรเถระ [๗๘]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อสฺสทฺโธ" เป็นต้น.

สัทธินทรีย์เป็นต้นมีอมตะเป็นที่สุด

ความพิสดารว่า ภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรประมาณ ๓๐ รูป วันหนึ่งไปสู่สำนักพระศาสดา ถวายบังคมนั่งแล้ว พระศาสดาทรงทราบอุปนิสัยแห่งพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสเรียกพระสารีบุตรเถระมา ตรัสถามปัญหาปรารภอินทรีย์ ๕ อย่างนั้นว่า "สารีบุตร เธอเชื่อหรือ อินทรีย์ คือศรัทธาอันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งถึงอมตะ มีอมตะเป็นที่สุด" พระเถระทูลแก้ปัญหานั้นอย่างนั้นว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ย่อมไม่ถึงด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าในอินทรีย์ ๕ นี้แล (ว่า) อินทรีย์ คือศรัทธา ฯลฯ มีอมตะเป็นที่สุด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อินทรีย์ คือศรัทธานั่น อันชนเหล่าใดไม่รู้แล้ว ไม่สดับแล้ว ไม่เห็นแล้ว ไม่ทราบแล้ว ไม่ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ชนเหล่านั้นพึงถึงด้วยความเชื่อต่อชนเหล่าอื่นในอินทรีย์ ๕ นั้น (ว่า) อินทรีย์ คือศรัทธา ฯลฯ มีอมตะเป็นที่สุด".

ภิกษุทั้งหลายฟังคำนั้นแล้ว ยังกถาให้ตั้งขึ้นว่า "พระสารีบุตรเถระแก้แล้ว ด้วยการถือผิดทีเดียว แม้ในวันนี้ พระเถระไม่เชื่อแล้วต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเทียว".

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 396

พระสารีบุตรอันใครๆ ไม่ควรติเตียน

พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวคำชื่ออะไรนั่น เราแล ถามว่า สารีบุตร เธอเชื่อหรือว่า ชื่อว่าบุคคลผู้ไม่อบรมอินทรีย์ ๕ ไม่เจริญสมถะและวิปัสสนา สามารถเพื่อทำมรรคและผลให้แจ้งมีอยู่ สารีบุตรนั้นกล่าวว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เชื่อว่า ผู้กระทำให้แจ้งอย่างนั้น ชื่อว่ามีอยู่ สารีบุตร ไม่เชื่อผลวิบากแห่งทานอันบุคคลถวายแล้ว หรือแห่งกรรมอันบุคคลกระทำแล้วก็หาไม่ อนึ่ง สารีบุตร ไม่เชื่อคุณของพระรัตนะ ๓ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นก็หาไม่ แต่สารีบุตรนั้น ไม่ถึงความเชื่อต่อบุคคลอื่นในธรรม คือฌาน วิปัสสนา มรรค และผลอันตนได้เฉพาะแล้ว เพราะฉะนั้น สารีบุตรจึงเป็นผู้อันใครๆ ไม่ควรติเตียน เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ตรัสพระคาถานี้ว่า.

๘. อสฺสทฺโธ อกตญฺญู จ สนฺธิจฺเฉโท จ โย นโร หตาวกาโส วนฺตาโส ส เว อุตฺตมโปริโส.

"นระใดไม่เชื่อง่าย มีปกติรู้พระนิพพาน อันปัจจัยทำไม่ได้ ตัดที่ต่อ มีโอกาสอันกำจัดแล้ว มีความหวังอันคายแล้ว นระนั้นแล เป็นบุรุษสูงสุด".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสฺสทฺโธ เป็นต้น พึงทราบวิเคราะห์ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 397

นระ ชื่อว่า อสฺสทฺโธ เพราะอรรถว่า ไม่เชื่อคุณอันตนแทงตลอดแล้ว ด้วยคำของชนเหล่าอื่น ชื่อว่า อกตญฺญู เพราะอรรถว่า รู้พระนิพพานอันปัจจัยทำไม่ได้แล้ว อธิบายว่า มีพระนิพพานอันตนทำให้แจ้งแล้ว ชื่อว่า สนฺธิจฺเฉโท เพราะอรรถว่า ตัดที่ต่อ คือวัฏฏะ ที่ต่อคือสงสาร ดำรงอยู่ ชื่อว่า หตาวกาโส เพราะอรรถว่า โอกาสแห่งการบังเกิดชื่อว่า อันนระกำจัดแล้ว เพราะความที่พืช คือกุศลกรรมและอกุศลกรรมสิ้นแล้ว ชื่อว่า วนฺตาโส เพราะอรรถว่า ความหวังทั้งปวงชื่อว่า อันนระนี้คายแล้ว เพราะความที่กิจอันตนควรทำด้วยมรรค ๔ อันตนทำแล้ว ก็นระเห็นปานนี้ใด นระนั้นแลชื่อว่า ผู้สูงสุดในบุรุษ เพราะอรรถว่า ถึงความเป็นผู้สูงสุดในบุรุษทั้งหลาย ด้วยความที่แห่งโลกุตรธรรมอันตนแทงตลอดแล้ว.

ในเวลาจบพระคาถา ภิกษุประมาณ ๓๐ รูป ผู้อยู่ป่าเหล่านั้น บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่มหาชนที่เหลือ ดังนี้แล.

เรื่องพระสารีบุตรเถระ จบ.