พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สหัสสวรรคที่ ๘ ว่าด้วยสิ่งเดียวประเสริฐกว่าร้อยกว่าพัน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34866
อ่าน  731

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 415

สหัสสวรรคที่ ๘

ว่าด้วยสิ่งเดียวประเสริฐกว่าร้อยกว่าพัน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 415

คาถาธรรมบท

สหัสสวรรคที่ ๘ (๑)

ว่าด้วยสิ่งเดียวประเสริฐกว่าร้อยกว่าพัน

[๑๘] ๑. หากวาจาแม้ตั้งพัน ไม่ประกอบด้วยบทที่เป็นประโยชน์ไซร้ บทที่เป็นประโยชน์บทเดียว ซึ่งบุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ประเสริฐกว่า.

๒. หากว่า คาถาแม้พันหนึ่ง ไม่ประกอบด้วยบทเป็นประโยชน์ (ไม่ประเสริฐ) บทแห่งคาถาบทเดียว ซึ่งบุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ประเสริฐกว่า.

๓. ก็ผู้ใดพึงกล่าวคาถาตั้งร้อย ซึ่งไม่ประกอบด้วยบทเป็นประโยชน์ บทแห่งธรรมบทเดียวที่บุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ประเสริฐกว่า (การกล่าวคาถาตั้งร้อยของผู้นั้น) ผู้ใดพึงชนะมนุษย์พันหนึ่งคูณด้วยพันหนึ่ง (คือ ๑ ล้าน) ในสงคราม ผู้นั้นหาชื่อว่า เป็นยอดแห่งชนผู้ชนะในสงครามไม่ ส่วนผู้ใดชนะตนคนเดียวได้ ผู้นั้นแลเป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม.


(๑) วรรคที่ ๘ มีอรรถกถา ๑๔ เรื่อง.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 416

๔. ตนนั่นแล บุคคลชนะแล้วประเสริฐ ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ บุคคลชนะแล้วไม่ประเสริฐเลย (เพราะ) เมื่อบุรุษฝึกตนแล้ว ประพฤติสำรวมเป็นนิตย์ เทวดา คนธรรพ์ มาร พร้อมทั้งพรหม พึงทำความชนะของสัตว์เห็นปานนั้น ให้กลับแพ้ไม่ได้เลย.

๕. ผู้ใด พึงบูชาด้วยทรัพย์พันหนึ่งทุกๆ เดือนสิ้น ๑๐๐ ปี ส่วนการบูชานั้นนั่นแลของผู้ที่พึงบูชา ท่านผู้มีตนอบรมแล้วคนเดียว แม้ครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าการบูชาของผู้นั้น การบูชาสิ้น ๑๐๐ ปี จะประเสริฐอะไรเล่า.

๖. ก็สัตว์ใด พึงบำเรอไฟในป่าตั้ง ๑๐๐ ปี ส่วนเขาพึงบูชาท่านผู้มีตนอบรมแล้วผู้เดียว แม้ครู่หนึ่ง การบูชานั้นนั่นแลประเสริฐกว่า (การบูชาไฟในป่าตั้ง ๑๐๐ ปี) การบูชา ๑๐๐ ปี จะประเสริฐอะไรเล่า.

๗. ผู้มุ่งบุญ พึงบูชายัญและทำบำบวงอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกตลอดปี ทานนั้นแม้ทั้งหมดไม่ถึงส่วน ๔ การอภิวาทในท่านผู้ดำเนินตรงประเสริฐสุด. ( * )

๘. ธรรม ๔ ประการ คืออายุ วรรณะ สุขะ พละ เจริญแก่บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญเป็นนิตย์.


( * ) บำบวง แปลว่า บนบาน เซ่นสรวง บูชา.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 417

๙. ก็ผู้ใดทุศีล มีใจไม่ตั้งมั่น พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้มีศีล มีฌาน ประเสริฐกว่า (ความเป็นอยู่ของผู้นั้น).

๑๐. ก็ผู้ใดมีปัญญาทราม มีใจตั้งมั่น พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้มีปัญญา มีฌาน ประเสริฐกว่า (ความเป็นอยู่ของผู้นั้น).

๑๑. ก็ผู้ใดเกียจคร้านมีความเพียรอันทราม พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของท่านผู้ปรารภความเพียรมั่น ประเสริฐกว่าชีวิตของผู้นั้น.

๑๒. ก็ผู้ใดไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมอยู่ พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นความเกิดและความเสื่อม ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น.

๑๓. ก็ผู้ใดไม่เห็นบทอันไม่ตาย พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นบทอันไม่ตาย ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น.

๑๔. ผู้ใดไม่เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น.

จบสหัสสวรรคที่ ๘.