พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ [๘๕]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34871
อ่าน  465

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 450

๕. เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ [๘๕]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 450

๕. เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ [๘๕]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มาเส มาเส" เป็นต้น.

พระเถระพาลุงไปเฝ้าพระศาสดา

ได้ยินว่า พระเถระไปสู่สำนักของพราหมณ์นั้นแล้ว ถามว่า "พราหมณ์ ท่านทำกุศลอะไรๆ บ้างหรือหนอแล".

พราหมณ์. ทำ ขอรับ.

พระเถระ. ทำกุศลอะไร.

พราหมณ์. ผมก็ให้ทาน ด้วยบริจาคทรัพย์พันหนึ่ง ทุกๆ เดือน.

พระเถระ. ให้แก่ใคร.

พราหมณ์. ให้แก่พวกนิครนถ์ ขอรับ.

พระเถระ. ปรารถนาอะไร.

พราหมณ์. พรหมโลก ขอรับ.

พระเถระ. ก็นี้เป็นทางแห่งพรหมโลกหรือ.

พราหมณ์. อย่างนั้น ขอรับ.

พระเถระ. ใครกล่าวอย่างนี้.

พราหมณ์. พวกอาจารย์ของผมกล่าว ขอรับ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 451

พระเถระกล่าวว่า "ท่านไม่รู้ทางแห่งพรหมโลกทีเดียว แม้พวกอาจารย์ของท่านก็ไม่รู้ พระศาสดาพระองค์เดียวเท่านั้น ทรงรู้ มาเถิดพราหมณ์ ฉันจะทูลอาราธนาให้พระองค์ ตรัสบอกทางแห่งพรหมโลกแก่ท่าน" ดังนี้แล้ว พาพราหมณ์นั้น นำไปสู่สำนักของพระศาสดา กราบทูลเรื่องนั้นว่า "พราหมณ์ผู้นี้ กล่าวอย่างนี้ พระเจ้าข้า" แล้วกราบทูลว่า "ดีละหนอ ขอพระองค์ตรัสบอกทางแห่งพรหมโลกแก่พราหมณ์นั้น".

พระศาสดาทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์

พระศาสดาตรัสถามว่า "ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ พราหมณ์" เมื่อพราหมณ์นั้นทูลว่า "อย่างนั้น พระโคคมผู้เจริญ" จึงตรัสว่า "พราหมณ์ การแลดูสาวกของเราด้วยจิตอันเลื่อมใสเพียงครู่เดียว หรือ การถวายอาหารวัตถุเพียงภิกษาทัพพีเดียว มีผลมากแม้กว่าทานที่ท่านเมื่อให้อย่างนั้น ให้แล้วตั้ง ๑๐๐ ปี" เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๕. มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํ มุหุตฺตมปิ ปูชเย สา เยว ปูชนา เสยโย ยญฺเจ วสฺสสตํ หุตํ.

"ผู้ใด พึงบูชาด้วยทรัพย์พันหนึ่งทุกๆ เดือน สิ้น ๑๐๐ ปี ส่วนการบูชานั้นนั่นแล ของผู้ที่พึงบูชาท่านผู้มีตนอบรมแล้วคนเดียวแม้ครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าการบูชาของผู้นั้น การบูชา สิ้น ๑๐๐ ปี จะประเสริฐอะไรเล่า".

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 452

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สหสฺเสน ความว่า ด้วยการบริจาคทรัพย์พันหนึ่ง.

บาทพระคาถาว่า โย ยเชถ สตํ สมํ ความว่า ผู้ใดเมื่อบริจาคทรัพย์พันหนึ่งทุกๆ เดือน พึงให้ทานแก่โลกิยมหาชน สิ้น ๑๐๐ ปี.

บาทพระคาถาว่า เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํ ความว่า ส่วนผู้ใด พึงบูชาท่านผู้มีตนอบรมแล้ว ด้วยอำนาจแห่งคุณผู้เดียว โดยที่สุดเบื้องต่ำเป็นพระโสดาบัน โดยที่สุดเบื้องสูงเป็นพระขีณาสพ ผู้มาถึงแทบประตูเรือน ด้วยอำนาจถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง ด้วยอำนาจถวายอาหารพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ หรือด้วยเพียงถวายผ้าเนื้อหยาบ บูชาของผู้นั้นนั่นแล ประเสริฐ คือล้ำเลิศ ได้แก่ สูงสุดกว่าความบูชาอันบุคคลนอกนี้บูชาแล้ว สิ้น ๑๐๐ ปี.

ในเวลาจบเทศนา พราหมณ์นั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ จบ.