๑๔. เรื่องพระพหุปุตติกาเถรี [๙๔]
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 505
๑๔. เรื่องพระพหุปุตติกาเถรี [๙๔]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 505
๑๔. เรื่องพระพหุปุตติกาเถรี [๙๔]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระพหุปุตติกาเถรี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย จ วสฺสสตํ ชีเว" เป็นต้น.
นางมีลูกมาก
ได้ยินว่า ในตระกูลหนึ่ง ณ กรุงสาวัตถี ได้มีบุตร ๗ คนและธิดา ๗ คน บุตรและธิดาแม้ทั้งหมดนั้นเจริญวัยแล้วดำรงอยู่ในเรือน ได้ถึงความสุขตามธรรมดาของตน สมัยอื่น บิดาของชนเหล่านั้นได้ทำกาละแล้ว.
มหาอุบาสิกา ถึงเมื่อสามีล่วงลับไปแล้ว ก็ยังไม่แบ่งกองทรัพย์ให้แก่บุตรทั้งหลายก่อน ครั้งนั้น บุตรทั้งหลายกล่าวกะมารดานั้นว่า "เมื่อบิดาของฉันล่วงลับไปแล้ว ประโยชน์อะไรของแม่ด้วยกองทรัพย์ พวกฉันไม่อาจบำรุงแม่ได้หรือ" นางฟังคำของบุตรเหล่านั้นแล้วก็นิ่งเสีย ถูกบุตรเหล่านั้นพูดบ่อยๆ จึงคิดว่า "พวกลูกๆ จักบำรุงเรา ประโยชน์อะไรของเราด้วยกองทรัพย์ส่วนหนึ่ง" ได้แบ่งสมบัติทั้งหมดครึ่งหนึ่งให้ไป.
ครั้งนั้น โดยกาลล่วงไป ๒ - ๓ วัน ภรรยาของบุตรคนใหญ่กล่าวกะแม่ผัวนั้นว่า "โอ คุณแม่ของพวกเรามาเรือนนี้เท่านั้นเหมือนกะให้ไว้ ๒ ส่วนว่า บุตรชายคนใหญ่ของเรา" แม้ภรรยาของบุตรที่เหลือก็กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 506
ตั้งต้นแต่ธิดาคนใหญ่ก็กล่าวกะนางดุจเดียวกัน แม้ในเวลาที่นางไปเรือนของธิดาเหล่านั้น นางถูกดูหมิ่น คิดว่า ประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่ในสำนักของคนเหล่านี้ เราจักเป็นนางภิกษุณีเป็นอยู่ แล้วไปสู่สำนักของนางภิกษุณีขอบรรพชาแล้ว นางภิกษุณีเหล่านั้นให้นางบรรพชาแล้ว นางได้อุปสมบทแล้วปรากฏชื่อว่า พหุปุตติกาเถรี นางคิดว่า เราบวชในเวลาแก่ เราไม่ควรเป็นคนประมาท จึงทำวัตรปฏิบัติแก่นางภิกษุณีทั้งหลาย คิดว่า จักทำสมณธรรมตลอดคืนยังรุ่ง จึงเอามือจับเสาต้นหนึ่งที่ภายใต้ปราสาท เดินเวียนเสานั้นทำสมณธรรม แม้เมื่อเดินจงกรมก็เอามือจับต้นไม้ด้วยคิดว่า ศีรษะของเราพึงกระทบต้นไม้หรือที่ไหนๆ ในที่มืด ดังนี้แล้ว เดินวนเวียนต้นไม้นั้น ทำสมณธรรม นึกถึงธรรมด้วยคิดว่า จักทำตามธรรมที่พระศาสดาทรงแสดง ตามระลึกถึงธรรมอยู่เทียวทำสมณธรรม.
ลำดับนั้น พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีเทียว ทรงแผ่พระรัศมีไปดังประทับนั่งตรงหน้า เมื่อตรัสกับนาง ตรัสว่า "พหุปุตติกา ความเป็นอยู่แม้ครู่เดียวของผู้เห็นธรรมที่เราแสดง ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่พิจารณา ผู้ไม่เห็นธรรมที่เราแสดง" เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.
๑๔. โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ ธมฺมมุตฺตมํ เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต ธมฺมมุตฺตมํ.
"ก็ผู้ใด ไม่เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น".
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 507
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมมุตฺตมํ ได้แก่ โลกุตรธรรม ๙ อย่าง ก็โลกุตรธรรมนั้นชื่อว่า ธรรมอันยอดเยี่ยม ก็ผู้ใดไม่เห็นธรรมอันยอดเยี่ยมนั้น ความเป็นอยู่แม้วันเดียวคือแม้ขณะเดียว ของผู้เห็นคือแทงตลอดธรรมนั้น ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของผู้นั้น.
ในกาลจบคาถา พระพหุปุตติกาเถรีดำรงอยู่ในพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ดังนี้แล.
เรื่องพระพหุปุตติกาเถรี จบ.
สหัสสวรรควรรณนา จบ.
วรรคที่ ๘ จบ.