พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี [๙๘]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34888
อ่าน  786

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 16

๔. เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี [๙๘]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 16

๔. เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี [๙๘]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภเศรษฐีชื่อ อนาถบิณฑิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปาโปปิ ปสฺสตี ภทฺรํ" เป็นต้น.

ท่านเศรษฐีบำรุงภิกษุสามเณรเป็นนิตย์

ความพิสดารว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี จ่ายทรัพย์ตั้ง ๕๔ โกฎิ ในพระพุทธศาสนาเฉพาะวิหารเท่านั้น, เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวัน ไปสู่ที่บำรุงใหญ่ ๓ แห่งทุกวัน, ก็เมื่อจะไป คิดว่า "สามเณร ก็ดี ภิกษุหนุ่มก็ดี พึงแลดูแม้มือของเรา ด้วยการนึกว่า เศรษฐีนั้นถืออะไรมาบ้าง ดังนี้ ไม่เคยเป็นผู้ชื่อว่ามีมือเปล่าไปเลย, เมื่อไปเวลาเช้า ให้คนถือข้าวต้มไป บริโภคอาหารเช้าแล้วให้คนถือเภสัชทั้งหลาย มีเนยใส เนยข้นเป็นต้นไป, ในเวลาเย็น ให้ถือวัตถุต่างๆ มีระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้และผ้าเป็นต้น ไปสู่วิหาร, ถวายทาน รักษาศีล อย่างนี้ ทุกๆ วันตลอดกาลเป็นนิตย์ทีเดียว.

การหมดสิ้นแห่งทรัพย์ของเศรษฐี

ในกาลต่อมา เศรษฐี ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งทรัพย์. ทั้งพวกพาณิช ก็กู้หนี้เป็นทรัพย์ ๑๘ โกฏิจากมือเศรษฐีนั้น. เงิน ๑๘ โกฏิแม้เป็นสมบัติ แห่งตระกูลของเศรษฐี ที่ฝังตั้งไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำ เมื่อฝั่งพังลงเพราะน้ำ (เซาะ) ก็จมลงยังมหาสมุทร. ทรัพย์ของเศรษฐีนั้นได้ถึงความหมดสิ้นไปโดยลำดับ ด้วยประการอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 17

เศรษฐีถวายทานตามมีตามได้

เศรษฐีแม้เป็นผู้อย่างนั้นแล้ว ก็ยังถวายทานแก่สงฆ์เรื่อยไป, แต่ ไม่อาจถวายทำให้ประณีตได้. ในวันหนึ่ง เศรษฐี เมื่อพระศาสดารับสั่งว่า "คฤหบดี ก็ทานในตระกูล ท่านยังให้อยู่หรือ?" กราบทูลว่า " พระเจ้าข้า ทานในตระกูล ข้าพระองค์ยังให้อยู่, ก็แลทานนั้น (ใช้) ข้าวปลายเกรียน มีน้ำส้มพะอูมเป็นที่ ๒."

เมื่อมีจิตผ่องใสทานที่ถวายไม่เป็นของเลว

ทีนั้น พระศาสดา ตรัสกะเศรษฐีว่า "คฤหบดี ท่านอย่าคิดว่า เราถวายทานเศร้าหมอง, ด้วยว่าเมื่อจิตประณีตแล้ว, ทานที่บุคคลถวายแด่พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ชื่อว่าเศร้าหมองย่อมไม่มี, คฤหบดี อีกประการหนึ่ง ท่านได้ถวายทานแด่พระอริยบุคคลทั้ง ๘ แล้ว; ส่วนเราในกาลเป็นเวลามพราหมณ์นั้น กระทำชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ให้พักไถนา ยังมหาทานให้เป็นไปอยู่ ไม่ได้ทักขิไณยบุคคลไรๆ แม้ผู้ถึงซึ่งไตรสรณะ, ชื่อว่าทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย ยากที่บุคคลจะได้ด้วยประการฉะนี้, เพราะเหตุนั้น ท่านอย่าคิดเลยว่า ทานของเราเศร้าหมอง ดังนี้แล้ว ได้ตรัสเวลามสูตร (๑) แก่เศรษฐีนั้น.

เทวดาเตือนเศรษฐีให้เลิกการบริจาค

ครั้งนั้น เทวดาซึ่งสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูของเศรษฐี เมื่อพระศาสดา และสาวกทั้งหลายเข้าไปสู่เรือน, ไม่อาจจะดำรงอยู่ได้เพราะเดชแห่งพระศาสดาและพระสาวกเหล่านั้น คิดว่า "พระศาสดาและพระสาวกเหล่านี้จะ


๑. อัง. นวก. ๒๓/๔๐๖.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 18

ไม่เข้าไปสู่เรือนนี้ได้ด้วยประการใด, เราจะยุยงคฤหบดีด้วยประการนั้น: แม้ใคร่จะพูดกะเศรษฐีนั้น ก็ไม่ได้อาจเพื่อจะกล่าวอะไรๆ ในกาลที่ เศรษฐีเป็นอิสระ" คิดว่า "ก็บัดนี้เศรษฐีนี้เป็นผู้ยากจนแล้ว, คงจักเชื่อฟังคำของเรา" ในเวลาราตรี เข้าไปสู่ห้องอันเป็นสิริของเศรษฐี ได้ยืนอยู่ ในอากาศ.

ขณะนั้น เศรษฐีเห็นเทวดานั้นแล้วถามว่า "นั่นใคร?"

เทวดา. มหาเศรษฐี ข้าพเจ้าเป็นเทวดาสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ของท่าน มาเพื่อต้องการเตือนท่าน.

เศรษฐี. เทวดา ถ้าเช่นนั้น เชิญท่านพูดเถิด.

เทวดา. มหาเศรษฐี ท่านไม่เหลียวแลถึงกาลภายหลังเลย จ่ายทรัพย์เป็นอันมากในศาสนาของพระสมณโคคม, บัดนี้ ท่านแม้เป็นผู้ยากจนแล้ว ก็ยังไม่ละการจ่ายทรัพย์อีก, เมื่อท่านประพฤติอย่างนี้ จักไม่ได้ แม้วัตถุสักว่าอาหารและเครื่องนุ่งห่ม โดย ๒ - ๓ วันแน่แท้; ท่านจะต้องการอะไรด้วยพระสมณโคคม, ท่านจงเลิกจากการบริจาคเกิน (กำลัง) เสีย แล้วประกอบการงานทั้งหลาย รวบรวมสมบัติไว้เถิด.

เศรษฐี. นี้เป็นโอวาทที่ท่านให้แก่ข้าพเจ้าหรือ?

เทวดา. จ้ะ มหาเศรษฐี.

เศรษฐี. ไปเถิดท่าน, ข้าพเจ้า อันบุคคลผู้เช่นท่าน แม้ตั้งร้อย ตั้งพัน ตั้งแสนคน ก็ไม่อาจให้หวั่นไหวได้. ท่านกล่าวคำไม่สมควร จะต้องการอะไรด้วยท่านผู้อยู่ในเรือนของข้าพเจ้า, ท่านจงออกไปจากเรือนของข้าพเจ้าเร็วๆ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 19

เทวดาถูกเศรษฐีขับไล่ไม่มีที่อาศัย

เทวดานั้น ฟังคำของเศรษฐีผู้เป็นโสดาบันอริยสาวกแล้ว ไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงพาทารกทั้งหลายออกไป, ก็แล ครั้นออกไปแล้วไม่ได้ที่อยู่ ในที่อื่น จึงคิดว่า "เราจักให้ท่านเศรษฐีอดโทษแล้วอยู่ในที่เดิมนั้น เข้าไปหาเทพบุตรผู้รักษาพระนคร แจ้งความผิดที่ตนทำแล้ว กล่าวว่า "เชิญมาเถิดท่าน, ขอท่านจงนำข้าพเจ้าไปยังสำนักของท่านเศรษฐี ให้ท่านเศรษฐีอดโทษแล้วให้ที่อยู่ (แก่ข้าพเจ้า)."

เทพบุตรห้ามเทวดานั้นว่า "ท่านกล่าวคำไม่สมควร, ข้าพเจ้าไม่อาจไปยังสำนักของเศรษฐีนั้นได้."

เทวดานั้นจึงไปสู่สำนักของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็ถูกท่านเหล่านั้น ห้ามไว้ จึงเข้าไปเฝ้าท้าวสักกเทวราช กราบทูลเรื่องนั้น (ให้ทรงทราบ) แล้ว ทูลวิงวอนอย่างน่าสงสารว่า "ข้าแต่เทพเจ้า ข้าพระองค์ไม่ได้ที่อยู่ ต้องจูงพวกทารกเที่ยวระหกระเหิน หาที่พึ่งมิได้, ขอได้โปรดให้เศรษฐี ให้ที่อยู่แก่ข้าพระองค์เถิด."

ท้าวสักกะทรงแนะนำอุบายให้เทวดา

คราวนั้น ท้าวสักกะ ตรัสกะเทวดานั้นว่า "ถึงเราก็จักไม่อาจกล่าว กะเศรษฐีเพราะเหตุแห่งท่านได้ (เช่นเดียวกัน), แต่จักบอกอุบายให้แก่ ท่านสักอย่างหนึ่ง."

เทวดา. ดีละ เทพเจ้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสบอกเถิด.

ท้าวสักกะ. ไปเถิดท่าน, จงแปลงเพศเป็นเสมียนของเศรษฐี ให้ใครนำหนังสือ (สัญญากู้เงิน) จากมือเศรษฐีมาแล้ว (นำไป) ให้เขาชำระ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 20

ทรัพย์ ๑๘ โกฏิ ที่พวกค้าขายถือเอาไป ด้วยอานุภาพของตนแล้ว บรรจุไว้ให้เต็มในห้องเปล่า, ทรัพย์ ๑๘ โกฏิ ที่จมลงยังมหาสมุทรมีอยู่ก็ดี, ทรัพย์ ๑๘ โกฏิ ส่วนอื่น ซึ่งหาเจ้าของมิได้ มีอยู่ในที่โน้นก็ดี, จงรวบรวมทรัพย์ทั้งหมดนั้น บรรจุไว้ให้เต็มในห้องเปล่าของเศรษฐี ครั้นทำกรรมชื่อนี้ให้เป็นทัณฑกรรมแล้ว จึงขอขมาโทษเศรษฐี.

เศรษฐีกลับรวยอย่างเดิม

เทวดานั้น รับว่า "ดีละ เทพเจ้า" แล้วทำกรรมทุกๆ อย่างตามนัยที่ท้าวสักกะตรัสบอกแล้วนั่นแล ยังห้องอันเป็นสิริของท่านเศรษฐีให้ สว่างไสว ดำรงอยู่ในอากาศ เมื่อท่านเศรษฐีกล่าวว่า "นั่น ใคร" จึง ตอบว่า "ข้าพเจ้าเป็นเทวดาอันธพาล ซึ่งสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ของ ท่าน, คำใด อันข้าพเจ้ากล่าวแล้วในสำนักของท่านด้วยความเป็นอันธพาล, ขอท่านจงอดโทษคำนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด, เพราะข้าพเจ้าได้ทำทัณฑกรรมด้วยการรวบรวมทรัพย์ ๕๔ โกฏิ มาบรรจุไว้เต็มห้องเปล่า ตามบัญชาของท้าวสักกะ, ข้าพเจ้าเมื่อไม่ได้ที่อยู่ ย่อมลำบาก."

เศรษฐีอดโทษแก่เทวดา

อนาถบิณฑิกเศรษฐี จินตนาการว่า "เทวดานี้ กล่าวว่า ทัณฑกรรม อันข้าพเจ้ากระทำแล้ว ดังนี้, และรู้สึกโทษ (ความผิด) ของตน, เราจักแสดงเทวดานั้นแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า." ท่านเศรษฐี นำเทวดานั้นไปสู่สำนักของพระศาสดา กราบทูลกรรมอันเทวดานั้นทำแล้วทั้งหมด.

เทวดาหมอบลงด้วยเศียรเกล้า แทบพระบาทยุคลแห่งพระศาสดา

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 21

กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทราบพระคุณทั้งหลาย ของพระองค์ ได้กล่าวคำใดอันชั่วช้า เพราะความเป็นอันธพาล, ขอพระองค์ทรงงดโทษคำนั้นแก่ข้าพระองค์" ให้พระศาสดาทรงอดโทษแล้ว จึงให้ท่านมหาเศรษฐีอดโทษให้ (ในภายหลัง).

เมื่อกรรมให้ผล คนโง่จึงเห็นถูกต้อง

พระศาสดา เมื่อจะทรงโอวาทเศรษฐีและเทวดา ด้วยสามารถวิบาก แห่งกรรมดีและชั่วนั่นแล จึงตรัสว่า "ดูก่อนคฤหบดี แม้บุคคลผู้ทำบาปในโลกนี้ ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล, แต่เมื่อใด บาปของเขาเผล็ดผล, เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่วแท้ๆ ; ฝ่ายบุคคล ผู้ทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล, แต่เมื่อใด กรรมดีของเขาเผล็ดผล, เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นกรรมดีว่า ดีจริงๆ " ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

๔. ปาโปปิ ปสฺสติ ภทฺรํ ยาว ปาปํ น ปจฺจติ

ยทา จ ปจฺจติ ปาปํ อถ (ปาโป) ปาปานิ ปสฺสติ.

ภโทฺรปิ ปสฺสติ ปาปํ ยาว ภทฺรํ น ปจฺจติ

ยทา จ ปจฺจติ ภทฺรํ อถ (ภโทฺร) ภทฺรานิ ปสฺสติ.

"แม้คนผู้ทำบาป ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาล ที่บาปยังไม่เผล็ดผล, แต่ เมื่อใด บาปเผล็ดผล, เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่ว, ฝ่ายคนทำกรรมดี ย่อม เห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ด

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 22

ผล, แต่เมื่อใด กรรมดีเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อม เห็นกรรมดีว่าดี."

แก้อรรถ

บุคคลผู้ประกอบบาปกรรมมีทุจริตทางกายเป็นต้น ชื่อว่าคนผู้บาป ในพระคาถานั้น.

ก็บุคคลแม้นั้น เมื่อยังเสวยสุขอันเกิดขึ้น ด้วยอานุภาพแห่งสุจริตกรรมในปางก่อนอยู่ ย่อมเห็นแม้บาปกรรมว่าดี.

บาทพระคาถาว่า ยาว ปาปํ น ปจฺจติ เป็นต้น ความว่า บาปกรรม ของเขานั้น ยังไม่ให้ผลในปัจจุบันภพหรือสัมปรายภพเพียงใด. (ผู้ทำบาป ย่อมเห็นบาปว่าดี เพียงนั้น). แต่เมื่อใดบาปกรรมของเขานั้นให้ผลในปัจจุบันภพหรือในสัมปรายภพ, เมื่อนั้น ผู้ทำบาปนั้น เมื่อเสวยกรรมกรณ์ต่างๆ ในปัจจุบันภพ และทุกข์ในอบายในสัมปรายภพอยู่ ย่อมเห็นบาปว่าชั่วถ่ายเดียว.

ในพระคาถาที่ ๒ (พึงทราบเนื้อความดังต่อไปนี้). บุคคลผู้ประกอบกรรมดีมีสุจริตทางกายเป็นต้น ชื่อว่าคนทำกรรมดี, คนทำกรรมดีแม้นั้น เมื่อเสวยทุกข์อันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งทุจริตในปางก่อน ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว.

บาทพระคาถาว่า ยาว ภทฺรํ น ปจฺจิต เป็นต้น ความว่ากรรมดี ของเขานั้น ยังไม่ให้ผล ในปัจจุบันภพหรือในสัมปรายภพเพียงใด. (คน ทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่วอยู่ เพียงนั้น). แต่เมื่อใด กรรมดีนั้น ให้ผล, เมื่อนั้นคนทำกรรมดีนั้น เมื่อเสวยสุขที่อิงอามิส มีลาภและสักการะ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 23

เป็นต้นในปัจจุบันภพ และสุขที่อิงสมบัติ อันเป็นทิพย์ในสัมปรายภพอยู่ ย่อมเห็นกรรมดีว่า ดีจริงๆ ดังนี้.

ในกาลจบเทศนา เทวดานั้น ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. พระธรรมเทศนา ได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทผู้มาประชุมกัน ดังนี้แล.

เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี จบ.