พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงสกุลนายช่างแก้ว [๑๐๔]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34894
อ่าน  502

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 50

๑๐. เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงสกุลนายช่างแก้ว [๑๐๔]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 50

๑๐. เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงสกุลนายช่างแก้ว (๑) [๑๐๔]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระ ชื่อติสสะผู้เข้าถึงสกุลนายช่างแก้ว ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "คพฺภเมเก อุปฺปชฺชนฺติ" เป็นต้น.

พระเจ้าปเสนทิโกศลส่งแก้วให้นายช่างเจียระไน

ได้ยินว่า พระเถระนั้นฉัน (ภัต) อยู่ในสกุลของนายมณีการผู้หนึ่ง สิ้น ๑๒ ปี. ภรรยาและสามีในสกุลนั้นตั้งอยู่ในฐานะเพียงมารดาและบิดา ปฏิบัติพระเถระแล้ว.

อยู่มาวันหนึ่ง นายมณีการกำลังนั่งหั่นเนื้อข้างหน้าพระเถระ. ในขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงส่งแก้วมณีดวงหนึ่งไป ด้วยรับสั่งว่า "นายช่างจงขัดและเจียระไนแก้วมณีนี้แล้วส่งมา." นายมณีการรับแก้วนั้น ด้วยมือทั้งเปื้อนโลหิต วางไว้บนเขียงแล้ว ก็เข้าไปข้างในเพื่อล้างมือ.

แก้วมณีหายนายช่างสืบหาคนเอาไป

ก็ในเรือนนั้น นกกะเรียนที่เขาเลี้ยงไว้มีอยู่. นกนั้นกลืนกินแก้วมณีนั้น ด้วยสำคัญว่าเนื้อ เพราะกลิ่นโลหิต เมื่อพระเถระกำลังเห็นอยู่เทียว. นายมณีการมาแล้ว เมื่อไม่เห็นแก้วมณีจึงถามภริยา ธิดาและบุตร โดยลำดับว่า "พวกเจ้าเอาแก้วมณีไปหรือ?" เมื่อชนเหล่านั้นกล่าวว่า "มิได้เอาไป" จึงคิดว่า " (ชะรอย) พระเถระจักเอาไป" จึงปรึกษากับภริยาว่า "แก้วมณี (ชะรอย) พระเถระจักเอาไป" ภริยาบอกว่า "แน่ะ นาย นายอย่ากล่าวอย่างนั้น, ดิฉันไม่เคยเห็นโทษอะไรๆ ของพระเถระ


๑. หมายความถึงผู้สนิทสนมกับสกุล ได้รับอุปการะจากสกุลนั้น.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 51

เลยตลอดกาลประมาณเท่านี้, ท่านย่อมไม่ถือเอาแก้วมณี (แน่นอน)." นายมณีการถามพระเถระว่า "ท่านขอรับ ท่านเอาแก้วมณีในที่นี้ไปหรือ?"

พระเถระ. เราไม่ได้ถือเอาดอก อุบาสก.

นายมณีการ. ท่านขอรับ ในที่นี้ไม่มีคนอื่น, ท่านต้องเอาไปเป็นแน่, ขอท่านจงให้แก้วมณีแก่ผมเถิด.

เมื่อพระเถระนั้นไม่รับ, เขาจึงพูดกะภริยาว่า "พระเถระเอาแก้วมณีไปแน่, เราจักบีบคั้นถามท่าน."

ภริยาตอบว่า "แน่ะนาย นายอย่าให้พวกเราฉิบหายเลย, พวกเราเข้าถึงความเป็นทาสเสียยังประเสริฐกว่า, ก็การกล่าวหาพระเถระผู้เห็นปานนี้ไม่ประเสริฐเลย. "

ช่างแก้วทำโทษพระติสสเถระเพราะเข้าใจผิด

นายช่างแก้วนั้นกล่าวว่า "พวกเราทั้งหมดด้วยกัน เข้าถึงความเป็นทาส ยังไม่เท่าค่าแก้วมณี" ดังนี้แล้ว จึงถือเอาเชือกพันศีรษะพระเถระ ขันด้วยท่อนไม้. โลหิตไหลออกจากศีรษะหูและจมูกของพระเถระ. หน่วยตาทั้งสองได้ถึงอาการทะเล้นออก, ท่านเจ็บปวด (๑) มาก ก็ล้มลง ณ ภาคพื้น. นกกะเรียนมาด้วยกลืนโลหิต ดื่มกินโลหิต.

ช่างแก้วเตะนกกะเรียนตายแล้วจึงทราบความจริง

ขณะนั้น นายมณีการจึงเตะมันด้วยเท้าแล้วเขี่ยไปพลางกล่าวว่า "มึงจะทำอะไรหรือ?" ด้วยกำลังความโกรธที่เกิดขึ้นในพระเถระ. นกกะเรียนนั้นล้มกลิ้งตายด้วยการเตะทีเดียวเท่านั้น. พระเถระเห็นนกนั้น จึงกล่าวว่า "อุบาสก ท่านจงผ่อนเชือกพันศีรษะของเราให้หย่อนก่อนแล้ว


๑. เวทนาปฺปตฺโต ถึงซึ่งเวทนา.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 52

จงพิจารณาดูนกกะเรียนนี้ (ว่า) มันตายแล้วหรือยัง?" ลำดับนั้น นายช่างแก้วจึงกล่าวกะท่านว่า "แม้ท่านก็จักตายเช่นนกนั่น."

พระเถระตอบว่า "อุบาสก แก้วมณีนั้น อันนกนี้กลืนกินแล้ว. หากนกนี้จักไม่ตายไซร้, ข้าพเจ้าแม้จะตาย ก็จักไม่บอกแก้วมณีแก่ท่าน."

ช่างแก้วได้แก้วมณีคืนแล้วขอขมาพระติสสเถระ

เขาแหวะท้องนกนั้นพบแก้วมณีแล้ว งกงันอยู่ มีใจสลด หมอบลง ใกล้เท้าของพระเถระ กล่าวว่า "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอดโทษแก่ผม, ผมไม่รู้อยู่ ทำไปแล้ว."

พระเถระ. อุบาสก โทษของท่านไม่มี, ของเราก็ไม่มี, มีแต่โทษของวัฏฏะเท่านั้น. เราอดโทษแก่ท่าน.

นายมณีการ. ท่านขอรับ หากท่านอดโทษแก่ผมไซร้, ท่านจงนั่งรับภิกษาในเรือนของผมตามทำนองเถิด.

พระเถระเห็นโทษของการเข้าชายคาเรือน

พระเถระกล่าวว่า "อุบาสก ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจักไม่เข้าไปภายในชายคาเรือนของผู้อื่น เพราะว่านี้เป็นโทษแห่งการเข้าไปภายในเรือนโดยตรง, ตั้งแต่นี้ไป เมื่อเท้าทั้งสองยังเดินไปได้ เราจักยืนที่ประตูเรือนเท่านั้น รับภิกษา" ดังนี้แล้ว สมาทานธุดงค์กล่าวคาถานี้ว่า

" ภัตในทุกสกุลๆ ละนิดหน่อย อันเขาหุงไว้เพื่อมุนี เราจักเที่ยวไปด้วยปลีแข้ง, กำลังแข้งของ เรายังมีอยู่."

ก็แล พระเถระ ครั้นกล่าวคาถานี้แล้ว ต่อกาลไม่นานักก็ปรินิพพาน ด้วยพยาธินั้นนั่นเอง.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 53

คนทำบาปกับคนทำบุญมีคติต่างกัน

นกกะเรียนได้ถือปฏิสนธิในท้องแห่งภริยาของนายช่างแก้ว. นายช่างแก้วทำ กาละแล้ว ก็บังเกิดในนรก. ภริยาของนายช่างแก้วทำกาละแล้ว เกิดในเทวโลก เพราะความเป็นผู้มีจิตอ่อนโยนในพระเถระ.

ภิกษุทั้งหลายทูลถามอภิสัมปรายภพของชนเหล่านั้น กะพระศาสดา.

พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย สัตว์บางจำพวกในโลกนี้ ย่อมเกิดในครรภ์, บางจำพวกทำกรรมลามก ย่อมเกิดในนรก, บางจำพวก ทำกรรมดีแล้ว ย่อมเกิดในเทวโลก, ส่วนผู้ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

๑๐. คพฺภเมเก อุปฺปชฺชนฺติ นิรยํ ปาปกมฺมิโน

สคฺคํ สุคติโน ยนฺติ ปรินิพฺพนฺติ อนาสวา.

" ชนทั้งหลายบางพวก ย่อมเข้าถึงครรภ์, ผู้มีกรรมลามก ย่อมเข้าถึงนรก, ผู้มีกรรมเป็นเหตุแห่งสุคติ ย่อมไปสวรรค์, ผู้ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน. "

แก้อรรถ

ในบทเหล่านั้น ครรภ์มนุษย์เทียว พระศาสดาทรงประสงค์เอาในบทว่า คพฺภํ นี้. คำที่เหลือในคาถานี้มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงสกุลนายช่างแก้ว จบ.