พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. เรื่องชน ๓ คน [๑๐๕]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34895
อ่าน  666

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 54

๑๑. เรื่องชน ๓ คน [๑๐๕]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 54

๑๑. เรื่องชน ๓ คน [๑๐๕]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภชน ๓ คน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ" เป็นต้น.

กาถูกไฟไหม้ตายในอากาศ

ได้ยินว่า เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวัน ภิกษุหลายรูป มาเพื่อต้องการจะเฝ้าพระศาสดา เข้าไปสู่บ้านตำบลหนึ่ง เพื่อบิณฑบาต. ชนชาวบ้านรับบาตรของภิกษุเหล่านั้นแล้ว นิมนต์ให้นั่งในโรงฉัน ถวายข้าวยาคูและของเคี้ยว เมื่อรอเวลาบิณฑบาต นั่งฟังธรรมแล้ว. ในขณะนั้น เปลวไฟลุกขึ้นจากเตาของหญิงคนหนึ่ง ผู้หุงข้าวแล้วปรุงสูปะและพยัญชนะอยู่ ติดชายคา, เสวียนหญ้าอันหนึ่งปลิวขึ้นจากชายคานั้น อันไฟไหม้อยู่ลอยไปสู่อากาศ. ในขณะนั้น กาตัวหนึ่งบินมาทางอากาศ สอดคอเข้าไปในเสวียนหญ้านั้น อันเกลียวหญ้าพันแล้ว ไหม้ตกลงที่กลางบ้าน. พวกภิกษุเห็นเหตุนั้นคิดว่า "โอ กรรมหนัก, ผู้มีอายุ ท่านทั้งหลายจงดูอาการแปลกที่กาถึงแล้ว, เว้นพระศาสดาเสีย ใครจักรู้กรรม ที่กานี้ทำแล้ว, พวกเราจักทูลถามกรรมของกานั้นกะพระศาสดา" ดังนี้แล้ว ก็พากันหลีกไป.

ภรรยานายเรือถูกถ่วงน้ำ

เมื่อภิกษุอีกพวกหนึ่ง โดยสารเรือไป เพื่อต้องการจะเฝ้าพระศาสดา เรือได้หยุดนิ่งเฉยในกลางสมุทร. พวกมนุษย์พากันคิดว่า "คนกาลกรรณี พึงมีในเรือนี้." ดังนี้แล้ว จึงแจกสลาก (ให้จับ). ก็ภรรยาของนายเรือ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 55

ตั้งอยู่ในปฐมวัย (กำลัง) น่าดู สลากถึงแก่นางนั้น. พวกมนุษย์พากัน กล่าวว่า "จงแจกสลากอีก" แล้วให้แจกถึง ๓ ครั้ง. สลากถึงแก่นางนั้นคนเดียวถึง ๓ ครั้ง. พวกมนุษย์แลดูหน้านายเรือ (เป็นทีจะพูดว่า) "อย่างไรกัน? นายครับ" นายเรือกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่อาจให้มหาชนฉิบหาย เพื่อประโยชน์แก่นางนี้, พวกท่านจงทิ้งนางในน้ำเถิด." นางนั้น เมื่อพวกมนุษย์จับจะทิ้งน้ำ กลัวต่อมรณภัย ได้ร้องใหญ่แล้ว. นายเรือ ได้ยินเสียงร้องนั้น จึงกล่าวว่า "ประโยชน์อะไร ด้วยอาภรณ์ของนางนี้ (จะ) ฉิบหายเสีย (เปล่าๆ), พวกท่านจงเปลื้องเครื่องอาภรณ์ทั้งหมด ให้นางนุ่งผ้าเก่าผืนหนึ่งแล้วจงทิ้งนางนั้น. ก็ข้าพเจ้าไม่อาจดูนางนั้น ผู้ลอยอยู่เหนือหลังน้ำได้, เพราะฉะนั้น พวกท่านจงเอากระออมที่เต็มด้วยทราย ผูกไว้ที่คอแล้ว โยนลงไปเสียในสมุทรเถิด (ทำ) โดยประการที่ข้าพเจ้าจะไม่เห็นเขาได้." พวกมนุษย์เหล่านั้น ได้กระทำตามนั้นแล้ว. ปลาและเต่ารุมกินนางแม้นั้นในที่ตกนั่นเอง. พวกภิกษุฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็คิดว่า "ใครคนอื่น เว้นพระศาสดาเสีย จักรู้กรรมของหญิงนั่นได้, พวกเราจะทูลถามกรรมของหญิงนั้นกะพระศาสดา" ถึงถิ่นที่ประสงค์แล้ว จึงพากัน ลงจากเรือหลีกไป.

ภิกษุ ๗ รูป อดอาหาร ๗ วันในถ้ำ

ภิกษุ ๗ รูปอีกพวกหนึ่ง ไปจากปัจจันตชนบท เพื่อต้องการจะเฝ้าพระศาสดา เวลาเย็น เข้าไปสู่วัดแห่งหนึ่ง แล้วถามถึงที่พัก. ก็ในถ้ำแห่งหนึ่ง มีเตียงอยู่ ๗ เตียง, เมื่อภิกษุเหล่านั้นได้ถ้ำนั้นแล นอนบนเตียงนั้นแล้ว, ตอนกลางคืน แผ่นหินเท่าเรือนยอดกลิ้งลงมาปิดประตูถ้ำไว้ พวกภิกษุเจ้าของถิ่นกล่าวว่า "พวกเราให้ถ้ำนี้ถึงแก่ภิกษุอาคันตุกะ,

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 56

ก็แผ่นหินใหญ่นี้ ได้ตั้งปิดประตูถ้ำเสียแล้ว. พวกเราจักนำแผ่นหินนั้นออก" แล้วให้ประชุมพวกมนุษย์จากบ้าน ๗ ตำบลโดยรอบ แม้พยายามอยู่ ก็ไม่อาจยังแผ่นหินนั้นให้เขยื้อนจากที่ได้.

แม้พวกภิกษุผู้เข้าไป (อยู่) ในภายใน ก็พยายามเหมือนกัน. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ยังไม่อาจให้แผ่นหินนั้นเขยื้อนได้ตลอด ๗ วัน, พวก ภิกษุอาคันตุกะ อันความหิวแผดเผาแล้วตลอด ๗ วัน ได้เสวยทุกข์ใหญ่แล้ว. ในวันที่ ๗ แผ่นหินก็ได้กลับกลิ้งออกไปเอง. พวกภิกษุออกไปแล้ว คิดว่า "บาปของพวกเรานี้ เว้นพระศาสดาเสียแล้วใครเล่าจักรู้ได้ พวกเราจักทูลถามพระศาสดา" ดังนี้แล้ว ก็พากันหลีกไป.

พวกภิกษุทูลถามถึงกรรมของตนและของผู้อื่น

ภิกษุเหล่านั้น มาบรรจบกันกับภิกษุพวกก่อนในระหว่างทาง รวมเป็นพวกเดียวกันเข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง มีปฏิสันถารอันพระศาสดาทรงทำแล้ว จึงทูลถามถึงเหตุที่ตนเห็นและที่ตนเสวยมาแล้วโดยลำดับ. แม้พระศาสดาก็ตรัสพยากรณ์แก่ภิกษุเหล่านั้น โดยลำดับอย่างนี้.

บุรพกรรมของกา

"ภิกษุทั้งหลาย กานั้นได้เสวยกรรมที่ตนทำแล้วนั่นแหละโดยแท้. ก็ในอดีตกาล ชาวนาผู้หนึ่งในกรุงพาราณสี ฝึกโคของตนอยู่ (แต่) ไม่ อาจฝึกได้. ด้วยว่าโคของเขานั้นเดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็นอนเสีย, แม้เขาตีให้ลุกขึ้นแล้ว เดินไปได้หน่อยหนึ่ง ก็กลับนอนเสียเหมือนอย่างเดิมนั่นแล. ชาวนานั้น แม้พยายามแล้วก็ไม่อาจฝึกโคนั้นได้ เป็นผู้อันความโกรธครอบงำแล้ว จึงกล่าวว่า บัดนี้เจ้าจักนอนสบายตั้งแต่นี้ไป ดังนี้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 57

แล้ว ทำโคนั้นให้เป็นดุจฟ่อนฟาง พันคอโคนั้นด้วยฟางแล้วก็จุดไฟ. โคถูกไฟคลอกตายในที่นั้นเอง. ภิกษุทั้งหลาย กรรมอันเป็นบาปนั้น อันกานั้นทำแล้วในครั้งนั้น. เขาไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน เพราะวิบากของกรรมอันเป็นบาปนั้นเกิดแล้วในกำเนิดกา ๗ ครั้ง (ถูกไฟ) ไหม้ตาย ในอากาศอย่างนี้แหละด้วยวิบากที่เหลือ."

บุรพกรรมของภรรยานายเรือ

" ภิกษุทั้งหลาย หญิงแม้นั้น เสวยกรรมที่ตนทำแล้วเหมือนกัน. ก็ในอดีตกาล หญิงนั้นเป็นภรรยาแห่งคฤหบดีคนหนึ่งในกรุงพาราณสีได้ทำกิจทุกอย่างมีตักน้ำ ซ้อมข้าว ปรุงอาหาร เป็นต้น ด้วยมือของนางเอง. สุนัขตัวหนึ่งของนางนั่งแลดูนางนั้น ผู้ทำกิจทุกอย่างอยู่ในเรือน. เมื่อนางนำภัตไปนาก็ดี ไปป่าเพื่อต้องการวัตถุ ต่างๆ มีฟืนและผักเป็นต้นก็ดี สุนัขนั้นย่อมไปกับนางนั้นเสมอ. พวกคนหนุ่มเห็นดังนั้น ย่อมเยาะเย้ยว่า แน่ะพ่อ พรานสุนัขออกแล้ว, วันนี้พวกเราจักกิน (ข้าว) กับเนื้อ นางขวยเขินเพราะคำพูดของพวกคนเหล่านั้น จึงประหารสุนัขด้วยก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นให้หนีไป. สุนัขกลับแล้วก็ตามไปอีก. ได้ยินว่า สุนัขนั้นได้เป็นสามีของนางในอัตภาพที่ ๓; เหตุนั้น มันจึงไม่อาจตัดความรักได้. จริงอยู่ ใครๆ ชื่อว่าไม่เคยเป็นเมียหรือเป็นผัวกัน ในสงสาร มีที่สุดอันบุคคลไปตาม ไม่รู้แล้ว ไม่มีโดยแท้; ถึงกระนั้น ความรักมีประมาณยิ่ง ย่อมมีในผู้ที่เป็นญาติกันในอัตภาพไม่ไกล; เหตุนั้น สุนัขนั้น จึงไม่อาจละนางนั้นได้. นางโกรธสุนัขนั้น เมื่อนำข้าวยาคูไปเพื่อสามีที่ นา (จึง) ได้เอาเชือกใส่ไว้ในชายพกแล้วไป. สุนัขไปกับนางเหมือนกัน. นางให้ข้าวยาคูแก่สามีแล้ว ถือกระออมเปล่าไปสู่ท่าน้ำแห่งหนึ่ง บรรจุ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 58

กระออมให้เต็มด้วยทรายแล้ว ได้ทำเสียง (สัญญา) แก่สุนัขซึ่งยืนแลดูอยู่ ในที่ใกล้. สุนัขดีใจว่า นานแล้วหนอ เราได้ถ้อยคำที่ไพเราะในวันนี้, จึงกระดิกหางเข้าหานาง. นางจับสุนัขนั้นอย่างมั่นที่คอแล้ว จึงเอาปลายเชือกข้างหนึ่งผูกกระออมไว้ เอาปลายเชือกอีกข้างหนึ่งผูกที่คอสุนัข ผลักกระออมให้กลิ้งลงน้ำ. สุนัขตามกระออมไปตกลงน้ำ ก็ได้ทำกาละในน้ำนั้นเอง. นางนั้นไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน เพราะวิบากของกรรมนั้น ด้วยวิบากที่เหลือจึงถูกเขาเอากระออมเต็มด้วยทรายผูกคอถ่วงลงในน้ำ ได้ทำกาละแล้วตลอด ๑๐๐ อัตภาพ."

บุรพกรรมของภิกษุ ๗ รูป

"ภิกษุทั้งหลาย แม้พวกเธอก็เสวยกรรมอันตนกระทำแล้วเหมือนกัน. ก็ในอดีตกาล เด็กเลี้ยงโค ๗ คนชาวกรุงพาราณสี เที่ยวเลี้ยงโค อยู่คราวละ ๗ วัน ในประเทศใกล้ดงแห่งหนึ่ง วันหนึ่งเที่ยวเลี้ยงโคแล้ว กลับมาพบเหี้ยใหญ่ตัวหนึ่ง จึงไล่ตาม. เหี้ยหนีเข้าไปสู่จอมปลวกแห่งหนึ่ง. ก็ช่องแห่งจอมปลวกนั้นมี ๗ ช่อง. พวกเด็กปรึกษากันว่า บัดนี้ พวกเราจักไม่อาจจับได้ พรุ่งนี้จึงจักมาจับดังนี้แล้ว จึงต่างคนต่างก็ถือเอากิ่งไม้ที่หักได้คนละกำๆ แม้ทั้ง ๗ คนพากันปิดช่องทั้ง ๗ ช่องแล้วหลีกไป. ในวันรุ่งขึ้นเด็กเหล่านั้นมิได้คำนึงถึงเหี้ยนั้น ต้อนโคไปในประเทศอื่น ครั้น ในวันที่ ๗ พาโคกลับมา พบจอมปลวกนั้น กลับได้สติ คิดกันว่า เหี้ย นั้นเป็นอย่างไรหนอ จึงเปิดช่องที่ตนๆ ปิดไว้แล้ว. เหี้ยหมดอาลัยในชีวิต เหลือแต่กระดูกและหนังสั่นคลานออกมา, เด็กเหล่านั้นเห็นดังนั้นแล้ว จึงทำความเอ็นดูพูดกันว่า พวกเราอย่าฆ่ามันเลย, มันอดเหยื่อตลอด ๗ วัน จึงลูบหลังเหี้ยนั้นแล้วปล่อยไป ด้วยกล่าวว่า จงไปตามสบายเถิด.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 59

เด็กเหล่านั้นไม่ต้องไหม้ในนรกก่อน เพราะไม่ได้ฆ่าเหี้ย. แต่ชนทั้ง ๗ นั้น ได้เป็นผู้อดข้าวร่วมกันตลอด ๗ วันๆ ใน ๑๔ อัตภาพ ภิกษุทั้งหลาย กรรมนั้น พวกเธอเป็นเด็กเลี้ยงโค ๗ คนทำไว้แล้วในกาลนั้น."

พระศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหา อันภิกษุเหล่านั้นทูลถามแล้วๆ ด้วย ประการฉะนี้."

คนจะอยู่ที่ไหนๆ ก็ไม่พ้นจากกรรมชั่ว

ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง ทูลพระศาสดาว่า "ความพ้นย่อมไม่มีแก่ สัตว์ที่ทำกรรมเป็นบาปแล้ว ผู้ซึ่งเหาะไปในอากาศก็ดี แล่นไปสู่สมุทรก็ดี เข้าไปสู่ซอกแห่งภูเขาก็ดี หรือ? พระเจ้าข้า."

พระศาสดา ตรัสบอกว่า "อย่างนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย แม้ในที่ทั้งหลาย มีอากาศเป็นต้น ประเทศแม้สักส่วนหนึ่งที่บุคคลอยู่แล้ว พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ ไม่มี" เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ตรัสพระคาถานี้ว่า

๑๑. น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ

น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวีสํ

น วิชฺชตี โส ชคติปฺปเทโส

ยตฺรฏฺิโต มุญฺเจยฺย ปาปกมฺมา.

"บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้, หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้, หนีเข้าไปสู่ซอกแห่งภูเขา ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้, (เพราะ) เขา

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 60

อยู่แล้วในประเทศแห่งแผ่นดินใด พึงพ้นจากกรรม ชั่วได้, ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น หามีอยู่ไม่."

แก้อรรถ

ความแห่งพระคาถานั้นว่า "ก็หากว่า คนบางคนคิดว่า "เราจัก พ้นจากกรรมชั่วด้วยอุบายนี้ พึงนั่งในอากาศก็ดี, พึงเข้าไปสู่มหาสมุทร อันลึกแปดหมื่นสี่พันโยชน์ก็ดี พึงนั่งในซอกแห่งภูเขาก็ดี, เขาไม่พึงพ้น จากกรรมชั่วได้เลย. ด้วยว่า ในส่วนแห่งแผ่นดินคือภาคแห่งปฐพีมีปุรัตถิมทิศเป็นต้น โอกาสแม้ประมาณเท่าปลายขนทรายที่บุคคลอยู่แล้ว พึงอาจพ้นจากกรรมชั่วได้ หามีไม่."

ในกาลจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้น บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น. พระธรรมเทศนาเป็นกถามีประโยชน์ แม้แก่มหาชนผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องชน ๓ คน จบ