พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์ [๑๐๘]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34899
อ่าน  442

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 72

๒. เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์ [๑๐๘]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 72

๒. เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์ [๑๐๘]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สพฺเพ ตสนฺติ" เป็นต้น.

เหตุให้ทรงบัญญัติตลสัตติกสิกขาบท

ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ เงือดเงื้อหอก คือฝ่ามือแก่พวกภิกษุสัตตรสพัคคีย์เหล่านั้น ด้วยเหตุที่ตนประหารพวก สัตตรสพัคคีย์ ในสิกขาบทก่อนนั้นนั่นแล.

แม้ในเรื่องนี้ พระศาสดาทรงสดับเสียงของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ก็ตรัสถามว่า "นี่อะไรกัน?" ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "เรื่องชื่อนี้" แล้ว ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จำเดิมแต่นี้ไป ธรรมดาภิกษุไม่ควรทำอย่างนี้, ภิกษุใดทำ, ภิกษุนั้นย่อมต้องอาบัติชื่อนี้" ดังนี้แล้ว ทรงบัญญัติ ตลสัตติกสิกขาบท ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุทราบว่า แม้สัตว์เหล่าอื่นย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา อย่างเดียวกับเราเหมือนกัน, อนึ่ง ชีวิตก็ย่อมเป็นที่รักของสัตว์เหล่านั้น เหมือนของเราโดยแท้ ไม่ควร ประหารเอง ไม่ควรใช้ผู้อื่นให้ฆ่า" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

๒. สพฺเพ ตสนฺติ ทณฺฑสฺส สพฺเพสํ ชีวิตํ ปิยํ

อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา น หเนยฺย น ฆาตเย.

"สัตว์ทั้งหมด ย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา ชีวิต ย่อมเป็นที่รักของสัตว์ทั้งหมด, บุคคลควรทำตนให้เป็นอุปมาแล้ว ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้ฆ่า."

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 73

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า สพฺเพสํ ชีวิตํ ปิยํ ความว่า ชีวิตย่อมเป็นที่รักยิ่งของเหล่าสัตว์ที่เหลือ เว้นพระขีณาสพเสีย, อันพระขีณาสพ ย่อมเป็นผู้วางเฉยในชีวิตหรือในมรณะโดยแท้. คำที่เหลือ เช่นกับคำอันมีในก่อนนั่นแล.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์ จบ.