พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. เรื่องพระโกณฑธานเถระ [๑๑๐]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34901
อ่าน  503

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 76

๔. เรื่องพระโกณฑธานเถระ [๑๑๐]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 76

๔. เรื่องพระโกณฑธานเถระ [๑๑๐]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระชื่อ โกณฑธานะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มาโวจ ผรุสํ กญฺจิ" เป็นต้น.

รูปสตรีติดตามพระเถระไปทุกแห่ง

ดังได้สดับมา จำเดิมแต่วันที่พระเถระนั้นบวชแล้ว รูปสตรีรูปหนึ่งเที่ยวไปกับพระเถระ (แต่) พระเถระไม่เห็นรูปสตรีนั้น, ส่วนมหาชนเห็น. เมื่อท่านแม้เที่ยวบิณฑบาตอยู่ภายในบ้าน, พวกมนุษย์ถวายภิกษาทัพพี ๑ แล้ว พูดว่า "ท่านขอรับ ส่วนนี้จงเป็นของสำหรับท่าน, แต่ส่วนนี้ สำหรับสตรีผู้สหายของท่าน" ดังนี้แล้ว ก็ถวายภิกษาแม้ทัพพีที่ ๒.

บุรพกรรมของพระเถระ

ถามว่า "บุรพกรรมของท่านเป็นอย่างไร?"

ตอบว่า "ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ภิกษุ ๒ รูปเป็นสหายกัน ได้เป็นผู้กลมเกลียวกันอย่างยิ่ง ดุจคลอดจากครรภ์มารดาเดียวกัน."

ก็ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระชนมายุยืน ภิกษุทั้งหลายย่อมประชุมกัน เพื่อประโยชน์แก่การทำอุโบสถทุกๆ ๑ ปี หรือทุกๆ ๖เดือน (ครั้งหนึ่ง) เพราะฉะนั้น แม้ท่านทั้งสองรูปนั้น ก็ออกไปจากที่อยู่ด้วยคิดว่า "จักไปสู่โรงอุโบสถ."

เทวดาแกล้งทำพระเถระให้แตกกัน

เทวดาผู้เกิดในชั้นดาวดึงส์ผู้หนึ่ง เห็นท่านทั้งสองแล้ว คิดว่า "ภิกษุเหล่านี้ช่างกลมเกลียวกันเหลือเกิน, เราอาจทำลายภิกษุเหล่านี้ได้หรือ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 77

หนอ?" ดังนี้แล้ว ได้มาในลำดับเวลาที่ตนคิดแล้วนั่นแล เพราะความที่ตนเป็นผู้เกเร, ในภิกษุ ๒ รูปนั้น เมื่อรูปหนึ่งกล่าวว่า "ผู้มีอายุ ขอท่านจงรออยู่สักครู่หนึ่ง ผมมีความต้องการถ่ายอุจจาระ (๑) " จึงนิรมิตเพศเป็นหญิงมนุษย์คนหนึ่ง, ในกาลที่พระเถระเข้าไปในระหว่างพุ่มไม้แล้วออกมา เอามือข้างหนึ่งเกล้ามวยผม ข้างหนึ่งจัดผ้านุ่ง (เดินตาม) ออกมาข้างหลังพระเถระนั้น. ท่านไม่เห็นหญิงนั้น. แต่ภิกษุรูปที่ยืนอยู่ข้างหน้าซึ่งคอยท่านอยู่ เหลียวมาแลดูเห็นหญิงนั้นทำอย่างนั้น (เดินตาม) ออกมา.

รังเกียจกันด้วยสีลเภท

เทวดานั้นรู้ภาวะแห่งตน อันภิกษุนั้นเห็นแล้ว ก็อันตรธานไป. ภิกษุรูปนอกนี้ (ที่คอยอยู่) พูดกะภิกษุนั้น ในเวลาที่มาสู่ที่ใกล้ตนว่า "ผู้มีอายุ ศีลของท่านทำลายเสียแล้ว."

ภิกษุนั้นกล่าวว่า "ผู้มีอายุ กรรมเห็นปานนั้นของผมไม่มี." ภิกษุนอกนี้กล่าวว่า "เดี๋ยวนี้เอง หญิงรุ่นสาว (เดินตาม) ออกมาข้างหลังท่าน ทำกรรมชื่อนี้ผมเห็นแล้ว, ท่านยังพูด (ปฏิเสธ) ได้ว่า "กรรมเห็น ปานนี้ของผมไม่มี."

ภิกษุนั้น ปานประหนึ่งถูกสายฟ้าฟาดลงที่กระหม่อม กล่าววิงวอน ว่า "ผู้มีอายุ ขอท่านจงอย่าให้ผมฉิบหายเลย, กรรมเห็นปานนั้นของผม ไม่มีจริงๆ."

ภิกษุนอกนี้ก็พูดว่า "ผมเห็นด้วยนัยน์ตาทั้งสองเอง, จักเชื่อท่าน


๑. สรีรกิจฺเจน ด้วยกิจแห่งสรีระ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 78

ได้อย่างไร" ดังนี้แล้ว ก็แตกกันดุจท่อนไม้แล้วหลีกไป. แม้ในโรงอุโบสถก็นั่งด้วยตั้งใจว่า "เราจักไม่ทำอุโบสถร่วมกับภิกษุนี้."

ภิกษุนอกนี้ (ผู้ถูกหา) แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "ท่านขอรับจุดดำแม้เท่าเมล็ดงา ย่อมไม่มีในศีลของผม."

แม้ภิกษุนั้น ก็กล่าวยันว่า "กรรมลามกนั้นผมเห็นเอง."

เทวดาขยายความจริง

เทวดาเห็นภิกษุรูปที่คอยนั้น ไม่ปรารถนาจะทำอุโบสถร่วมกับภิกษุ (รูปที่ตนแกล้ง) นั้น หวนคิดว่า "เราทำกรรมหนักแล้ว" ดังนี้ จึงชี้แจงว่า "ความทำลายแห่งศีลของพระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าย่อมไม่มี, แต่ข้าพเจ้าทำกรรมอันลามกนั่น ก็ด้วยสามารถจะทดลองดู, ขอท่านจงทำอุโบสถ ร่วมกับพระผู้เป็นเจ้านั้นเถิด."

ภิกษุรูปที่คอยนั้น เมื่อเทวดานั้น ดำรงอยู่ในอากาศชี้แจงอยู่จึงเชื่อ แล้วได้ทำอุโบสถ (ร่วมกัน) แต่หาได้เป็นผู้มีจิตชิดเชื้อในพระเถระเหมือนในกาลก่อนไม่.

บุรพกรรมของเทวดามีประมาณเท่านี้. ก็ในเวลาสิ้นอายุ พระเถระเหล่านั้น ได้บังเกิดในเทวโลกแสนสบาย.

เทวดามาเกิดเป็นพระโกณฑธานะ

ฝ่ายเทวดาบังเกิดในอเวจีแล้ว หมกไหม้อยู่ในอเวจีนั้นสิ้น ๑ พุทธันดร (๑) ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้บังเกิดในกรุงสาวัตถี ถึงความเจริญวัยแล้ว ได้บรรพชาอุปสมบทในพระศาสนา. ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว รูปสตรี


๑. ระหว่างกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งซึ่งปรินิพพานแล้ว องค์ใหม่อุบัติขึ้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 79

นั้นก็ได้ปรากฏอย่างนั้นนั่นแล. เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจึงได้ ขนานนามท่านว่า "โกณฑธานะ."

พวกภิกษุบอกคฤหัสห์ให้ขับไล่

ภิกษุทั้งหลายเห็นท่านเที่ยวไปอยู่อย่างนั้น จึงบอกอนาถปิณฑิกเศรษฐีว่า "ท่านเศรษฐี ท่านจงขับไล่ภิกษุผู้ทุศีลรูปนี้ออกจากวิหารของ ท่านเสีย, เพราะว่า ความเสียหายจะเกิดขึ้นแก่ภิกษุที่เหลือ."

เศรษฐี. ท่านผู้เจริญ ก็พระศาสดาไม่มีในวิหารหรือ?

ภิกษุ. มีอยู่ ท่านเศรษฐี.

เศรษฐี. ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น พระศาสดาคงจักทรงทราบ.

ภิกษุทั้งหลายก็ไปแจ้งแม้แก่นางวิสาขาอย่างนั้นเหมือนกัน.

ถึงนางวิสาขา ก็ได้ให้คำตอบแก่ภิกษุเหล่านั้นเหมือนกัน.

ฝ่ายภิกษุทั้งหลาย อันท่านเหล่านั้นไม่รับถ้อยคำ (ของตน) จึงได้ ทูลแด่พระราชาว่า "มหาบพิตร ภิกษุชื่อโกณฑธานะ พาหญิงคนหนึ่งเที่ยวไป จะยังความเสียหายให้เกิดแก่ภิกษุทุกรูป, ขอมหาบพิตรทรงขับไล่ ภิกษุนั้นออกจากแว่นแคว้นของพระองค์เสีย."

พระราชา. ก็ภิกษุนั้นอยู่ที่ไหนเล่า?

พวกภิกษุ. อยู่ในวิหาร มหาบพิตร.

พระราชา. อยู่ในเสนาสนะหลังไหน?

พวกภิกษุ. ในเสนาสนะชื่อโน้น.

พระราชา. ถ้าเช่นนั้น ขออาราธนาพระคุณเจ้าไปเถิด. ข้าพเจ้าจักสั่งให้จับภิกษุรูปนั้น.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 80

พระราชาเสด็จไปสอบสวนพระโกณฑธานะ

ในเวลาเย็น ท้าวเธอเสด็จไปวิหาร รับสั่งให้พวกบุรุษล้อมเสนาสนะนั้นไว้แล้ว ได้เสด็จผินพระพักตร์ตรงที่อยู่ของพระเถระ.

พระเถระได้ยินเสียงเอะอะ จึงได้ออกจากวิหาร (ที่อยู่) ยืนอยู่ที่หน้ามุข. พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นรูปสตรีแม้นั้น ยืนอยู่ข้างหลัง พระเถระนั้น. พระเถระทราบว่าพระราชาเสด็จมา จึงขึ้นไปยังวิหารนั่งอยู่แล้ว. พระราชาไม่ทรงไหว้พระเถระ, ไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นแม้สตรีนั้น. ท้าวเธอทรงตรวจดูที่ซอกประตูบ้าง ที่ใต้เตียงบ้าง ก็มิได้ทรงประสบเลย จึงได้ตรัสกะพระเถระว่า "ท่านขอรับ ผมได้เห็นสตรีคนหนึ่งในที่นี้, เขาไปเสียไหน?"

พระเถระทูลว่า "อาตมภาพไม่เห็น มหาบพิตร. แม้เมื่อพระราชาตรัสว่า "เมื่อกี้นี้ ข้าพเจ้าเห็นสตรียืนอยู่ข้างหลังท่าน." ก็ทูลยืนกรานว่า "อาตมภาพไม่เห็น มหาบพิตร."

พระราชาทรงดำริว่า "นี่มันเป็นเรื่องอะไรหนอ?" แล้วตรัสว่า "ขอนิมนต์ท่านออกไปจากที่นี้ก่อน ขอรับ" เมื่อพระเถระออกไปจากที่นั้น ยืนอยู่ที่หน้ามุข, สตรีนั้น ก็ได้ยืนอยู่ข้างหลังของพระเถระอีก. พระราชาทอดพระเนตรเห็นสตรีนั้นแล้ว จึงเสด็จขึ้นไปชั้นบนอีก.

พระเถระทราบความที่พระราชานั้นเสด็จมาแล้ว จึงนั่งอยู่.

พระราชา แม้ทรงตรวจดูสตรีนั้นในที่ทุกแห่งอีก ก็มิได้ทรงประสบ จึงตรัสถามพระเถระนั้นซ้ำอีกว่า "สตรีนั้นมีอยู่ ณ ที่ไหน? ขอรับ."

พระเถระ. อาตมภาพไม่เห็น (สตรีนั้น) มหาบพิตร.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 81

พระราชา. ขอท่านโปรดบอกเถิด ขอรับ เมื่อกี้นี้เอง ผมเห็นสตรียืนอยู่ข้างหลังของท่าน.

พระเถระ. ขอถวายพระพร มหาบพิตร แม้มหาชนก็พูดว่า "สตรีเที่ยวไปข้างหลังอาตมภาพ," ส่วนอาตมภาพไม่เห็น (สตรีนั้นเลย).

พระราชาทรงสันนิษฐานว่าเป็นรูปเทียม

พระราชาทรงกำหนดว่า "นั่นพึงเป็นรูปเทียม" แล้วรับสั่งกะพระเถระอีกว่า "ท่านขอรับ ขอท่านจงลงไปจากที่นี้ดูที," เมื่อพระเถระลงไปยืนอยู่ที่หน้ามุข, ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นสตรีนั้นยืนอยู่ข้างหลังของพระเถระนั้นอีก ครั้นเสด็จขึ้นไปข้างบน ก็กลับมิได้ทอดพระเนตรเห็น. ท้าวเธอทรงซักถามพระเถระอีก, เมื่อท่านทูล (ยืนกรานคำเดียว) ว่า "อาตมภาพไม่เห็น" ก็ทรงสันนิษฐานได้ว่า "นั่นเป็นรูปเทียมแน่" จึงตรัสกะพระเถระว่า "ท่านขอรับ เมื่อสังกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) เห็นปานนั้น เที่ยวติดตามไปข้างหลังท่านอยู่, คนอื่นใครๆ จักไม่ถวายภิกษาแก่ท่าน, ท่านจงเข้าไปพระราชวังของข้าพเจ้าเนืองนิตย์, ข้าพเจ้าจักบำรุง (ท่าน) ด้วยปัจจัย ๔," ทรงนิมนต์พระเถระแล้ว ก็เสด็จหลีกไป.

พวกภิกษุติเตียนพระราชาและพระเถระ

ภิกษุทั้งหลาย ยกโทษว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดู กิริยาของพระราชาผู้ลามก, เมื่อพวกเราทูลว่า ขอพระองค์ทรงขับไล่ ภิกษุนั้นออกจากวิหารเสีย, ก็เสด็จมา (กลับ) นิมนต์ (ภิกษุนั้น) ด้วย ปัจจัย ๔ แล้วเสด็จกลับ."

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 82

ภิกษุทั้งหลาย ก็กล่าวกะพระเถระนั้นว่า "เฮ้ย คนทุศีล บัดนี้พระราชากลายเป็นคนชั่วแล้ว."

แม้พระเถระนั้น ในกาลก่อนไม่อาจจะกล่าวอะไรๆ กะภิกษุทั้งหลาย ได้, บัดนี้ กล่าวตอบทันทีว่า "พวกท่านเป็นผู้ทุศีล, พวกท่านเป็นคน ชั่ว, พวกท่านพาหญิงเที่ยวไป."

ภิกษุเหล่านั้น ไปกราบทูลแด่พระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระโกณฑธานะ อันข้าพระองค์ทั้งหลายว่ากล่าวแล้ว กลับกล่าวด่าต่างๆ เป็นต้นว่า "แม้พวกท่าน ก็เป็นผู้ทุศีล."

พระศาสดาทรงไต่สวนทั้งสองฝ่าย

พระศาสดา รับสั่งให้เรียกพระโกณฑธานะนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุ ข่าวว่า เธอกล่าวอย่างนั้น จริงหรือ?"

พระเถระ กราบทูลว่า "จริง พระเจ้าข้า."

พระศาสดา. เพราะเหตุไร? เธอจึงกล่าวอย่างนั้น.

พระเถระ. เพราะเหตุที่ภิกษุเหล่านั้นกล่าวกับข้าพระองค์.

พระศาสดา. ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร? แม้พวกท่านจึงกล่าว กะภิกษุนี้ (อย่างนั้น).

พวกภิกษุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เห็นหญิงเที่ยวไปข้างหลังภิกษุนี้ จึงกล่าวอย่างนั้น.

พระศาสดา. นัยว่า ภิกษุเหล่านี้เห็นหญิงเที่ยวไปกับเธอ จึงกล่าว (ขึ้นอย่างนั้น) ส่วนตัวเธอไม่ได้เห็นเลย เหตุไฉน? จึงกล่าวกะภิกษุ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 83

เหล่านี้ (อย่างนั้นเล่า?), ผลนี้ เกิดขึ้นเพราะอาศัยทิฏฐิลามกของเธอในกาลก่อนมิใช่หรือ? เหตุไร ในบัดนี้ เธอจึงถือทิฏฐิลามกอีกเล่า?

พวกภิกษุทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุนี้ได้ทำกรรมอะไรในปางก่อน?"

ทีนั้น พระศาสดา ตรัสบุรพกรรมของท่านแก่ภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุ เธออาศัยกรรมลามกนี้ จึงถึงประการอันแปลกนี้แล้ว, บัดนี้ การที่เธอถือทิฏฐิอันลามกเห็นปานนั้นอีก ไม่สมควร, เธออย่ากล่าวอะไรๆ กับภิกษุทั้งหลายอีก. จงเป็นผู้ไม่มีเสียง เช่นกังสดาล (๑) อัน เขาตัดขอบปากแล้ว, เมื่อทำอย่างนั้น จักเป็นผู้ชื่อว่าบรรลุพระนิพพาน" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงได้ทรงภาษิตพระคาถา เหล่านี้ว่า

๔. มาโวจ ผรุสํ กญฺจิ วุตฺตา ปฏิวเทยฺยุ ตํ

ทุกฺขา หิ สารมฺภกถา ปฏิทณฺฑา ผุเสยฺยุ ตํ.

สเจ เนเรสิ อตฺตานํ กํโส อุปหโต ยถา

เอส ปตฺโตสิ นิพฺพานํ สารมฺโภ เต น วิชฺชติ.

"เธออย่าได้กล่าวคำหยาบกะใครๆ, ชนเหล่าอื่น ถูกเธอว่าแล้ว จะพึงตอบเธอ, เพราะการกล่าวแข่งขันกันให้เกิดทุกข์ อาชญาตอบพึงถูกต้องเธอ, ผิเธออาจยังตนไม่ให้หวั่นไหวได้ ดังกังสดาลที่ถูกกำจัดแล้วไซร้ เธอนั่นย่อมบรรลุพระนิพพาน, การกล่าวแข่งขันกัน ย่อมไม่มีแก่เธอ."


๑. ระฆังวงเดือน.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 84

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กญฺจิ ความว่า อย่าได้กล่าวคำหยาบ กะใครๆ คือแม้กะบุคคลผู้หนึ่ง.

บทว่า วุตฺตา ความว่า คนเหล่าอื่นถูกเธอกล่าวว่า "เจ้าพวกทุศีล," พึงกล่าวตอบเธอบ้าง อย่างนั้นเหมือนกัน.

บทว่า สารมฺภกถา ขึ้นชื่อว่าการกล่าวแข่งขันกันเกินกว่าเหตุนั้น ให้เกิดทุกข์.

บทว่า ปฏิทณฺฑา ความว่า เมื่อเธอประหารผู้อื่น ด้วยอาชญาทั้งหลาย มีอาชญาทางกายเป็นต้น. อาชญาตอบเช่นนั้นแหละ พึงตกลงเหนือกระหม่อมของเธอ.

บทว่า สเจ เนเรสิ ความว่า ถ้าเธอจักอาจทำตนไม่ให้หวั่นไหวได้ ไซร้.

บาทพระคาถาว่า กํโส อุปหโต ยถา ความว่า เหมือนกังสดาล ที่ เขาตัดขอบปากทำให้เหลือแต่พื้นวางไว้. จริงอยู่ กังสดาลเช่นนั้น แม้บุคคลตีแล้วด้วยมือ เท้า หรือด้วยท่อนไม้ ก็ย่อมไม่ดัง.

สองบทว่า เอส ปตฺโตสิ ความว่า ถ้าเธอจักอาจเป็นผู้เห็นปานนั้น ได้ไซร้, เธอนั่น บำเพ็ญปฏิปทานี้อยู่. เป็นผู้ไม่ประมาทแล้วในบัดนี้ ชื่อว่าบรรลุพระนิพพาน.

บาทพระคาถาว่า สารมฺโภ เต น วิชฺชติ ความว่า ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น แม้ความแข่งขันกัน มีอันกล่าวทำให้ยิ่งกว่ากันเป็นลักษณะเป็นต้น อย่างนั้นว่า "เจ้าเป็นผู้ทุศีล" ว่า "พวกเจ้าเป็นผู้ทุศีล" ดังนี้ ย่อมไม่มี คือจักไม่มีแก่เธอเลย.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 85

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว. แม้พระโกณฑธานเถระ ตั้งอยู่ในพระโอวาทที่พระศาสดาประทานแล้ว ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล, ต่อกาลไม่นานนัก ท่านได้เหาะขึ้นไปในอากาศ จับสลากเป็นครั้งแรก (๑) ดังนี้แล.

เรื่องพระโกณฑธานเถระ จบ.


๑. ได้ยินว่า ท่านได้จับสลากได้ที่ ๑ สามครั้ง คือเมื่อพระศาสดาจะเสด็จไปสู่ อุคคนคร ในกิจนิมนต์ของนางมหาสุภัททา ๑ เมื่อเสด็จไปสู่เมืองสาเกต ในกิจนิมนต์ของนางจุลสุภัททา ๑ เมื่อเสด็จไปสู่สุนาปรันตชนบท ๑ ในกิจนิมนต์เหล่านั้น ต้องการแต่พระขีณาสพล้วนๆ ๕๐๐ องค์. นัย. มโน., ๑/๒๘๓.