พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. เรื่องภิกษุมีภัณฑะมาก [๑๑๔]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34905
อ่าน  565

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 104

๘. เรื่องภิกษุมีภัณฑะมาก [๑๑๔]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 104

๘. เรื่องภิกษุมีภัณฑะมาก [๑๑๔]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้มีภัณฑะ มาก (๑) ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น นคฺคจริยา" เป็นต้น.

กุฎุมพีเตรียมเครื่องใช้ก่อนบวช

ได้ยินว่า กุฎุมพีชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง มีภรรยาทำกาละแล้ว จึงบวช. เขาเมื่อจะบวช ให้สร้างบริเวณ เรือนไฟและห้องเก็บภัณฑะเพื่อตน บรรจุห้องเก็บภัณฑะแม้ทั้งหมดให้เต็มด้วยวัตถุทั้งหลายมีเนยใสและน้ำมัน เป็นต้นแล้ว จึงบวช. ก็แล ครั้นบวชแล้วให้เรียกพวกทาสของตน มาหุงต้มอาหารตามที่ตนชอบใจ แล้วบริโภค. ได้เป็นผู้มีภัณฑะมาก และ มีบริขารมาก. ผ้านุ่งผ้าห่มในราตรีมีชุดหนึ่ง, กลางวันมีอีกชุดหนึ่ง, อยู่ในวิหารหลังสุดท้าย.

ถูกพวกภิกษุต่อว่าแล้วนำตัวไปเฝ้าพระศาสดา

วันหนึ่ง เมื่อภิกษุนั้น ตากจีวรและผ้าปูที่นอนอยู่. ภิกษุทั้งหลาย เดินเที่ยวจาริกไปตามเสนาสนะ (๒) เห็นแล้ว จึงถามว่า "ผู้มีอายุ จีวรและผ้าปูที่นอนเหล่านี้ของใคร? " เมื่อเขาตอบว่า "ของผมขอรับ" ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า "ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาตจีวร (เพียง) ๓ ผืน, ก็ท่านบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้มีความปรารถนาน้อย (๓) อย่างนี้ (ทำไม) จึงเป็นผู้มีบริขารมากอย่างนี้ "ดังนี้แล้ว ได้นำภิกษุนั้นไปสู่ สำนักพระศาสดา กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปนี้ เป็นผู้มีภัณฑะมากเหลือเกิน."


๑. สั่งสมสิ่งของ. ๒. เสนาสนจาริกํ อาหิณฺฑนฺตา. ๓. มังคลัตถทีปนี ทุติยภาค หน้า ๒๗๑ แก้ศัพท์นี้ว่า ไม่มีความปรารถนา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 105

พระศาสดาตรัสถาม (ภิกษุนั้น) ว่า "ได้ยินว่า เป็นอย่างนั้นจริงหรือ? ภิกษุ" เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า "จริง พระเจ้าข้า" จึงตรัสว่า "ภิกษุ ก็เหตุไร เธอ เมื่อเราแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยแล้ว, จึงกลับเป็นผู้มีภัณฑะมากอย่างนี้เล่า?"

ภิกษุนั้นโกรธแล้วด้วยเหตุเพียงเท่านั้นแล คิดว่า "บัดนี้เราจัก เที่ยวไป โดยทำนองนี้" ดังนี้แล้ว ทิ้ง (เปลื้อง) ผ้าห่ม มีจีวรตัวเดียว (๑) ได้ยืนอยู่ในท่ามกลางบริษัท.

พระศาสดาให้เธอกลับมีหิริและโอตตัปปะ

ลำดับนั้น พระศาสดา เมื่อจะทรงอุปถัมภ์ภิกษุรูปนั้น จึงตรัสว่า "ภิกษุ ในกาลก่อน เธอแสวงหาหิริและโอตตัปปะ แม้ในกาลเป็นรากษสน้ำ ก็แสวงหาหิริโอตตัปปะอยู่ (ถึง) ๑๒ ปี มิใช่หรือ? (แต่) บัดนี้ เธอบวชในพระพุทธศาสนาที่เคารพอย่างนี้แล้ว เปลื้องผ้าห่มละหิริและโอตตัปปะ ยืนอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ เพราะเหตุไร? "ภิกษุนั้นฟังพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว กลับตั้งหิริและโอตตัปปะขึ้นได้ ห่มจีวรนั้น ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่ สมควรข้างหนึ่ง.

ภิกษุทั้งหลายทูลขอพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อให้ทรงประกาศเนื้อความนั้น. ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า:-

บุรพกรรมของภิกษุนั้น

"ได้ยินว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี. ในวันขนานพระนามของพระโพธิ-


๑. คือ เหลือสบงตัวเดียว เพราะ ติจีวรํ ย่อมหมายผ้า ๓ ผืน.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 106

สัตว์นั้น ชนทั้งหลายขนานพระนามของพระองค์ว่า "มหิสสากุมาร. (๑) " พระกนิษฐภาดา (๒) ของพระองค์ ได้มีพระนามว่าจันทกุมาร. เมื่อพระชนนีของพระราชกุมารทั้งสองนั้น สิ้นพระชนม์แล้ว พระราชาก็ทรงสถาปนา สตรีอื่นไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี.

พระนางแม้นั้นประสูติพระราชโอรส (พระองค์หนึ่ง). ชนทั้งหลาย ขนานพระนามของพระโอรสนั้นว่า "สุริยกุมาร." พระราชาทอดพระเนตรเห็นสุริยกุมารนั้นแล้ว ก็ทรงพอพระทัย ตรัส (พระราชทานพร) ว่า "เราให้พรแก่บุตรของเธอ." ฝ่ายพระเทวีนั้นแลกราบทูลว่า "หม่อมฉันจักรับเอา ในเวลาที่ต้องการ" ดังนี้แล้ว ในกาลที่พระราชโอรสเจริญวัยแล้ว จึงทูลพระราชาว่า "ขอเดชะสมมติเทพ พระองค์ได้พระราชทานพรไว้แล้ว ในเวลาบุตรของหม่อมฉันประสูติ. ขอพระองค์โปรด พระราชทานราชสมบัติแก่บุตรของหม่อมฉันเถิด."

พระโพธิสัตว์ต้องเดินไพร

พระราชาแม้ทรงห้ามว่า "บุตรทั้งสองของเรากำลังรุ่งเรืองดุจกองไฟ เที่ยวไป, เราไม่อาจให้ราชสมบัติแก่สุริยกุมารนั้นได้ (แต่) ทรงเห็นพระนางยังขืนอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ จึงทรงดำริว่า "นางนี้จะพึงทำแม้ความฉิบหายแก่บุตรของเรา" ดังนี้แล้ว จึงรับสั่งให้เรียกพระราชโอรสทั้งสอง มาตรัสว่า "พ่อทั้งสอง พ่อได้ให้พรไว้ในเวลาสุริยกุมารประสูติ, บัดนี้ มารดาของเขาทูลขอราชสมบัติ, พ่อไม่อยากจะให้แก่เขาเลย มารดาของเขา จะพึงทำแม้ความฉิบหายแก่เจ้าทั้งสอง, เจ้าจงไป อยู่ในป่าแล้ว


๑. แปลว่า กุมารผู้ซัดไปซึ่งลูกศรใหญ่ ฉบับยุโรปและสิงหลว่า มหิงฺสกกุมาโร. ๒. แปลว่า น้องชาย.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 107

ค่อยกลับมารับราชสมบัติโดยกาลที่พ่อล่วงไป" ดังนี้แล้ว ทรงส่งไป.

สุริยกุมารเล่นอยู่ที่พระลานหลวง เห็นพระราชกุมารทั้งสองนั้น ถวายบังคมพระราชบิดาแล้วลงจากปราสาท ทราบเหตุนั้นแล้วจึงออกไป กับพระราชกุมารเหล่านั้นด้วย.

พระราชกุมารทั้งสองถูกรากษสจับไว้

ในกาลที่พระราชกุมารเหล่านั้น เข้าไปสู่หิมวันตประเทศ พระโพธิสัตว์เสด็จแยกออกจากทาง นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งแล้วตรัสกะสุริยกุมารว่า "แน่ะพ่อ เจ้าจงไปสู่สระนั่น อาบน้ำและดื่มน้ำแล้ว จงเอาใบบัวนำน้ำมาเพื่อพี่ทั้งสองบ้าง." ก็สระนั้น เป็นสระที่รากษสน้ำ (๑) ตนหนึ่งได้จากสำนักแห่งท้าวเวสวัณ. ก็ท้าวเวสวัณรับสั่งกะรากษสน้ำนั้นว่า "เว้นชนผู้รู้เทวธรรมเท่านั้น ชนเหล่าอื่นลงสู่สระนี้, เจ้าย่อมได้เพื่อเคี้ยว กินชนเหล่านั้น." ตั้งแต่นั้นมา รากษสน้ำนั้นถามเทวธรรมกะคนผู้ลง แล้วๆ สู่สระนั้น ย่อมเคี้ยวกินคนผู้ไม่รู้อยู่.

ฝ่ายสุริยกุมาร มิทันพิจารณาสระนั้น ลงไป, และถูกรากษสนั้น ถามว่า "ท่านรู้เทวธรรมหรือ?" ก็ตอบว่า "พระจันทร์และพระอาทิตย์ ชื่อว่าเทวธรรม." ลำดับนั้น รากษสกล่าวกะสุริยกุมารนั้นว่า "ท่านไม่ รู้เทวธรรม." แล้วก็ฉุดลงน้ำไปพักไว้ในภพของตน.

ส่วนพระโพธิสัตว์ เห็นสุริยกุมารนั้นช้าอยู่ จึงส่งจันทกุมารไป แม้จันทกุมารนั้น ถูกรากษสนั้นถามว่า "ท่านรู้เทวธรรมหรือ?" ก็ตอบ ว่า "ทิศ ๔ ชื่อว่า เทวธรรม," รากษสน้ำก็ฉุดแม้จันทกุมารนั้นลงน้ำ ไปพักไว้อย่างนั้นเหมือนกัน.


๑. ปทานุกรม กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๔๗๐ ว่า รากษส (รากสด) ยักษ์ ผีเสื้อน้ำ เป็น ชื่อพวกอสูรอย่างเลว มีนิสัยดุร้าย ชอบเที่ยวตามป่า ทำลายพิธีและกินคน.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 108

พระโพธิสัตว์แสดงเทวธรรมแก่รากษส

พระโพธิสัตว์แม้เมื่อจันทกุมารนั้นช้าอยู่ จึงคิดว่า "อันตรายจะพึงมี" ดังนี้แล้ว จึงไปเอง เห็นรอย (เท้า) ลงแห่งกุมารแม้ทั้งสองแล้ว ก็ทราบว่า "สระนี้มีรากษสรักษา" จึงสอดพระขรรค์ไว้ ถือธนูได้ยืนแล้ว. รากษสเห็นพระโพธิสัตว์นั้นไม่ลง (สู่สระ) จึงแปลงเพศเป็นชายชาวป่า มากล่าวปราศรัยว่า "ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านเดินทางอ่อนเพลีย ทำไม จึงไม่ลงสู่สระนี้ อาบน้ำ, ดื่มน้ำ, เคี้ยวกินเหง้าบัว ประดับดอกไม้ แล้ว จึงไปเปล่า?"

พระโพธิสัตว์พอเห็นบุรุษนั้นก็ทราบได้ว่า "ผู้นี้เป็นยักษ์" จึง กล่าวว่า "ท่านจับเอาน้องชายทั้งสองของข้าพเจ้าไว้หรือ?"

ยักษ์. เออ ข้าพเจ้าจับไว้.

โพธิสัตว์. จับไว้ทำไม?

ยักษ์. ข้าพเจ้า ย่อมได้ (เพื่อกิน) ผู้ลงสู่สระนี้.

โพธิสัตว์. ก็ท่านย่อมได้ทุกคนเทียวหรือ?

ยักษ์. เว้นผู้รู้เทวธรรม คนที่เหลือ ข้าพเจ้าย่อมได้.

โพธิสัตว์. ก็ท่านมีความต้องการด้วยเทวธรรมหรือ?

ยักษ์. ข้าพเจ้ามีความต้องการ.

โพธิสัตว์. ข้าพเจ้าจักกล่าว (ให้ท่านฟัง).

ยักษ์. ถ้ากระนั้น ขอท่านจงกล่าวเถิด.

โพธิสัตว์. ข้าพเจ้ามีตัวสกปรก ไม่อาจกล่าวได้.

ยักษ์ให้พระโพธิสัตว์อาบน้ำ ให้ดื่มน้ำอันควรดื่ม ตบแต่งแล้ว

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 109

เชิญขึ้นสู่บัลลังก์ ในท่ามกลางมณฑปอันแต่งไว้ ตัวเองหมอบอยู่แทบบาทมูลของพระโพธิสัตว์นั้น.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์บอกกะยักษ์นั้นว่า "ท่านจงฟังโดยเคารพ" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

"นักปราชญ์ เรียกคนผู้ถึงพร้อมด้วยหิริและ โอตตัปปะ ตั้งมั่นดีแล้วในธรรมขาว เป็นผู้สงบเป็น สัตบุรุษในโลกว่า "ผู้ทรงเทวธรรม."

ยักษ์ฟังธรรมเทศนานี้แล้วเลื่อมใส กล่าวกะพระโพธิสัตว์ว่า "ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าเลื่อมใสต่อท่านแล้ว จะให้น้องชายคนหนึ่ง, จะนำคนไหนมา?"

โพธิสัตว์. จงนำน้องชายคนเล็กมา.

ยักษ์. ท่านบัณฑิต ท่านรู้เทวธรรมอย่างเดียวเท่านั้น, แต่ท่านไม่ประพฤติในเทวธรรมเหล่านั้น.

โพธิสัตว์. เพราะเหตุไร?

ยักษ์. เพราะท่านให้นำน้องชายคนเล็กมาเว้นคนโตเสีย ย่อมไม่ชื่อว่าทำอปจายิกกรรม (๑) ต่อผู้เจริญ.

พระโพธิสัตว์ทั้งรู้ทั้งประพฤติเทวธรรม

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า "ยักษ์ เรารู้ทั้งเทวธรรม, ทั้งประพฤติในเทวธรรมนั้น, เพราะเราอาศัยน้องชายคนเล็กนั่น พวกเราจึงต้องเข้าป่านี้, เหตุว่า มารดาของน้องชายนั่น ทูลขอราชสมบัติกะพระราชบิดาของเราทั้งสอง เพื่อประโยชน์แก่น้องชายนั้น, ก็พระบิดาของเราไม่พระราชทานพรนั้น ทรงอนุญาตการอยู่ป่า เพื่อประโยชน์แก่การตามรักษาเรา


๑. กรรมคือการทำความอ่อนน้อม.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 110

ทั้งสอง, กุมารนั้นไม่กลับ มากับพวกเรา, แม้เมื่อข้าพเจ้าจะกล่าวว่า ยักษ์ตนหนึ่งในป่าเคี้ยวกินน้องชายคนเล็กนั้น ดังนี้ ใครๆ ก็จักไม่ เชื่อ, เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าผู้กลัวต่อภัยคือการครหา จึงให้นำน้องชายคนเล็กนั้นผู้เดียวมาให้."

ยักษ์เลื่อมใสต่อพระโพธิสัตว์ สรรเสริญว่า "สาธุ ท่านบัณฑิต ท่านผู้เดียวทั้งรู้เทวธรรม ทั้งประพฤติในเทวธรรม "ดังนี้แล้ว จึงได้นำเอาน้องชายแม้ทั้งสองคนมาให้.

พระโพธิสัตว์ได้ครองราชสมบัติ

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสพรรณนาโทษในความเป็นยักษ์แล้ว ให้ยักษ์นั้นดำรงอยู่ในศีล ๕. พระโพธิสัตว์นั้น เป็นผู้มีความรักษาอันยักษ์นั้นจัดทำด้วยดีแล้ว อยู่ในป่านั้น, ครั้นเมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว, พายักษ์ไปยังกรุงพาราณสี ครอบครองราชสมบัติแล้ว พระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่จันทกุมาร พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่สุริยกุมาร โปรดให้สร้างที่อยู่ในรัมณียสถานแก่ยักษ์. (และ) ได้ทรงทำโดยประการที่ยักษ์นั้นจะถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ.

พระศาสดาทรงย่อชาดก

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า " รากษสน้ำนั้น ในกาลนั้น ได้เป็นภิกษุผู้มีภัณฑะมาก, สุริยกุมาร เป็นพระอานนท์, จันทกุมาร เป็นพระสารีบุตร, มหิสสาสกุมาร ได้เป็นเรานี่เอง."

พระศาสดา ครั้นตรัสชาดกอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า "ภิกษุ ในกาลก่อน เธอแสวงหาเทวธรรม ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะเที่ยวไปอย่าง

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 111

นั้น. บัดนี้ เธอยืนอยู่โดยทำนองนี้ ในท่ามกลางแห่งบริษัท ๔ กล่าวอยู่ต่อหน้าเราว่า "ฉันมีความปรารถนาน้อย" ดังนี้ ชื่อว่าได้ทำกรรมอันไม่สมควรแล้ว. เพราะว่า บุคคลจะชื่อว่าเป็นสมณะ ด้วยเหตุสักว่าห้ามผ้าสาฎกเป็นต้นก็หามิได้" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

๘. น นคฺคจริยา น ชฏา น ปงฺกา

นานาสกา ตณฺฑิลสายิกา วา

รโชชลฺลํ อุกฺกุฏิกปปธานํ

โสเธนฺติ มจฺจํ อวิติณฺณกงฺขํ.

"การประพฤติเป็นคนเปลือย ก็ทำสัตว์ให้บริสุทธิ์ไม่ได้, การเกล้าชฎาก็ไม่ได้ การนอนเหนือเปือกตมก็ไม่ได้, การไม่กินข้าวก็ดี การนอนบนแผ่นดินก็ดี ความเป็นผู้มีกายหมักหมมด้วยธุลีก็ดี ความเพียรด้วยการนั่งกระหย่งก็ดี (แต่ละอย่าง) หาทำสัตว์ผู้ยัง ไม่ล่วงสงสัยให้บริสุทธิ์ได้ไม่.

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นานาสกา ตัดบทเป็น น อนาสกา. ความว่า การห้ามภัต. การนอนบนแผ่นดิน ชื่อว่า ตณฺฑิลสายิกา ธุลีที่หมักหมมอยู่ในสรีระ โดยอาการคือดังฉาบทาด้วยเปือกตม ชื่อว่า รโชชลฺลํ, ความเพียรที่ปรารภแล้ว ด้วยความเป็นผู้นั่งกระหย่ง ชื่อว่า อุกฺกุฏิกปฺปธานํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิบายคำนี้ว่า "ก็สัตว์ใดเข้าใจว่า เราจักบรรลุความบริสุทธิ์ กล่าวคือการออกจากโลก ด้วยการปฏิบัติ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 112

อย่างนี้" ดังนี้แล้ว พึงสมาทานประพฤติวัตรอย่างใดอย่างหนึ่ง ในวัตรมีการประพฤติเป็นคนเปลือยเป็นต้น เหล่านี้, สัตว์นั้น พึงชื่อว่าเจริญความเห็นผิด และพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากโดยส่วนเดียว. ด้วยว่าวัตรเหล่านั้น ที่สัตว์สมาทานดีแล้ว ย่อมยังสัตว์ที่ชื่อว่าผู้ยังไม่ล่วงความสงสัยอันมีวัตถุ ๕ อันตนยังไม่ก้าวล่วงแล้วให้หมดจดไม่ได้."

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุผู้มีภัณฑะมาก จบ.