พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. เรื่องสุขสามเณร [๑๑๗]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34908
อ่าน  525

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 126

๑๑. เรื่องสุขสามเณร [๑๑๗]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 126

๑๑. เรื่องสุขสามเณร [๑๑๗]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภสุขสามเณร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อุทกํ หิ นยนฺติ เนตฺติกา" เป็นต้น.

เรื่องคันธเศรษฐี

ความพิสดารว่า ในอดีตกาล มีบุตรของเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี คนหนึ่งชื่อว่า คันธกุมาร เมื่อบิดาของเธอถึงแก่กรรมแล้ว พระราชารับสั่งให้หาเธอมาเฝ้า ทรงปลอบโยนแล้ว ได้พระราชทานตำแหน่งเศรษฐี แก่เธอนั้นแล ด้วยสักการะเป็นอันมาก. จำเดิมแต่กาลนั้นมา คันธกุมารนั้น ก็ได้ปรากฏนามว่า "คันธเศรษฐี." ครั้งนั้น ผู้รักษาเรือนคลังของเศรษฐีนั้น ได้เปิดประตูห้องสำหรับเก็บทรัพย์ ขนออกมาแล้ว ชี้แจงว่า "นาย ทรัพย์นี้ของบิดาท่าน มีประมาณเท่านี้, ของบุรพบุรุษมีปู่เป็นต้น มี จำนวนเท่านี้." เศรษฐีนั้นแลดูกองทรัพย์แล้ว พูดว่า "ก็ทำไม บุรพบุรุษเหล่านั้น จึงมิได้ถือเอาทรัพย์นี้ไปด้วย?" ผู้รักษาเรือนคลังตอบว่า "นาย ชื่อว่าผู้ที่จะถือเอาทรัพย์ไปด้วยไม่มี, แท้จริง สัตว์ทั้งหลายพาเอา แต่กุศลอกุศลที่ตนได้ทำไว้เท่านั้นไป"

เศรษฐีจ่ายทรัพย์สร้างสิ่งต่างๆ

เศรษฐีนั้นคิดว่า "บุรพบุรุษเหล่านั้น พากันสั่งสมทรัพย์ไว้แล้ว ก็ละทิ้งไปเสีย เพราะความที่ตนเป็นคนโง่, ส่วนเราจักถือเอาทรัพย์นั่น ไปด้วย," ก็คันธเศรษฐีเมื่อคิดอยู่อย่างนั้น มิได้คิดว่า "เราจักให้ทาน, หรือจักทำการบูชา." คิดแต่ว่า "เราจักบริโภคทรัพย์นี้ให้หมดแล้วจึงไป."

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 127

เศรษฐีนั้นได้สละทรัพย์แสนหนึ่ง ให้ทำซุ้มที่อาบน้ำ อันแล้วด้วย แก้วผลึก, จ่ายทรัพย์แสนหนึ่ง ให้ทำกระดานสำหรับอาบน้ำ อันแล้วด้วย แก้วผลึกเหมือนกัน, จ่ายทรัพย์แสนหนึ่ง ให้ทำบัลลังก์สำหรับนั่ง, จ่ายทรัพย์แสนหนึ่ง ให้ทำถาดสำหรับใส่โภชนะ, จ่ายทรัพย์อีกแสนหนึ่ง ให้ทำมณฑปในที่บริโภค, จ่ายทรัพย์แสนหนึ่ง ให้ทำเตียงรองถาดโภชนะ, ให้สร้างสีหบัญชรไว้ในเรือนด้วยทรัพย์แสนหนึ่งเหมือนกัน, จ่ายทรัพย์พันหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่อาหารเช้าของตน, จ่ายทรัพย์อีกพันหนึ่ง แม้ เพื่อประโยชน์แก่อาหารเย็น, แต่ในวันเพ็ญ ได้สั่งจ่ายทรัพย์แสนหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่โภชนะ, ในวันบริโภคภัตนั้น ท่านเศรษฐีได้สละทรัพย์แสนหนึ่ง ตกแต่งพระนคร ใช้คนเที่ยวตีกลองประกาศว่า "ได้ยินว่า มหาชนจงดูท่าทางแห่งการบริโภคภัตของคันธเศรษฐี." มหาชนได้ผูก เตียงซ้อนเตียงประชุมกัน.

ฝ่ายคันธเศรษฐีนั้นนั่งบนแผ่นกระดานอันมีค่าแสนหนึ่ง ในซุ้ม อาบน้ำอันมีค่าแสนหนึ่ง อาบน้ำด้วยหม้อน้ำหอม ๑๖ หม้อ เปิดสีหบัญชร นั้นแล้ว นั่งบนบัลลังก์นั้น กาลนั้น พวกคนใช้วางถาดนั้นไว้บนเตียงรอง นั้นแล้ว คดโภชนะอันมีค่าแสนหนึ่งเพื่อเศรษฐีนั้น. ท่านเศรษฐีอันหญิงนักฟ้อนแวดล้อมแล้ว บริโภคโภชนะนั้นอยู่ด้วยสมบัติเห็นปานนี้.

คนบ้านนอกกระหายในภัตของเศรษฐี

โดยสมัยอื่น คนบ้านนอกผู้หนึ่งบรรทุกฟืนเป็นต้น ใส่ในยานย่อมๆ เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนเสบียงอาหารสำหรับตน ไปถึงพระนครแล้ว ก็พักอยู่ในเรือนของสหาย. ก็กาลนั้นเป็นวันเพ็ญ. ชนทั้งหลาย เที่ยวตีกลองประกาศในพระนครว่า "มหาชนจงดูท่าทางบริโภคของท่าน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 128

คันธเศรษฐี." ครั้งนั้น สหายจึงกล่าวกะชาวบ้านนอกนั้นว่า "เพื่อนเอ๋ย ท่าทางบริโภคภัตของคันธเศรษฐี เพื่อนเคยเห็นหรือ?"

ชาวบ้านนอก. ไม่เคยเห็นเลย เพื่อน.

สหายชาวเมือง. ถ้ากระนั้นมาเถิดเพื่อน เราจักไปด้วยกัน, กลองนี้ เที่ยวไปทั่วพระนคร เราจักดูสมบัติใหญ่.

สหายชาวเมืองได้พาสหายชาวบ้านนอกไปแล้ว. แม้มหาชนก็ได้พากันขึ้นเตียงซ้อนเตียงดูอยู่. สหายชาวบ้านนอก พอได้สูดกลิ่นภัต ก็พูดกับสหายชาวเมืองว่า "กันเกิดกระหายในก้อนภัตในถาดนั่นแล้วละ"

สหายชาวเมือง. อย่าปรารภก้อนภัตนั้นเลยเพื่อน เราไม่อาจจะได้ดอก.

ชาวบ้านนอก. เพื่อนเอ๋ย เมื่อไม่ได้ ก็จักไม่เป็นอยู่ (ต่อไปละ).

สหายชาวเมืองนั้น เมื่อไม่อาจห้ามสหายชาวบ้านนอกนั้นไว้ได้ ยืนอยู่ท้ายบริษัท เปล่งเสียงดัง ๓ ครั้งว่า "นาย ฉันไหว้ท่าน" เมื่อคันธเศรษฐีถามว่า "นั่นใคร?" จึงตอบว่า "ผมครับ นาย."

เศรษฐี. นี่เหตุอะไรกัน?

สหายชาวเมือง. คนบ้านนอกผู้หนึ่งนี้ เกิดกระหายในก้อนภัตในถาดของท่าน, ขอท่านกรุณาให้ก้อนภัตก้อนหนึ่งเถิด.

เศรษฐี. ไม่อาจจะได้ดอก.

สหายชาวเมือง. คำของเศรษฐี เพื่อนได้ยินไหม เพื่อน.

ชาวบ้านนอก. กันได้ยินแล้วเพื่อน เออ ก็กันเมื่อได้ จักเป็นอยู่ เมื่อกันไม่ได้ ความตายจักมี.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 129

สหายชาวเมืองร้องอีกว่า "นาย ได้ยินว่า ชายคนนี้ เมื่อไม่ได้ก็จักตาย, ขอท่านจงให้ชีวิตแก่เขาเถิด.

คันธเศรษฐี. ท่านผู้เจริญ ชื่อว่าก้อนภัตนี้ ย่อมถึงค่าร้อยหนึ่งก็มี สองร้อยก็มี, ผู้ใดๆ ย่อมขอ, เมื่อให้แก่ผู้นั้นๆ ฉันจักบริโภคอะไร เล่า?

สหายชาวเมือง. นาย ชายคนนี้ เมื่อไม่ได้จักตาย, ขอท่านจงให้ ชีวิตแก่เขาเถิด.

คันธเศรษฐี. เขาไม่อาจได้เปล่าๆ, ก็ถ้าเขาเมื่อไม่ได้จักไม่เป็นอยู่ไซร้ ชายนั้นจงทำการรับจ้างในเรือนของฉัน ๓ ปี, ฉันจักให้ถาดภัต แก่เขาถาดหนึ่ง.

ชาวชนบทยอมทำการรับจ้างในบ้านเศรษฐี

ชาวบ้านนอกฟังคำนั้นแล้ว จึงพูดกะสหายว่า "อย่างนั้น เอาละ เพื่อน" ดังนี้แล้ว ได้ละบุตรและภรรยา เข้าไปสู่เรือนของเศรษฐี ด้วย หมายใจว่า "จักทำการรับจ้างตลอด ๓ ปี, เพื่อประโยชน์แก่ถาดภัต ถาดหนึ่ง." เขาเมื่อทำการรับจ้าง ได้ทำกิจทุกอย่างโดยเรียบร้อย, การงานที่ควรทำในบ้าน ในป่า ในกลางวัน กลางคืน ได้ปรากฏว่า เขาทำเสร็จเรียบร้อย. เมื่อมหาชนเรียกเขาว่า "นายภัตตภติกะ" คำนั้นได้ปรากฏ ไปทั่วพระนคร.

กาลต่อมา เมื่อวัน (รับจ้าง) ของนายภัตตภติกะครบบริบูรณ์แล้ว, ผู้จัดการภัตเรียนว่า "นาย วัน (รับจ้าง) ของนายภัตติภติกะครบบริบูรณ์แล้ว เขาทำการรับจ้างอยู่ตลอด ๓ ปี ทำกรรมยากที่คนอื่นจะทำได้แล้ว, การงานแม้สักอย่างหนึ่ง ก็ไม่เคยเสียหาย." ครั้งนั้น ท่านเศรษฐี ได้สั่ง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 130

จ่ายทรัพย์ ๓ พันแก่ผู้จัดการภัตนั้น คือสองพัน เพื่อประโยชน์แก่อาหารเย็นและอาหารเช้าของตน, พันหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่อาหารเช้าของนายภัตตภติกะนั้น แล้วสั่งคนใช้ว่า "วันนี้ พวกเจ้าจงทำการบริหารที่พึงทำแก่เรา แก่นายภัตตภติกะนั้นเถิด." ก็แลครั้นสั่งแล้ว จึงสั่งแม้กะชนที่เหลือ เว้นภรรยาผู้เป็นที่รักนามว่าจินดามณีคนเดียว ว่า "วันนี้ พวกเจ้าจงแวดล้อมนายภัตตภติกะนั้นเถิด." ดังนี้แล้ว ก็มอบสมบัติทั้งหมดให้แก่ นายภัตตภติกะนั้น.

นายภัตติภติกะเตรียมบริโภคภัต

นายภัตตภติกะ นั่งบนแผ่นกระดานนั้นในซุ้มนั้นนั่นแล อาบน้ำด้วยสำหรับอาบของเศรษฐี นุ่งผ้าสาฎกสำหรับนุ่งของเศรษฐีนั่นแหละ แล้วนั่งบนบัลลังก์ของเศรษฐีนั้นเหมือนกัน. แม้ท่านเศรษฐีก็ใช้ ให้คนเอากลองเที่ยวตีประกาศไปในพระนครว่า "นายภัตตภติกะทำการ รับจ้างตลอด ๓ ปีในเรือนของคันธเศรษฐี ได้ถาดภัตถาดหนึ่ง, ขอชน ทั้งหลายจงดูสมบัติแห่งการบริโภคของเขา. มหาชนได้ขึ้นเตียงซ้อนเตียง ดูอยู่. ที่ๆ ชายชาวบ้านนอกดูแล้วๆ ก็ได้ถึงอาการหวั่นไหว. พวกนักฟ้อนได้ยืนล้อมนายภัตตภติกะนั้น. พวกคนใช้ยกถาดภัตถาดหนึ่ง ตั้งไว้ข้างหน้าของนายภัตตภติกะนั้นแล้ว.

ครั้งนั้น ในเวลาที่นายภัตตภติกะนั้นล้างมือ พระปัจเจกพุทธเจ้า องค์หนึ่งที่ภูเขาคันธมาทน์ ออกจากสมาบัติในวันที่ ๗ แล้ว ใคร่ครวญ อยู่ว่า "วันนี้ เราจักไปเพื่อประโยชน์แก่ภิกขาจารในที่ไหนหนอแล? ก็ได้ เห็นนายภัตตภติกะแล้ว. ครั้งนั้น ท่านพิจารณาต่อไปอีกว่า "นายภัตตภติกะนี้ ทำการรับจ้างถึง ๓ ปี จึงได้ถาดภัต. ศรัทธาของเขามี

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 131

หรือไม่มีหนอ? ใคร่ครวญไปก็ทราบได้ว่า "ศรัทธาของเขามีอยู่" คิดไป อีกว่า "คนบางพวก ถึงมีศรัทธา ก็ไม่อาจเพื่อทำการสงเคราะห์ได้, นายภัตตภติกะนี้ จักอาจหรือไม่หนอ เพื่อจะทำการสงเคราะห์เรา?" ก็รู้ว่า "นายภัตตภติกะ จักอาจทีเดียว ทั้งจักได้มหาสมบัติเพราะอาศัยเหตุคือการสงเคราะห์แก่เราด้วย" ดังนี้แล้ว จึงห่มจีวรถือบาตร เหาะขึ้นสู่เวหาสไปโดยระหว่างบริษัท แสดงตนยืนอยู่ข้างหน้าแห่งนายภัตตภติกะ นั้นนั่นแล.

นายภัตตภติกะถวายภัตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า

นายภัตตภติกะนั้น เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว คิดว่า "เราได้ทำ การรับจ้างในเรือนคนอื่นถึง ๓ ปี ก็เพื่อประโยชน์แก่ถาดภัตถาดเดียว เพราะความที่เราไม่ได้ให้ทานในกาลก่อน. บัดนี้ ภัตนี้ของเราพึงรักษา เราก็เพียงวันหนึ่งคืนหนึ่ง, ก็ถ้าเราจักถวายภัตนั้นแก่พระผู้เป็นเจ้า ภัตจักรักษาเราไว้มิใช่พันโกฏิกัลป์เดียว เราจักถวายภัตนั้นแก่พระผู้เป็น เจ้าละ." นายภัตตภติกะนั้น ทำการรับจ้างตลอด ๓ ปี ได้ถาดภัตแล้ว ไม่ทันวางภัตแม้ก้อนเดียวในปาก บรรเทาความอยากได้ ยกถาดภัตขึ้นเองทีเดียว ไปสู่สำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้า ให้ถาดในมือของคนอื่นแล้ว ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว เอามือซ้ายจับถาดภัต เอามือขวา เกลี่ยภัตลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น. พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ เอามือปิดบาตรเสีย ในเวลาที่ภัตยังเหลืออยู่กึ่งหนึ่ง.

ครั้งนั้น นายภัตตภติกะนั้นเรียนท่านว่า "ท่านขอรับ ภัตส่วน เดียวเท่านั้น ผมไม่อาจเพื่อจะแบ่งเป็น ๒ ส่วนได้, ท่านอย่าสงเคราะห์

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 132

ผมในโลกนี้เลย, ขอจงทำการสงเคราะห์ในปรโลกเถิด, ผมจักถวายทั้งหมด ทีเดียว ไม่ให้เหลือ."

ทานที่ถวายไม่เหลือมีผลมาก

จริงอยู่ ทานที่บุคคลถวายไม่เหลือไว้เพื่อตนแม้แต่น้อยหนึ่ง ชื่อว่า ทานไม่มีส่วนเหลือ, ทานนั้นย่อมมีผลมาก. นายภัตตภติกะนั้น เมื่อทำอย่างนั้น จึงได้ถวายหมด ไหว้อีกแล้ว เรียนว่า "ท่านขอรับ ผมอาศัยถาดภัตถาดเดียว ต้องทำการรับจ้างในเรือนของคนอื่นถึง ๓ ปี ได้เสวยทุกข์แล้ว, บัดนี้ ขอความสุขจงมีแก่กระผมในที่ที่บังเกิดแล้วเถิด, ขอกระผมพึงมีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้วเถิด." พระปัจเจกพุทธเจ้า กล่าวว่า "ขอจงสมคิด เหมือนแก้วสารพัดนึก ความดำริอันให้ความใคร่ ทุกอย่าง จงบริบูรณ์แก่ท่าน เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญฉะนั้น" เมื่อจะทำอนุโมทนา จึงกล่าวว่า

"สิ่งที่ท่านมุ่งหมายแล้ว จงสำเร็จพลันทีเดียว,

ความดำริทั้งปวง จงเต็มเหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ.

สิ่งที่ท่านมุ่งหมายแล้ว จงสำเร็จพลันทีเดียว,

ความดำริทั้งปวง จงเต็มเหมือนแก้วมณีโชติรส ฉะนั้น"

ดังนี้แล้ว อธิษฐานว่า " ขอมหาชนนี้ จงยืนเห็นเราจนกระทั่งถึงเขาคันธมาทน์เถิด." ได้ไปสู่ภูเขาคันธมาทน์โดยอากาศแล้ว. ถึงมหาชนก็ได้ยืนเห็นท่านอยู่นั่นแหละ. พระปัจเจกพุทธเจ้า ไปภูเขาคันธมาทน์แล้ว ได้แบ่งบิณฑบาตนั้นถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ รูป พระปัจเจกพุทธเจ้า ทุกๆ รูป ได้รับเอาภัตเพียงพอแก่ตนๆ แล้ว. ใครๆ ไม่พึงคิดว่า

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 133

"บิณฑบาตเล็กน้อยจะพอเพียงอย่างไร?" ด้วยว่าอจินไตย ๔ อย่าง พระผู้มีพระเจ้าตรัสไว้แล้ว, ในอจินไตย ๔ เหล่านั้น นี้ก็เป็นปัจเจกพุทธวิสัยแล.

คันธเศรษฐีแบ่งทรัพย์ให้นายภัตตภติกะ

มหาชน เห็นบิณฑบาตที่พระปัจเจกพุทธเจ้าแบ่งถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายอยู่ ก็ได้พากันยังพันแห่งสาธุการให้เป็นไปแล้ว, เสียงสาธุการได้เป็นประหนึ่งเสียงอสนีบาต. คันธเศรษฐีได้ยินเสียงนั้นแล้ว จึงคิดว่า "นายภัตติภติกะเห็นจะไม่สามารถทรงสมบัติเราให้แล้วได้, เพราะเหตุนั้น มหาชนนี้ เมื่อทำการหัวเราะเยาะจึงได้อื้อฉาวขึ้น. ท่านเศรษฐีนั้น ส่งคนไปเพื่อทราบเรื่องราวที่เป็นไปแล้ว. คนเหล่านั้น มาแล้ว บอกว่า "นายขอรับ ธรรมดาผู้ทรงสมบัติ ย่อมเป็นเห็นปานนี้" ดังนี้แล้ว จึงบอกเรื่องราวที่เป็นไปแล้วนั้น.

เศรษฐี ฟังเรื่องนั้นแล้ว เป็นผู้มีสรีระอันปีติมีวรรณะ ๕ ถูกต้อง แล้ว จึงกล่าวว่า "น่าอัศจรรย์ นายภัตตภติกะนั้น ทำสิ่งที่บุคคลทำได้ โดยยากแล้ว, เราดำรงอยู่ในสมบัติเห็นปานนี้ ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ยังไม่ได้อาจเพื่อให้สิ่งไรได้" ดังนี้แล้ว จึงให้เรียกนายภัตตภติกะนั้นมา แล้ว ถามว่า "ได้ยินว่า เธอทำกรรมชื่อนี้จริงหรือ?" เมื่อเขาตอบว่า "ขอรับ นาย" จึงกล่าวว่า "เอาเถิด เธอจงถือเอาทรัพย์พันหนึ่งแล้วแบ่ง ส่วนบุญในทานของเธอให้ฉันบ้าง." นายภัตตภติกะนั้น ได้ทำตามนั้นแล้ว. แม้เศรษฐีก็ได้แบ่งครึ่งทรัพย์สมบัติอันเป็นของๆ ตนทั้งหมด ให้แก่นายภัตตภติกะนั้น.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 134

สัมปทา ๔ อย่าง

จริงอยู่ ชื่อว่าสัมปทามี ๔ อย่างคือ วัตถุสัมปทา ปัจจัยสัมปทา เจตนาสัมปทา คุณาติเรกสัมปทา. ในสัมปทา ๔ อย่างนั้น พระอรหันต์ หรือพระอนาคามี ควรแก่นิโรธสมาบัติ ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ชื่อวัตถุสัมปทา, การบังเกิดขึ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย โดยธรรมสม่ำเสมอ ชื่อปัจจัยสัมปทา, ความที่เจตนาใน ๓ กาล คือในกาลก่อนแต่ให้, ในกาลกำลังให้, ในกาลภายหลัง สัมปยุตด้วยญาณ อันกำกับโดยโสมนัส ชื่อเจตนาสัมปทา, ส่วนความที่ทักขิไณยบุคคลออกจากสมาบัติ ชื่อว่าคุณาติเรกสัมปทา. ก็สัมปทาทั้ง ๔ อย่างคือ พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ขีณาสพเป็นทักขิไณย- บุคคล, ปัจจัยที่เกิดแล้ว โดยธรรม โดยความที่ทำการจ้างได้แล้ว, เจตนาบริสุทธิ์ใน ๓ กาล, พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ออกจากสมาบัติเป็นผู้ยิ่งโดยคุณ สำเร็จแล้วแก่นายภัตตภติกะนี้, ด้วยอานุภาพแห่งสัมปทา ๔ นี้ นายภัตตภติกะ จึงบรรลุมหาสมบัติในทันตาเห็นทีเดียว: เพราะฉะนั้น นายภัตตภติกะนั้น จึงได้สมบัติจากสำนักของเศรษฐี.

นายภัตตภติกะได้เป็นเศรษฐี

ก็ในกาลต่อมา แม้พระราชา ทรงสดับกรรมที่นายภัตตภติกะนี้ทำแล้ว จึงได้รับสั่งให้เรียกเข้ามาเฝ้า แล้วพระราชทานทรัพย์ให้พันหนึ่ง ทรงรับส่วนบุญ ทรงพอพระทัย พระราชทานโภคะเป็นอันมาก แล้วก็ได้ พระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้. เขาได้มีชื่อว่า "ภัตตภติกเศรษฐี" ภัตตภติกเศรษฐีนั้น เป็นสหายกับคันธเศรษฐี กินดื่มร่วมกัน ดำรงอยู่ตลอดอายุแล้ว จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้บังเกิดในเทวโลก เสวยสมบัติ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 135

อันเป็นทิพย์ ๑ พุทธันดร ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้ถือปฏิสนธิในตระกูล อุปัฏฐากของพระสารีบุตรเถระ ในเมืองสาวัตถี.

นายภัตตภติกะไปเกิดในเมืองสาวัตถี

ครั้งนั้น มารดาของทารกนั้น ได้ครรภ์บริหารแล้ว โดยล่วงไป ๒ - ๓ วัน ก็เกิดแพ้ท้องว่า "โอหนอ เราถวายโภชนะมีรส ๑๐๐ ชนิด แก่พระสารีบุตรเถระพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป นุ่งผ้าย้อมฝาดแล้ว ถือ ขันทองนั่งอยู่ ณ ท้ายอาสนะ พึงบริโภคภัตที่เหลือเดนของภิกษุทั้งหลายนั้น " ดังนี้แล้ว ทำตามความคิดนั้นนั่นแล บรรเทาความแพ้ท้องแล้ว. นางแม้ในกาลมงคลอื่นๆ ถวายทานอย่างนั้นเหมือนกัน คลอดบุตรแล้ว ในวันตั้งชื่อ จึงเรียนพระเถระว่า "จงให้สิกขาบทแก่ลูกชายของฉันเถิด ท่านผู้เจริญ." พระเถระถามว่า "เด็กนั้นชื่อไร?" เมื่อมารดาของเด็กเรียนว่า ท่านผู้เจริญ จำเดิมแต่ลูกชายของฉันถือปฏิสนธิ ขึ้นชื่อว่าทุกข์ ไม่เคยมีแก่ใครในเรือนนี้, เพราะฉะนั้น คำว่า "สุขกุมาร" นั่นแล จักเป็นชื่อของเด็กนั้น. "จึงถือเอาคำนั้นแล เป็นชื่อของเด็กนั้น ได้ให้สิกขาบทแล้ว, ในกาลนั้น ความคิดได้เกิดแก่มารดาของเด็กนั้นอย่างนี้ว่า "เราจักไม่ทำลายอัธยาศัยของลูกชายเรา." แม้ในกาลมงคลทั้งหลาย มีมงคลเจาะหู เด็กนั้นเป็นต้น นางก็ได้ถวายทานอย่างนั้นเหมือนกัน.

สุขกุมารบรรพชา

ฝ่ายกุมาร ในเวลามีอายุ ๗ ขวบ ก็พูดว่า "คุณแม่ ผมอยากออกบวชในสำนักของพระเถระ." นางตอบว่า "ดีละ พ่อ แม่จักไม่ทำลาย อัธยาศัยของเจ้า" ดังนี้แล้ว จึงนิมนต์พระเถระ ให้ท่านฉันแล้ว ก็เรียนว่า "ท่านผู้เจริญ ลูกชายของฉันอยากบวช, ในเวลาเย็น จักนำเด็กนี้ไป

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 136

สู่วิหาร," ส่งพระเถระไปแล้ว ให้ประชุมพวกญาติ กล่าวว่า "ในเวลา ที่ลูกชายของฉันเป็นคฤหัสถ์ พวกเราจักทำกิจที่ควรทำในวันนี้แหละ" ดังนี้แล้ว จึงแต่งตัวลูกชายนำไปวิหาร ด้วยสิริโสภาคอันใหญ่ แล้วมอบถวายแก่พระเถร. ฝ่ายพระเถระกล่าวกะสุขกุมารนั้นว่า "พ่อ ธรรมดา บรรพชา ทำได้โดยยาก, เจ้าจักอาจเพื่อภิรมย์หรือ?" เมื่อตอบว่า " ผม จักทำตามโอวาทของท่าน ขอรับ" จึงให้กัมมัฏฐาน ให้บวชแล้ว. แม้มารดาบิดาของสุขกุมารนั้น เมื่อทำสักการะในการบรรพชา ก็ถวายโภชนะ มีรส ๑๐๐ ชนิด แก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ในภายในวิหารนั่นเองตลอด ๗ วัน ในเวลาเย็น จึงได้ไปสู่เรือนของตน. ในวันที่ ๓ พระสารีบุตรเถระ เมื่อภิกษุสงฆ์เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต, ทำกิจที่ควรทำในวิหารแล้ว จึงให้สามเณรถือบาตรและจีวร เข้าไปสู่บ้าน เพื่อบิณฑบาต.

สุขสามเณรฝึกตน

สามเณรเห็นเหมืองน้ำเป็นต้นในระหว่างทาง จึงถามพระเถระ ดุจสามเณรบัณฑิต. แม้พระเถระก็พยากรณ์แก่สามเณรนั้นอย่างนั้นเหมือนกัน. สามเณรฟังเหตุนั้นแล้ว จึงเรียนพระเถระว่า "ถ้าท่านพึงรับ บาตรและจีวรของท่านไซร้, กระผมพึงกลับ." เมื่อพระเถระไม่ทำลายอัธยาศัยของสามเณรนั้น กล่าวว่า "จงเอาบาตรและจีวรของฉันมา" รับบาตรและจีวรไปแล้ว, ก็ไหว้พระเถระ เมื่อจะกลับ จึงเรียนสั่งว่า "ท่าน ขอรับ ท่านเมื่อนำอาหารมาเพื่อผม พึงนำเอาโภชนะมีรส ๑๐๐ ชนิดมา."

พระเถระ. จักได้โภชนะนั้น จากไหน?

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 137

สามเณร. เมื่อไม่ได้ด้วยบุญของท่าน ก็จักได้ด้วยบุญของผม ขอ รับ.

ครั้งนั้น พระเถระให้ลูกกุญแจแก่สามเณรนั้นแล้ว ก็เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต. สามเณรนั้นไปวิหารแล้ว เปิดห้องของพระเถระเข้าไปแล้ว ปิดประตู นั่งหยั่งญาณลงในกายของตนแล้ว. ด้วยเดชแห่งคุณของสามเณรนั้น อาสนะของท้าวสักกะแสดงอาการร้อนแล้ว. ท้าวสักกะพิจารณาดูว่า "นี้เหตุอะไรหนอ?" เห็นสามเณรแล้ว ทรงดำริว่า "สุขสามเณรถวาย จีวรแก่อุปัชฌาย์แล้ว กลับ (วิหาร) ด้วยคิดว่า จักทำสมณธรรม ควรที่เราจะไปในที่นั้น" จึงรับสั่งให้เรียกท้าวมหาราชทั้ง ๔ แล้วทรงส่งไป ด้วยดำรัสสั่งว่า "พ่อทั้งหลาย พวกท่านจงไป, จงไล่นกที่มีเสียงเป็นโทษ ใกล้ป่าแห่งวิหารให้หนีไป. ท้าวมหาราชทั้งหลายนั้น กระทำตามนั้นแล้ว ก็ (พากัน) รักษาอยู่โดยรอบ. ท้าวสักกะ ทรงบังคับพระจันทร์และ พระอาทิตย์ว่า "พวกท่านจงยึดวิมานของตนๆ หยุดก่อน." แม้พระจันทร์ และพระอาทิตย์ก็กระตามนั้นแล้ว. แม้ท้าวสักกะเอง ก็ทรงรักษาอยู่ที่สายยู วิหารสงบเงียบปราศจากเสียง. สามเณรเจริญวิปัสสนาด้วยจิต มีอารมณ์เป็นหนึ่ง บรรลุมรรคและผล ๓ แล้ว.

พระเถระ อันสามเณรกล่าวว่า "ท่านพึงนำโภชนะมีรส ๑๐๐ ชนิดมา" ดังนี้แล้ว ก็คิดว่า "อันเราอาจเพื่อได้ในตระกูลของใครหนอแล?" พิจารณาดูอยู่ ก็เห็นตระกูลอุปัฏฐากผู้สมบูรณ์ด้วยอัธยาศัยตระกูลหนึ่ง จึงไปในตระกูลนั้น อันชนเหล่านั้น มีใจยินดีว่า "ท่านผู้เจริญ ความดีอันท่านผู้มาในที่นี้ ในวันนี้ กระทำแล้ว" รับบาตรนิมนต์ให้นั่ง ถวาย

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 138

ยาคูและของขบฉัน อันเขาเชิญกล่าวธรรมชั่วเวลาภัต จึงกล่าวสาราณียธรรมกถาแก่ชนเหล่านั้น กำหนดกาล ยังเทศนาให้จบแล้ว.

สุขสามเณรบรรลุพระอรหัต

ทีนั้น ชนทั้งหลาย จึงถวายโภชนะมีรส ๑๐๐ ชนิด แก่พระเถระนั้น เห็นพระเถระรับโภชนะนั้นแล้วประสงค์จะกลับ จึงเรียนว่า "ฉันเถิด ขอรับ พวกผมจักถวายโภชนะแม้อื่นอีก" ให้พระเถระฉันแล้ว ก็ถวายจนเต็มบาตรอีก. พระเถระรับโภชนะนั้นแล้ว ก็รีบไปวิหาร ด้วยคิดว่า "สามเณรของเราจักหิว." วันนั้น พระศาสดาเสด็จออกประทับนั่งใน พระคันธกุฎีแต่เช้าตรู่ ทรงรำพึงว่า "วันนี้ สุขสามเณรรับบาตรและจีวรของอุปัชฌาย์แล้ว กลับไปแล้วตั้งใจว่า "จักทำสมณธรรม, กิจของเธอ สำเร็จแล้วหรือ?" พระองค์ทรงเห็นความที่มรรคผลทั้ง ๓ เทียว อั สามเณรบรรลุแล้ว จึงทรงพิจารณาแม้ยิ่งขึ้นไปว่า "สุขสามเณรนี้ จักอาจ ไหมหนอ? เพื่อจะบรรลุพระอรหัตในวันนี้, ส่วนพระสารีบุตรรับภัตแล้ว ก็รีบออกด้วยคิดว่า "สามเณรของเราจักหิว" ถ้าเมื่อสามเณรนี้ ยังไม่บรรลุพระอรหัต. พระสารีบุตรจักนำภัตมาก่อน, อันตรายก็จักมี แก่สามเณรนี้; ควรเราจะไปยึดอารักขาอยู่ที่ซุ้มประตู" ครั้นทรงดำริแล้ว จึงเสด็จออกจากคันธกุฎี ประทับยืนยึดอารักขาอยู่ที่ซุ้มประตู. ฝ่ายพระเถระก็นำภัตมา. ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสถามปัญหา ๔ ข้อกะพระเถระนั้น โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังแล. ในที่สุดแห่งการวิสัชนาปัญหา สามเณรก็บรรลุพระอรหัตแล้ว.

พระศาสดาตรัสเรียกพระเถระมาแล้ว ตรัสว่า "สารีบุตร จงไปเถิด, จงให้ภัตแก่สามเณรของเธอ." พระเถระไปถึงแล้ว จึงเคาะประตู

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 139

สามเณรออกมาทำวัตรแก่อุปัชฌาย์แล้ว, เมื่อพระเถระบอกว่า "จงทำ ภัตกิจ," ก็รู้ว่าพระเถระไม่มีความต้องการด้วยภัต เป็นเด็กมีอายุ ๗ ขวบ บรรลุพระอรหัตในขณะนั้นนั่นเอง ตรวจตราดูที่นั่งอันต่ำ ทำภัตกิจแล้วก็ล้างบาตร. ในกาลนั้น ท้าวมหาราช ๔ องค์ ก็พากันเลิกการรักษา. ถึงพระจันทร์พระอาทิตย์ก็ปล่อยวิมาน. แม้ท้าวสักกะก็ทรงเลิกอารักขาที่สายยู พระอาทิตย์ปรากฏคล้อยเลยท่ามกลางฟ้าไปแล้วเทียว.

บัณฑิตย่อมฝึกตน

ภิกษุทั้งหลาย พากันพูดว่า "กาลเย็นปรากฏ, สามเณรเพิ่งทำภัตกิจ เสร็จเดี๋ยวนี้เอง, ทำไมหนอ? วันนี้เวลาเช้าจึงมาก, เวลาเย็นจึงน้อย." พระศาสดา เสด็จมาตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยกล่าวเรื่องอะไรหนอ? " เมื่อภิกษุทั้งหลาย ทูลว่า " พระเจ้าข้า วันนี้ เวลาเช้ามาก เวลาเย็นน้อย สามเณรเพิ่งฉันภัตเสร็จเดี๋ยวนี้เอง, ก็แลเป็นไฉน พระอาทิตย์จึงปรากฏคล้อยเคลื่อนท่ามกลางฟ้าไป," จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาทำสมณธรรมของผู้มีบุญทั้งหลาย ย่อม เป็นเช่นนั้นนั่นแล. ก็ในวันนี้ ท้าวมหาราช ๔ องค์ยึดอารักขาไว้โดย รอบ, พระจันทร์และพระอาทิตย์ได้ยึดวิมานหยุดอยู่, ท้าวสักกะทรงยึดอารักขาที่สายยู ถึงเราก็ยึดอารักขาอยู่ที่ซุ้มประตู; วันนี้ สุขสามเณร เห็น คนไขน้ำเข้าเหมือง ช่างศรดัดศรให้ตรง ช่างถาก ถากทัพสัมภาระทั้งหลาย มีล้อเป็นต้นแล้ว ฝึกตน บรรลุพระอรหัตแล้ว" ดังนี้แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า

๑๑. อุทกํ หิ นยนฺติ เนตฺติกา

อุสุการา นมยนฺติ เตชนํ

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 140

ทารุํ นมยนฺติ ตจฺฉกา

อตฺตานํ ทมยนฺติ สุพฺพตา.

" อันคนไขน้ำทั้งหลายย่อมไขน้ำ, ช่างศรทั้งหลาย

ย่อมดัดลูกศร, ช่างถากทั้งหลาย ย่อมถากไม้,

ผู้สอนง่ายทั้งหลาย ย่อมฝึกตน."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุพฺพตา ความว่า ว่าง่าย คือพึงโอวาท พึงอนุศาสน์ โดยสะดวก. คำที่เหลือ มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังแล.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องสุขสามเณร จบ.

ทัณฑวรรควรรณนา จบ.

วรรคที่ ๑๐ จบ.