พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. เรื่องหญิงสหายของนางวิสาขา [๑๑๘]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34910
อ่าน  719

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 143

คาถาธรรม

๑๑. ชราวรรควรรณนา

๑. เรื่องหญิงสหายของนางวิสาขา [๑๑๘]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 143

๑๑. ชราวรรควรรณนา

๑. เรื่องหญิงสหายของนางวิสาขา [๑๑๘]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกหญิงสหายของนางวิสาขา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โก นุ หาโส กิมานนฺโท" เป็นต้น.

สามีมอบภรรยาของตนแก่นางวิสาขา

ดังได้สดับมา กุลบุตร ๕๐๐ คน ในพระนครสาวัตถี ได้มอบภริยาของตนๆ กะนางวิสาขามหาอุบาสิกา ด้วยมุ่งหมายว่า "ด้วยอุบายอย่างนี้ ภริยาเหล่านี้จักเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท." หญิงเหล่านั้นเมื่อไปสวนก็ดี ไปวิหารก็ดี ย่อมไปกับนางวิสาขานั่นแล.

มหรสพเกี่ยวกับสุรา

ในคราวหนึ่ง เมื่อเขาโฆษณาการมหรสพว่า "จักมีการมหรสพ เกี่ยวกับสุราตลอด ๗ วัน" หญิงเหล่านั้นก็จัดเตรียมสุราเพื่อสามีของตนๆ สามีเหล่านั้น เล่นมหรสพเกี่ยวกับสุราตลอด ๗ วันแล้ว ในวันที่ ๘ ได้ออกไปเพื่อทำการงาน.

หญิงเหล่านั้นคิดหาอุบายดื่มสุรา

หญิงแม้เหล่านั้นหารือกันว่า "พวกเราไม่ได้ดื่มสุราต่อหน้าสามี, ก็สุราที่เหลือยังมีอยู่, เราทั้งหลายจักดื่มสุรานี้ด้วยวิธีที่สามีเหล่านั้นจะไม่รู้" ดังนี้แล้ว จึงไปสำนักของนางวิสาขา กล่าวว่า "แม่เจ้า ดิฉันทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 144

ปรารถนาจะชมสวน" เมื่อนางวิสาขาตอบว่า "ดีละ แม่ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น จงทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้วจึงออกไป." ได้ไปพร้อมกับนางวิสาขานั้น ซ่อนสุราไปโดยอาการอันมิดชิด ดื่มเสีย (จน) เมาแล้ว เที่ยวไปในสวน. นางวิสาขาคิดว่า "หญิงเหล่านี้ทำกรรมไม่สมควร, คราวนี้ถึงพวกเดียรถีย์ ก็จักติเตียนได้ว่า "สาวิกาทั้งหลายของพระสมณโคคม ดื่มสุรา ย่อมเที่ยวไป" จึงกล่าวกะหญิงเหล่านั้นว่า "นี่แน่ะแม่ เธอทั้งหลายทำกรรมไม่สมควร, พลอยให้เกิดอัปยศแก่ฉันด้วย, ถึงสามีก็จะโกรธพวกเธอ, บัดนี้ พวกเธอจักทำอย่างไรกัน?" หญิงเหล่านั้นตอบว่า "แม่เจ้า ดิฉันทั้งหลาย จักแสดงอาการลวงว่าเป็นไข้" นางวิสาขาจึงกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น พวกเธอก็จักปรากฏด้วยกรรมของตน." หญิงเหล่านั้นไปถึงเรือนแล้ว ทำท่าลวงว่าเป็นไข้. ทีนั้นสามีของหญิงเหล่านั้นถามว่า "หญิงชื่อนี้และชื่อนี้ไป ไปไหน?" ได้ยินว่า "เป็นไข้" ก็กำหนดจับได้ว่า "พวกนี้จักดื่มสุรา ที่เหลือเป็นแน่" จึงได้ทุบตีหญิงเหล่านั้นให้ถึงความเสื่อมเสีย. ในคราวมหรสพแม้อื่นอีก หญิงเหล่านั้นอยากดื่มสุราเหมือนอย่างนั้น จึงเข้าไปหานางวิสาขา กล่าวว่า "แม่เจ้า โปรดพาดิฉันไปชมสวนเถิด" ถูกนาง ห้ามว่า "แม้ในคราวก่อน เธอทั้งหลายกระทำให้อัปยศแก่ฉัน, ไปเองเถอะ, ฉันจะไม่พาเธอทั้งหลายไปละ" ได้พูดเอาใจว่า "ทีนี้ พวกดิฉันจักไม่ทำอย่างนั้น" แล้วเข้าไปหานางวิสาขานั้น พูดใหม่ว่า "แม่เจ้า ดิฉันทั้งหลายประสงค์จะทำพุทธบูชา, ขอจงพาดิฉันทั้งหลายไปวิหารเถิด." นางจึงพูดว่า "แน่ะแม่ บัดนี้ สมควร (แท้), เธอทั้งหลายจงไปจัดแจง เตรียมตัวเถอะ. หญิงเหล่านั้นให้คนถือของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นด้วยผอบ หิ้วขวดมีสัณฐานดุจกำมือ ซึ่งเต็มด้วยสุรา ด้วยมือทั้งสอง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 145

คลุมผ้าผืนใหญ่เข้าไปหานางวิสาขาแล้ว เข้าไปวิหารพร้อมกับนางวิสาขานั้น นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ดื่มสุราด้วยขวดอันมีสัณฐานดุจกำมือนั่นเอง แล้วทิ้งขวดเสีย นั่งตรงพระพักตร์พระศาสดาในโรงธรรม. นางวิสาขา กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ขอพระองค์แสดงธรรมแก่หญิงเหล่านี้." ผ่ายหญิงเหล่านั้น มีตัวสั่นเทิ้มอยู่ด้วยฤทธิ์เมา เกิดความคิดขึ้นว่า "เรา ทั้งหลายจักฟ้อน จักขับ."

เทวบุตรมารบันดาลให้แสดงกายวิการแต่ไม่สำเร็จ

ลำดับนั้น เทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในหมู่มาร คิดว่า "บัดนี้ เราจักสิงในสรีระของหญิงเหล่านี้แล้ว จักแสดงประการอันแปลกตรง พระพักตร์พระสมณโคดม" แล้วเข้าสิงในสรีระของหญิงเหล่านั้น บรรดาหญิงเหล่านั้น บางพวกจะเริ่มปรบมือหัวเราะ, บางพวกเริ่มจะฟ้อน ตรงพระพักตร์พระศาสดา. พระศาสดาทรงรำพึงว่า "นี้อย่างไรกัน?" ทรงทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริแล้วว่า "บัดนี้ เราจักไม่ให้เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่มารได้ช่อง. เพราะเราเมื่อบำเพ็ญบารมีตลอดกาลเท่านี้ ก็หาได้บำเพ็ญ เพื่อมุ่งจะให้พวกเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่มารได้ช่องไม่" เพื่อจะให้หญิง เหล่านั้นสังเวช จึงทรงเปล่งรัศมีจากพระโลมาระหว่างพระโขนง (๑) ทันใดนั้นเอง ความมืดมนอนธการได้มีแล้ว. หญิงเหล่านั้นได้หวาดหวั่น อันมรณภัยคุกคามแล้ว ด้วยเหตุนั้น สุราในท้องของหญิงเหล่านั้นจึงสร่างคลายไป. พระศาสดาทรงหายไป ณ บัลลังก์ที่ประทับนั่ง ประทับยืนอยู่บนยอดเขาสิเนรุ ทรงเปล่งพระรัศมีจากพระอุณาโลม. ขณะนั้น แสงสว่าง ได้มีเหมือนพระจันทร์ขึ้นตั้งพันดวง. ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเรียกหญิง


๑. ภมุกโลมโตติ. ภมุกนฺตเร โลมโต.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 146

เหล่านั้นมาแล้ว ตรัสว่า "พวกเธอ เมื่อมาสำนักของเรา ประมาทแล้วมา หาควรไม่, เพราะความประมาทของพวกเธอนั่นเอง เทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่มารจึงได้ช่อง ให้พวกเธอทำกายวิการมีหัวเราะเป็นต้น ในที่ซึ่งไม่ควรทำกายวิหารมีหัวเราะเป็นต้น, บัดนี้ พวกเธอทำความอุตสาหะ เพื่อมุ่งให้ไฟราคะเป็นต้นดับไปจึงควร" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

๑. โก นุ หาโส กิมานนฺโท นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ

อนฺธกาเรน โอนทฺธา ปทีปํ น คเวสถ.

"เมื่อโลกสันนิวาส อันไฟลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์,

พวกเธอยังจะร่าเริง บันเทิงอะไรกันหนอ?

เธอทั้งหลายอันความมืดปกคลุมแล้ว ทำไมจึงไม่แสวงหาประทีปเล่า?"

แก้อรรถ

ความยินดี ชื่อว่า อานนฺโท ในพระคาถานั้น, พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเป็นคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า "เมื่อโลกสันนิวาสนี้ อันไฟ ๑๑ อย่าง มีราคะเป็นต้นลุกโพลงแล้วเป็นนิตย์, เธอทั้งหลายจะมัวร่าเริงหรือเพลิดเพลินอะไรกันหนอ? นั่นไม่สมควรทำเลย มิใช่หรือ? ก็เธอทั้งหลาย อันความมืดคืออวิชชาซึ่งมีวัตถุ ๘ ปกคลุมไว้ เหตุไรจึงไม่แสวงหา คือไม่ทำประทีปคือญาณ เพื่อประโยชน์แก่การกำจัดความมืดนั้นเสีย? "

ผู้รับคำเตือนย่อมได้ผล

ในเวลาจบพระธรรมเทศนา หญิง ๕๐๐ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. พระศาสดาทรงทราบความที่หญิงเหล่านั้นเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในอจลศรัทธาแล้ว เสด็จลงจากยอดเขาสิเนรุ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 147

นางวิสาขาชี้โทษของสุราโดยบุคลาธิษฐาน

ลำดับนั้น นางวิสาขาได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า "พระเจ้าข้า ขึ้นชื่อว่าสุรานี้ เลวทราม, เพราะว่าหญิงเหล่านี้ ชื่อเห็นปานนี้ นั่งตรงพระพักตร์พระพุทธเจ้าเช่นพระองค์ ยังไม่สามารถจะยังแม้เพียงอิริยาบถให้เรียบร้อยได้ เริ่มจะลุกขึ้นปรบมือ ทำการหัวเราะ ขับ และฟ้อนเป็นต้นแล้ว." พระศาสดาตรัสว่า "นั่นแหละวิสาขา ขึ้นชื่อว่าสุรานี้ เลวทรามแท้, เพราะประชาชนอาศัยสุรานี้ ถึงความพินาศแล้วตั้งหลายร้อย." เมื่อนางวิสาขา กราบทูลว่า "ก็สุรานี้เกิดขึ้นเมื่อไร? พระเจ้าข้า," เพื่อจะตรัส อุปัตติเหตุแห่งสุรานั้น (แก่นางวิสาขา) โดยพิสดาร จึงทรงนำอดีตนิทานมาแล้ว ตรัสกุมภชาดก (๑) ดังนี้แล.

เรื่องหญิงสหายของนางวิสาขา จบ.


๑. ขุ. ชา. ตึส. ๒๗/๔๗๗. อรรถกถา. ๗/๑๙๑.