พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. เรื่องพระนางรูปนันทาเถรี [๑๒๒]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34914
อ่าน  740

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 158

คาถาธรรม

๑๑. ชราวรรควรรณนา

๕. เรื่องพระนางรูปนันทาเถรี [๑๒๒]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 158

๕. เรื่องพระนางรูปนันทาเถรี [๑๒๒]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระนาง รูปนันทาเถรี ซึ่งเป็นนางงามในชนบท ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อฏฺีนํ นครํ กตํ" เป็นต้น.

พระนางรูปนันทาทรงผนวช

ได้ยินว่า วันหนึ่ง พระนางรูปนันทานั้น ทรงดำริว่า "เจ้าพี่ใหญ่ของเราสละสิริราชสมบัติ (ออก) ผนวช เป็นพระพุทธเจ้าผู้อัครบุคคลในโลก, แม้โอรสของพระองค์ทรงนามว่าราหุลกุมาร ก็ผนวชแล้ว, แม้เจ้าพี่ของเรา (คือพระนันทะ) ก็ผนวชแล้ว, แม้พระมารดาของเรา ก็ทรงผนวชแล้ว, เมื่อคณะพระญาติมีประมาณเท่านี้ ทรงผนวชแล้ว, แม้เราจักทำอะไรในเรือน, จักผนวช (บ้าง), " พระนางเสด็จเข้าไปสู่สำนัก ภิกษุณีทั้งหลายแล้วทรงผนวช พระนางทรงผนวชเพราะสิเนหาในพระญาติเท่านั้น หาใช่เพราะศรัทธาไม่; แต่เพราะพระนางเป็นผู้มีพระโฉมอันวิไล จึงปรากฏพระนามว่า "รูปนันทา."

พระนางไม่เข้าเฝ้าพระศาสดาเพราะเกรงถูกตำหนิ

พระนางได้ทรงสดับว่า "ได้ยินว่า พระศาสดาตรัสว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงไม่เสด็จไปเผชิญพระพักตร์พระศาสดา ด้วยทรงเกรงว่า "พระศาสดาจะพึงตรัสโทษในรูปแม้ของเราซึ่งน่าดู น่าเลื่อมใสอย่างนี้."

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 159

ชาวนครนิยมฟังธรรม

ชาวพระนครสาวัตถีถวายท่านแต่เช้าตรู่ สมาทานอุโบสถแล้วห่มผ้าสะอาด มีมือถือของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ในเวลาเย็น ประชุม กันฟังธรรมในพระเชตวัน. แม้ภิกษุณีสงฆ์ผู้เกิดฉันทะในพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ก็ย่อมไปวิหารฟังธรรม. ชาวพระนครสาวัตถีเหล่านั้น ครั้นฟังธรรมแล้ว เมื่อเข้าไปสู่พระนคร ก็กล่าวแต่คุณกถาของพระศาสดา เท่านั้นเข้าไป.

ความเลื่อมใสของบุคคล ๔ จำพวก

จริงอยู่ จำพวกสัตว์ในโลกสันนิวาสซึ่งมีประมาณ ๔ จำพวก ที่เห็นพระตถาคตอยู่ ไม่เกิดความเลื่อมใส มีจำนวนน้อยนัก.

๑. รูปัปปมาณิกา

ด้วยว่าจำพวกสัตว์ที่เป็นรูปัปปปมาณิกา (ถือรูปเป็นประมาณ) เห็นพระสรีระของพระตถาคต อันประดับแล้วด้วยพระลักษณะและอนุพยัญชนะมีพระฉวีวรรณดุจทองคำ ย่อมเลื่อมใส.

๒. โฆสัปปมาณิกา

จำพวกโฆสัปปมาณิกา (ถือเสียงเป็นประมาณ) ฟังเสียงประกาศ พระคุณของพระศาสดา ซึ่งอาศัยเป็นไปแล้วตั้งหลายร้อยชาติ และเสียงประกาศพระธรรมเทศนา อันประกอบด้วยองค์ (๑) ๘ ย่อมเลื่อมใส.

๓. ลูขัปปมาณิก

แม้จำพวกลูขัปปมาณิกา (ถือการปฏิบัติเศร้าหมองเป็นประมาณ)


๑. เสียงที่ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ แจ่มใส ๑ ชัดเจน ๑ นุ่มนวล ๑ น่าฟัง ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ ลึก ๑ มีกังวาน ๑ ที. มหาวรรค ชนวสภสูตร ข้อ ๑๙๘.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 160

อาศัยความที่พระองค์เป็นผู้เศร้าหมองด้วยปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น ย่อม เลื่อมใส.

๔. ธัมมัปปมาณิกา

แม้จำพวกธัมมัปปมาณิกา (ถือธรรมเป็นประมาณ) ก็ย่อมเลื่อมใส ว่า "ศีลของพระทศพลเห็นปานนี้, สมาธิเห็นปานนี้, ปัญญาเห็นปานนี้, พระผู้มีพระภาคเจ้าหาผู้เสมอมิได้ ไม่มีผู้เสมอเท่า หาผู้เสมอเหมือนมิได้ ไม่มีผู้ทัดเทียม ด้วยคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น." เมื่อชนเหล่านั้นพรรณนาคุณของพระตถาคตอยู่ ปากไม่เพียงพอ.

พระนางรูปนันทาเถรีเข้าเฝ้าทรงสดับธรรม

พระนางรูปนันทา ได้สดับคำพรรณนาคุณของพระตถาคต แต่สำนักพวกภิกษุณีและพวกอุบาสิกา จึงทรงดำริว่า "ชนทั้งหลาย ย่อมกล่าวชมเจ้าพี่ของเรานักหนาทีเดียว แม้ในวันหนึ่ง พระองค์เมื่อจะตรัสโทษในรูปของเรา จะตรัสได้สักเท่าไร? ถ้ากระไร เราพึงไปกับพวกภิกษุณี ไม่แสดงตนเลย เฝ้าพระตถาคตฟังธรรมแล้วพึงมา." พระนางจึงตรัสบอกแก่พวกภิกษุณีว่า "วันนี้ ฉันจักไปสู่ที่ฟังธรรม." พวก ภิกษุณีมีใจยินดีว่า "นานนักหนา การที่พระนางรูปนันทาทรงมีพระประสงค์จะเสด็จไปสู่ที่บำรุงพระศาสดาเกิดขึ้นแล้ว, วันนี้พระศาสดา ทรงอาศัยพระนางรูปนันทานี้แล้ว จักทรงแสดงพระธรรมเทศนาอันวิจิตร" ดังนี้แล้วพาพระนางออกไปแล้ว. ตั้งแต่เวลาที่ออกไป พระนางทรงดำริ ว่า "เราจะไม่แสดงตนเลย."

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 161

พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พระนาง

พระศาสดาทรงดำริว่า "วันนี้ รูปนันทาจักมาที่บำรุงของเรา ธรรมเทศนาเช่นไรหนอแล? จักเป็นที่สบายของเธอ" ทรงทำความตกลงพระหฤทัยว่า "รูปนันทานั่น หนักในรูป มีความเยื่อใยในอัตภาพอย่างรุนแรง การบรรเทาความเมาในรูปด้วยรูปนั่นแล เป็นที่สบายของเธอ ดุจการบ่งหนามด้วยหนามฉะนั้น" ในเวลาที่พระนางเข้าไปสู่วิหาร ทรงนิรมิตหญิงมีรูปสวยพริ้งผู้หนึ่ง อายุราว ๑๖ ปี นุ่งผ้าแดงประดับ แล้วด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง ถือพัด ยืนถวายงานพัดอยู่ในที่ใกล้พระองค์ ด้วยกำลังพระฤทธิ์, ก็แล พระศาสดาและพระนางรูปนันทาเท่านั้น ทรงเห็นรูปหญิงนั้น. พระนางเสด็จเข้าไปวิหารพร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย ทรงยืนข้างหลังพวกภิกษุณี ถวายบังคมพระศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ นั่งในระหว่างพวกภิกษุณี ทรงแลดูพระศาสดาตั้งแต่พระบาท ทรงเห็นพระสรีระของพระศาสดาวิจิตรแล้วด้วยพระลักษณะ รุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะ อันพระรัศมีวาหนึ่งแวดล้อมแล้ว ทรงแลดูพระพักตร์อันมีสิริดุจพระจันทร์เพ็ญ ได้ทรงเห็นรูปหญิงยืนอยู่ในที่ใกล้แล้ว. พระนางทรงแลดูหญิงนั้นแล้ว ทรงแลดูอัตภาพ (ของตน) รู้สึกว่าตนเหมือนนางกา (ซึ่งอยู่) ข้างหน้านางพระยาหงส์ทอง. ก็จำเดิมแต่เวลาที่ (พระนาง) ทรงเห็นรูปอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์ทีเดียว พระเนตรทั้งสองของพระนางก็วิงเวียน. พระนางมีจิตอันสิริโฉมแห่งสรีรประเทศทั้งหมดดึงดูดไปแล้วว่า "โอ ผมของหญิงนี้ก็งาม, โอ หน้าผากก็งาม" ดังนี้ ได้มีสิเนหาในรูปนั้นอย่างรุนแรง. พระศาสดาทรงทราบความยินดีอย่างสุดซึ้งในรูปนั้นของพระนาง พอเมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงทรงแสดงรูปนั้นให้ล่วงภาวะของ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 162

ผู้มีอายุ ๑๖ ปี มีอายุราว ๒๐ ปี. พระนางรูปนันทาได้ทอดพระเนตร มีจิตเบื่อหน่ายหน่อยหนึ่งว่า "รูปนี้ไม่เหมือนรูปก่อนหนอ." พระศาสดา (ทรงแสดงความแปรเปลี่ยนเพศ) ของหญิงนั้นโดยลำดับเทียว คือ เพศหญิงคลอดบุตรครั้งเดียว เพศหญิงกลางคน เพศหญิงแก่ เพศหญิงแก่คร่ำคร่าแล้วเพราะชรา. แม้พระนางก็ทรงเบื่อหน่ายรูปนั้น ในเวลาที่ทรุดโทรมเพราะชราโดยลำดับเหมือนกัน ว่า "โอ รูปนี้ หายไปแล้วๆ " (ครั้น) ทรงเห็นรูปนั้นมีฟันหัก ผมหงอก หลังโกง มีซี่โครงขึ้นดุจ กลอน มีไม้เท้ายันข้างหน้า งกงันอยู่ ก็ทรงเบื่อหน่ายเหลือเกิน. ลำดับนั้น พระศาสดาทรงแสดงรูปหญิงนั้นให้เป็นรูปอันพยาธิครอบงำ ในขณะนั้นเอง หญิงนั้นทิ้งไม้เท้าและพัดใบตาล ร้องเสียงขรม ล้มลงที่ภาคพื้น จมลงในมูตรและกรีสของตน กลิ้งเกลือกไปมา. พระนางรูปนันทา ทรงเห็นหญิงนั้นแล้ว ทรงเบื่อหน่ายเต็มที. พระศาสดา ทรงแสดงมรณะของหญิงนั้นแล้ว. หญิงนั้นถึงความเป็นศพพองขึ้นในขณะนั้นเอง, สายแห่งหนองและหมู่หนอนไหลออกจากปากแผล (๑) ทั้ง ๙. ฝูงสัตว์มีกาเป็นต้นรุมแย่งกันกินแล้ว. พระนางรูปนันทา ทรงพิจารณาซากศพนั้นแล้ว ทรงเห็นอัตภาพโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงว่า "หญิงนี้ถึงความแก่ ถึงความเจ็บ ถึงความตาย ในที่นี้เอง, ความแก่ ความเจ็บ และความตาย จักมาถึงแก่อัตภาพแม้นี้อย่างนั้นเหมือนกัน." และเพราะความที่อัตภาพเป็นสภาพอันพระนางทรงเห็นแล้ว โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงนั่นเอง อัตภาพนั้น จึงเป็นอันทรงเห็นแล้วโดยความเป็นทุกข์โดย ความเป็นอนัตตาทีเดียว. ลำดับนั้น ภพทั้งสามปรากฏแก่พระนางดุจถูก


๑. แผล ๙ คือ ตา หู จมูก อย่างละ ๒ ปาก ๑ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 163

ไฟเผาลนแล้ว และดุจซากศพอันเขาผูกไว้ที่พระศอ จิตมุ่งตรงต่อกรรมฐาน แล้ว. พระศาสดาทรงทราบว่า พระนางทรงคิดเห็นอัตภาพโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงแล้ว จึงทรงพิจารณาดูว่า "พระนางจักสามารถทำที่พึ่งแก่ตนได้เองทีเดียวหรือไม่หนอแล?" ทรงเห็นว่า "จักไม่อาจ, การที่ พระนางได้ปัจจัยภายนอก (เสียก่อน) จึงจะเหมาะ" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม ด้วยอำนาจธรรมเป็นที่สบายแห่งพระนาง ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

" นันทา เธอจงดูกายอันกรรมยกขึ้น อันอาดูร

ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ไหลออกอยู่ข้างบน ไหลออก

อยู่ข้างล่าง ที่พาลชนทั้งหลายปรารถนากันนัก;

สรีระของเธอนี้ ฉันใด, สรีระของหญิงนั่น ก็ฉันนั้น,

สรีระของหญิงนั่น ฉันใด สรีระของเธอนี้ ก็ฉันนั้น:

เธอจงเห็นธาตุ ทั้งหลายโดยความเป็นของสูญ, อย่า

กลับมาสู่โลกนี้อีก, เธอคลี่คลายความพอใจในภพ

เสียแล้ว จักเป็นบุคคลผู้สงบเที่ยวไป."

พระนางนันทาสำเร็จโสดาปัตติผล

ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภพระนางนันทาภิกษุณี ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล. พระนางนันทา ทรงส่งญาณไปตามกระแสเทศนา บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.

พระศาสดาทรงแสดงวิปัสสนา

ลำดับนั้น พระศาสดาเพื่อจะตรัสสุญญตกรรมฐาน เพื่อต้องการ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 164

อบรมวิปัสสนาเพื่อมรรคผลทั้งสามยิ่งขึ้นไปแก่พระนาง จึงตรัสว่า "นันทา เธออย่าทำความเข้าใจว่า สาระในสรีระนี้ มีอยู่ เพราะสาระในสรีระนี้ แม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่มี, สรีระนี้ อันกรรมยกกระดูก ๓๐๐ ท่อนขึ้น สร้างให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย" ดังนี้ แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า

๕. อฏฺินํ นครํ กตํ มํสโลหิตเลปนํ

ยตฺถ ชรา จ มจฺจุ จ มาโน มกฺโข จ โอหิโต.

"สรีระอันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะ มานะ และมักขะ"

แก้อรรถ

เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า "เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายให้ยกไม้ทั้งหลายขึ้น (เป็นโครง) เอาเถาวัลย์ผูกแล้ว ฉาบด้วยดินเหนียว ทำให้เป็นเรือนภายนอกกล่าวคือนคร เพื่อประโยชน์แก่การตั้งปุพพัณชาติ และอปรัณชาติเป็นต้นลง ฉันใด; แม้สรีระนี้ที่เป็นไปในภายใน ก็ฉันนั้น อันกรรมยังกระดูก ๓๐๐ ท่อนให้ยกขึ้นแล้วทำให้เป็นนคร อันเส้นเอ็นรึงรัดไว้ ฉาบทาด้วยเนื้อและโลหิต หุ้มห่อด้วยหนัง เพื่อประโยชน์ แก่การตั้งลงแห่งชรา ซึ่งมีความทรุดโทรมเป็นลักษณะ แห่งมัจจุซึ่งมี ความตายเป็นลักษณะ แห่งมานะซึ่งมีความเมา เพราะอาศัยความถึงพร้อม ด้วยความระหง (๑) เป็นต้นเป็นลักษณะ และแห่งมักขะมีการทำกรรมที่เขาทำ ดีแล้วให้ฉิบหายเป็นลักษณะ. เพราะอาพาธอันเป็นไปทางกายและทางใจ


๑. อาโรห เป็นส่วนสูง ปริณาห เป็นส่วนกลม งามพร้อม ได้ส่วนสัด.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 165

เห็นปานนี้นั่นแล ตั้งลงแล้วในสรีระนี้. นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรๆ ที่เข้าถึงความเป็นของจะพึงถือเอาได้.

ในกาลจบเทศนา พระนางรูปนันทาเถรีได้บรรลุพระอรหัตตผล. พระธรรมเทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องพระนางรูปนันทาเถรี จบ.