พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. เรื่องอุบาสกชื่อมหากาล [๑๓๑]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  34924
อ่าน  461

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 209

๕. เรื่องอุบาสกชื่อมหากาล [๑๓๑]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 209

๕. เรื่องอุบาสกชื่อมหากาล [๑๓๑]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภอุบาสกผู้โสดาบันคนหนึ่งชื่อมหากาล ตรัสพระธรรรมเทศนานี้ว่า "อตฺตนา หิ กตํ ปาปํ" เป็นต้น.

มหากาลถูกหาว่าเป็นโจรเลยถูกทุบตาย

ได้ยินว่า มหากาลนั้นเป็นผู้รักษาอุโบสถ ๘ วันต่อเดือน (เดือนละ ๘ วัน) ฟังธรรมกถาตลอดคืนยังรุ่งในวิหาร. ครั้งนั้นพวกโจรตัดที่ต่อในเรือนหลังหนึ่งในเวลากลางคืน ถือเอาห่อภัณฑะไป ถูกพวกเจ้าของตื่นขึ้น เพราะเสียงภาชนะโลหะ (กระทบกัน) ติดตามแล้ว ทิ้งสิ่งของที่ตนถือไว้แล้วก็หลบหนีไป.

ฝ่ายพวกเจ้าของ ติดตามโจรเหล่านั้นเรื่อยไป. พวกโจรเหล่านั้น กระจัดกระจายหนีกันไปทั่วทิศ. ส่วนโจรคนหนึ่ง ถือเอาทางที่ไปยังวิหาร ทิ้งห่อภัณฑะไว้ข้างหน้ามหากาล ผู้ฟังธรรมกถาตลอดคืนยังรุ่ง ล้างหน้าอยู่ริมสระโบกขรณีแต่เช้าตรู่แล้ว หลบหนีไป.

พวกมนุษย์ติดตามหมู่โจรมา พบห่อภัณฑะแล้ว จึงจับมหากาลนั้นไว้ ด้วยกล่าวว่า "แกตัดที่ต่อในเรือนของพวกฉัน ลักห่อภัณฑะไปแล้ว เที่ยวเดินเหมือนฟังธรรมอยู่" ได้ทุบให้ตายแล้วก็ทิ้งไว้เลยไป.

มหากาลตายสมแก่บุรพกรรม

ครั้งนั้น ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลายถือหม้อน้ำดื่มไปแต่เช้าตรู่ พบมหากาลนั้น กล่าวว่า "อุบาสกฟังธรรมกถาอยู่ในวิหาร ได้มรณะ ไม่สมควร" ดังนี้แล้ว จึงได้กราบทูลแด่พระศาสดา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 210

พระศาสดา ตรัสว่า "อย่างนั้นภิกษุทั้งหลาย นายกาล (๑) ได้มรณะไม่สมควรในอัตภาพนี้, แต่เขาได้มรณะสมควรแก่กรรมที่ทำไว้แล้วในกาล ก่อนนั่นแล" อันภิกษุหนุ่มและสามเณรเหล่านั้นทูลอาราธนา จึงตรัสบุรพกรรมของมหากาลนั้นว่า:-

บุรพกรรมของมหากาล

ดังได้สดับมา ในอดีตกาลพวกโจรซุ่มอยู่ที่ปากดงแห่งปัจจันตคาม (๒) แห่งหนึ่ง ในแคว้นของพระเจ้าพาราณสี. พระราชาทรงตั้งราชภัฏ (๓) คนหนึ่งไว้ที่ปากดง. ราชภัฏนั้นรับค่าจ้างแล้ว ก็นำคนไปจากฟากข้างนี้ สู่ฟากข้างโน้น, นำคนจากฟากข้างโน้นมาสู่ฟากข้างนี้.

ต่อมามนุษย์คนหนึ่ง พาภริยารูปสวยของตนขึ้นสู่ยานน้อยแล้ว ได้ไปถึงที่นั้น. ราชภัฏพอเห็นหญิงนั้น ก็เกิดสิเนหา, เมื่อมนุษย์นั้น แม้กล่าวว่า "นาย ขอท่านจงช่วยกระผมทั้งสองให้ผ่านพ้นดงเถิด," ก็ตอบ ว่า "บัดนี้ ค่ำมืดเสียแล้ว, เช้าตรู่เถอะ เราจักช่วยให้ท่านพ้นไป."

มนุษย์. นาย ยังมีเวลา, ขอโปรดนำกระผมทั้งสอง ไปเดี๋ยวนี้เถอะ.

ราชภัฏ. กลับเถิดท่านผู้เจริญ อาหารและที่พักอาศัย จักมีในเรือน ของเราทีเดียว.

มนุษย์นั้นไม่ปรารถนากลับเลย. ฝ่ายราชภัฏนอกนี้ ให้สัญญาแก่พวกบุรุษ ยังยานน้อยให้กลับแล้ว ให้ที่พักอาศัยที่ซุ้มประตู ให้ตระเตรียมอาหารแก่เขาผู้ไม่ปรารถนาเลย. ก็ในเรือนราชภัฏนั้นมีแก้วมณีดวงหนึ่ง. เขาให้เอาแก้วมณีนั้นซ่อนไว้ในซอกแห่งยานน้อย ของมนุษย์ผู้นั้นแล้ว ในเวลาจวนรุ่ง ให้ทำเสียงเป็นพวกโจรเข้าไป (บ้าน).


๑. น่ามีมหาด้วย. ๒. บ้านตั้งอยู่ริมเขตแดน. ๓. คนอันพระราชาชุบเลี้ยง ได้แก่ข้าราชการ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 211

ลำดับนั้น พวกบุรุษแจ้งแก่เขาว่า "นาย แก้วมณีถูกพวกโจรลักเอาไปแล้ว." เขาสั่งว่า "พวกเจ้าจงตั้งกองรักษาไว้ที่ประตูบ้านทั้งหลาย ตรวจค้นคนผู้ออกไปจากภายในบ้าน." ฝ่ายมนุษย์นอกนี้ จัดยานน้อยเสร็จแล้วก็ขับไปแต่เช้าตรู่. ทีนั้น พวกคนใช้ของราชภัฏ จึงค้นยานน้อยของมนุษย์นั้น พบแก้วมณีที่ตนซ่อนไว้จึงขู่พูดว่า "เจ้าลักเอาแก้วมณีหนีไป" ดังนี้แล้ว ก็โบย แสดงแก่นายบ้านว่า "นาย พวกผมจับตัว ได้แล้ว." เขาพูดว่า "ตัวเราเป็นถึงนายราชภัฏ ให้พักอาศัยในเรือน ให้ภัตแล้ว, มันยังลักแก้วมณีไปได้. พวกเจ้าจงจับอ้ายบุรุษชั่วช้านั้น" ดังนี้แล้ว ให้ช่วยกันทุบตายแล้วให้ทิ้งเสีย. นี้เป็นบุรพกรรมของมหากาลนั้น. ราชภัฏนั้นเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้วเกิดในอเวจี ไหม้อยู่ในอเวจี นั้นสิ้นกาลนาน ถูกทุบถึงความตายอย่างนั้นแล ใน ๑๐๐ อัตภาพ เพราะวิบากที่ยังเหลืออยู่.

บาปย่อมย่ำยีผู้ทำ

พระศาสดา ครั้นทรงแสดงบุรพกรรมของมหากาลอย่างนั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บาปกรรมอันตนทำไว้นั่นแล ย่อมย่ำยีสัตว์เหล่านี้ ในอบาย ๔ อย่างนี้" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า:-

๕. อตฺตนา กตํ ปาปํ อตฺตชํ อตฺตสมฺภวํ

อภิมตฺถติ ทุมฺเมธํ วชิรํวมฺหยํ มณึ.

"บาป อันตนทำไว้เอง เกิดในตน มีตนเป็น

แดนเกิด ย่อมย่ำยีบุคคลผู้มีปัญญาทราม ดุจเพชร

ย่ำยีแก้วมณี อันเกิดแต่หินฉะนั้น."

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 212

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า วชิรํวมฺหยํ มณึ ความว่า เปรียบดังเพชร (ย่ำยี) แก้วมณีที่เกิดแต่หิน. ท่านอธิบายคำนี้ไว้ว่า "เพชรอันสำเร็จจากหิน มีหินเป็นแดนเกิด กัดแก้วมณีที่เกิดแต่หิน คือแก้วมณีอันสำเร็จแต่หิน ซึ่งนับว่าเป็นที่ตั้งขึ้นของตนนั้นนั่นแล คือ ทำให้เป็นช่องน้อยช่องใหญ่ ให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ทำให้ใช้สอยไม่ได้ ฉันใด; บาปอันตนทำไว้แล้ว เกิดในตน มีตนเป็นแดนเกิด ย่อมย่ำยี คือขจัดบุคคลผู้มีปัญญาทราม คือผู้ไร้ปัญญา ในอบาย ๔ ฉันนั้น เหมือนกัน."

ในกาลจบเทศนา ภิกษุที่มาประชุมบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องอุบาสกชื่อมหากาล จบ.