๘. เรื่องพระกาลเถระ [๑๓๔]
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 218
๘. เรื่องพระกาลเถระ [๑๓๔]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 218
๘. เรื่องพระกาลเถระ [๑๓๔]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระกาลเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย สาสนํ" เป็นต้น.
พระเถระไม่ให้อุปัฏฐายิกาไปฟังธรรม
ดังได้ยินมา หญิงคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ตั้งอยู่ในที่แห่งมารดาทำนุบำรุงพระเถระนั้นอยู่. พวกคนในเรือนแห่งผู้คุ้นเคยของหญิงนั้น ฟังธรรมในสำนักพระศาสดาแล้ว กลับมาเรือนแล้ว สรรเสริญอยู่ว่า "โอ ชื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอัศจรรย์, โอ พระธรรมเทศนาก็ไพเราะ." หญิงนั้น ฟังถ้อยคำของคนพวกนั้นแล้ว จึงบอกแก่พระกาละว่า "ท่านเจ้าข้า ดิฉันอยากจะฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาบ้าง." เธอ ห้ามเขาว่า "อย่าไปที่นั่นเลย." หญิงนั้นในวันรุ่งขึ้นก็ขออีก แม้อันพระกาละนั้นห้ามอยู่ถึง ๓ ครั้งก็ยังอยากจะฟังอยู่นั้นแล. มีคำถามสอดเข้ามาว่า "ก็เหตุไฉน? เธอจึงได้ห้ามเขาเสีย." แก้ว่า "ได้ยินว่า เธอได้มีความเห็นเช่นนี้ว่า อุบาสิกานี้ ได้ฟังธรรมในสำนักพระศาสดาแล้ว จักแตกจากเรา เหตุนั้นเธอจึงได้ห้ามเขาเสีย.
วันหนึ่ง หญิงนั้นบริโภคอาหารเสร็จสมาทานอุโบสถแล้ว สั่งบุตรี ไว้ว่า "แม่ จงอังคาสพระผู้เป็นเจ้าให้ดี" แล้วได้ไปวิหารแต่เช้าเทียว. ฝ่ายบุตรีของเขาก็อังคาสพระกาละโดยเรียบร้อย ในกาลเธอมาถึง เธอถามว่า "อุบาสิกาผู้ใหญ่ไปไหน?" (นาง) ตอบว่า "ไปวิหารเพื่อฟัง ธรรม." เธอพอได้ฟังข่าวนั้น ทุรนทุรายอยู่เพราะความกลัดกลุ้มอันตั้งขึ้นในท้อง (ควรจะเป็น อนฺโต ในภายใน) นึกว่า "เดี๋ยวนี้ อุบาสิกา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 219
นั้นแตกจากเราแล้ว" รีบไป เห็นหญิงนั้นฟังธรรมอยู่ในสำนักพระศาสดา จึงทูลพระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า หญิงคนนี้เขลา ไม่เข้าใจธรรมกถาอันละเอียด, อย่าตรัสธรรมกถาอันละเอียดซึ่งประดับด้วยสภาวธรรมมีขันธ์ เป็นต้น ตรัสแต่เพียงทานกถาหรือสีลกถาแก่เขาก็พอ."
สักการะย่อมฆ่าคนถ่อย
พระศาสดา ทรงทราบอัธยาสัยของเธอแล้ว ตรัสว่า " เธอเป็นคนปัญญาโฉด อาศัยทิฏฐิอันชั่วช้า ห้ามปรามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า, เธอพยายามเพื่อฆ่าตนเอง" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๘. โย สาสนํ อรหตํ อริยานํ ธมฺมชีวินํ
ปฏิกฺโกสิ ทุมฺเมโธ ทิฏฺึ นิสฺสาย ปาปิกํ
ผลานิ กณฺฏกสฺเสว อตฺตฆญฺาย ผลฺลติ.
"บุคคลใดปัญญาโฉด อาศัยทิฏฐิอันชั่วช้า
คัดค้านคำสั่งสอนของพระอริยบุคคล ผู้อรหันต์ มีปกติ
เป็นอยู่โดยธรรม, บุคคลนั้นย่อมเกิดมาเพื่อฆ่าตน เหมือนขุยแห่งไม้ไผ่."
แก้อรรถ
ความแห่งพระคาถานั้นว่า :-
"บุคคลใดปัญญาโฉด อาศัยทิฏฐิอันชั่วช้า ห้ามปรามพวกคนผู้กล่าวอยู่ว่า จักฟังธรรมก็ดี. ว่า จักถวายทานก็ดี, เพราะกลัวแต่เสื่อมสักการะของตน ชื่อว่าโต้แย้งคำสั่งสอนของพระอริยบุคคลผู้อรหันต์ มีปกติเป็นอยู่โดยธรรม คือพระพุทธเจ้า, การโต้แย้งและทิฏฐิอันเลวทรามนั้นของบุคคลนั้น ย่อมเป็นเหมือนขุยของไม้มีหนาม กล่าวคือไม้ไผ่,
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 220
เหตุนั้น ไม้ไผ่เมื่อตกขุย ย่อมตกเพื่อฆ่าตนเท่านั้น ฉันใด ; แม้บุคคลนั้นก็ย่อมเกิดมาเพื่อฆ่าตน คือว่าเกิดมาเพื่อผลาญตนเอง ฉันนั้น. สมจริงแม้คาถาประพันธ์นี้ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสไว้ว่า :-
"ผลนั้นแลย่อมฆ่าต้นกล้วยเสีย, ผลนั้นแลย่อม
ฆ่าไม้ไผ่เสีย, ผลนั้นแลย่อมฆ่าไม้อ้อเสีย, ลูกใน
ท้องย่อมฆ่าแม่ม้าอัศดรเสีย ฉันใด, สักการะก็ย่อม ฆ่าบุรุษถ่อยเสีย ฉันนั้น."
ในเวลาจบเทศนา อุบาสิกาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล
เรื่องพระกาลเถระ จบ.