พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. เรื่องอสทิสทาน [๑๔๖]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  34940
อ่าน  569

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 262

๑๐. เรื่องอสทิสทาน [๑๔๖]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 262

๑๐. เรื่องอสทิสทาน [๑๔๖]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภอสทิสทาน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น เว กทริยา เทวโลกํ วชนฺติ" เป็นต้น.

พระราชาถวายทานแข่งกับราษฎร

ความพิสดารว่า สมัยหนึ่ง พระศาสดาเสด็จจาริกไปแล้ว มีภิกษุ ประมาณ ๕๐๐ เป็นบริวาร เสด็จเข้าไปในพระเชตวัน. พระราชาเสด็จไปวิหาร ทูลนิมนต์พระศาสดา ในวันรุ่งขึ้น ทรงตระเตรียมอาคันตุกทานแล้ว จึงตรัสเรียกชาวพระนครว่า "จงดูทานของเรา," ชาวพระนครมาเห็นทานของพระราชาแล้ว ในวันรุ่งขึ้น ทูลนิมนต์พระศาสดา ตระเตรียมทานแล้ว ส่ง (ข่าวไปกราบทูล) แด่พระราชาว่า "ขอพระองค์ ผู้เป็นสมมติเทพ จงทอดพระเนตรทานของพวกข้าพระองค์." พระราชาเสด็จไปทอดพระเนตรทานของชาวพระนครเหล่านั้นแล้ว ทรงดำริว่า "ทานอันยิ่งกว่าทานของเราอันชนเหล่านี้ทำแล้ว, เราจักทำทานอีก" จึงรับสั่งให้ตระเตรียมทานแล้ว แม้ในวันรุ่งขึ้น. แม้ชาวพระนครเห็นทานนั้นแล้ว ในวันรุ่งขึ้น จึงตระเตรียม (ทาน) แล้ว ด้วยประการฉะนี้. ด้วยอาการอย่างนี้ พระราชาไม่ทรงอาจเพื่อให้ชาวพระนครแพ้ได้เลย ชาวพระนครก็ไม่อาจเพื่อให้พระราชาแพ้ได้. ต่อมาในวาระที่ ๖ ชาว พระนครเพิ่มขึ้นร้อยเท่าพันเท่า ตระเตรียมทาน โดยประการที่ใครๆ ไม่อาจจะพูดได้ว่า "วัตถุชื่อนี้ ไม่มีในทานของชาวพระนครเหล่านี้," พระราชาทอดพระเนตรทานนั้นแล้ว ทรงดำริว่า "ถ้าเราจักไม่อาจเพื่อ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 263

ทำทานให้ยิ่งกว่าทานของชาวพระนครเหล่านั้นไซร้, ประโยชน์อะไรของเราด้วยชีวิตเล่า" ดังนี้แล้ว ได้บรรทมดำริถึงอุบายอยู่.

พระนางมัลลิกาทรงจัดทาน

ลำดับนั้น พระนางมัลลิกาเทวีเข้าไปเฝ้าท้าวเธอแล้ว ทูลถามว่า "ข้าแต่มหาราชเจ้า, เพราะเหตุไร พระองค์จึงเป็นผู้บรรทมอย่างนี้?" พระราชาตรัสว่า "เทวี บัดนี้ เธอยังไม่ทราบหรือ?"

พระเทวี. หม่อมฉันยังไม่ทราบ พระเจ้าข้า.

ท้าวเธอตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่พระนางแล้ว.

ลำดับนั้น พระนางมัลลิกากราบทูลท้าวเธอว่า "ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์อย่าทรงดำริเลย, พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน อันชาวพระนครทั้งหลายให้พ่ายแพ้อยู่ พระองค์เคยทอดพระเนตรหรือ หรือเคยสดับแล้ว ที่ไหน? หม่อมฉันจักจัดแจงทานแทนพระองค์."

พระนางกราบทูลแด่ท้าวเธออย่างนี้ เพราะความที่พระนางเป็นผู้ใคร่จะจัดแจงอสทิสทาน แล้วกราบทูลว่า " ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงรับสั่งให้เขาทำมณฑปสำหรับนั่งภายในวงเวียน เพื่อภิกษุ ประมาณ ๕๐๐ รูป ด้วยไม้เรียบที่ทำด้วยไม้สาละและไม้ขานาง พวกภิกษุที่เหลือจักนั่งภายนอกวงเวียน; ขอจงรับสั่งให้ทำเศวตฉัตร ๕๐๐ คัน, ช้างประมาณ ๕๐๐ เชือก จักถือเศวตฉัตรเหล่านั้น ยืนกั้นอยู่เบื้องบน แห่งภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป, ขอจงรับสั่งให้ทำเรือสำเร็จด้วยทองคำอันมี สีสุก สัก ๘ ลำ หรือ ๑๐ ลำ, เรือเหล่านั้นจักมี ณ ท่ามกลางมณฑป, เจ้าหญิงองค์หนึ่งๆ จักนั่งบดของหอมอยู่ในระหว่างภิกษุ ๒ รูปๆ, เจ้าหญิงองค์หนึ่งๆ จักถือพัดยืนพัดภิกษุ ๒ รูปๆ, เจ้าหญิงที่เหลือ จักนำ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 264

ของหอมที่บดแล้วๆ มาใส่ในเรือทองคำทั้งหลาย, บรรดาเจ้าหญิงเหล่านั้น เจ้าหญิงบางพวกจักถือกำดอกอุบลเขียว เคล้าของหอมที่ใส่ไว้ในเรือทองคำแล้ว จักให้ภิกษุรับเอาไออบ; เพราะเจ้าหญิงไม่มีแก่ชาวพระนครเลยทีเดียว, เศวตฉัตรก็ไม่มี, ช้างก็ไม่มี, ชาวพระนครจักพ่ายแพ้ด้วยเหตุเหล่านี้, ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงรับสั่งให้ทำอย่างนี้เถิด." พระราชาทรงรับว่า "ดีละ พระเทวี เรื่องอันงาม เจ้าบอกแล้ว" จึงรับสั่งให้ทำกิจทั้งสิ้น โดยทำนองที่พระนางกราบทูลแล้วทีเดียว. ก็ช้างเชือกหนึ่ง ยังไม่พอแก่ภิกษุรูปหนึ่ง.

ลำดับนั้น พระราชาตรัสกับพระนางมัลลิกาว่า "นางผู้เจริญ ช้างเชือกหนึ่ง ยังไม่พอแก่ภิกษุรูปหนึ่ง, เราจักทำอย่างไร?"

พระเทวี. ช้าง ๕๐๐ เชือกไม่มีหรือ? พระเจ้าข้า.

พระราชา. มีอยู่ เทวี, แต่ช้างที่เหลือ เป็นช้างดุร้าย, ช้างเหล่านั้นพอเห็นภิกษุทั้งหลายเข้า ย่อมเป็นสัตว์ดุร้าย เหมือนลมเวรัมภา. "

พระเทวี. ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันทราบที่เป็นที่ยืนถือฉัตร ของลูกช้างซึ่งดุร้ายเชือกหนึ่ง.

พระราชา. เราจักเอาช้างยืน ณ ที่ไหน?

พระเทวี. ยืน ณ ที่ใกล้ของพระผู้เป็นเจ้าชื่อว่าอังคุลิมาล.

พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษทำแล้วอย่างนั้น. ลูกช้างสอดหางเข้าในระหว่างขา ได้ปรบหูทั้งสอง หลับตายืนอยู่แล้ว. มหาชนแลดูช้างที่ทรงเศวตฉัตรเพื่อพระเถระเท่านั้น ด้วยคิดว่า "นี้เป็นอาการของช้างดุร้าย ชื่อเห็นปานนี้ (ท่าน) พระอังคุลิมาลเถระย่อมทำได้." พระราชาทรง อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยอาหารอันประณีตแล้ว

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 265

ถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งใดเป็นกัปปิยภัณฑ์หรือเป็นอกัปปิยภัณฑ์ ในโรงทานนี้ หม่อมฉันจักถวายสิ่งนั้นทั้งหมดแด่พระองค์เท่านั้น."

ทานที่พระนางมัลลิกาจัดชื่ออสทิสทาน

ก็ในทานนั้นแล ทรัพย์มีประมาณ ๑๔ โกฏิ เป็นอันพระราชาทรงบริจาคโดยวันเดียวเท่านั้น. ก็ของ ๔ อย่าง คือเศวตฉัตร ๑ บัลลังก์ สำหรับนั่ง ๑ เชิงบาตร ๑ ตั่งสำหรับเช็ดเท้า ๑ เป็นของหาค่ามิได้เทียว เพื่อพระศาสดา. ใครๆ ผู้สามารถเพื่อทำทานเห็นปานนี้แล้ว ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ได้มีแล้วอีก; เพราะเหตุนั้นนั่นแล ทานนั้นจึงปรากฏว่า "อสทิสทาน." ได้ยินว่า อสทิสทานนั้น มีแด่พระพุทธเจ้า ทุกๆ พระองค์ ครั้งเดียวเท่านั้น. สตรีเท่านั้นย่อมจัดแจง (ทาน) เพื่อ พระศาสดาและภิกษุทั้งปวง.

ลักษณะของคนดีคนชั่ว

ก็อำมาตย์ของพระราชาได้มีสองคน คือกาฬะ ๑ ชุณหะ ๑. บรรดาอำมาตย์สองคนนั้น กาฬอำมาตย์คิดว่า "โอ ความเสื่อมรอบแห่งราชตระกูล, ทรัพย์ประมาณ ๑๔ โกฏิ ถึงความสิ้นไปโดยวันเดียวเท่านั้น, ภิกษุเหล่านี้ บริโภคทานแล้วจักไปนอนหลับ; โอ ราชตระกูลฉิบหายแล้ว. " ส่วนชุณหอำมาตย์คิดว่า "โอ ทานของพระราชา, ก็ใครๆ ไม่ดำรงในความเป็นพระราชา ไม่อาจเพื่อถวายทานเห็นปานนี้ได้. พระราชา ชื่อว่าไม่ให้ส่วนบุญแก่สัตว์ทั้งปวงย่อมไม่มี; ก็เราอนุโมทนาทานนี้."

ในที่สุดภัตกิจแห่งพระศาสดา พระราชาทรงรับบาตรเพื่อต้องการอนุโมทนา. พระศาสดาทรงดำริว่า "พระราชาถวายมหาทาน เหมือน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 266

ให้ห้วงน้ำใหญ่เป็นไปอยู่. มหาชนได้อาจเพื่อยังจิตให้เลื่อมใสหรือไม่หนอ?" พระองค์ทรงทราบวาระจิตของอำมาตย์เหล่านั้นแล้ว ทรงทราบว่า ถ้าเราจักทำอนุโมทนาให้สมควรแก่ทานของพระราชาไซร้: ศีรษะ ของกาฬอำมาตย์จักแตก ๗ เสี่ยง, ชุณหอำมาตย์จักตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล" ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ในกาฬอำมาตย์ จึงตรัสพระคาถา ๔ บาทเท่านั้น แด่พระราชาผู้ทรงถวายทานเห็นปานนี้ ประทับยืนอยู่แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะไปสู่พระวิหาร.

ตรัสสรรเสริญพระอังคุลิมาล

ภิกษุทั้งหลาย ถามพระอังคุลิมาลเถระว่า "ผู้มีอายุ ท่านเห็นช้างดุร้ายยืนทรงฉัตร ไม่กลัวหรือหนอแล?"

พระอังคุลิมาล. ผู้มีอายุทั้งหลาย กระผมไม่กลัว.

ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอังคุลิมาล ย่อมพยากรณ์อรหัตตผล." พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย อังคุลิมาลย่อมไม่กลัว, เพราะว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เช่นกับบุตรของเรา เสมอด้วยโคผู้ตัวประเสริฐ ในระหว่างแห่งโคผู้คือพระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กลัว" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาในพราหมณวรรคว่า :-

"เรากล่าวบุคคลผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้ชนะโดยวิเศษ ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ล้างแล้ว ผู้ตรัสรู้แล้วนั้น ว่าเป็นพราหมณ์."

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 267

แม้พระราชา ถึงความโทมนัสว่า "พระศาสดาไม่ทรงทำอนุโมทนา ให้สมควรแก่เราผู้ถวายทานแล้วยืนอยู่ในท่ามกลางบริษัทเห็นปานนี้ ตรัสเพียงพระคาถาเท่านั้นแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะไป, เราจักเป็นอันไม่ทำทานให้สมควรแก่พระศาสดา ทำทานอันไม่สมควรเสียแล้ว, เราจักเป็นอันไม่ถวายกัปปิยภัณฑ์ ถวายแต่อกัปปิยภัณฑ์ถ่ายเดียวเสียแล้ว, เราพึงเป็นผู้อันพระศาสดาทรงขุ่นเคืองเสียแล้ว, การทำอนุโมทนาอันสมควรแก่ทาน ของผู้ใดผู้หนึ่งนั้นแล จึงควร "ดังนี้แล้ว จึงเสด็จไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ได้กราบทูลคำนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ควรจะถวาย หม่อมฉันมิได้ถวายแล้วหรือหนอ หรือหม่อมฉัน มิได้ถวายกัปปิยภัณฑ์อันสมควรแก่ทาน ถวายแต่อกัปปิยภัณฑ์เท่านั้น?"

พระศาสดา. นี่อย่างไร? มหาบพิตร.

พระราชา. พระองค์ไม่ทรงทำอนุโมทนา ที่สมควรแก่ทานของหม่อนฉัน.

พระศาสดา. มหาบพิตร พระองค์ถวายทานอันสมควรแล้วทีเดียว ก็ทานนั่นชื่อว่าอสทิสทาน, ใครๆ อาจเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ครั้งเดียวเท่านั้น, ธรรมดาทานเห็นปานนี้ เป็นของยากที่บุคคลจะถวายอีก.

พระราชา. เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ทรงทำอนุโมทนา ให้สมควรแก่ทานของหม่อมฉัน? พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เพราะบริษัทไม่บริสุทธิ์ มหาบพิตร.

พระราชา. โทษอะไรหนอแล ของบริษัท? พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 268

พระราชาทรงเนรเทศอำมาตย์ชั่ว

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสบอกวาระจิต ของอำมาตย์ทั้งสองคนแล้ว ตรัสบอกความที่อนุโมทนา เป็นอันพระองค์อาศัยความอนุเคราะห์ในกาฬอำมาตย์ จึงไม่ทรงทำแล้วแก่ท้าวเธอ. พระราชาตรัสถามว่า "กาฬะ ได้ยินว่า ท่านคิดอย่างนี้จริงหรือ?" เมื่อเขาทูลว่า "จริง" จึงตรัสว่า "เมื่อเราพร้อมกับบุตรภรรยาของเรา มิได้ถือเอาของมีอยู่ของท่าน ให้ของมีอยู่ของตน, เบียดเบียนอะไรท่าน? สิ่งใดที่เราให้แก่ท่านแล้ว สิ่งนั้นจงเป็นอันให้เลยทีเดียว; แต่ท่านจงออกไปจากแว่นแคว้นของเรา" ดังนี้แล้ว จึงทรงเนรเทศกาฬอำมาตย์นั้นออกจากแว่นแคว้น แล้วรับสั่งให้เรียกชุณหอำมาตย์มา ตรัสถามว่า "ได้ยินว่า ท่านคิดอย่างนี้ จริงหรือ?" เมื่อเขาทูลว่า "จริง " จึงตรัสว่า "ดีละ ลุง, เราเลื่อมใส (ขอบใจ), ท่านจงรับราชสมบัติของเราแล้ว ให้ทานสิ้น ๗ วัน โดยทำนองที่เราให้แล้วนั่นแล" ทรงมอบราชสมบัติแก่เขาสิ้น ๗ วันแล้ว จึงกราบทูลพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทอด พระเนตรการทำของคนพาล, เขาได้ให้ความลบหลู่ในทาน ที่หม่อมฉันถวายแล้วอย่างนี้."

คนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้

พระศาสดาตรัสว่า "อย่างนั้น มหาบพิตร, ขึ้นชื่อว่าพวกคนพาล ไม่ยินดีทานของผู้อื่น เป็นผู้มีทุคติเป็นที่ไป ณ เบื้องหน้า, ส่วนพวกนักปราชญ์อนุโมทนาทานแม้ของชนเหล่าอื่น จึงเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไป ณ เบื้องหน้าโดยแท้" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 269

๑๐. น เว กทริยา เทวโลกํ วชนฺติ

พาลา หเว นปฺปสํสนฺติ ทานํ

ธีโร จ ทานํ อนุโมทมาโน

เตเนว โส โหติ สุขี ปรตฺถ.

"พวกคนตระหนี่จะไปสู่เทวโลกไม่ได้เลย,

พวกคนพาลแล ย่อมไม่สรรเสริญทาน, ส่วนนักปราชญ์

อนุโมทนาทานอยู่ เพราะเหตุนั้นนั่นเอง นักปราชญ์นั้น

จึงเป็นผู้มีสุขในโลกหน้า."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กทริยา คือผู้มีความตระหนี่เหนียวแน่น. ผู้ไม่รู้จักประโยชน์โนโลกนี้และโลกหน้า ชื่อว่าพวกพาล บัณฑิตชื่อว่า ธีรชน, สองบทว่า สุขี ปรตฺถ ความว่า ธีรชนนั้น เมื่อเสวย ทิพยสมบัติ ชื่อว่าเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า เพราะบุญอันสำเร็จแต่การอนุโมทนาทานนั้นนั่นเอง.

ในเวลาจบเทศนา ชุณหอำมาตย์ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว. ชุณหอำมาตย์ ครั้นเป็น พระโสดาบันแล้ว ได้ถวายทานโดยทำนองที่พระราชาถวายแล้วสิ้น ๗ วัน เหมือนกัน ดังนี้แล.

เรื่องอสทิสทาน จบ.