พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. เรื่องระงับความทะเลาะแห่งหมู่พระญาติ [๑๕๗]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  34953
อ่าน  449

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 362

๑๕. สุขวรรควรรณนา

๑. เรื่องระงับความทะเลาะแห่งหมู่พระญาติ [๑๕๗]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 362

๑๕. สุขวรรควรรณนา

๑. เรื่องระงับความทะเลาะแห่งหมู่พระญาติ [๑๕๗]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในแคว้นของชาวสักกะ ทรงปรารภหมู่พระญาติ เพื่อระงับความทะเลาะ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สุสุขํ วต" เป็นต้น.

ความวิวาทเกิดเพราะแย่งน้ำ

ดังได้ยินมาว่า พวกเจ้าศากยะและพวกเจ้าโกลิยะ ให้กั้นแม่น้ำชื่อ ว่าโรหิณี ด้วยทำนบอันเดียวกัน ในระหว่างนครกบิลพัสดุ์กับนครโกลิยะ แล้วให้ทำข้าวกล้า. ถึงต้นเดือนเชฏฐมาส (๑) เมื่อข้าวกล้าเหี่ยว, พวกกรรมกรแม้ของชาวนครทั้งสองประชุมกัน. ในชาวนครทั้งสองนั้นชาวนครโกลิยะ กล่าวว่า "น้ำนี้ เมื่อถูกพวกเรานำไปแต่ข้างทั้งสองจักไม่พอแก่พวกท่าน, เมื่อถูกพวกท่านนำไปแต่ข้างทั้งสอง, ก็จักไม่พอแก่พวกข้าพเจ้า; แต่ข้าวกล้าของพวกข้าพเจ้า จักสำเร็จด้วยน้ำคราวเดียวเท่านั้น, พวกท่านจงให้น้ำนี้แก่พวกข้าพเจ้าเถิด." ฝ่ายพวกชาวศากยะนอกนี้ กล่าวอย่างนี้ว่า "เมื่อพวกท่านทำฉางให้เต็มตั้งไว้แล้ว พวกข้าพเจ้าจักไม่อาจถือเอาทอง มีสีสุก แก้วสีเขียว แก้วสีดำและกหาปณะ แล้วมีกระเช้าและกระสอบ เป็นต้นในมือเที่ยวไปที่ประตูเรือนของพวกท่าน, ข้าวกล้าแม้ของพวก


๑. เดือนมิถุนายน เดือน ๗.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 363

ข้าพเจ้า ก็จักสำเร็จด้วยน้ำคราวเดียวเหมือนกัน, พวกท่านจงให้น้ำนี้แก่พวกข้าพเจ้าเถิด."

โกลิยะ. พวกข้าพเจ้าจักไม่ให้.

ศากยะ. แม้พวกข้าพเจ้าก็จักไม่ให้.

ชาวเมืองทั้งสอง ยังถ้อยคำให้เจริญขึ้นอย่างนั้นแล้ว ประหารซึ่งกัน และกันอย่างนี้ คือคนหนึ่งลุกขึ้นแล้วได้ให้ประหารแก่คนหนึ่ง, แม้ชนผู้ถูกประหารนั้น ก็ได้ให้ประหารแม้แก่ชนอื่น กระทบกระทั่งถึงชาติแห่งราชตระกูลทั้งหลาย ก่อความทะเลาะให้เจริญขึ้นแล้ว. พวกกรรมกรชาวโกลิยะกล่าวว่า "พวกเจ้าจงพาเด็กชาวเมืองกบิลพัสดุ์ไปเสียเถิด, ชนเหล่าใด อยู่ร่วมกับพวกพี่สาวน้องสาวของตนๆ เหมือนสุนัขบ้านและสุนัข จิ้งจอกเป็นต้น; ช้าง ม้า โล่และอาวุธทั้งหลายของชนเหล่านั้นจักทำอะไร แก่พวกข้าพเจ้าได้."

ฝ่ายพวกกรรมกรชาวศากยะกล่าวว่า "บัดนี้ พวกเจ้าจงพาพวกเด็กขี้เรื้อนไปเสียเถิด, ชนเหล่าใด ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีคติ อยู่ที่ต้นกระเบา ดุจสัตว์ดิรัจฉาน; ช้าง ม้า โล่และอาวุธของชนเหล่านั้นจักทำอะไรแก่พวกข้าพเจ้าได้." ชนเหล่านั้น ไปบอกแก่พวกอำมาตย์ผู้ประกอบในกรรมนั้น. พวกอำมาตย์ทูลแก่ราชตระกูลทั้งหลาย.

ลำดับนั้น เจ้าศากยะทั้งหลายคิดว่า "พวกเราจักแสดงเรี่ยวแรง และกำลัง ของเหล่าชนผู้อยู่ร่วมกับพวกพี่สาวน้องสาว" แล้วตระเตรียม การยุทธ์ ออกไปแล้ว. ฝ่ายเจ้าโกลิยะทั้งหลายคิดว่า "พวกเราจักสำแดง เรี่ยวแรงและกำลังของเหล่าชนผู้อยู่ที่ต้นกระเบา" ดังนี้แล้ว ตระเตรียมการยุทธ์ ออกไปแล้ว.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 364

พระศาสดาเสด็จห้ามพระญาติ

แม้พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ทอดพระเนตรเห็นหมู่พระญาติแล้ว ทรงดำริว่า "เมื่อเราไม่ไป, พวกญาติเหล่านี้จักฉิบหาย, การที่เราไปก็ควร" ดังนี้แล้ว จึงเสด็จทางอากาศพระองค์เดียวเท่านั้น ประทับนั่งโดยบัลลังก์ในอากาศ ณ ท่ามกลางแม่น้ำโรหิณี. พระญาติทั้งหลาย เห็นพระศาสดาแล้วทิ้งอาวุธ ถวายบังคม. ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะพระญาติเหล่านั้นว่า "มหาบพิตร นี่ชื่อว่าทะเลาะอะไรกัน?"

พวกพระญาติ. พวกข้าพระองค์ ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. บัดนี้ ใครจักทราบเล่า?

พระญาติเหล่านั้น ถามตลอดถึงพวกทาสและกรรมกร โดยอุบายนี้ ว่า "อุปราช จักทราบ, เสนาบดี จักทราบ" เป็นต้น แล้วกราบทูลว่า "ทะเลาะกันเพราะน้ำ พระเจ้าข้า."

พระศาสดา. น้ำตีราคาเท่าไร? มหาบพิตร.

พวกพระญาติ. มีราคาน้อย พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. กษัตริย์ทั้งหลาย ราคาเท่าไร?

พวกพระญาติ. ขึ้นชื่อว่า กษัตริย์ทั้งหลาย หาค่ามิได้ พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. ก็การที่ท่านทั้งหลาย ยังพวกกษัตริย์ซึ่งหาค่ามิได้ให้ฉิบหาย เพราะอาศัยน้ำ ซึ่งมีประมาณน้อย ควรแล้วหรือ?

พระญาติเหล่านั้น ได้นิ่งแล้ว. ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเตือน พระญาติเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "มหาบพิตร เพราะเหตุไร? พวกท่าน จึงกระทำกรรมเห็นปานนี้, เมื่อเราไม่มีอยู่, ในวันนี้ แม่น้ำคือโลหิตจักไหลนอง, ท่านทั้งหลาย ทำกรรมไม่สมควรแล้ว, ท่านทั้งหลาย เป็นผู้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 365

มีเวรด้วยเวร ๕ อยู่, เราไม่มีเวรอยู่; ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีความเดือดร้อนด้วยกิเลสอยู่, เราไม่มีความเดือดร้อนอยู่; ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีความ ขวนขวายในอันแสวงหากามคุณอยู่, เราไม่มีความขวนขวายอยู่" แล้วได้ ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

๑. สุสุขํ วต ชีวาม เวริเนสุ อเวริโน

เวริเนสุ มนุสฺเสสุ วิหราม อเวริโน.

สุสุขํ วต ชีวาม อาตุเรสุ อนาตุรา

อาตุเรสุ มนุสฺเสสุ วิหราม อนาตุรา.

สุสุขํ วต ชีวาม อุสฺสุเกสุ อนุสฺสุกา

อุสฺสุเกสุ มนุสฺเสสุ วิหราม อนุสฺสุกา.

"ในมนุษย์ทั้งหลายผู้มีเวรกัน พวกเราไม่มีเวร เป็นอยู่สบายดีหนอ, ในมนุษย์ทั้งหลายผู้มีเวรกัน พวกเราไม่มีเวรอยู่, ในมนุษย์ทั้งหลายผู้มีความเดือดร้อนกัน พวกเราไม่มีความเดือดร้อน เป็นอยู่สบายดีหนอ, ในมนุษย์ทั้งหลายผู้มีความเดือดร้อนกัน พวกเราไม่มีความเดือดร้อนอยู่. ในมนุษย์ทั้งหลายผู้ขวนขวายกัน พวกเราไม่มีความขวนขวาย เป็นอยู่สบายดีหนอ, ในมนุษย์ทั้งหลายผู้มีความ ขวนขวายกัน พวกเราไม่มีความขวนขวายอยู่."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุสุขํ ได้แก่ สบายดี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำอธิบายนี้ไว้ว่า "ในมนุษย์ทั้งหลายผู้มีเวรกัน ด้วยเวร ๕ พวก

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 366

เราไม่มีเวร ในมนุษย์ทั้งหลายผู้มีความเดือดร้อนด้วยกิเลส (พวกเรา) ชื่อว่าไม่มีความเดือดร้อนเพราะความเป็นผู้ไม่มีกิเลส ในมนุษย์ทั้งหลายผู้มีความขวนขวายในอันแสวงหากามคุณ ๕ (พวกเรา) ชื่อว่าไม่มีความขวนขวาย เพราะไม่มีการแสวงหานั้น จึงเป็นอยู่สบายดี กว่าพวกคฤหัสถ์ ผู้ยังความเป็นไปแห่งชีวิตให้บังเกิดขึ้น ด้วยสามารถแห่งการตัดที่ต่อเป็นต้น หรือกว่าพวกบรรพชิต ผู้ยังความเป็นไปแห่งชีวิตให้บังเกิดขึ้น ด้วยสามารถแห่งเวชกรรมเป็นต้นแล้ว กล่าวว่า เราเป็นอยู่โดยความสบาย บทที่เหลือมีอรรถอันง่ายทั้งนั้น.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องระงับความทะเลาะแห่งหมู่พระญาติ จบ.