พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. เรื่องกุฎุมพีคนใดคนหนึ่ง [๑๖๖]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  34963
อ่าน  640

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 397

๒. เรื่องกุฎมพีคนใดคนหนึ่ง [๑๖๖]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 397

๒. เรื่องกุฎุมพีคนใดคนหนึ่ง [๑๖๖]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภกุฎุมพีคนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้วา "ปิยโต ชายตี (๑) " เป็นต้น.

พระศาสดาเสด็จไประงับความโศกของพราหมณ์

ความพิสดารว่า กุฏุมพีนั้น ครั้นบุตรของตนทำกาละแล้ว, อันความโศกถึงบุตรครอบงำ ไปสู่ป่าช้า ร้องไห้อยู่, ไม่อาจที่จะหักห้าม ความโศกถึงบุตรได้.

พระศาสดาทรงพิจารณาดูสัตวโลก ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัย โสดาปัตติมรรคของกุฎุมพีนั้น กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ทรงพาภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะรูปหนึ่ง เสด็จไปประตูเรือนของกุฎุมพีนั้น กุฎุมพีนั้นได้ฟังความที่พระศาสดาเสด็จมา คิดว่า "พระศาสดาจักทรงประสงค์เพื่อทำปฏิสันถารกับด้วยเรา" จึงอัญเชิญพระศาสดาให้เสด็จไปสู่เรือน ปูอาสนะไว้ในท่ามกลางเรือน เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้ว, ก็มาถวายบังคมแล้วนั่ง ส่วนข้างหนึ่ง.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามกุฎุมพีนั้นว่า "อุบาสก ท่านต้องทุกข์เพราะเหตุอะไรหนอแล?" เมื่อกุฎุมพีนั้น กราบทูลทุกข์เพราะพลัดพรากจากบุตรแล้ว, ตรัสว่า "อย่าคิดเลย อุบาสก, ชื่อว่าความตายนี้ มิใช่มีอยู่ในที่เดียว, และมิใช่มีจำเพาะแก่บุคคลผู้เดียว, ก็ชื่อว่าความเป็นไปแห่งภพ ยังมีอยู่เพียงใด, ความตายก็ย่อมมีแก่สรรพสัตว์เพียงนั้นเหมือนกัน; แม้สังขารอันหนึ่ง ที่ชื่อว่าเที่ยงย่อมไม่มี; เพราะเหตุนั้น


๑. โบราณว่า ชายเต.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 398

ท่านพึงพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายว่า ธรรมชาติมีความตายเป็นธรรมดา ตายเสียแล้ว, ธรรมชาติมีความแตกเป็นธรรมดา แตกเสียแล้ว, ไม่พึงเศร้าโศก; เพราะว่าโบราณกบัณฑิตทั้งหลาย ในกาลที่ลูกรักตายแล้ว พิจารณาว่า ธรรมชาติมีความตายเป็นธรรมดา ตายเสียแล้ว, ธรรมชาติ มีความแตกเป็นธรรมดา แตกเสียแล้ว ่ ดังนี้แล้ว ไม่ทำความเศร้าโศก เจริญมรณัสสติอย่างเดียว" อันกุฎุมพีทูลอ้อนวอนว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัณฑิตพวกไหน ได้ทำแล้วอย่างนั้น; และได้ทำในกาลไร? ขอพระองค์จงตรัสบอกแก่ข้าพระองค์" เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงทรงนำอดีตนิทานมา ยังอุรคชาดก (๑) ในปัญจกนิบาตนี้ให้พิสดารว่า :-

"บุตรของเรา เมื่อสรีระใช้ไม่ได้ ละสรีระของ

ตนไป ดุจงูลอกคราบเก่าฉะนั้น, เมื่อบุตรของเราตาย

จากไปแล้ว, เขาถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้ปริเทวนาการ

ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกถึงบุตร

นั่น; เขามีคติเช่นใด ก็ไปสู่คติเช่นนั้น (เอง) "

ดังนี้แล้ว จึงตรัส (ต่อไปอีก) ว่า "บัณฑิตในกาลก่อนเมื่อลูกรักทำกาละ แล้วอย่างนั้น, ไม่ประพฤติอย่างท่าน ผู้ทอดทิ้งการงานแล้วอดอาหาร เที่ยวร้องไห้อยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ทำความโศก ด้วยอำนาจมรณัสสติภาวนา รับประทานอาหาร และอธิษฐาน (ตั้งใจทำ) การงาน, เพราะฉะนั้น ท่านอย่าคิดว่า ลูกรักของเรากระทำกาละแล้ว, แท้จริง ความโศกก็ดี ภัยก็ดี เมื่อจะเกิดย่อมอาศัยของที่รักนั่นเองเกิด" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-


๑. ขุ. ชา. อรรถกถา. ๔/๔๓๐.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 399

๒. ปิยโต ชายตี โสโก ปิยโต ชายตี ภยํ

ปิยโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ.

"ความโศกย่อมเกิดแต่ของที่รัก, ภัย ย่อมเกิด

แต่ของที่รัก; ความโศก ย่อมไม่มีแก่ผู้ปลดเปลื้อง

ได้จากของที่รัก, ภัยจักมีแต่ไหน."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิยโต เป็นต้น ความว่า ก็ความโศกก็ดี ภัยก็ดี อันมีวัฏฏะเป็นมูล เมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมอาศัยสัตว์หรือสังขาร อันเป็นที่รักเท่านั้นเกิด, แต่ความโศกและภัยแม้ทั้งสองนั่นย่อมไม่มีแก่ผู้ปลดเปลื้องจากสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักนั้นได้แล้ว.

ในกาลจบเทศนา กุฎุมพีตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล. เทศนาได้มีประโยชน์แก่ชนผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องกุฎุมพีคนใดคนหนึ่ง จบ.