พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง [๑๗๐]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  34967
อ่าน  433

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 409

๖. เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง [๑๗๐]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 409

๖. เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง [๑๗๐]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ตณฺหาย ชายตี" เป็นต้น.

พระศาสดาเสด็จไปหาพราหมณ์ผู้มิจฉาทิฏฐิ

ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ วันหนึ่งไปสู่ฝั่งแม่น้ำแล้ว ถางนาอยู่. พระศาสดาทรงเห็นความถึงพร้อมแห่งอุปนิสัยของเขา จึงได้เสด็จไปสู่สำนักของเขา. เขาแม้เห็นพระศาสดา ก็ไม่ทำสามีจิกรรมเลย ได้นิ่งเสีย.

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสทักเขาก่อนว่า "พราหมณ์ ท่านกำลัง ทำอะไร?"

พราหมณ์. พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ากำลังแผ้วถางนาอยู่.

พระศาสดาตรัสเพียงเท่านั้นแล้วก็เสด็จไป แม้ในวันรุ่งขึ้น พระศาสดาเสด็จไปสำนักของเขา ผู้มาแล้วเพื่อจะไถนา ตรัสถามว่า "พราหมณ์ ท่านทำอะไรอยู่?" ทรงสดับว่า "พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ากำลังไถนา" ดังนี้แล้ว ก็เสด็จหลีกไป แม้ในวันต่อมาเป็นต้น พระศาสดาก็เสด็จไปตรัสถามเหมือนอย่างนั้น ทรงสดับว่า "พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ากำลังหว่าน กำลังไขน้ำ กำลังรักษานา" ดังนี้แล้ว ก็เสด็จหลีกไป.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 410

พราหมณ์นับถือพระองค์ดุจสหาย

ครั้นในวันหนึ่ง พราหมณ์กราบทูลพระองค์ว่า "พระโคดมผู้เจริญ ท่านมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ข้าพเจ้าแผ้วถางนา, ถ้าข้าวกล้าของข้าพเจ้าจักเผล็ดผล, ข้าพเจ้าจักแบ่งปันแก่ท่านบ้าง, ยังไม่ให้ท่าน ข้าพเจ้าเองก็จักไม่เคี้ยวกิน; ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ท่านเป็นสหายของเรา."

ข้าวกล้าเสียหาย

ครั้นโดยสมัยอื่นอีก ข้าวกล้าของพราหมณ์นั้นเผล็ดผลแล้ว. เมื่อพราหมณ์นั้นทำกิจทั้งปวงเพื่อการเกี่ยว ด้วยตั้งใจว่า "ข้าวกล้าของเรา เผล็ดผลแล้ว, เราจักให้เกี่ยวตั้งแต่พรุ่งนี้ไป" มหาเมฆยังฝนให้ตกตลอดคืน พาเอาข้าวกล้าไปหมด. นาได้เป็นเช่นกับที่อันเขาถางเอาไว้.

พราหมณ์เสียใจเพราะทำนาไม่ได้ผล

ก็พระศาสดา ได้ทรงทราบแล้วในวันแรกทีเดียวว่า "ข้าวกล้านั้น จักไม่เผล็ดผล." พราหมณ์ไปแล้วแต่เช้าตรู่ ด้วยคิดว่า "เราจักตรวจดูข้าวกล้า" เห็นแต่นาเปล่า เกิดความโศกเป็นกำลังจึงคิดว่า "พระสมณโคดมมาสู่นาของเรา ตั้งแต่คราวที่แผ้วถางนา, แม้เราก็ได้กล่าว กะท่านว่า " เมื่อข้าวกล้าเผล็ดผลแล้ว จักแบ่งส่วนให้แก่ท่านบ้าง, ยังไม่ให้ท่านแล้วเราเองก็จักไม่เคี้ยวกิน, ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ท่านเป็นสหาย ของเรา, ความปรารถนาในใจของเราแม้นั้น ไม่ถึงที่สุดเสียแล้ว." พราหมณ์นั้นทำการอดอาหาร นอนบนเตียงน้อยแล้ว.

พระศาสดาเสด็จไปตรัสถามข่าวพราหมณ์

ลำดับนั้น พระศาสดาได้เสด็จไปสู่ประตูเรือนของพราหมณ์นั้น.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 411

พราหมณ์นั้น ทราบการเสด็จมาของพระศาสดา จึงสั่ง (ชนผู้เป็นบริวาร) ว่า "พวกเธอจงนำสหายของเรามาแล้ว ให้นั่งที่นี้." ชนผู้เป็นบริวารได้ทำอย่างนั้นแล้ว. พระศาสดาประทับนั่งแล้ว ตรัสถามว่า "พราหมณ์ ไปไหน?" เมื่อเขากราบทูลว่า "นอนในห้อง," ก็รับสั่งหาด้วยพุทธดำรัสว่า "พวกเธอ จงเรียกพราหมณ์นั้นมา," แล้วตรัสกะพราหมณ์ผู้มานั่ง แล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่งว่า "เป็นอะไร? พราหมณ์."

พราหมณ์. พระโคดมผู้เจริญ ท่านมาสู่นาของข้าพเจ้าตั้งแต่วันที่แผ้วถาง, แม้ข้าพเจ้าก็ได้พูดไว้ว่า เมื่อข้าวกล้าเผล็ดผลแล้ว จักแบ่งส่วน ถวายท่านบ้าง, ความปรารถนาในใจของข้าพเจ้าไม่สำเร็จเสียแล้ว; เพราะเหตุนั้น ความโศกจึงเกิดแล้วแก่ข้าพเจ้า, แม้ภัตข้าพเจ้าก็ไม่หิว."

ตรัสเหตุแห่งความโศกและอุบายระงับความโศก

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามพราหมณ์นั้นว่า "พราหมณ์ ก็ท่านรู้ไหมว่า ความโศกเกิดแล้วแก่ท่าน เพราะอาศัยอะไร?" เมื่อพราหมณ์ กราบทูลว่า "พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่ทราบ, ก็ท่านทราบหรือ?" จึงตรัสว่า "อย่างนั้น พราหมณ์ ความจริง ความโศกก็ดี ภัยก็ดี เมื่อจะเกิด ย่อมอาศัยตัณหาเกิดขึ้น "ดังนี้ แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๖. ตณฺหาย ชายตี โสโก ตณฺหาย ชายตี ภยํ

ตณฺหาย วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ.

"ความโศก ย่อมเกิดเพราะตัณหา, ภัยย่อมเกิด

เพราะตัณหา; ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษ

แล้วจากตัณหา, ภัยจักมีแต่ไหน."

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 412

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตณฺหาย ได้แก่ ตัณหาอันเป็นไปในทวาร ๖. อธิบายว่า ความโศกเป็นต้น ย่อมอาศัยตัณหานั่นเกิดขึ้น.

ในกาลจบเทศนา พราหมณ์ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล ดังนี้แล.

เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง จบ.