พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. เรื่องนายนันทิยะ [๑๗๓]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  34970
อ่าน  535

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 419

๙. เรื่องนายนันทิยะ [๑๗๓]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 419

๙. เรื่องนายนันทิยะ [๑๗๓]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในป่าอิสิปตนะ ทรงปรารภนายนันทิยะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "จิรปฺปวาสึ" เป็นต้น.

นันทิยะเป็นอนุชาตบุตร

ได้ยินว่า ในกรุงพาราณสี ได้มีบุตรแห่งตระกูลซึ่งถึงพร้อมด้วยศรัทธาคนหนึ่งชื่อนันทิยะ, เขาได้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศรัทธาบำรุงสงฆ์แท้ อนุรูปแก่มารดาบิดาเทียว. ครั้นในเวลาที่เขาเจริญวัยมารดาบิดาได้มีความจำนงจะนำธิดาของลุงชื่อว่าเรวดี มาจากเรือนอันตรงกันข้าม. แต่นางเป็นคนไม่มีศรัทธา ไม่มีการให้ปั่นเป็นปกติ, นายนันทิยะจึงไม่ปรารถนานาง.

ลำดับนั้น มารดาของเขากล่าวกะนางเรวดีว่า "แม่ เจ้าจงฉาบทาสถานที่นั่นของภิกษุสงฆ์ แล้วปูลาดอาสนะไว้ในเรือนนี้, จงตั้งเชิงบาตรไว้. ในเวลาภิกษุทั้งหลายมาแล้ว จงรับบาตร นิมนต์ให้นั่ง เอาธมกรกกรองน้ำฉันถวาย แล้วล้างบาตรในเวลาฉันเสร็จ; เมื่อเจ้าทำได้อย่างนี้ ก็จักเป็นที่พึ่งใจแก่บุตรของเรา." นางได้ทำอย่างนั้นแล้ว. ต่อมามารดาบิดาเล่าถึงความประพฤติของนางนั้นแก่บุตร ว่า "นางเป็นผู้อดทนต่อโอวาท" เมื่อเขารับว่า "ดีละ" จึงกำหนดวันแล้ว ทำอาวาหมงคล.

ลำดับนั้น นายนันทิยะกล่าวกะนางว่า "ถ้าเธอจักบำรุงภิกษุสงฆ์ และมารดาของฉัน, เป็นเช่นนี้ เธอก็จักได้พัสดุในเรือนนี้, จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด." นางรับว่า "ดีละ" แล้วทำทีเป็นผู้มีศรัทธาบำรุงอยู่ ๒ - ๓

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 420

วัน จนคลอดบุตร ๒ คน. มารดาบิดาแม้ของนายนันทิยะ ได้ทำกาละแล้ว. ความเป็นใหญ่ทั้งหมดในเรือน ก็ตกอยู่แก่นางเรวดีนั้นคนเดียว.

นันทิยะดำรงตำแหน่งทานบดี

จำเดิมแต่มารดาบิดาทำกาละ แม้นายนันทิยะก็เป็นมหาทานบดี เตรียมตั้งทานสำหรับภิกษุสงฆ์. และเริ่มตั้งค่าอาหารแม้สำหรับคนกำพร้า และคนเดินทางเป็นต้น ไว้ที่ประตูเรือน. ในกาลต่อมา เขาฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา กำหนดอานิสงส์ในการถวายอาวาสได้แล้ว ให้ทำศาลา ๔ มุข ประดับด้วยห้อง ๔ ห้อง ในมหาวิหารในป่าอิสิปตนะแล้ว ให้ลาคเตียงและตั่งเป็นต้น เมื่อจะมอบถวายอาวาสนั้น ได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วถวายน้ำทักขิโณทก แด่พระตถาคต. ปราสาททิพย์สำเร็จโดยรัตนะ ๗ ประการ สมบูรณ์ด้วยหมู่นารี มีประมาณ ๑๒ โยชน์ในทิศทั้งปวง เบื้องบนสูงประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ผุดขึ้นในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยการตั้งน้ำทักขิโณทก ในพระหัตถ์ของพระศาสดาทีเดียว.

พระมหาโมคคัลลานะไปเยี่ยมสวรรค์

ภายหลังวันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระไปสู่ที่จาริกในเทวโลก ยืนอยู่แล้วในที่ไม่ไกลจากปราสาทนั้น ถามเทวบุตรทั้งหลายซึ่งมาสู่สำนักของตนว่า "ปราสาททิพย์ เต็มด้วยหมู่นางอัปสรนั่น เกิดแล้วเพื่อใคร."

ลำดับนั้น พวกเทวบุตรนั้นเมื่อจะบอกเจ้าของวิมานแก่พระเถระนั้น จึงกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ วิมานั่นเกิดแล้วเพื่อประโยชน์แก่บุตรคฤหบดี ชื่อนันทิยะ ผู้สร้างวิหารถวายพระศาสดา ในป่าอิสิปตนะ." ฝ่ายหมู่นางอัปสร เห็นพระเถระนั้นแล้ว ลงจากปราสาทกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ พวก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 421

ดิฉันเกิดในที่นี้ ด้วยหวังว่า "จักเป็นนางบำเรอของนายนันทิยะ" แต่เมื่อไม่พบเห็นนายนันทิยะนั้น เป็นผู้ระอาเหลือเกิน; ด้วยว่าการละมนุษยสมบัติ แล้วถือเอาทิพยสมบัติ ก็เช่นกับการทำลายถาดดินแล้วถือเอาถาดทองคำฉะนั้น, พระผู้เป็นเจ้าพึงบอกเขา เพื่อประโยชน์แก่การมา ณ ที่นี้."

ทิพยสมบัติเกิดรอผู้ทำบุญ

พระเถระกลับมาจากเทวโลกนั้นแล้ว เขาไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามว่า "พระเจ้าข้า ทิพยสมบัติย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ทำความดีที่ยังอยู่มนุษย์โลกนี่เอง หรือหนอแล?"

พระศาสดา. โมคคัลลานะ ทิพยสมบัติที่เกิดแล้วแก่นายนันทิยะในเทวโลก อันเธอเห็นแล้วเองมิใช่หรือ? ไฉนจึงถามเราเล่า?

โมคคัลลานะ. ทิพยสมบัติเกิดได้อย่างนั้นหรือ? พระเจ้าข้า.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพระเถระนั้นว่า โมคคัลลานะ เธอพูดอะไรนั่น? เหมือนอย่างว่า ใครๆ ยืนอยู่ที่ประตูเรือน เห็นบุตรพี่น้อง ผู้ไปอยู่ต่างถิ่นมานาน (กลับ) มาแต่ถิ่นที่จากไปอยู่ พึงมาสู่เรือนโดยเร็ว บอกว่า คนชื่อโน้น มาแล้ว, เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกญาติของเขาก็ยินดีร่าเริงแล้ว ออกมาโดยขมีขมัน พึงยินดียิ่งกะผู้นั้นว่า พ่อ มา แล้ว พ่อ มาแล้ว ฉันใด; เหล่าเทวดา (ต่าง) ถือเอาเครื่องบรรณาการ อันเป็นทิพย์ ๑๐ อย่างต้อนรับด้วยคิดว่า เราก่อน เราก่อน แล้วย่อมยินดียิ่งกะสตรีหรือบุรุษ ผู้ทำความดีไว้ในโลกนี้ ซึ่งละโลกนี้แล้วไปสู่โลกหน้าฉันนั้นเหมือนกัน ดังนี้แล้ว "ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

๙. จิรปฺปวาสึ ปุริสํ ทูรโต โสตฺถิมาคตํ

าตี มิตฺตา สุหชฺชา จ อภินนฺทนฺติ อาคตํ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 422

ตเถว กตปุญฺญมฺปิ อสฺมา โลกา ปรํ คตํ

ปุญฺานิ ปฏิคณฺหนฺติ ปิยํ าตีว อาคตํ.

"ญาติ มิตร และคนมีใจดีทั้งหลาย เห็นบุรุษผู้

ไปอยู่ต่างถิ่นมานาน มาแล้วแต่ที่ไกลโดยสวัสดี

ย่อมยินดียิ่งว่า 'มาแล้ว' ฉันใด, บุญทั้งหลายก็ย่อม

ต้อนรับแม้บุคคลผู้กระทำบุญไว้ ซึ่งไปจากโลกนี้สู่

โลกหน้า ดุจพวกญาติเห็นญาติที่รักมาแล้ว

ต้อนรับ อยู่ ฉันนั้นแล"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิรปฺปวาสึ คือจากไปแล้วนาน,

บาทพระคาถาว่า ทูรโต โสตฺถิมาคตํ ความว่า ผู้ได้ลาภคือมีสมบัติอันสำเร็จแล้วเพราะทำพาณิชยกรรม หรือเพราะทำหน้าที่ราชบุรุษมาแล้วแต่ที่ไกล ไม่มีอุปัทวะ.

บาทพระคาถาว่า าตี มิตฺตา สุหชฺชา จ ความว่า เหล่าชน ที่ชื่อว่าญาติ เพราะสามารถเกี่ยวเนื่องกันด้วยตระกูล และชื่อว่ามิตร เพราะภาวะมีเคยเห็นกันเป็นต้น แล้วชื่อว่ามีใจดี เพราะความเป็นผู้มีหทัยดี.

บาทพระคาถาว่า อภินนฺทนฺติ อาคตํ ความว่า ญาติเป็นต้น เห็นเขาแล้ว ย่อมยินดียิ่ง ด้วยอาการเพียงแต่พูดว่า มาดีแล้ว หรือด้วยอาการเพียงทำอัญชลี, อนึ่ง ย่อมยินดียิ่งกะเขาผู้มาถึงเรือนแล้ว ด้วยสามารถนำไปเฉพาะซึ่งบรรณาการมีประการต่างๆ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 423

บทว่า ตเถว เป็นต้น ความว่า บุญทั้งหลาย ตั้งอยู่ในฐานะ ดุจมารดาบิดา นำเครื่องบรรณาการ ๑๐ อย่างนี้คือ "อายุ วรรณะ สุข ยศ ความเป็นอธิบดีอันเป็นทิพย์; รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นทิพย์ เพลินยิ่งอยู่ ชื่อว่าย่อมรับรองบุคคลแม้ผู้ทำบุญไว้แล้ว ซึ่งไปจากโลกนี้สู่โลกหน้า ด้วยเหตุนั้นนั่นแล.

สองบทว่า ปิยํ าตีว ความว่า ดุจพวกญาติที่เหลือ เห็นญาติที่รักมาแล้ว รับรองอยู่ในโลกนี้ฉะนั้น.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องนายนันทิยะ จบ.

ปิยวรรควรรณนา จบ.

วรรคที่ ๑๖ จบ.