๒. เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง [๑๗๕]
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 432
๒. เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง [๑๗๕]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 432
๒. เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง [๑๗๕]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ ทรงปรารภภิกษุรูปใด รูปหนึ่ง (๑) ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย เว อุปฺปติตํ โกธํ" เป็นต้น.
ภิกษุตัดต้นไม้ที่เทวดาสิงอยู่
ความพิสดารว่า เมื่อพระศาสดาทรงอนุญาตเสนาสนะแก่ภิกษุสงฆ์ แล้ว (๒). (และ) เมื่อเสนาสนะทั้งหลาย อันคฤหัสถ์ทั้งหลายมีเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์เป็นต้น กำลังให้สร้าง, ภิกษุชาวเมืองอาฬวีรูปหนึ่ง สร้างเสนาสนะของตนอยู่ เห็นต้นไม้ที่พอใจต้นหนึ่งแล้ว เริ่มจะตัด ก็เทพดามีลูกอ่อนองค์หนึ่งเกิดที่ต้นไม้นั้น อุ้มบุตรด้วยสะเอว ยืนอ้อนวอนว่า "พระคุณเจ้า ขอท่านอย่าตัดวิมานของข้าพเจ้าเลย, ข้าพเจ้าไม่มีที่อยู่ ไม่อาจอุ้มบุตรเที่ยวเร่ร่อนไปได้."
ภิกษุนั้นคิดว่า "เราจักไม่ได้ต้นไม้เช่นนี้ในที่อื่น" จึงไม่เอื้อเฟื้อ คำพูดของเทวดานั้น.
เทวดานั้นคิดว่า "ภิกษุนี้ เห็นทารกนี้แล้วจักงดเป็นแท้" จึงวางบุตรไว้บนกิ่งไม้. ฝ่ายภิกษุนั้นไม่อาจยั้งขวานที่ตนเงื้อขึ้นแล้วได้ จึงตัดแขนทารกนั้นขาดแล้ว เทพดาเกิดความโกรธมีกำลัง ยกมือทั้งสอง ขึ้นด้วยเจตนาว่า "จะฟาดภิกษุรูปนั้นให้ตาย" แต่พลันคิดได้อย่างนี้ว่า "ภิกษุนี้เป็นผู้มีศีล ถ้าเราจักฆ่าภิกษุนี้เสีย ก็จักเป็นผู้ไปนรก; แม้เทพธิดาที่เหลือ ได้พบภิกษุตัดต้นไม้ของตน จักถือเอาเป็นประมาณบ้าง
๑. น่าจะปรารภเทพดา เพราะเป็นเรื่องของเทพดาได้ทำและเข้าเฝ้าเอง. ๒. ก่อนอนุญาตเสนาสนะ ผู้บวชแล้วต้องอยู่โคนไม้หรือถ้ำเขา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 433
ว่า เทพดาองค์โน้นฆ่าภิกษุเสีย ก็อย่างนี้เหมือนกัน แล้วจักฆ่าภิกษุทั้งหลายเสีย; ก็ภิกษุนี้มีเจ้าของ เราจักต้องบอกกล่าวเธอแก่เจ้าของ ทีเดียว." ลดมือที่ยกขึ้นแล้ว ร้องไห้ไปสู่สำนักของพระศาสดา ถวายบังคมแล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า "ทําไมหรือ? เทพดา" เขาทูลว่า "พระเจ้าข้า สาวกของพระองค์แหละ ทำกรรทชื่อนี้, แม้ข้าพระองค์ก็ใคร่จะฆ่าเธอ แต่คิดข้อนี้ได้ จึงไม่ฆ่า แล้วรีบมาที่นี้เทียว" ดังนี้แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นทั้งหมดโดยพิสดาร.
พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสว่า "ถูกแล้วๆ เทพดา เธอข่มความโกรธที่เกิดขึ้นอย่างนั้นไว้อยู่ เหมือนห้ามรถกำลังหมุนไว้ได้ ชื่อว่าทำความดีแล้ว" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๒. โย เว อุปฺปติตํ โกธํ รถํ ภนฺติ ธารเย
ตมหํ สารถิ พฺรูมิ รสฺมิคฺคาโห อิตโร ชโน.
"ผู้ใดแล พึงสะกดความโกรธที่พลุ่งขึ้นเหมือน
คนห้ามรถที่กำลังแล่นไปได้, เราเรียกผู้นั้นว่า
'สารถี' ส่วนคนนอกนี้เป็นเพียงผู้ถือเชือก."
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปฺปติตํ ได้แก่ ที่เกิดขึ้นแล้ว.
สองบทว่า รถํ ภนฺตํว ความว่า เหมือนอย่างนายสารถีผู้ฉลาด ห้ามรถที่แล่นอยู่โดยกำลังเร็ว หยุดไว้ได้ตามต้องการ ชื่อฉันใด; บุคคลใด พึงสะกด คืออาจข่มความโกรธที่เกิดขึ้นไว้ได้ ก็ฉันนั้น.
บทว่า ตมหํ ความว่า เราเรียกบุคคลนั้นว่า สารถี.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 434
สองบทว่า อิตโร ชโน ความว่า ส่วนชนนอกนี้คือสารถีรถของอิสรชนมีพระราชาและอุปราชเป็นต้น ย่อมชื่อว่าเป็นเพียงผู้ถือเชือก หาใช่สารถีชั้นเยี่ยมไม่.
ในกาลจบเทศนา เทพดาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล, เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทที่ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.
ฝ่ายเทพดา แม้เป็นพระโสดาบันก็ยังยืนร้องไห้อยู่. ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสถามเธอว่า "ทำไมหรือ เทพดา?" เมื่อเทพดาทูลว่า "พระเจ้าข้า วิมานของข้าพระองค์ฉิบหายเสียแล้ว, บัดนี้ข้าพระองค์จะทําอย่างไร?" จึงตรัสว่า "อย่าเลย เทพดา ท่านอย่าคิด เราจักให้ วิมานแก่ท่าน" แล้วทรงชี้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งเทพดาจุติไปเมื่อวันก่อน ใกล้กับพระคันธกุฎีในพระเชตวัน ตรัสว่า ่"ต้นไม้โน้นในโอกาสโน้นว่าง, เธอจงเข้าสถิต ณ ต้นไม้นั้นเถิด." เทพดานั้นเข้าสถิตที่ต้นไม้นั้นแล้ว. ตั้งแต่นั้น แม้เทพดาที่ทรงศักดิ์ใหญ่ ทราบว่า "วิมานของเทพดานี้ อันพระพุทธเจ้าประทาน" ก็ไม่อาจมาทำให้เธอหวั่นไหวได้.
พระศาสดาทรงทำเรื่องนั้นให้เป็นเหตุเกิดขึ้นแล้ว ทรงบัญญัติภูตคามสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้แล.
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จบ.