พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. เรื่องบุตรของนายโคฆาตก์ [๑๘๒]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  34981
อ่าน  587

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 5

๑๘. มลวรรควรรณนา

๑. เรื่องบุตรของนายโคฆาตก์ [๑๘๒]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 5

๑๘. มลวรรควรรณนา

๑. เรื่องบุตรของนายโคฆาตก์ [๑๘๒]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบุตรของนายโคฆาตก์คนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปณฺฑุปลาโสว ทานิสิ เป็นต้น.

นายโคฆาตก์สั่งให้ภรรยาปิ้งเนื้อ

ดังได้สดับมา นายโคฆาตก์คนหนึ่งในพระนครสาวัตถี ฆ่าโคแล้ว ถือเอาเนื้อล่ำให้ปิ้งแล้ว นั่งพร้อมด้วยบุตรและภริยาเคี้ยวกินเนื้อ และขายด้วยราคา. เขาทำการงานของคนฆ่าโคอยู่อย่างนั้นตลอด ๕๕ ปี มิได้ ถวายยาคูหรือภัต แม้มาตรว่าทัพพีหนึ่งในวันหนึ่งแด่พระศาสดา ซึ่งประทับอยู่ในวิหารใกล้. เขาเว้นจากเนื้อเสีย ย่อมไม่บริโภคภัต. วันหนึ่ง เขาขายเนื้อในตอนกลางวันแล้ว ให้ก้อนเนื้อก้อนหนึ่งแก่ภริยา เพื่อปิ้ง เพื่อประโยชน์แก่ตน แล้วได้ไปอาบน้ำ.

ลำดับนั้น สหายของเขามาสู่เรือนแล้ว พูดกะภริยาว่า "หล่อน จงให้เนื้อที่จะพึงขายแก่ฉันหน่อยหนึ่ง (เพราะ) แขกมาที่เรือนฉัน."

ภริยานายโคฆาตก์. เนื้อที่จะพึงขายไม่มี สหายของท่านขายเนื้อแล้ว บัดนี้ไปอาบน้ำ.

สหาย. อย่าทำอย่างนี้เลย ถ้าก้อนเนื้อมี ขอจงให้เถิด.

ภริยานายโคฆาตก์. เว้นก้อนเนื้อที่ฉันเก็บไว้เพื่อสหายของท่านแล้ว เนื้ออื่นไม่มี.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 6

เขาคิดว่า "เนื้ออื่นนอกจากเนื้อที่หญิงนี้เก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่สหายของเราไม่มี อนึ่ง สหายของเรานั้น เว้นจากเนื้อย่อมไม่บริโภค หญิงนี้ จักไม่ให้" จึงถือเอาเนื้อนั้นเองหลีกไป.

ฝ่ายนายโคฆาตก์อาบน้ำแล้วกลับมา เมื่อภริยานั้นคดภัตนำเข้าไป พร้อมกับผักต้มเพื่อตน จึงพูดว่า "เนื้ออยู่ที่ไหน"

ภริยา. นาย เนื้อไม่มี.

นายโคฆาตก์. เราให้เนื้อไว้เพื่อต้องการปิ้งแล้วจึงไป มิใช่หรือ

ภริยา. สหายของท่านมาบอกว่า "แขกของฉันมา หล่อนจงให้เนื้อที่จะพึงขายแก่ฉัน" เมื่อฉันแม้ตอบว่า "เนื้ออื่นนอกจากเนื้อที่ฉันเก็บไว้ เพื่อสหายของท่านไม่มี อนึ่ง สหายของท่านนั้น เว้นจากเนื้อย่อมไม่บริโภค" ก็ถือเอาเนื้อนั้นโดยพลการเองทีเดียวไปแล้ว.

นายโคฆาตก์. เราเว้นจากเนื้อไม่บริโภคภัต หล่อนจงนำภัต นั้นไป.

ภริยา. ฉันอาจทำอย่างไรได้ ขอจงบริโภคเถิด นาย.

นายโคฆาตก์ตัดลิ้นโคมาปิ้งบริโภค

นายโคฆาตก์นั้นตอบว่า "เราไม่บริโภคภัต" ให้ภริยานำภัตนั้นไปแล้ว ถือมีดไปสู่สำนักโคตัวยืนอยู่ที่หลังเรือน แล้วสอดมือเข้าไปในปากดึงลิ้นออกมาเอามีดตัดที่โคน (ลิ้น) แล้วถือไปให้ปิ้งบนถ่านเพลิงแล้ว วางไว้บนภัต นั่งบริโภคก้อนภัตก้อนหนึ่ง วางก้อนเนื้อก้อนหนึ่งไว้ในปาก. ในขณะนั้นเอง ลิ้นของเขาขาดตกลงในถาดสำหรับใส่ภัต.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 7

ในขณะนั้นแล เขาได้วิบากที่เห็นสมด้วยกรรม. แม้เขาแลเป็นเหมือนโค มีสายเลือดไหลออกจากปากเข้าไปในเรือน เที่ยวคลานร้องไป. (๑)

บุตรนายโคฆาตก์หนี

สมัยนั้น บุตรของนายโคฆาตก์ยืนแลดูบิดาอยู่ในที่ใกล้. ลำดับนั้น มารดาพูดกะเขาว่า "ลูก เจ้าจงดูบิดานี้เที่ยวคลานร้องไปในท่ามกลางเรือนเหมือนโค ความทุกข์นี้จักตกบนกระหม่อมของเจ้า เจ้าไม่ต้องห่วง (๒) แม้ซึ่งแม่ จงทำความสวัสดีแก่ตนหนีไปเถิด." บุตรนายโคฆาตก์นั้น ถูกมรณภัยคุกคาม ไหว้มารดาแล้วหนีไป ก็แลครั้นหนีไปแล้ว ได้ไปยังนครตักกสิลา. แม้นายโคฆาตก์เป็นเหมือนโค เที่ยวร้องไปในท่ามกลางเรือน ทำกาละแล้วเกิดในอเวจี. แม้โคก็ได้ทำกาละแล้ว. ฝ่ายบุตรของนายโคฆาตก์ไปนครตักกสิลา เรียนการงานของนายช่างทอง. ลำดับนั้น อาจารย์ของเขา เมื่อจะไปบ้านสั่งไว้ว่า "เธอพึงทำเครื่องประดับชื่อเห็นปานนี้" แล้วหลีกไป. แม้เขาก็ได้ทำเครื่องประดับเห็นปานนั้นแล้ว. ลำดับนั้น อาจารย์ของเขามาเห็นเครื่องประดับแล้ว ดำริว่า "ชายผู้นี้ ไปในที่ใดที่หนึ่ง เป็นผู้สามารถจะเลี้ยงชีพได้" จึงได้ให้ธิดาผู้เจริญวัย ของตน (แก่เขา). เขาเจริญด้วยบุตรธิดาแล้ว.

ลูกทำบุญให้พ่อ

ลำดับนั้น บุตรทั้งหลายของเขาเจริญวัยแล้ว เรียนศิลปะ ในกาลต่อมาไปพระนครสาวัตถี ดำรงฆราวาสอยู่ในพระนครนั้น ได้เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส. ฝ่ายบิดาของพวกเขาไม่ทำกุศลอะไรๆ เลย ถึงความชรา


(๑) ชนฺนุเกหิ วิจรนฺโต เที่ยวไปอยู่ด้วยเข่า.

(๒) อโนโลเกตฺวา ไม่แลดูแล้ว.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 8

ในนครตักกสิลาแล้ว. ลำดับนั้น พวกบุตรของเขาปรึกษากันว่า "บิดาของพวกเราแก่" แล้วให้เรียกมายังสำนักของตน พูดว่า "พวกฉันจะถวายทานเพื่อประโยชน์แก่บิดา" แล้วนิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน. วันรุ่งขึ้น พวกเขานิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้นั่งภายในเรือนแล้ว อังคาสโดยเคารพ ในเวลาเสร็จภัตกิจ กราบทูลพระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ ถวายภัตนี้ให้เป็นชีวภัต (ภัตเพื่อบุคคลผู้เป็นอยู่) เพื่อบิดา. ขอพระองค์จงทรงทำอนุโมทนา แก่บิดาของพวกข้าพระองค์เถิด."

พระศาสดาทรงแสดงธรรม

พระศาสดา ตรัสเรียกบิดาของพวกเขามาแล้ว ตรัสว่า "อุบาสก ท่านเป็นคนแก่ มีสรีระแก่หง่อมเช่นกับใบไม้เหลือง เสบียงทางคือกุศล เพื่อจะไปยังปรโลกของท่านยังไม่มี ท่านจงทำที่พึ่งแก่ตน จงเป็นบัณฑิต อย่าเป็นพาล" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงทำอนุโมทนา จึงได้ตรัสพระคาถา เหล่านี้ว่า

๑. ปณฺฑุปลาโสว ทานิสิ ยมปุริสาปิ จ ตํ (๑) อุปฏฺิตา อุยฺโยคมุเข จ ติฏฺสิ (๒) ปาเถยฺยมฺปิ จ เต น วิชฺชติ. โส กโรหิ ทีปมตฺตโน ขิปฺปํ วายม ปณฺฑิโต ภว นิทฺธนฺตมโล อนงคโณ ทิพฺพํ อริยภูมิเมหิสิ.


(๑) อรรถกถา เป็น เต.

(๒) ปติฏฺสิ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 9

"บัดนี้ ท่านเป็นดุจใบไม้เหลือง, อนึ่ง บุรุษแห่งพระยายม (คือความตาย) ปรากฏแก่ท่านแล้ว. ท่านตั้งอยู่ใกล้ปากแห่งความเสื่อม อนึ่ง แม้เสบียงทางของท่าน ก็ยังไม่มี. ท่านนั้น จงทำที่พึ่งแก่ตน จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต ท่านกำจัดมลทินได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน จักถึงอริยภูมิอันเป็นทิพย์."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า ปณฺฑุปลาโสว ทานิสิ ความว่า อุบาสก บัดนี้ท่านได้เป็นเหมือนใบไม้ที่เหลืองอันขาดตกลงบนแผ่นดิน.

ทูตของพระยายม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ยมปุริสา. แต่คำนี้ พระองค์ตรัสหมายถึงความตายนั่นเอง. อธิบายว่า ความตายปรากฏแก่ท่านแล้ว.

บทว่า อุยฺโยคมุเข ความว่า ก็ท่านเป็นผู้ตั้งอยู่แล้วใกล้ปากแห่งความเสื่อม คือใกล้ปากแห่งความไม่เจริญ.

บทว่า ปาเถยฺยํ ความว่า แม้เสบียงทางคือกุศลของท่านผู้จะไปสู่ปรโลก ก็ยังไม่มี เหมือนเสบียงทางมีข้าวสารเป็นต้น ของบุคคลผู้เตรียมจะไป ยังไม่มีฉะนั้น.

สองบทว่า โส กโรหิ ความว่า ท่านนั้นจงทำที่พึ่งคือกุศลแก่ตน เหมือนบุคคลเมื่อเรืออับปางในสมุทร ทำที่พึ่งกล่าวคือเกาะ (แก่ตน) ฉะนั้น และท่านเมื่อทำ จงรีบพยายาม คือจงปรารภความเพียรเร็วๆ จงเป็นบัณฑิต ด้วยการทำที่พึ่ง กล่าวคือกุศลกรรมแก่ตน. ด้วยว่า ผู้ใด ทำกุศลในเวลาที่ตนยังไม่ถึงปากแห่งความตาย สามารถจะทำได้นั่นแล

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 10

ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิต. อธิบายว่า ท่านจงเป็นผู้เช่นนั้น อย่าเป็นอันธพาล.

สองบทว่า ทิพฺพํ อริยภูมิํ ความว่า ท่านทำความเพียรอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าผู้กำจัดมลทินได้แล้ว เพราะความเป็นผู้นำมลทินมีราคะเป็นต้น ออกเสียได้ ชื่อว่าไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน คือหมดกิเลส เพราะไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน จักถึงชั้นสุทธาวาสภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระอริยบุคคลผู้หมดจดแล้ว ๕ ภูมิ. (๑)

ในกาลจบเทศนา อุบาสกตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. เทศนาได้มีประโยชน์ แม้แก่หมู่ชนผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.

พวกบุตรถวายทานอีก

บุตรเหล่านั้น ทูลนิมนต์พระศาสดา แม้เพื่อประโยชน์ในวันรุ่งขึ้น ถวายทานแล้ว ได้กราบทูลพระศาสดาผู้ทรงทำภัตกิจแล้ว ในเวลาทรงอนุโมทนาว่า พระเจ้าข้า แม้ภัตนี้พวกข้าพระองค์ถวายให้เป็นชีวภัตเพื่อบิดาของปวงข้าพระองค์เหมือนกัน ขอพระองค์จงทรงทำอนุโมทนาแก่บิดานี้นี่แล."

พระศาสดา เมื่อจะทรงทำอนุโมทนาแก่เขา ได้ตรัส ๒ พระคาถา นี้ว่า

อุปนีตวโยว ทานิสิ สมฺปยาโตสิ ยมสฺส สนฺติกํ วาโสปิ จ เต นตฺถิ อนฺตรา ปาเถยฺยมฺปิ จ เต น วิชฺชติ.


(๑) ๕ ภูมิคือ อวิหา ๑ อตัปปา ๑ สุทัสสา ๑ สุทัสสี ๑ อกนิฏฐา ๑ ภูมิทั้ง ๕ นี้อยู่ในพรหมโลก ชั้นสุทธาวาส เป็นที่เกิดแห่งพระอนาคามี.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 11

โส กโรหิ ทีปมตฺตโน ขิปฺปํ วายม ปณฺฑิโต ภว นิทฺธนฺตมโล อนงฺคโณ น ปุน ชาติชรํ อุเปหิสิ.

"บัดนี้ ท่านเป็นผู้มีวัยอันชรานำเข้าไปแล้ว เป็นผู้เตรียมพร้อม เพื่อจะไปสำนักของพระยายม, อนึ่ง แม้ที่พัก ในระหว่างทาง ของท่าน ก็ยังไม่มี, อนึ่ง ถึงเสบียงทางของท่าน ก็หามีไม่, ท่านนั้นจงทำที่พึ่งแก่ตน, จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต ท่านเป็นผู้มีมลทินอันกำจัดได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน จักไม่เข้าถึงชาติชราอีก."

แก้อรรถ

ศัพท์ว่า อุป ในบทว่า อุปนีตวโย ในพระคาถานั้น เป็นเพียงนิบาต. ท่านมีวัยอันชรานำไปแล้ว คือมีวัยผ่านไปแล้ว ได้แก่มีวัยล่วงไปแล้ว. อธิบายว่า บัดนี้ ท่านล่วงวัยทั้งสามแล้ว ดังอยู่ใกล้ปากของความตาย.

บาทพระคาถาว่า สมปยาโตสิ ยมสฺส สนฺติกํ ความว่า ท่านตระเตรียมจะไปสู่ปากของความตายตั้งอยู่แล้ว.

บาทพระคาถาว่า วาโสปิ จ เต นตฺถิ อนฺตรา ความว่า พวกคนเดินทาง ย่อมพักทำกิจนั้นๆ ในระหว่างทางได้ฉันใด คนไปสู่ปรโลก ย่อมพักอยู่ฉันนั้นไม่ได้. เพราะคนไปสู่ปรโลกไม่อาจเพื่อจะกล่าวคำเป็นต้น

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 12

ว่า "ท่านจงรอสัก ๒ - ๓ วัน ข้าพเจ้าจะให้ทานก่อน จะฟังธรรมก่อน" ก็บุคคลเคลื่อนจากโลกนี้แล้ว ย่อมเกิดในปรโลกทีเดียว คำนั่นพระศาสดา ตรัสหมายเอาเนื้อความนี้.

บทว่า ปเถยฺยํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในหนหลังแล้วก็จริงแล ถึงอย่างนั้น พระศาสดาทรงถือเอาในพระคาถาแม้นี้ ก็เพื่อทรงทำให้มั่นบ่อยๆ แก่อุบาสก. แม้พยาธิและมรณะ ก็เป็นอันทรงถือเอาในบทว่า ชาติชรํ นี้เหมือนกัน.

ก็ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนาคามิมรรค ด้วยพระคาถาในหนหลัง, ตรัสอรหัตตมรรคในพระคาถานี้. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้นอุบาสก เมื่อพระศาสดา แม้ทรงแสดงธรรมด้วยสามารถแห่งมรรคเบื้องบน ก็บรรลุโสดาปัตติผลเบื้องต่ำ แล้วจึงบรรลุอนาคามิผลในเวลาจบอนุโมทนานี้ ตามกำลังอุปนิสัยของตน เหมือนเมื่อพระราชาทรงปั้นพระกระยาหารขนาดเท่าพระโอษฐ์ของพระองค์ แล้วทรงนำเข้าไปแก่พระโอรส พระกุมารทรงรับโดยประมาณพระโอษฐ์ของพระกุมารเท่านั้น ฉะนั้น.

พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทที่เหลือ ดังนี้แล.

เรื่องบุตรของนายโคฆาตก์ จบ.