๖. เรื่องภิกษุชื่อจูฬสารี [๑๘๗]
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 30
๖. เรื่องภิกษุชื่อจูฬสารี [๑๘๗]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 30
๖. เรื่องภิกษุชื่อจูฬสารี [๑๘๗]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ ชื่อจูฬสารี จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สีชีวํ อหิริเกน" เป็นต้น.
พระจูฬสารีได้โภชนะเพราะทำเวชกรรม
ดังได้สดับมา วันหนึ่ง พระจูฬสารีนั้นทำเวชกรรมแล้วได้โภชนะอันประณีตแล้ว ถือออกไปอยู่ พบพระเถระในระหว่างทาง จึงเรียนว่า "ท่านขอรับ โภชนะนี้ กระผมทำเวชกรรมได้แล้ว, ใต้เท้าจักไม่ได้ โภชนะเห็นปานนี้ในที่อื่น, ขอใต้เท้าจงฉันโภชนะนี้, กระผมจักทำเวชกรรม นำอาหารเห็นปานนี้มาเพื่อใต้เท้าตลอดกาลเป็นนิตย์". พระเถระฟังคำของพระจูฬสารีนั้นแล้ว ก็นิ่งเฉย หลีกไปแล้ว. ภิกษุทั้งหลายมาสู่วิหารแล้ว กราบทูลความนั้นแด่พระศาสดา.
ผู้ตั้งอยู่ในอเนสนกรรมเป็นอยู่ง่าย
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาบุคคลผู้ไม่มีความละอาย ผู้คะนอง เป็นผู้เช่นกับกา ตั้งอยู่ในอเนสนา ๒๑ อย่าง ย่อม เป็นอยู่ง่าย ส่วนบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ ย่อมเป็นอยู่ยาก" ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า:-
๖. สุชีวํ อหิริเกน กากสูเรน ธํสินา ปกฺขนฺทินา ปคพฺเภน สงฺกิลิฏฺเน ชีวิตํ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 31
หิรีมตา จ ทุชฺชีวํ นิจฺจํ สุจิคเวสินา อลีเนนาปคพฺเภน สุทฺธาชีเวน ปสฺสตา.
"อันบุคคลผู้ไม่มีความละอาย กล้าเพียงดังกา มีปกติกำจัด (คุณผู้อื่น) มักแล่นไป (เอาหน้า) ผู้คะนอง ผู้เศร้าหมอง เป็นอยู่ง่าย. ส่วนบุคคลผู้มีความละอาย ผู้แสวงหากรรมอันสะอาดเป็นนิตย์ ไม่หดหู่ ไม่คะนอง มีอาชีวะหมดจดเห็นอยู่ เป็นอยู่ยาก."
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหิริเกน คือผู้ขาดหิริและโอตตัปปะ. อธิบายว่า อันบุคคลผู้เห็นปานนั้น อาจเรียกหญิงผู้มิใช่มารดานั่นแลว่า "มารดาของเรา" เรียกชายทั้งหลายผู้มิใช่บิดาเป็นต้นนั่นแล โดยนัย เป็นต้นว่า "บิดาของเรา" ตั้งอยู่ในอเนสนา ๒๑ อย่าง เป็นอยู่โดยง่าย.
บทว่า กากสูเรน ได้แก่ เช่นกาตัวกล้า. อธิบายว่า เหมือนอย่างว่า กาตัวกล้า ใคร่จะคาบวัตถุทั้งหลายมียาคูเป็นต้น ในเรือนแห่งตระกูลทั้งหลาย จับ ณ ที่ทั้งหลายมีฝาเรือนเป็นต้นแล้ว รู้ว่าเขาแลดูตน จึงทำเป็นเหมือนไม่แลดู เหมือนส่งใจไปในที่อื่น และทำเป็นเหมือนหลับอยู่ กำหนดความเผอเรอของพวกมนุษย์ได้แล้วก็โผลง, เมื่อพวกมนุษย์ไล่ว่า "สุ สุ" อยู่นั่นแล ก็คาบเอาอาหารเต็มปากแต่ภาชนะแล้วบินหนีไป ฉันใด แม้บุคคลผู้ไม่มีความละอายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เข้าไปบ้านกับภิกษุทั้งหลายแล้ว ย่อมกำหนดที่ทั้งหลาย มีที่ตั้งแห่งยาคูแลภัต เป็นต้น, ภิกษุทั้งหลายเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านนั้น รับเอาอาหารสักว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 32
ยังอัตภาพให้เป็นไป ไปสู่โรงฉันพิจารณาอยู่ ดื่มยาคูแล้ว ทำกัมมัฏฐานไว้ในใจ สาธยายอยู่ ปัดกวาดโรงฉันอยู่ ส่วนบุคคลนี้ไม่ทำอะไรๆ เป็นผู้บ่ายหน้าตรงไปยังบ้าน, เขาแม้ถูกภิกษุทั้งหลายบอกว่า "จงดูบุคคลนี้" แล้วจ้องดูอยู่ ทำเป็นเหมือนไม่แลดู เหมือนส่งใจไปในที่อื่น เหมือนหลับอยู่ ดุจกลัดลูกดุม ทำทีเป็นดุจจัดจีวร พูดว่า "การงานของเรา ชื่อโน้นมีอยู่" ลุกจากอาสนะเข้าไปบ้าน เข้าไปสู่เรือนหลังใดหลังหนึ่ง บรรดาเรือนที่กำหนดไว้แล้วแต่เช้า เมื่อหมู่มนุษย์ในเรือน แม้แง้มประตู (๑) แล้วนั่งกรอด้ายอยู่ริมประตู เอามือข้างหนึ่งผลักประตูแล้วเข้าไปภายใน. ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้นเห็นบุคคลนั้นแล้ว แม้ไม่ปรารถนา ก็นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ แล้วถวายของมียาคูเป็นต้นที่มีอยู่, เขาบริโภคตามต้องการแล้ว ถือเอาของส่วนที่เหลือด้วยบาตรหลีกไป, บุคคลนี้ชื่อว่า ผู้กล้าเพียงดังกา, อันบุคคลผู้หาหิริมิได้เห็นปานนี้ เป็นอยู่ง่าย.
บทว่า ธํสินา ความว่า ชื่อว่าผู้มีปกติกำจัด เพราะเมื่อคนทั้งหลาย กล่าวคำเป็นต้นว่า "พระเถระชื่อโน้น เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย," กำจัดคุณของคนเหล่าอื่นเสีย ด้วยคำเป็นต้นว่า "ก็แม้พวกเราไม่เป็นผู้มีความปรารถนาน้อยดอกหรือ" ก็มนุษย์ทั้งหลายฟังคำของคนเห็นปานนั้นแล้ว เมื่อสำคัญว่า "แม้ผู้นี้ก็เป็นผู้ประกอบด้วยคุณ มีความเป็นผู้ปรารถนาน้อยเป็นต้น" ย่อมสำคัญของที่ตนควรให้. แต่ว่าจำเดิมแต่นั้นไป เขาเมื่อไม่อาจเพื่อยังจิตของบุรุษผู้รู้ทั้งหลายให้ยินดี ย่อมเสื่อมจากลาภแม้นั้น. บุคคลผู้มีปกติกำจัดอย่างนี้ ย่อมยังลาภทั้งของตนทั้งของผู้อื่น ให้ฉิบหายแท้.
(๑) โถกํ กวาฏํ ปิธาย ปิดบานประตูหน่อยหนึ่ง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 33
บทว่า ปกฺขนฺทินา ความว่า ผู้มักประพฤติแล่นไป คือผู้แสดงกิจของคนเหล่าอื่นให้เป็นดุจกิจของตน. เมื่อภิกษุทั้งหลายทำวัตรที่ลานพระเจดีย์เป็นต้นแต่เช้าตรู่ นั่งด้วยกระทำไว้ในใจซึ่งกัมมัฏฐานหน่อยหนึ่ง แล้วลุกขึ้น เข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต, บุคคลนั้นล้างหน้า แล้วตกแต่งอัตภาพ ด้วยอันห่มผ้ากาสาวะมีสีเหลือง หยอดนัยน์ตาและทาศีรษะ เป็นต้น ให้ประหารด้วยไม้กวาด ๒ - ๓ ทีเป็นดุจว่ากวาดอยู่ เป็นผู้บ่ายหน้าไปสู่ซุ้มประตู, พวกมนุษย์มาแต่เช้าตรู่ ด้วยคิดว่า "จักไหว้พระเจดีย์ จักกระทำบูชาด้วยระเบียบดอกไม้" เห็นเขาแล้ว พูดกันว่า "วิหารนี้ อาศัยภิกษุหนุ่มนี้ จึงได้การปฏิบัติบำรุง, ท่านทั้งหลายอย่าละเลยภิกษุนี้" ดังนี้แล้ว ย่อมสำคัญของที่ตนพึงให้แก่เขา. อันบุคคลผู้มักแล่นไปเช่นนี้ เป็นอยู่ง่าย.
บทว่า ปคพฺเภน ความว่า ผู้ประกอบด้วยความคะนองกายเป็นต้น.
สองบทว่า สงฺกิลิฏฺเน ชีวิตํ ความว่า ก็อันบุคคลผู้เลี้ยงชีวิตเป็นอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้เศร้าหมองแล้ว เป็นอยู่. การเป็นอยู่นั้น ชื่อว่าเป็นอยู่ชั่ว คือเป็นอยู่ลามกแท้.
บทว่า หิริมตา จ ความว่า อันบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ เป็นอยู่ยาก. เพราะเขาไม่กล่าวคำว่า "มารดาของเรา" เป็นต้น กะหญิงผู้มิใช่มารดาเป็นต้น เกลียดปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบธรรมดุจคูถ แสวงหา (ปัจจัย) โดยธรรมโดยเสมอ เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก สำเร็จชีวิตเป็นอยู่เศร้าหมอง.
บทว่า สุจิคเวสินา ความว่า แสวงหากรรมทั้งหลาย มีกายกรรม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 34
เป็นต้นอันสะอาด.
บทว่า อลีเนน ความว่า ไม่หดหู่ด้วยความเป็นไปแห่งชีวิต.
สองบทว่า สุทฺธาชีเวน ปสฺสตา ความว่า ก็บุคคลเห็นปานนี้ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า มีอาชีวะหมดจด, อันบุคคลผู้มีอาชีวะหมดจดแล้วอย่างนี้นั้น เห็นอาชีวะหมดจดนั้นแลโดยความเป็นสาระ ย่อมเป็นอยู่ได้ยาก ด้วยอำนาจแห่งความเป็นอยู่เศร้าหมอง.
ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องภิกษุชื่อจูฬสารี จบ