พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙ ว่าด้วยอรรถคดีที่ชอบธรรมของนักปราชญ์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  34993
อ่าน  452

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 65

ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙

ว่าด้วยอรรถคดีที่ชอบธรรมของนักปราชญ์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 65

คาถาธรรมบท

ธัมมัฏฐวรรค (๑) ที่ ๑๙

ว่าด้วยอรรถคดีที่ชอบธรรมของนักปราชญ์

[๒๙] ๑. บุคคลไม่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม เพราะเหตุที่นำคดีไปโดยความผลุนผลัน ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิตวินิจฉัยคดีและไม่ใช่คดีทั้งสอง ย่อมนำบุคคลเหล่าอื่นไปโดยความละเอียดลออ โดยธรรมสม่ำเสมอ ผู้นั้นอันธรรมคุ้มครองแล้ว เป็นผู้มีปัญญา เรากล่าวว่าตั้งอยู่ในธรรม.

๒. บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต เพราะเหตุเพียงพูดมาก (ส่วน) ผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย เรากล่าวว่า เป็นบัณฑิต.

๓. บุคคลไม่ชื่อว่าทรงธรรม เพราะเหตุที่พูดมาก ส่วนบุคคลใด ฟังแม้นิดหน่อย ย่อมเห็นธรรมด้วยนามกาย บุคคลใดไม่ประมาทธรรม บุคคลนั้นแลเป็นผู้ทรงธรรม.

๔. บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นเถระ เพราะมีผมหงอกบนศีรษะ ผู้มีวัยแก่รอบแล้วนั้น เราเรียกว่า แก่เปล่า (ส่วน) ผู้ใดมีสัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะ และทมะ ผู้นั้นแล ผู้มีมลทินอันคายแล้ว ผู้มีปัญญา เรากล่าวว่า เป็นเถระ.


(๑) วรรคนี้ มีอรรถกถา ๑๐ เรื่อง.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 66

๕. นระ ผู้มีความริษยา มีความตระหนี่ โอ้อวด จะชื่อว่าคนดี เพราะเหตุสักว่าทำการพูดจัดจ้าน หรือเพราะมีผิวกายงามก็หาไม่ ส่วนผู้ใดตัดโทสชาต มี ความริษยาเป็นต้นนี้ได้ขาด ถอนขนให้รากขาด ผู้นั้นมีโทสะอันคายแล้ว มีปัญญา เราเรียกว่า คนดี.

๖. ผู้ไม่มีวัตร พูดเหลาะแหละ ไม่ชื่อว่าสมณะ เพราะศีรษะโล้น ผู้ประกอบด้วยความอยากและความโลภจะเป็นสมณะอย่างไรได้ ส่วนผู้ใดยังบาปน้อย หรือใหญ่ ให้สงบโดยประการทั้งปวง ผู้นั้นเรากล่าวว่าเป็นสมณะ เพราะยังบาปให้สงบแล้ว.

๗. บุคคลชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะเหตุที่ขอกะคนพวกอื่นหามิได้ บุคคลสมาทานธรรมอันเป็นพิษ ไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น ผู้ใดในศาสนานี้ ลอยบุญและบาปแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ ในโลก ด้วยการพิจารณาเที่ยวไป ผู้นั้นแล เราเรียกว่า ภิกษุ.

๘. บุคคลเขลา ไม่รู้โดยปกติ ไม่ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะความเป็นผู้นิ่ง ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิตถือธรรมอันประเสริฐ ดุจบุคคลประคองตาชั่ง เว้นบาปทั้งหลาย ผู้นั้นเป็นมุนี เพราะเหตุนั้น ผู้ใดรู้อรรถทั้งสองในโลก ผู้นั้นเรากล่าวว่า เป็นมุนี เพราะเหตุนั้น.

๙. บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะเหตุที่เบียดเบียนสัตว์ บุคคลที่กล่าวว่า เป็นอริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 67

๑๐. ภิกษุ ภิกษุยังไม่ถึงอาสวักขัย อย่าเพิ่งถึงความวางใจ ด้วยเหตุสักว่าศีลและวัตร ด้วยความเป็นพหูสูต ด้วยอันได้สมาธิ ด้วยอันนอนในที่สงัด หรือ (ด้วยเหตุเพียงรู้ว่า) เราถูกต้องสุขในเนกขัมมะ ซึ่งปุถุชนเสพไม่ได้แล้ว.

จบธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙